หลังจากเหตุการณ์มากมายเกี่ยวกับเรื่องคดีความ และการฟ้องร้องระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Epic Games กับ Apple ในหัวข้อเรื่องค่าคอมมิชชั่น 30% ที่เก็บในทุก ๆ การซื้อขายแอปจาก App Store ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกจนทางรัสเซียได้ยื่นร่างกฎหมายเพื่อเปลื่ยน ค่าคอมมิชชั่นเป็น 20% ซึ่งล่าสุดทางกลุ่มผู้พัฒนาเกม / แอปพลิเคชั่นในญี่ปุ่น ก็ได้ออกมาตั้งคำถามเรื่องการให้บริการของ Apple และกฎข้อบังคับเรื่องค่าคอมมิชชั่นในปัจจุบันว่าเหมาะสมกันแล้วหรือไม่

ในขณะที่ Epic Games มุ่งความสนใจไปที่ค่าคอมมิชชั่น 30% ของการซื้อขายแอปพลิเคชั่นจาก App Store และ Google Play Store เป็นหลัก แต่ทางฝั่งผู้พัฒนาเกมในญี่ปุ่นจำนวนมากกลับไม่พอใจกับเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องค่าคอมมิชชั่นมากกว่า โดยพวกเขาไม่ค่อยพอใจกับข้อบังคับจาก App Store ที่มักจะขัดแย้งกันเอง และมีการคัดเลือกแอปที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้ตอนนี้หน่วยงานที่ควบคุมการผูกขาดทางการค้าในประเทศญี่ปุ่นก็หันมาสนใจเคสนี้บ้างแล้ว หลังจากที่แอบดูอยู่เงียบ ๆ มานาน

Apple กับ Google ถือว่าเป็น 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่กำลังคุมตลาดแอปพลิเคชั่นทั้งหมดในตอนนี้ (ยกเว้นในประเทศจีน) โดยผู้พัฒนาทุกคนที่ต้องการสร้างเกมที่สามารถเล่นได้บนมือถือ iPhones หรือ Android จะต้องจัดจำหน่ายผ่าน App Store หรือ Play Store ซึ่งต้องจ่ายส่วนแบ่ง 30% จากทุก ๆ การซื้อขายในแอปพลิเคชั่นให้กับ Apple และ Google ซึ่งเป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้  Epic Games ต้องเป็นเรื่องฟ้องร้องขึ้นมานั่นเอง

ในญี่ปุ่น iPhone ถือว่าเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของผู้พัฒนาเกมเลยทีเดียว โดยบริษัทอย่าง Square Enix (ผู้สร้างเกม Final Fantasy) ได้รายได้จากเกมมือถือมากถึง 40% และ Sony Corp ก็มีเกมอย่าง Fate/Grand Order ที่ติดหนึ่งในแอปพลิเคชั่นที่ทำเงินสูงสุดในญี่ปุ่น (อ้างอิงจากการจัดอันดับใน App Store)

และญี่ปุ่นยังมีผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นมากกว่า 702,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่รวบรวมผู้พัฒนาเกมระดับหัวกะทิแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว จากข้อมูลของ Apple ได้เผยว่า App Store ของญี่ปุ่นสร้างรายได้มากถึง 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็น 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจากสินค้าในเกม 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจากสินค้าจริง ๆ และ อีก 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจากค่าโฆษณา

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือการให้บริการของทางฝั่ง App Store ที่มีอุปสรรคมากมายในการที่จะเอาแอปพลิเคชั่นลงตลาด เมื่อเทียบกับทาง Play Store แล้ว ถือว่าง่ายกว่ากันมาก อ้างอิงจาก Makoto Shoji ผู้ก่อตั้งบริษัท PrimeTheory Inc. ผู้ให้ความช่วยเหลือนักพัฒนาเมื่อแอปพลิเคชั่นถูกปฏิเสธจาก App Store ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า “มาตรการตรวจสอบแอปพลิเคชั่นของ Apple นั้นมีความคลุมเครือ และไร้เหตุผลอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งการสื่อสารของทาง Apple กับผู้พัฒนานั้นมักจะเป็นข้อความห้วน ๆ ไม่สุภาพเท่าไหร่นัก แต่ถึงอย่างนั้นทางผู้พัฒนาก็ต้องนอบน้อมอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับคนใช้ถามเจ้านายว่าต้องการอะไร”

ข้ออ้างของ Apple ต่อการเก็บค่าคอมมิชชั่น 30% นั้นเป็นเพราะว่าทาง Apple ต้องการที่จะพัฒนาการสื่อสารระหว่างตัว App Store และผู้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพที่สุด ผ่านผู้ให้คำปรึกษามากกว่า 1,400 คนที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่นโดยมีเป้าหมายหลักคือสร้างแพลตฟอร์มที่ดีที่สุดให้ทั้งผู้พัฒนา และผู้ใช้งาน

แต่ก็ยังมีหลายผู้พัฒนาที่ต้องพบเจอปัญหาเรื่องการได้รับอนุมัติเรื่องการอัปเดตแอปพลิเคชั่นอยู่บ่อยครั้ง ยกตัวอย่างผู้พัฒนาเกมบริษัทหนึ่งที่ต้องยกเลิกการจัดกิจกรรมตามเทศกาลในเกมออกเพราะว่าการขอคำอนุมัติจาก Apple นั้นใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะได้รับการอนุมัติ ทำให้เสียโอกาสทำเงินไปอย่างน่าเสียดาย

Makoto Shoji ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “Apple คงจะไม่ยอมรับว่ามีบางครั้งที่แอปพลิเคชั่นบางแอปพลิเคชั่นตกหล่น และถูกลืมไปในคิวการตรวจสอบ หรือบางครั้งก็เป็นความตั้งใจของ Apple ที่จะลงโทษผู้พัฒนาที่พูดจาไม่ดีกับฝั่ง Apple ด้วยการไม่ตรวจสอบแอปพลิเคชั่นเหล่านั้น และปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ”

จากข้อมูลที่ได้มาเราก็พอที่จะสรุปได้ว่าค่าคอมมิชชั่น 30% นั้นไม่ใช่เรื่องที่ผู้พัฒนาญี่ปุ่นไม่พอใจ แต่เป็นคุณภาพเรื่องการให้บริการของทางฝั่ง App Store ที่ไม่มีคุณภาพ ขาดมาตรฐาน และส่งผลเสียโดยตรงต่อผู้พัฒนาเกมญี่ปุ่นซึ่งทำให้ผู้พัฒนาเหล่านี้หันมาสนับสนุนฝั่ง Epic Games ในข้อพิพาทครั้งนี้นั่นเองครับ

สรุปประเด็นข้อพิพาทระหว่าง Apple และ Epic Games มีปัญหาอะไร ทำไมแบน Fortnite และต้องฟ้องร้อง

Source: Bloomberg