ญี่ปุ่นผ่านกฎหมาย Act on Promotion of Competition for Specified Smartphone Software เพื่อกำกับดูแลบริษัทบิ๊กเทคฯ ไม่ให้ผูกขาดตลาดดิจิทัล ในลักษณะคล้าย Digital Markets Act ของสหภาพยุโรปเมื่อปีที่แล้ว โดยมุ่งเป้าไปที่กูเกิลและแอปเปิล หลังการสอบสวนดำเนินมาหลายเดือน ล่าสุดคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรมของญี่ปุ่น (JFTC) ตัดสินว่ากูเกิลมีความผิดจริง
JFTC บอกว่ากูเกิลมีการทำ ‘ข้อตกลงพิเศษ’ กับผู้ผลิตมือถือ Android อย่างน้อย 6 รายมาตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง หลัก ๆ คือ Search และ Chrome ที่ถูกกำหนดให้ติดตั้งล่วงหน้ามากับเครื่อง ถูกกำหนดให้เป็นบริการค้นหาเริ่มต้น และถูกกำหนดให้ต้องวางแอปและวิดเจ็ตในหน้าแรกของหน้าโฮม ตลอดจนถึงการทำข้อตกลงส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดจากโฆษณาผ่านการค้นหา
JFTC ออกคำสั่งให้กูเกิลหยุดทำข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวกับผู้ผลิต Android นับแต่นี้เป็นต้นไป และสั่งให้กูเกิลแต่งตั้งบุคคลที่สามขึ้นมา ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าบริษัทมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับกฎหมาย Act on Promotion of Competition for Specified Smartphone Software จริงหรือไม่ และคอยส่งรายงานกลับไปยัง JFTC เป็นเวลา 5 ปี
กูเกิลแถลง ข้อตกลงพิเศษ สมัครใจทั้งสองฝ่าย
ฟากกูเกิล ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน บอกว่าบริษัทรู้สึกผิดหวังกับคำตัดสินของ JFTC โดยระบุว่าข้อตกลงพิเศษดังกล่าว เป็นข้อตกลงแบบสมัครใจทั้งสองฝ่าย ใครอยากทำก็ทำ ใครไม่อยากทำกูเกิลก็ไม่เคยห้าม ไม่เคยบังคับ อีกทั้งข้อตกลงนี้ยังเกิดผลดีกับผู้ผลิต Android คือสามารถขายเครื่องได้ในราคาถูกลง (ได้ส่วนแบ่งจากกูเกิลมาโปะต้นทุน)
ถึงกระนั้น กูเกิลแจ้งว่ายินดีที่จะให้ความร่วมมือกับ JFTC แต่จะพิจารณาแนวทางโดยละเอียดก่อนตัดสินใจดำเนินการใด ๆ ส่วนประเด็นเรื่องค่าปรับ ที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าขั้นต่ำคือ 10% ของรายได้ สำหรับความผิดครั้งแรกนั้น ทาง JFTC ไม่ได้เอ่ยถึง
ที่มา : JFTC | Google Japan
Comment