เนื่องจาก Android Wear เริ่มเข้ามาในบ้านเราแล้ว และผมก็คิดว่ามันเป็นอะไรที่น่าสนใจเหมือนกัน เพราะได้ลองเล่นมาพอสมควรแล้ว แต่ทว่าหลายๆคนก็อาจจะยังไม่รู้ว่า Android Wear มันคืออะไร แล้วมันน่าสนใจอย่างไร ดังนั้นก็เชิญอ่านกันได้เลยจ้า

      สำหรับบทความนี้จะเกริ่นเกี่ยวกับ Android Wear โดยรวมๆ เพื่อปูทางความรู้ความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่รีวิวของ Moto 360 นะครับ เพราะถ้าอธิบายรวมไปในรีวิวก็จะทำให้เนื้อหารีวิวเยอะเกินไป 😀


Android Wear นั้นคืออะไร?

      ในทุกวันนี้ Smartwatch เริ่มเข้ามาเป็นกระแสเทคโนโลยีพอสมควรแล้ว ซึ่งทาง Android ก็ไม่อยู่เฉย ได้ทำโปรเจค Android Wear ขึ้นมา ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการ Android สำหรับ Smartwatch เหมือนกับ Pebble OS หรือ Tizen OS นั่นเอง โดยมีเวอร์ชันว่า Android 4.4W หรือจะเรียกว่าเป็น Android 4.4 Lite Edition ก็ได้นะ เพราะการทำงานโดยรวมเหมือนกันหมด เพียงแต่ตัดความสามารถบางอย่างที่ไม่จำเป็นต่อ Smartwatch ออกไป และรูปแบบการใช้งานหรือหน้าตาของ OS ก็ปรับให้เหมาะสมกับ Smartwatch

      ตัดอะไรออกไปบ้างล่ะ? เช่น Web View, App Widget หรือ USB เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าความสามารถเหล่านี้ไม่ได้จำเป็นกับ Android Wear เลย เช่น Web View ที่เอาไว้เปิดหน้าเว็ป ในความเป็นจริงการเปิดดูบนมือถือก็ดีกว่าอยู่แล้ว (นึกภาพว่าเปิดเว็ปนี้บนหน้าจอขนาดไม่ถึง 2 นิ้วก็แล้วกัน..)

      Android Wear จึงมีจุดประสงค์ไปที่ Second Screen สำหรับ Android Phone เสียมากกว่า ดังนั้นจึงเลิกฝันว่าจะเปลี่ยนจากมือถือไปใช้เป็นนาฬิกาแทนได้เลย เพราะยังไง Android ก็วางให้ Smartphone เป็นหัวใจสำคัญหลักอยู่แล้ว ส่วน Smartwatch หรืออุปกรณ์อื่นๆก็จะเป็นส่วนขยายในการใช้งานร่วมกับ Smartphone ซะมากกว่า (ถึงแม้ว่าจะมีนาฬิกาที่ทำงานเป็น Android แบบเต็มตัวแล้วก็ตาม แต่ในแง่ Usability, Performance และ Battery Life มันตอบโจทย์ผู้ใช้ไม่ได้อยู่แล้ว)

 

 

Android Wear ทำอะไรได้บ้าง? 

      เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ไปพูดเรื่อง Android Wear ที่งาน Android Developer Day (วันเดียวกันกับที่ Droidsans จัดแข่งเกมนั่นแหละ) เพราะว่ายังมีนักพัฒนาหลายๆคนที่ยังไม่รู้ว่ามันทำอะไรได้บ้าง แล้วจะประยุกต์อะไรได้ยังไง เนื่องจากนักพัฒนาส่วนใหญ่ในตอนนี้ยังมีน้อยคนที่จะได้สัมผัส Android Wear ตัวเป็นๆแล้วลองใช้งานจริง

      เช่นเดียวกับผู้ใช้ทั่วไป ถ้าคนใดได้ไปเยี่ยมชมบูธ Wearable Device ในงาน Thailand Mobile Expo ที่ผ่านมา ก็อาจจะได้เห็นได้สัมผัสได้ลองเล่นกับ Android Wear กันมาบ้างแล้ว และเดาว่าหลายๆคนก็คงรู้สึกว่า Android Wear ไม่เห็นจะมีอะไรเลย ก็แค่ปัดไปปัดมานู่นนั่นนี่ก็แค่นั้น

       แต่สิ่งหนึ่งที่พลาดกันไปก็คือ “ไม่ได้เชื่อมต่อกับมือถือ” จึงทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ และเชื่อว่าหลายๆท่านได้เข้าไปลองแล้วค่อนข้างผิดหวังหรือไม่ได้ให้ความสนใจกับ Android Wear นอกจากรูปร่างหน้าตาและดีไซน์เท่านั้น (เห็นมีผู้หญิงท่านหนึ่งไปถ่ายวีดีโอรีวิวอยู่ที่บูธนั้นด้วยล่ะ) 

      สิ่งที่ทำให้ Android Wear จะสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบนั่นก็คือ Android Phone นั่นเอง (จะเป็น Android Tablet ก็ได้เช่นกัน) เพราะอย่างที่บอกในตอนแรกว่า Android Wear นั้นเป็น Second Screen สำหรับ Android Phone ดังนั้นถ้าไม่เชื่อมต่อกับ Android Phone ก็หมดความหมายกันน่ะสิ (แต่ใน Android Wear ตัวหลังๆก็จะพยายามทำให้ตัวเอง Standalone ได้ประมาณหนึ่ง อย่างเช่น Sony Smartwatch 3 ที่จะใส่ GPS มาในตัว และฟังเพลงผ่าน Bluetooth Headset ได้)

      การใช้งาน Android Wear นั้นจะมีรูปแบบที่เน้นเข้าใจง่าย แต่ก็อาจจะงงเล็กน้อยเมื่อใช้งานครั้งแรกๆ แต่พอใช้ซักพักก็จะเข้าใจเองว่ามันง่ายจริงๆแหละ เพราะว่ามีแค่เลื่อนขึ้นลงซ้ายขวาเท่านั้นเอง

Play video

      สำหรับความสามารถของ Android Wear ขอแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบดังนี้

    • Notification
    • Watchfaces
    • Wearable Apps
    • Handheld + Wearable Apps

 

Notification

      เป็นการส่ง Notification จากมือถือไปแสดงบนนาฬิกา โดยทุกๆ Notification จะถูกส่งไปแสดงอยู่บนนาฬิกาด้วยทุกครั้ง จึงสามารถดูข้อความคร่าวๆบน Notification ผ่านนาฬิกาได้ทันที

      ถ้า Notification นั้นๆมี Action อยู่ ก็จะมี Action ให้เลือกอยู่บนนาฬิกาด้วยเช่นกัน โดยเลื่อนไปทางขวามือ และริมสุดก็จะเป็นการเปิดแอพฯดังกล่าวบนมือถือ

      ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สะดวกดี เพราะว่าถ้าเป็น Notification ที่ไม่ได้สนใจก็เพียงแค่ลบทิ้งจากนาฬิกาซะ แล้ว Notification บนมือถือก็จะถูกลบตาม

Play video

      และถ้าอันไหนเป็นอันที่สำคัญก็เลือกได้ว่าจะเปิดบนมือถือหรือไม่ ซึ่งบางแอพก็มี Action พิเศษให้สำหรับบนนาฬิกา

Play video

      Notification บน Android Wear จึงเรียกได้ว่าเป็นความสามารถหลักที่มีไว้ใช้งานร่วมกับมือถือ ซึ่งจะช่วยลดการใช้งานมือถือ (แล้วมาดูบนจอนาฬิกาแทน…) ข้อดีหลักๆเลยก็คือ รวดเร็ว และลดการเปิดหน้าจอมือถือโดยไม่จำเป็น

 

Watchfaces

      บน Android Wear จะสามารถเปลี่ยนหน้าปัดนาฬิกาได้ตามใจชอบ ซึ่งถ้าใครเคยใช้ Pebble มาก่อนก็จะรู้ดีว่านี่คือจุดเด่นอย่างหนึ่งของ Pebble เลยก็ว่าได้ เพราะว่าในตอนนี้ Pebble มีรูปแบบหน้าปัดนาฬิกาให้เลือกมากถึงหมื่นกว่าแบบ โดย Android Wear ก็จะมี Built-in Watchfaces มาให้ประมาณหนึ่ง (ต่างกันไปตามรุ่นและยี่ห้อ) ซึ่งสามารถโหลดเพิ่มเติมได้เช่นกัน

      นี่จึงเป็นอีกลูกเล่นหนึ่งสำหรับ Android Wear ที่จะให้ผู้ใช้เลือกหน้าปัดได้หลากหลาย ถึงแม้ว่าในตอนนี้บน Google Play Store จะมีให้ติดตั้งอยู่ไม่กี่พันแบบ แต่ในวันหน้าก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเทียบกับบน Pebble หรือมากกว่า (เพราะนักพัฒนาสามารถใช้ความรู้จากการเขียนแอพฯปกติมาประยุกต์กับ Watchfaces ได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาศึกษาใหม่แบบ Pebble)

      แต่ถึงกระนั้นก็อย่าลืมว่ายิ่งลูกเล่นเยอะก็จะยิ่งกินแบตเตอรีมากขึ้นนะจ๊ะ

 

Wearable Apps

      อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่า Android Wear ก็เปรียบเสมือน Android 4.4 Lite Edition ดังนั้นจึงสามารถติดตั้ง APK ลงใน Android Wear ได้ แต่ก็อย่าลืมนะว่าไม่ได้รองรับทุกแอพ เพราะอย่างแรกคือขนาดหน้าจอ แล้วก็ API ที่รองรับด้วย เช่น แอพที่มี Edit Text ก็จะเกิดการ Force Close เพราะ Android 4.4W นั้นไม่มี API ของ Edit Text ดังนั้นแอพฯที่รองรับก็มักจะเป็นแอพฯที่สร้างขึ้นมาสำหรับ Android Wear โดยเฉพาะ

 

      หลักการง่ายๆก็คือค้นหาว่า “Android Wear” (ใส่ฟันหนูด้วยเพื่อให้เจาะจงยิ่งขึ้น) หรือสังเกตได้จาก Screenshot ที่จะมีภาพประกอบสำหรับ Android Wear ให้ และคำอธิบายว่ารองรับ Android Wear เช่น เกม 2048 ที่เล่นแก้เบื่อได้ตามว่าง

  Play video

      แต่เอาเข้าจริงก็ไม่แนะนำให้เมามันกับแอพฯในนี้มากนัก เพราะรู้ๆอยู่ว่า Android Wear ไม่ได้ทำมาให้นั่งเล่นเป็นระยะเวลานานๆ ดังนั้นถ้าเล่นเพลินก็หาที่ชาร์จแบตฯได้เลย

 

Handheld + Wearable Apps

      นี่จะเป็นลูกเล่นที่ทำให้ Android Wear และ Android Phone (เรียกสั้นๆว่า Handheld ละกัน) สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเต็มที่เลยก็ว่าได้ เพราะจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Android Wear และ Handheld ทำงานควบคู่กัน จึงทำให้สามารถดึงประสิทธิภาพของทั้งคู่มาใช้งานได้อย่างดี (แบตก็ด้วย ฮ่าๆ)

      ที่ติดมากับเครื่องก็คงจะเป็น Google Keep ที่ Sync กับบน Handheld ทำให้สามารถดูโน๊ตที่จดไว้ได้ผ่านหน้าจอของ Android Wear

 

      ถ้าเป็นแอพฯใน Store ตอนนี้ก็เริ่มทยอยอัพเดทกันแล้ว เช่น Runtastic ที่ล่าสุดรองรับกับ Android Wear โดยเวลาที่เปิด Runtastic บน Handheld ปุ๊ป บน Android Wear ก็จะมี Notification แสดงขึ้นบน Android Wear เพื่อให้สามารถกดเริ่มจับเวลา หรือดูรายละเอียดระหว่างวิ่ง เป็นต้น

 

     หรือ PixtoCam ที่จะช่วยให้สามารถ Monitoring ภาพจากกล้องบน Handheld แต่ดูบน Android Wear และยังสามารถควบคุมการทำงานของกล้องได้อีกด้วยแน่ะ!

      และไม่ว่าจะเป็น Google Camera หรือแอพฯเจ้าดังๆก็เริ่มจะรองรับกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนจะประยุกต์ใช้ยังไงก็ต้องลองไปเล่นดู

 

Voice recognition ทำงานอย่างไร

      น่าจะเคยเห็นกันมาบ้างแล้วจากงาน Google I/O หรือที่ต่างๆว่า Android Wear สามารถพูดแทนการพิมพ์ได้เลย เช่นการตอบข้อความกลับ ก็เพียงแค่กดปุ่มเพื่อพูดแล้วรอให้ระบบแปลงเสียงให้เป็นข้อความแทน (จะพูด “OK Google” แล้วตามด้วยคำสั่งก้ได้นะเออ) แต่เนื่องจากผมได้ลองดูการทำงานของระบบดังกล่าวแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจดีก็เลยขอเอามาเล่าให้ฟังกันเล่นๆ

      เวลาที่ Voice recognition ทำงาน การทำงานจะคล้ายกับ “Bluetooth Microphone” ที่จะ Stream เสียงที่รับเข้ามาทาง Microphone ไปยัง Handheld แทน แล้วฝั่ง Handheld ก็จะทำการวิเคราะห์เสียงให้ออกมาเป็นข้อความด้วย Google Voice Typing แล้วส่งข้อความดังกล่าวกลับไปยัง Android Wear โดยสังเกตได้จากตอนที่สั่งงานด้วยเสียงบน Android Wear ถ้าฟังเพลงอยู่บน Handheld ก็จะทำให้เพลงหยุดทันทีเหมือนตอนที่เรียกใช้ Microphone ในเครื่อง

      ดังนั้น Android Wear ไม่สามารถทำ Voice Recognition ได้ด้วยตัวเอง ที่ทำก็คือ Stream เสียงให้ฝั่ง Handheld เท่านั้น และถ้าฝั่ง Handheld ไม่ได้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็จะไม่สามารถทำ Voice Recognition ได้ (ถ้าไม่ได้โหลดแบบ Offline ไว้) ดังนั้นฝั่ง Android Wear ก็จะทำ Voice Recognition ไม่ได้เช่นกัน

 

สรุปโดยรวม

      ในตอนนี้ Android Wear นั้นถือว่าพึ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น และในวันข้างหน้าก็จะมี Smartwatch จากหลายๆเจ้าหันมาใช้ Android Wear เป็น OS Based กันแน่ๆ เสมือนกับที่ Android ถูกนำมาใช้เป็น OS Based สำหรับ Smartphone ในหลายๆเจ้านั่นเอง และ Android Wear เป็นอะไรที่ต้องเชื่อมต่อกับ Smartphone หรือ Tablet ถึงจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าไม่เชื่อมต่อก็จะทำงานได้แค่บางอย่างเท่านั้น (แต่ในวันหน้าก็จะเริ่มรองรับการทำงานบางอย่างที่ไม่ต้องการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆมากขึ้น)

 

      Android Wear นั้นไม่ได้มาแทนที่ของเก่าที่มีอยู่ แต่จะมาเสริมการทำงานควบคุ่กับของเก่าให้ดียิ่งขึ้น ถ้าคนใดคาดหวังว่า Android Wear จะต้องมีกล้อง ทำแบบนู้นได้ มีฟีเจอร์แบบนี้ ก็ควรพิจารณาให้ดีๆนะครับ เพราะเคยเจอหลายๆคนที่มาอ่านแล้วคาดหวังว่า Android Wear จะต้องมีลำโพง จะได้เอาไว้ดูหนังบนนี้ได้ แต่ถ้าลองคิดดูดีๆก็จะพบว่า การหยิบ Smartphone หรือ Tablet มาเปิดดูหนังนั้นสะดวกกว่าเยอะ จอใหญ่ ลำโพงชัดเจน ดังนั้นลูกเล่นบางอย่างก็เป็นแค่ Gimmick เท่านั้น เพราะงั้นอย่าหลงทางไปกับ Gimmick เหล่านี้จนเลยเถิดซะล่ะ 

      และสำหรับลูกเล่นของ Android Wear นั้นยังมีอีกเยอะ เพราะว่าการที่มันเป็น Android Wear จึงทำให้ลูกเล่นขึ้นอยู่กับนักพัฒนาแอพฯแต่ละเจ้าแล้วล่ะ ว่าจะดึงความสามารถของ Android Wear ออกมาใช้ยังไงให้น่าสนใจ

 

      แต่อย่างนึงที่ฟันธงได้แน่นอนนั่นก็คือ

      “มันต้องมีฟิล์มกันรอยสำหรับ Android Wear ขายแน่ๆ!!”