เมื่อพฤติกรรมคนไทยเริ่มใช้งานอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนเพื่อทำธุรกรรมดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไทยกำลังกลายเป็นเป้าหมายในการโจมตีของผู้ไม่หวังดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดบริษัทโซลูชันด้านความปลอดภัยองค์กรอย่าง Kaspersky ได้ออกมาเปิดเผยผลวิจัยด้านความปลอดภัยในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2021 พบว่าประเทศไทยถูกมัลแวร์โจมตีบนอุปกรณ์พกพารวมแล้วกว่า 66,586 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าปี 2020 ถึง 130.71% สวนทางกับกระแสโลกที่มีอัตราลดลงเรื่อย ๆ

ทาง Kaspersky รายงานสถิติต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี พบว่าประเทศไทยในปี 2019 มีบันทึกการตรวจจับโมบายล์มัลแวร์อยู่ที่ 44,813 รายการ ขณะที่ในปี 2020 ลดลงมาเหลืออยู่ที่ 28,861 รายการ ซึ่ง 2020 ถือเป็นปีที่มียอดกระแสโจมตีพีคที่สุดทั่วโลก เนื่องจากการระบาดของโควิด 19 ทำให้คนอยู่บ้านใช้งานมือถือกันมากขึ้น ในไทยเรากลับมียอดถูกโจมตีสูงขึ้นตามมาทีหลังในปี 2021 แทน

เมื่อดูอันดับจากการสำรวจทั้ง 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสังเกตเห็นว่า ประเทศไทยมียอดการตรวจจับมัลแวร์เป็นอันดับ 3 รองจากอันดับ 1 คืออินโดนีเซีย 375,547 รายการ และอันดับ 2 มาเลเซีย 71,889 รายการ ถัดจากนั้นก็จะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ตามลำดับ

สิ่งที่น่าสังเกตคือตัวเลขของประเทศไทยนั้นสวนทางต่างจากกระแสโลก เพราะมีเพียงไทยกับเวียดนามเท่านั้นที่มียอดสูงขึ้น ขณะที่ประเทศ SEA อื่น ๆ มียอดลดลงติดต่อกันเรื่อย ๆ ที่สำคัญแนวโน้มทั่วโลกก็เริ่มไม่มีข่าวสารหรือแคมเปญพูดถึงหัวข้อการโจมตีเหล่านี้แล้ว

จากรายงาน Digital 2022 Global Overview Report ระบุว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนการโจมตีโดยโมบายล์มัลแวร์ สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของการใช้งานอุปกรณ์โมบายในประเทศไทย โดยปัจจุบันจำนวนอุปกรณ์โมบายล์ในไทยมีมากถึง 95.6 ล้านเครื่องแล้ว คิดเป็น 136.5% ของประชากรในประเทศ

ตามรายงานฉบับเดียวกันนี้ ผู้บริโภคชาวไทยดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมากกว่า 2,440 ล้านรายการในปี 2021 เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน ซึ่งสื่อถึงจำนวนการใช้งานที่เพิ่มขึ้นจริง นอกจากนี้คนไทยยังใช้จ่ายเงินกับแอปพลิเคชันรวมมูลค่ามากกว่า 1,090 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 30% เช่นกัน

 

 

ที่มา, : MGROnline, wearesocial