HUAWEI ยักษ์โทรคมนาคมสัญชาติจีน ที่เราผู้ติดตามแวดวงมือถือรู้จักกันดีในฐานะผู้ผลิตมือถือแอนดรอยด์คุณภาพดี ได้ตกอันดับหายไปจากสายตาเมื่อเกิดการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และประเทศโลกตะวันตกอื่น ๆ ห้ามไม่ให้บริษัทใดในประเทศทำการติดต่อค้าขายเด็ดขาด แท้จริงแล้วเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง ก่อนที่จะได้โดนแบน สาเหตุและแรงจูงใจการแบนนั้นเกิดจากอะไร เรามาเล่าให้ฟังครับ

กำเนิด HUAWEI

AFP

จุดเริ่มต้นของบริษัท HUAWEI นั้นก็ไม่ได้ธรรมดา เพราะผู้ก่อตั้ง เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) เคยทำงานเป็นวิศวะของในกองทัพทหารของจีนมาก่อน ซึ่งหลังจากหน่วยของเค้าถูกสั่งยุบ เหรินก็ได้ออกมาทำงานอยู่พักหนึ่ง ก่อนตัดสินใจลาออกมาเพื่อเปิดบริษัทตัวเอง Huawei Technologies Co., Ltd. ในปี 1987

ช่วงต้นของบริษัท HUAWEI เน้นนำเข้าและขายระบบสื่อสารโทรศัพท์จากฮ่องกง แต่ก็ได้พยายามให้วิศวะแกะระบบเพื่อนำเทคโนโลยีมาพัฒนาขายเอง จนเริ่มติดตลาดเป็นที่รู้จักกันในช่วงปี 1990 ซึ่งจุดเริ่มต้นนี้เอง ก็ทำให้เหรินได้เข้าพบกับ เจียง เจ๋อหมิน ผู้นำจีนในยุคนั้น ซึ่งได้พูดกับเค้าว่าระบบสื่อสารนั้นมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ เพื่อแสดงความยินดีกับการพัฒนาของ HUAWEI นับเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างหัวเว่ยกับรัฐบาลจีน

หลังจากนั้นในปี 1996 รัฐบาลและกองทัพจีน ก็เริ่มสนับสนุนการดำเนินงานของ HUAWEI ด้วยนโยบายกีดกีนบริษัทโทรคมนาคมจากต่างประเทศ และเลือกสนับสนุนบริษัทภายในประเทศแทน

มือถือเครื่องแรกของ HUAWEI

HUAWEI ก็ได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ รอบด้านเรื่อยมา พร้อมขยับขยายไปตีตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2004 ที่ HUAWEI เริ่มผลิตมือถือเครื่องแรก C300 และมีมือถือที่ใช้ระบบแอนดรอยด์เครื่องแรกเป็นรุ่น U8220 ในปี 2009 จากนั้น HUAWEI ก็เริ่มพัฒนาตระกูล Ascend P เป็นมือถือรุ่นเรือธงของค่าย นำสเปคพร้อมสู้แบรนด์อื่น ๆ เรื่อยมา

ส่วนชาวไทยเราได้สัมผัสมือถือ HUAWEI กันจริง ๆ จัง ๆ ก็ตอนปี 2013 ที่มาตีตลาดในไทยด้วยรุ่น Ascend P6 ยุคเดียวกับช่วงมือถือค่ายอื่นอย่าง Samsung Galaxy S4, Apple iPhone 5s/c, HTC One, Nokia Lumia 1020 และมาดังเปรี้ยงปร้างในปี 2016 ที่รุ่น Huawei P9 ยืมมือ Leica มาร่วมพัฒนากล้อง เป็นการสร้างภาพลักษณ์มือถือกล้องสวย คุณภาพดี ไม่แพ้ค่ายมือถือใหญ่รายอื่น

ส่วนแบ่งตลาดมือถือ HUAWEI ช่วงปี 2010 - 2015 / statista

และแน่นอนว่าพอดูส่วนแบ่งมือถือในตลาดโลกยุคนั้นแล้ว ก็ถือว่ามีการเติบโตใช้ได้เลยทีเดียว มียอดขายมือถือสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี โดยในปี 2018 HUAWEI มียอดส่งมอบมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก แซงหน้า Apple ไปได้ด้วย (IDC)

ดังนั้นในช่วงปี 2018 HUAWEI ก็ได้เดินทางมาสู่จุดสูงสุดของอุตสาหกรรมมือถือและเทคโนโลยี แต่ในขณะที่เราผู้บริโภคกำลังติดตามวิวัฒนาการมือถือของบริษัทหัวเว่ยอยู่ หารู้ไม่ว่าในแวดวงรักษาความมั่นคงประเทศของฝั่งสหรัฐฯ นั้น กำลังเพ่งเล็งหัวเว่ยอยู่ และไม่ได้เพิ่งสนใจ แต่จ้องเขม็งมานานแล้วเป็นกว่า 10 ปี

HUAWEI กับประเด็นขัดแย้งต่าง ๆ

2001 – ความข้องเกี่ยวกับกลุ่มตาลีบัน

เรื่องแรกที่ HUAWEI มีความข้องเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้ง เกิดขึ้นเมื่อปี 2001 ที่หน่วยข่าวกรองอินเดีย กล่าวหาว่า HUAWEI มีส่วนช่วยเหลือกลุ่มตาลีบันในการโจมตีประเทศอัฟกานิสถาน ด้วยการส่งอุปกรณ์การสื่อสารของบริษัทไปให้ แต่ทางหัวเว่ยก็ให้การปฏิเสธ ระบุว่าบริษัทยึดถือระเบียบการดำเนินงานตามที่ UN กำหนดไว้ทุกประการ และบริษัทที่ตั้งอยู่ในอินเดียก็เป็นแผนกวิจัย 3G ไม่ได้ผลิตชิ้นอุปกรณ์ขายแต่อย่างใด

2005 – RAND Corporation พบ HUAWEI เอี่ยวกองทัพจีน

บริษัท RAND Corporation ได้ทำรายงานสืบสวนกองทัพจีนให้กับกองทัพอากาศของสหรัฐฯ และระบุไว้ในรายงานว่า กองทัพจีนได้ร่วมมือกับบริษัท HUAWEI ให้ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เกี่ยวกับการทหาร โดยให้ทุนส่งเสริมร่วมกับธนาคารกลางและหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐเพื่อการนี้ โดยแน่นอนว่าทาง HUAWEI ก็ปฏิเสธคำกล่าวหา

A New Direction for China’s Defense Industry/RAND

2007 – FBI สอบสวนเหริน เจิ้งเฟย  เรื่องละเมิดข้อห้ามคว่ำบาตรอิหร่าน

หากใครตามข่าวแบน HUAWEI จะจำกันได้ว่าเรื่องแรก ๆ ที่หัวเว่ยโดนลงโทษ คือการละเมิดข้อห้ามทำการค้าขายกับประเทศอิหร่าน ซึ่งจากเอกสารทางการสหรัฐฯ เผยให้เห็นว่าในปี 2007 FBI เคยสอบสวนซีอีโอ เหริน เจิ้งเฟย ในเรื่องนี้แล้ว เหริน ก็ให้การปฏิเสธ แปลว่าสหรัฐฯ นั้นก็เพ่งเล็งหัวเว่ยมาตั้งแต่ยุคนั้นแหละ แต่คงอยู่ในช่วงเก็บรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ

2007 – หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ สอดแนม HUAWEI

สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา คราวนี้ได้เป็นฝ่ายสอดแนมหัวเว่ย โดยได้ทำการแฮ็คเพื่อดูอีเมลภายในของบริษัท เพื่อดูว่ามีความข้องเกี่ยวกับกองทัพของจีนหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ไม่เจอร่องรอยอะไร

2008 – สหรัฐฯ ขวางดีล HUAWEI ซื้อ 3Com

มาถึงจุดนี้ ก็พูดได้เต็มปากว่าสหรัฐฯ ไม่เหลือความไว้วางใจบริษัทหัวเว่ยอยู่เลย แม้จะไม่มีหลักฐานชี้ชัดถึงความข้องเกี่ยวกับรัฐบาลจีน แต่ก็ได้ตัดสินใจสั่งห้ามไม่ให้ HUAWEI ซื้อหุ้น 16.5% ของบริษัท 3Com ซึ่งเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยให้กองทัพสหรัฐฯ ด้วยความกังวลว่าอาจเปิดให้สายลับจีนแฮ็คเข้าระบบได้โดยง่าย

HUAWEI 3 com

Telegram Gazette

2008 – HUAWEI ช่วยเกาหลีเหนือสร้างเครือข่ายมือถือ

มีเอกสารหลุดเผยว่า HUAWEI ในปี 2008 ได้ทำงานกับบริษัท Panda International Information Technology เพื่อสร้างฐานการเชื่อมต่อสัญญาณมือถือในเกาหลีเหนือ ซึ่งก็ถือเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนืออีก

2012 –  หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ประกาศ HUAWEI เป็นภัยของประเทศ

คณะกรรมาธิการข่าวกรองของอเมริกา จัดทำรายงานเผยว่าบริษัท HUAWEI และ ZTE นั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงชาติ และแนะให้บริษัทในสหรัฐฯ เลี่ยงการทำธุรกิจกับทั้งสองบริษัท เน้นย้ำว่าเลี่ยง แต่ยังไม่ได้มีคำสั่งห้ามชัดเจนครับ

HUAWEI officials

J. Scott Applewhite/Associated Press

2012 – ออสเตรเลียห้าม HUAWEI ประมูลเครือข่ายสัญญาณมือถือ

ด้วยเหตุความกังวลด้านความมั่นคงของประเทศ ตามที่สหรัฐฯ ได้ประกาศไปครับ

2013 – รอยเตอร์เผย HUAWEI ละเมิดคว่ำบาตรอิหร่านผ่าน Skycom

สำนักข่าว Reuter ได้เปิดโปงว่า HUAWEI นั้นมีความสัมพันธ์กับบริษัท Skycom ที่ทำธุรกิจในอิหร่าน โดยชี้ว่าพนักงานหลายคนจากหัวเว่ยรวมไปถึง เมิ่ง เหวินโจว (Meng Wanzhou) ประธานฝ่ายการเงินและลูกสาวผู้ก่อตั้ง HUAWEI มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว

Skycom building huawei

2018 – AT&T กับ Verizon หยุดวางขายมือถือ HUAWEI / กลาโหมออสเตรเลียและสหรัฐฯ เลิกใช้

สองผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศว่าจะไม่นำมือถือของหัวเว่ยมาวางขายในประเทศ ส่วนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ประกาศห้ามร้านในพื้นที่ขายมือถือของ HUAWEI และ ZTE

นอกจากนี้ในปีเดียวกัน ทางออสเตรเลียก็มีประกาศจากกระทรวงกลาโหม ว่าจะหยุดใช้งานอุปกรณ์มือถือจากหัวเว่ยด้วย

huawei company

ธันวาคม 2018 – สหรัฐฯ จับ เมิ่ง เหวินโจว คดีละเมิดคว่ำบาตรอิหร่านผ่าน Skycom

คดีนี้ก็โยงกลับไปเมื่อปี 2007 ที่ FBI สอบสวนเหริน เจิ้งเฟยเรื่องการทำธุรกิจกับอิหร่าน ซึ่งแม้เจ้าตัวปฏิเสธแต่ก็ทำให้เราพอรู้ได้ว่าสหรัฐฯ กำลังจับตาหัวเว่ยอยู่ จนถึงเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2018 – หลังการสัมภาษณ์ดังกล่าว 11 ปี – สหรัฐฯควบคุมตัว เมิ่ง เหวินโจว (Meng Wanzhou) ลูกสาวเหรินที่ประเทศแคนาดา โดยอ้างว่าเธอทำหน้าที่สำคัญในการดูแลบริษัท Skycom ที่สหรัฐฯ อ้างว่าเป็นบริษัทที่ถูกควบคุมโดยหัวเว่ยเพื่อแอบทำธุรกิจในประเทศอิหร่าน

คดีนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ จนจีนเองก็จับทูตแคนาดาเพื่อบีบให้ปล่อยตัวเมิ่งออกมา เกิดเป็นความร้าวฉานระหว่างจีน กับแคนาดาและสหรัฐฯ

Huawei chief financial officer Meng Wanzhou arrives at a parole office with a security guard in Vancouver on Dec. 12, 2018

DARRYL DYCK / THE CANADIAN PRESS

พฤษภาคม 2019 – ทรัมป์สั่งแบน HUAWEI และบริษัทที่เกี่ยวข้อง 100 บริษัท

สมัยปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นช่วงที่บรรยากาศระหว่างจีนและอเมริกาดุเดือดจนถึงจุดปะทุ จนในที่สุดก็ได้มีกาศประกาศแบน HUAWEI ห้ามไม่ให้ทำธุรกิจใด ๆ ร่วมกับบริษัทของอเมริกา ส่งผลให้บริษัทอย่าง Google, Qualcomm, Intel และอื่น ๆ อีกมากมายต้องยุติความสัมพันธ์ ทำให้มือถือแอนดรอยด์ของหัวเว่ย ไม่สามารถใช้ระบบ GMS, ใช้ชิ้นส่วน หรือเทคโนโลยีจากฝั่งสหรัฐฯ ได้เลย เป็นที่มาของระบบมือถือของ HUAWEI ในตอนนี้ที่จะใช้พวกบริการของกูเกิลไม่ได้

huawei trump

โดนคว่ำบาตรแล้วจากนั้นเกิดอะไรขึ้น?

ทั้งโดนกล่าวหาว่าเป็นอันตรายต่อชาติ และโดนแบนกันแบบนี้ แล้วยอดขายมือถือหัวเว่ยร่วงฮวบเลยหรือเปล่า? เมื่อดูจากข้อมูลจะเห็นว่ามีแรงความอึดคอยหนุนอยู่สักพักเลยทีเดียว กว่าหัวเว่ยจะเริ่มแสดงแรงกระทบจากการคว่ำบาตร มียอดขายมือถือขยับขึ้นสูงเรื่อย ๆ จนถึงช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2020 นับเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสขาลง แม้โดยรวมในปี 2020 ยังมีรายได้สูงเป็นประวัติการก็ตาม

ปัจจุบันทาง HUAWEI ยังต้องพยายามหาช่องทางอยู่รอด ทั้งได้ตั้งโรงงานผลิตชิปของตัวเอง พยายามสร้างระบบปฏิบัติการ Harmony OS (ที่ไส้ในยังเป็น Android) และผลักดันการพัฒนาสิทธิบัตรเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5G เพื่อสร้างกำไรให้กับบริษัท ไม่ได้จำกัดแค่การผลิตสมาร์ทโฟน

กราฟส่วนแบ่ง HUAWEI

กราฟแสดงส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟน HUAWEI ตั้งแต่ 2016 – 2020

 

กราฟรายได้ HUAWEI 2012 - 2021

กราฟรายได้ HUAWEI 2012 – 2021

ทำไม HUAWEI ถึงโดนแบนจากอเมริกา

huawei store

จริยธรรมในการทำธุรกิจ

ตามลำดับเหตุการณ์สำคัญ จะเห็นว่า HUAWEI นั้นไม่ได้เพียงมีข่าวคราวการทุจริต มีพิรุธในด้านโลกธุรกิจเพียงครั้งเดียว แต่มีเรื่องราวไม่ชอบมาพากลออกมาอยู่บ่อยครั้ง ส่วนมากจะมีหลักฐานมัดตัวในเรื่องการแอบสอดแนม ลักลอบข้อมูลการพัฒนาเทคโนโลยีอยู่บ่อย ๆ แม้จะไม่ได้หยิบยกมาพูดถึงมากในบทความนี้ แต่ปัจจัยดังกล่าว ก็ดูมีน้ำหนักมากพอที่จะส่งผลให้เกิดการกีดกันหัวเว่ยออกจากภาคเศรษฐกิจระดับโลก

ความมั่นคงของประเทศ

แต่ประเด็นใหญ่ ที่ฝั่งโลกตะวันตกจะให้ความกังวลเป็นอย่างมาก ก็คงไม่พ้นเรื่องความปลอดภัย ที่อุปกรณ์สื่อสารทุกอย่างสามารถถูกติดตั้งตัวติดตาม ถูกออกแบบให้มีช่องโหว่สำหรับสอดแนมผู้ใช้งานได้ ดังนั้นสองขั้วมหาอำนาจจีนและสหรัฐฯ ก็คงไม่อยากให้ข้อมูลของตนตกไปอยู่ในมืออีกฝั่งได้โดยง่าย จึงมีการสืบสวนการทำงาน ชี้ความเชื่อมโยงของรัฐบาลและบริษัทออกมาเพื่อป้องกันตน

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

สหรัฐฯ ที่ผ่านมาก็เป็นผู้นำโลกในด้านความก้าวหน้าเทคโนโลยี และมีบริษัทเอกหัวแก้วหัวแหวนเป็น Apple ที่มีมูลค่าบริษัทเติบโตสูงมากขึ้นทุกปี แต่เมื่อมีคู่แข่งจากอีกฝั่งของโลก ที่อยู่ดี ๆ ก็พลิกผันกลายมาเป็นคู่แข่งในระยะเวลาอันรวดเร็ว ก็เป็นเหตุผลให้ต้องรีบหาทางสกัดกั้นไว้

แต่หากดูเหตุผลให้ลึกกว่านั้น HUAWEI ไม่ได้เป็นเพียงแค่บริษัทผลิตมือถือ แต่มีจุดเริ่มต้นเป็นการทำธุรกิจสื่อสาร โทรคมนาคม ที่ทุกวันนี้ยังได้พัฒนาในภาคส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย และมีโปรเจกต์สำคัญเป็นการพัฒนาเครือข่าย 5G ที่จะเป็นรากฐานในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจให้เติบโตมากยิ่งขึ้น โดยมีรายงานคาดการณ์เอาไว้ว่าตลาดโครงสร้าง 5G จะมีมูลค่าสูงถึง 98.57 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท และอีกรายงานก็ชี้ว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 244 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030

5g

Image by starline on Freepik

โดยจากรายงานของ GSA เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ชี้ว่าขณะนี้ จีน เป็นผู้นำในด้านการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี 5G และยังมีความสามารถในการพัฒนาไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ เลย และเมื่อย้อนกลับไปนานกว่านั้น จะเห็นว่ารายงานหลายแหล่งประโคมเรื่องความก้าวหน้าของ 5G จีนที่พุ่งแซงเกินสหรัฐฯ ไป ยิ่งเป็นตัวเร่งให้สหรัฐฯ ตัดสินใจแบนบริษัทใหญ่แดนมังกรอย่าง HUAWEI และ ZTE นั่นเอง

ทั้งนี้ คงจะชี้ชัดไม่ได้ ว่าด้วยเหตุอันใดอเมริกาถึงจงใจบี้ HUAWEI ขนาดนี้ เพราะแต่ละข้อ – จริยธรรมธุรกิจ, ความมั่นคงของประเทศ, ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ต่างมีน้ำหนักในตัวเองไม่แพ้กันทั้งนั้น แต่ที่แน่ ๆ คือต่อไปนี้ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศคงยากที่จะหวนคืนกลับมา(ค่อนข้าง)สงบเหมือนแต่ก่อน ต่อให้เปลี่ยนไปเป็นสิบประธานาธิบดีก็ตาม

แหล่งที่มา :

  1. https://www.statista.com/statistics/253006/global-market-share-held-by-huawei-in-the-mobile-phone-market/
  2. https://www.researchgate.net/publication/265426201_THE_CASE_FOR_HUAWEI_IN_AMERICA
  3. http://www.china.org.cn/english/FR/23721.htm
  4. https://www.latimes.com/projects/la-fg-huawei-timeline/
  5. https://www.eetimes.com/chinese-telecom-company-accused-of-aiding-taliban/
  6. https://www.reuters.com/article/us-huawei-iran-sanctions-exclusive-idUSKBN20P1VA
  7. https://www.washingtonpost.com/world/national-security/leaked-documents-reveal-huaweis-secret-operations-to-build-north-koreas-wireless-network/2019/07/22/583430fe-8d12-11e9-adf3-f70f78c156e8_story.html
  8. https://www.cnbc.com/2021/01/28/huawei-q4-smartphone-shipments-plunge-41percent-as-us-sanctions-bite.html
  9. https://www.globenewswire.com/en/news-release/2022/09/08/2512555/0/en/5G-Infrastructure-Market-Size-to-Worth-Around-USD-98-57-Bn-by-2030.html
  10. https://www.computerweekly.com/news/252523984/5G-set-to-generate-7tn-worth-of-economic-value-in-2030
  11. https://www.linkedin.com/pulse/who-leading-global-5g-race-yanyan-wang