KBTG (KASIKORN Business Technology Group) กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย ปัจจุบันเป็นหน่วยงานที่สร้างผลงาน บริการใหม่ๆของธนาคารกสิกรไทยออกมามากมาย โดย K PLUS ก็เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ของทีมนี้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา KBTG ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดวิสัยทัศน์ของปี 2018 ซึ่งนอกเหนือจากฟีเจอร์ในด้าน AI ที่เตรียมจะใส่เข้ามาและปรับดีไซน์แอปใหม่ในปีนี้ ยังมีการเปิดตัวทีมงานซึ่งไปคว้ามือดีมาลุยกันเพียบ

KBTG เบื้องหลังความสำเร็จของกสิกรในยุคดิจิทัล

หลังๆมานี้เราจะเริ่มได้ยินชื่อของ KBTG บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งใครที่อยู่ในแวดวงหรือติดตามข่าวสารด้านการเงินการธนาคารก็น่าจะพอได้ยินกันมาบ้าง แต่สำหรับคนที่เพิ่งเคยได้ยินก็ต้องบอกว่า KBTG เป็นชื่อที่ต่อไปจะสร้างสีสันให้กับวงการไอทีและธนาคารในบ้านเราอีกมาก คนทำธุรกิจควรจะรู้จักพวกเค้าไว้ โดยกลุ่มบริษัทนี้ถูกจัดตั้งขึ้นจากธนาคารกสิกรไทย ที่เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น ธนาคารก็ต้องปรับตัวสร้างบริการที่ตอบโจทย์การใช้งาน ที่ผ่านมาได้ฝากผลงานเอาไว้หลายอย่าง ทั้ง K PLUS, K PLUS Beacon และโครงการนำร่องของ Machine Commerce และ Machine Lending ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี และขณะนี้ธนาคารสามารถทำให้บริการอย่างการปล่อยกู้ และการสร้างโอกาสในการซื้อขายให้แก่ลูกค้าของธนาคาร ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และตรงใจ มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

ต่อไปเราจะเริ่มได้เห็นฟีเจอร์ใหม่ๆ ความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆใน K PLUS ก็ด้วยทีม KBTG นี่เอง

เปิดตัว “เกด” เทคโนโลยี AI ที่เตรียมให้บริการบน K PLUS

KADE (K PLUS AI-Driven Experience) หรือเรียกสั้นๆว่า เกด นี้ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ธนาคารจะใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาเสริมการใช้งานใน K PLUS ให้ดีและหลากหลายมากขึ้น จากฟีเจอร์เดิมๆที่รอเราสั่งงาน เช็คบัญชี โอนเงิน จ่ายบิล กลายเป็นตัวแอปจะมีสมองคิดได้ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทางด้านการเงินและใช้ชีวิตได้เลยทันที เช่น

  • แจ้งเตือนให้จ่ายเงินค่าบริการต่างๆ
  • เสนอเงินกู้ให้ยามที่เรากำลังขาดเงิน
  • แนะนำสินค้าและบริการที่เราน่าจะสนใจ
  • วางแผนการลงทุนให้คุ้มค่าที่สุด

ฟีเจอร์ต่างๆข้างต้นนี้ ทางเราไม่จำเป็นต้องร้องขอ แต่ว่าทางแอปจะนำเสนอมาให้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลมาจากตัว AI ที่ได้เข้าทำการประมวลผลข้อมูลต่างๆของลูกค้าแต่ละคน โดยเรียนรู้รูปแบบการใช้ชีวิตและประวัติการทำธุรกรรมการเงิน ฯลฯ จนเรียนรู้ว่าลูกค้าคนนั้นๆมีความสนใจในเรื่องอะไรบ้าง และสามารถนำเอารูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้าคนอื่นๆที่มีโปรไฟล์ใกล้เคียงกับเราปรับมานำเสนอได้อีก เรียกได้ว่าเป็นการทำโปรโมชั่นแบบเจาะเป็นรายคน (Segment of One) เลยก็ว่าได้ ซึ่งทางธนาคารมั่นใจว่า KADE จะสามารถเลือกแต่สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการได้อย่าง “ถูกใจ ทุกที่ ทุกเวลา” และลูกค้าก็ยังสามารถเลือกเองได้ว่าต้องการที่จะเห็นหรือไม่เห็นอะไรบ้าง ปรับแต่งเองได้ตามใจชอบเลยครับ

สำหรับความฉลาดของ AI ใน K PLUS นี้จะประกอบไปด้วย 3 แกนหลักคือ

  1. Design Intelligence : ออกแบบทุกส่วนโดยใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ศึกษาทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า แล้วนำเอาข้อมูลที่ได้มาออกแบบให้ใช้งานได้อย่างตอบโจทย์ที่สุด ซึ่งเราได้เห็นจากการออกแบบ K PLUS Beacon ไปแล้ว
  2. Service Intelligence : สร้างสรรค์บริการใหม่ๆขึ้นมาจากการศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้ เราชอบอะไร ไปไหนบ่อย ทางธนาคารก็จะหามาบริการให้ เช่น วาเลนไทน์ก็มีดอกไม้มาขาย หรือลองนำสินค้าเกษตรแบบออแกนิกส์จำหน่ายให้กับกลุ่มคนที่สนใจ เรียกได้ว่าเราจะมี e-marketplace ย่อมๆอยู่ในแอป K PLUS เลยนั่นเอง ซึ่งได้มีการทดลองให้บริการแล้ว ในอนาคตจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ลูกค้าจะได้รับข้อเสนอโปรโมชั่นตามความสนใจของบุคคล ผ่านเมนู Life PLUS
  3. Machine Intelligence : นำเอามาต่อยอดใช้เป็น Machine Lending ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ค้ารายย่อย โดยทางธนาคารจะดูข้อมูลความจำเป็นของการใช้เงิน รวมถึงความสามารถในการชำระเงิน แล้วนำเสนอเงินกู้ผ่านทาง K PLUS หากสนใจเข้ารับบริการ จะได้เงินเข้าบัญชีทันทีในเวลาไม่เกิน 1 นาที ซึ่งลองให้บริการมาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2560 และได้รับการตอบรับที่มากกว่าวิธีเดิมถึง 300% เลยทีเดียว

    ตัวอย่างของคนที่ได้รับการติดต่อจากเกดเพื่อเสนอวงเงินกู้ให้ ถ้าสนใจโอนเข้าแทบจะทันทีเลยจ้า

Machine Lending บน K PLUS ทำงานอย่างไร

มาถึงตรงนี้บางคนอาจจะอยากรู้เรื่องของระบบการให้วงเงินกู้ส่วนบุคคลแบบอัตโนมัตินี้กันแล้วว่ามันทำงานอย่างไร ซึ่งผมจะขออธิบายตามภาพข้างต้นคือทางธนาคารจะรวบรวมข้อมูลต่างๆของเรา ทั้งข้อมูลที่เราให้ไว้เมื่อตอนสม้คร ประวัติการทำธุรกรรมผ่านทางธนาคาร รวมถึงข้อมูลการใช้งานแอป มือถือ หรือ social network ต่างๆ เอามาประมวลผลทางกสิกรไทยก็จะพยายามเข้าใจในความชอบของเราว่าต้องการอะไร และในช่วงนี้ว่าเรามีเครดิตหรือความสามารถในการชำระคืนเท่าไหร่ และทำนายว่าเรามีความต้องการใช้เงินในช่วงเวลานั้นหรือไม่ เช่น กำลังจะแต่งงาน ต้องการเงินไปรักษาคนในครอบครัว หรือจะขยายกิจการ ตรงนี้ทางธนาคารก็จะทำการเสนอวงเงินกู้มาให้เราได้ใช้ได้อย่างทันใจ แบบถูกที่ ถูกเวลานั่นเองครับ ส่วนว่าจะแม่นขนาดไหนนั้น คงต้องถามคนที่เคยได้รับข้อเสนอมาแล้วว่าเป็นอย่างไรบ้างนะ

ปรับดีไซน์ K PLUS ใหม่ ให้เข้ากับ KADE

เมื่อ “เกด” จะสร้างความฉลาดให้กับ K PLUS เพิ่มขึ้นมากมายทั้งที การออกแบบตัวแอปใหม่เพื่อให้รองรับก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่งภายในงานทางผู้บริหารของ KBTG บอกเป็นนัยว่ายังไงก็ต้องทำ แต่จะยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดมากนัก ซึ่งก็เชื่อได้ว่าจะออกมาดีขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะมีทีมดีไซน์ทั้งหน้าตา (UI) และประสบการณ์ใช้งาน (UX) อยู่ด้วย ที่ได้ช่วยออกแบบ K PLUS Beacon ให้สามารถใช้งานได้ง่ายจนคนตาบอดยังใช้งานได้สบายๆครับ

UI ของ K PLUS Beacon ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย แม้กระทั่งผู้บกพร่องทางการเห็นก็ใช้งานได้เช่นกัน

K PLUS Beacon แอพใหม่ใช้ง่ายเพื่อผู้สูงอายุและคนตาบอด จากธนาคารกสิกรไทย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของ K PLUS Beacon กันต่อได้นะ

ดึงตัวหัวกะทิชาวไทยกลับบ้าน ร่วมพัฒนานวัตกรรมการเงิน

สิ่งนึงที่น่าสนใจของทีม KBTG คือ มีการเปิดเผยว่าแทบทุกบริการที่มีที่ให้เราใช้นี้ เป็นการพัฒนาแบบ In-House หรือทำกันเองแทบทั้งสิ้น ไม่ได้ outsource ให้บริษัทภายนอกทำ ซึ่งปัจจุบันทีมที่ทำงานอยู่มีราว 40 คน และเล็งจะขยายทีมเพิ่มเป็น 100 คนภายในปีหน้า โดยทาง KBTG ไปเฟ้นหาเหล่าคนไทยที่มีความสามารถ ทำงานอยู่ตามบริษัทใหญ่ๆดังๆทั่วโลก ดึงตัวกลับมาร่วมทีมกันเพียบ ซึ่งในงานก็มีการเปิดตัวหัวหน้าทีมแต่ละส่วนมาด้วย

  1. อภิรัตน์ หวานชะเอม อดีต Lead Architect ที่ Thompson Reuter สหราชอาณาจักร
  2. ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล อดีต Software Engineer ที่ Google สหรัฐอเมริกา
  3. เชษฐพันธุ์ ศิริดานุภัทร อดีต Vice President ด้าน Technology ที่ Barclays Capital Asia Limited ฮ่องกง

และทางคุณสมคิด ประธาน KBTG  เองก็ได้บอกว่ายังคงคอยเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้าทีมอยู่เรื่อยๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานและบริการแก่ลูกค้ากสิกรไทยให้ดียิ่งๆขึ้นไปครับ