จากการสำรวจคร่าว ๆ โดยสื่อต่างประเทศ พบว่าค่ายพัฒนาเกมชั้นนำในญี่ปุ่น 12 จาก 30 อันดับแรก หรือ 40% บน Google Play และ Apple Store ได้ทยอยเลิกใช้ระบบชำระเงินของกูเกิลแอปเปิลมาได้สักระยะแล้ว โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบจ่ายเงินภายนอกแทน เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมส่วนแบ่งรายได้บน Google Play และ Apple Store ที่อาจถูกเรียกเก็บสูงถึง 30%
ความเคลื่อนไหวข้างต้น เป็นผลมาจากกฎหมายต่อต้านการผูกขาดแพลตฟอร์มดิจิทัลฉบับใหม่ของญี่ปุ่น ที่มุ่งเป้าไปที่ยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลและแอปเปิล ซึ่งทางหน่วยงานกำกับดูแลและรัฐบาลมีการปรึกษาหารือร่วมกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก่อนจะเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาในปีนี้ และกำลังจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า
โซนี่ บันได และโคนามิ ต่างมีชื่อปรากฏในรายงาน แต่กรณีที่น่าสนใจที่สุดคือ ค่าย mixi เจ้าของเกม Monster Strike ที่มอบโบนัสออนท็อปให้ลูกค้าอีก 5% หากใช้ช่องทางจ่ายเงินภายนอกเติมเงินในเกม สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
เมื่อผู้พัฒนาไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 30% อีกต่อไป เม็ดเงินที่ได้รับก็ย่อมมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังราคาของสินค้าและบริการดิจิทัลที่อาจถูกลง เป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ระหว่างนักพัฒนาและลูกค้า และความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็มีแนวโน้มสูงที่จะขยายตัวไปทั่วโลก จากอิทธิพลของกฎหมาย DMA ในยุโรป ซึ่งมีหลายประเทศเริ่มนำไปปรับใช้ รวมถึงญี่ปุ่นตามที่ปรากฏเป็นข่าวนี้ด้วยเช่นกัน
แต่ในทางกลับกัน เจ้าของแพลตฟอร์มอย่างกูเกิลและแอปเปิล คงไม่ชอบใจกับแนวทางนี้เท่าไหร่นัก เพราะแพลตฟอร์มเองก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ ทั้งในแง่การพัฒนา การบำรุงรักษา การจัดการดูแล และอื่น ๆ หาใช่จะเสกขึ้นมาจากอากาศ
ที่มา : Nikkei Asia
ทำฟรีไปเลย อย่าไปเก็บมันเลยค่าธรรมเนียม สิ้นเรื่อง ไม่งั้นรัฐบาลกลางก็กำหนดอัตราที่คิดว่ายุติธรรมออกมา จะเรียกสองฝ่ายคุยหรืออะไรก็เอา
Platform ทำไม่ง่าย ล้มหายตายจากก็เยอะ กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ไม่ง่าย ถ้าไม่อยากให้กีดกันทางการค้า รัฐบาลทำ platform ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมออกมาแข่งเลยจบ ผู้ใช้ ผู้ขายจะได้ประโยชน์เต็มๆ