หลังจากที่กสิกรไทยประกาศบุกตลาดเวียดนามไปก่อนหน้านี้ ล่าสุดในงาน “THE METAMORPHOSIS” Regional Business Townhall & Press Conference 2021 ของบริษัทเมื่อ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทางธนาคารก็ได้ประกาศวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าต้องการจะก้าวขึ้นเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค กลายร่าง จากสถาบันการเงินที่พวกเราเคยชิน ให้เป็นมากกว่าธนาคาร แบบ “ไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ ไร้ขอบเขต” เล็งฐานลูกค้าดิจิทัลในต่างประเทศกว่า 10 ล้านราย และเติบโตมากกว่า 5 เท่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องกสิกรไทยเองแล้ว ก็ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างที่เก็บเอามาเล่าให้ฟังกันด้วย

ไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ ไร้ขอบเขต

เราได้เห็นยุทธศาสตร์ของธนาคารต่าง ๆ ที่กำลังจะเดินไปในอนาคตกันบ้างแล้ว โดยของทางธนาคารกสิกรไทยจะมีความแตกต่างและน่าสนใจ ด้วยวิสัยทัศน์ในการเติบโตออกไปมากกว่าแค่การให้บริการภายในประเทศ  (Limitless Opportunity) ผู้คนจากประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านในอาเซียน หรือจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็สามารถเป็นลูกค้าของธนาคารได้ ด้วยเทคโนโลยีด้านการเงินของธนาคารที่นำหน้ากว่าหลายธนาคารทั่วโลก ทำให้เชื่อมข้อมูลกันได้แบบไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) โดยในอดีตบริการทางการเงินระหว่างประเทศอาจจะติดข้อจำกัดต่าง ๆ มีความไม่สะดวก และเป็นไปได้ยาก แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ดังที่เราได้เห็นจาก K PLUS ซึ่งช่วยทำให้ธุรกรรมการเงินของคนไทยง่ายและรวดเร็วขึ้นมาก กสิกรไทยก็จะนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปสู่ผู้คนในประเทศต่าง ๆ ให้ได้รับความสะดวกสบายไม่ต่างกัน ใช้ทำธุรกรรมระหว่างประเทศได้แบบไม่มีสะดุด ซึ่งการที่จะเป็นแบบนั้นได้คนของกสิกรไทยก็จะต้องมีการเติบโตพัฒนาศักยภาพขึ้นแบบไม่มีขอบเขต (Borderless Growth) เพื่อให้รองรับกับการเติบโตที่รวดเร็วนี้

ปัจจุบันกสิกรไทยได้เริ่มให้บริการในหลายประเทศ ทั้งบริการการเงินการธนาคาร รวมถึงบริการด้านเทคโนโลยีทางการเงิน ประกอบไปด้วย

  • จีน 🇨🇳 : เปิดให้บริการ 4 สาขา มีลูกค้าแล้วกว่า 1 ล้านราย พร้อมทั้งเปิดบริษัทไคไท่ เทคโนโลยี จำกัด (KAITAI Technology Company Limited)  ที่เซินเจิ้น
  • เวียดนาม 🇻🇳 : เปิดสาขาเพิ่มจากสำนักงานผู้แทน เดินหน้าเจาะตลาดด้วยกลยุทธ์ Digital Banking เพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการสินเชื่อ KBank Biz  Loan หรือการพัฒนา K PLUS เวอร์ชั่นเวียดนาม สำหรับผู้ใช้ในประเทศโดยเฉพาะ
  • ลาว 🇱🇦 : มีผู้ใช้งานบริการ QR KBank ในปัจจุบันแล้ว 1.3 แสนราย 
  • กัมพูชา 🇰🇭 : เปิดให้บริการ Payroll Lending บนแอปของพันธมิตร ให้สินเชื่อได้ง่าย ๆ ผ่านแอป 
  • อินโดนีเซีย 🇮🇩 : เตรียมบุกประเทศที่มีตลาดและจำนวนประชากรใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเร็ว ๆ นี้

แม้ว่าในปี 2021 นี้ ทั้งโลกจะยังอยู่ภายใต้ภาวะวิกฤตโควิด-19 แต่กสิกรไทยยังสามารถสร้างการเติบโตในระดับภูมิภาคได้อย่างก้าวกระโดด เติบโตกว่าปีที่ผ่านมาถึง 34% โดยตั้งเป้าในปี 2023 รายได้ของธุรกิจในต่างประเทศจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 5% ของรายได้สุทธิของธนาคาร หรือเติบโตขึ้นจากเดิม 5 เท่า และมีฐานลูกค้าดิจิทัลเพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 1.6 ล้านรายเป็น 6.5 ล้านรายในปี 2023 และ 10 ล้านรายในปี 2024

กล่าวโดยสรุปคือ การกลายร่าง Metamorphosis ของกสิกรไทยในครั้งนี้ จะเป็นการพลิกโฉม บุกตลาดภูมิภาคแบบเต็มตัว ด้วยนวัตกรรมด้านดิจิทัล แบงก์กิ้งจาก KBTG ทีมผู้สร้าง K PLUS และเตรียมขยายทีมพร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตในครั้งนี้

โดยในงานทางกสิกรได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น จากความขัดแย้งของสองขั้วอำนาจจีน-อเมริกา และวิกฤตการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและกระแสการมุ่งสู่ความยั่งยืนของนานาประเทศ ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อน แต่ก็เต็มไปด้วยโอกาส และเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

DECOUPLING : เมื่อโลกแยกเป็นสองส่วน จีน – สหรัฐฯ

ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศและสงครามการค้ายังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ต่างฝ่ายต่างสร้างห่วงโซ่เศรษฐกิจและเงื่อนไขของตนเองขึ้นมา ซึ่งเป็นโอกาสที่ชาติอาเซียนจะเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างสองห่วงโซ่นี้ โดยมีการลงทุนและแลกเปลี่ยนจากทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นผ่านภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก ชาติที่ได้รับประโยชน์ไปมากที่สุดก็คือเวียดนาม มีการเทเงินเข้าไปลงทุนสร้างฐานการผลิตจากหลากหลายประเทศ ส่วนไทยจะยังไม่ได้รับประโยชน์มากนัก ซึ่งการที่กสิกรไทยเล็งขยายออกไปเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการมีส่วนร่วมของการเติบโตนี้ได้เช่นกัน

REGIONALIZATION 2.0 : อิทธิพลของจีนต่อภูมิภาคอาเซียน

ในปัจจุบันเราเริ่มได้เห็นจีนส่งออกสินค้าไฮเทคและนวัตกรรมจากในประเทศมากขึ้น ส่วนการผลิตสินค้าราคาถูก จะกระจายการผลิตไปสู่ประเทศอื่นอย่างประเทศในแถบอาเซียนนี้ โดยในช่วงวิกฤติโควิด-19 การค้าระหว่างจีนและชาติอาเซียนก็เติบโตขึ้นจนมีมูลค่าสูงที่สุด และด้วยความเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น คนชนชั้นกลางของจีนมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้จ่ายในภูมิภาคอาเซียนในปริมาณที่สูง จนอาจมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจในประเทศ ก็เป็นไปได้ว่าเราจะได้เห็นอุปกรณ์ และมาตรฐานต่าง ๆ ของจีนเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้หรือทั่วโลกมากขึ้น

แม้ว่าในโลกอินเทอร์เน็ตหลายคนอาจจะยังไม่ได้ใช้ Baidu แทน Google, Weibo แทน Facebook, Youku แทน YouTube แต่เราก็ได้เห็นสมาร์ทโฟนจีน เว็บอีคอมเมิร์ซยอดนิยม ผู้ให้บริการเกม หรือแม้แต่โครงสร้างพื้นฐานหลาย ๆ อย่างในไทย ต่างก็ใช้ผลิตภัณฑ์จากจีนเป็นหลักไปเรียบร้อย

และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางการจีนได้เริ่มมีการทดสอบใช้งาน DCEP สกุลเงินดิจิทัลของจีน หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่า ดิจิทัลหยวน ซึ่งใช้เทคโนโลยี Blockchain เป็นตัวพัฒนาขึ้นมาเหมือนสกุลเงินดิจิทัลอื่น แต่ต่างออกไปที่มีการควบคุมแบบรวมศูนย์โดยรัฐบาลจีน คาดการณ์กันว่าจะมีการผลักดันให้ DCEP นี้กลายเป็นสกุลเงินดิจิทัลสากล เพื่อที่จะได้แข่งขันกับดอลลาร์สหรัฐ และมีความเป็นไปได้สูงว่าต่อไปถ้าประเทศใดต้องการทำการค้ากับจีน จะต้องใช้สกุลเงิน DCEP นี้แทนการชำระเงินในปัจจุบันด้วยเช่นกัน

DIGITALIZATION : ความเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัล

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภาพของโลกตะวันตก รวมถึงสหรัฐ ก็น่าจะขึ้นมาในหัวของหลาย ๆ คน ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในเร็ววันนี้ เพราะเมื่อดูจากปัจจัยพื้นฐาน จีนเป็นประเทศที่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีมากกว่าใคร ทั้งในเรื่อง AI, IoT, 5G, Blockchain, Face Recognition และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต การใช้จ่ายผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ รวมถึงการซื้อขายในโลกอีคอมเมิร์ซ ของจีนก็มีจำนวนเยอะกว่าประเทศไหน ๆ ทำให้จีนมีข้อมูลในมือเป็นจำนวนมาก และข้อมูลเหล่านี้จะเป็นเหมือนอาหารของ AI ยิ่งมีมากเท่าไหร่ AI ก็จะยิ่งเก่งขึ้นเท่านั้น และข้อมูลนี้ก็จะไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศจีน ดังที่เราได้เห็นว่าธุรกิจดิจิทัลของจีนก็มีการขยายเข้าไปในประเทศอื่นทั้งในเอเชียและแอฟริกา ซึ่งเมื่อรวมแล้วก็มีจำนวนกว่า ¾ ของทั้งโลกเลยทีเดียว

DECARBONIZATION : รักษ์โลก หยุดปล่อยคาร์บอน

Climate Change กลายเป็นกระแสหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และมุ่งสู่สังคมไร้คาร์บอน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เหล่าประเทศมหาอำนาจต่างเริ่มออกกฎในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ โดยประเทศต้นทาง (เช่น ไทย) ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ผลิตสินค้าให้มีผลกระทบต่อโลกให้น้อยที่สุด ถึงจะสามารถส่งออกนำเข้าได้ โดยปัจจุบัน 98% ของผู้ประกอบการส่งออกไทย ยังไม่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ยังมีเวลาให้ปรับตัวอีกพอสมควร และการปรับตัวนี้แม้จะต้องมีการใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่ก็อาจจะทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ที่เจริญเติบโตได้ดีเป็นเอสเคิร์ฟเลยก็เป็นได้เช่นกันนานาชาติต่างก็เตรียมตัวกันเต็มที่ ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นจำนวนมากที่สุดของโลกอย่างจีน ก็มีแผนยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลง ถ้ามองในมุมกลับก็ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจในการสร้างห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain)

เล็งเป็นองค์กรในฝันของเหล่าผู้มีความสามารถจากทั่วโลก 

ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างใหญ่โต ทั้งจากภายนอกและภายใน ทรัพยากรบุคคลก็กลายเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายตามหา โดยเฉพาะบุคลากรในกลุ่ม STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) ที่ต้องบอกว่าหาได้ยากยิ่งในประเทศ ในปี 2563 ที่ผ่านมา KBTG ได้มีการจัดตั้งบริษัท ไคไท่ เทคโนโลยี ที่เซินเจิ้น โดยมีภารกิจหลักในการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถมาร่วมทีมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านฟินเทค ซึ่งในจีนมีคนจบในสาขาเหล่านี้กว่า 1.4 ล้านคน และยังมีเหล่าผู้มีประสบการณ์ในตลาดอยู่อีกเป็นจำนวนมาก สามารถนำเอาโนว์ฮาวไปต่อยอดเพื่อดำเนินธุรกิจในจีน หรือปรับใช้ในประเทศไทย รวมถึงสาขาทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนได้อีกด้วย

และด้วยเป้าหมายที่จะเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด ไร้รอยต่อ ไร้ขอบเขตนี้ ทำให้มีการตั้งเป้าเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นอีกกว่า 50% เพื่อขยายศักยภาพของทีมให้ไปสู่ความสำเร็จ และเพื่อเป็นการดึงดูดทาเลนท์จากทั่วโลก ธนาคารจึงได้มีแนวคิดที่จะสร้างการเติบโตแบบไร้ขอบเขตทุกมิติ โดยจะเติบโตทั้งในตัวเอง ทั้งกับทีมที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งพันธมิตรต่าง ๆ ที่จะมีไปทั่วโลก รวมถึงการเติบโตไปพร้อม ๆ กับสังคม ที่บริษัทต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ดียิ่งขึ้นไป

ถ้าใครสนใจก็ลองสมัครเข้าไปร่วมทีมกับทางกสิกรไทยได้เลยนะครับ

ก็หวังว่าข้อมูลต่างๆที่หยิบเอามาฝากมาเล่าให้อ่านนี้ เพื่อน ๆ จะพอเห็นภาพของความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่ตัวของธนาคารกสิกรไทยเอง แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและทั่วโลกเลย