วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ คนไทยก็จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งกันแล้ว แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น ช่วงนี้ก็จะเป็นบรรยากาศการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งผ่านการประกาศเสียงตามสาย รถแห่กระจายเสียงตามชุมชน แต่อีกหนึ่งเครื่องมือที่กำลังเป็นที่นิยมตอนนี้ คือสื่อออนไลน์ ซึ่ง Facebook, Instagram ก็ถือเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้มากที่สุด ทาง Meta จึงได้มีการออกมาตรการสำหรับการเลือกตั้ง การหาเสียงบนชุมชนไว้ จะมีรายละเอียดและช่วยป้องกันการแทรกแซง และทำให้เกิดการหาเสียงอย่างโปร่งใสอย่างไร ไปดูกันค่ะ

Meta กับการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งของไทย ปี 2566

Clare Amador

คุณแคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ กล่าวว่าการเลือกตั้งทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต Meta ได้ยกระดับและต่อยอดจากประสบการณ์การทำงานระดับโลก พร้อมรับฟังและเรียนรู้จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงและสนับสนุนความโปร่งใสในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย

 

5 แนวทางปกป้องการเลือกตั้ง สนับสนุนความโปร่งใส การเลือกตั้ง จาก Meta 

เลือกตั้งไทย 2566

โดยในปี 2559 ทาง Meta ได้เริ่มออกมาตรการเฉพาะเกี่ยวกับข่าวสารและโฆษณาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การหาเสียงทางการเมืองมากขึ้น บนแพลตฟอร์ม Facebook และปรับใช้ไปทั่วโลก ผ่าน 5 มาตรการ คือ

1.จัดตั้งทีมทำงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง (Election Operations Team)

Meta ได้จัดตั้งทีมทำงานเชิงปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนด้านการเลือกตั้งโดยเฉพาะ ผ่านการจัดสรรทรัพยากรบุคคลกว่า 40,000 อัตราทั่วโลก ในการทำงานเชิงรุกด้านความปลอดภัยและความมั่นคงไซเบอร์ ประกอบไปด้วยหลากหลายผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทีมงานที่มีประสบการณ์ทำงานเตรียมความพร้อมช่วงการเลือกตั้ง การต่อสู้ข้อมูลเท็จ ความปลอดภัย สิทธิมนุษยชน และโลกไซเบอร์ ที่จะคอยสอดส่องและรับมือต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแบบเรียลไทม์

  • ทีมงานดังกล่าวยังประกอบไปด้วย บุคลากรชาวไทยที่มีความคุ้นชินกับบริบทสังคมในพื้นที่เป็นอย่างดี

2.การจัดการเนื้อหาที่อันตราย

Meta มีนโยบายและข้อกำหนดว่า ชุมชนจะต้องปฎิบัติต่อกันด้วยความเคารพซึ่งกันและกันบนแพลตฟอร์มของเรา และจะทำการลบเนื้อหาใด ๆ ที่ฝ่าฝืนมาตรฐานชุมชน ไม่ว่าจะเป็น คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (hate speech), ความรุนแรงและการยุยง, การกลั่นแกล้งและการคุกคาม หรือ การให้ข้อมูลเท็จบางประเภท ทันทีที่เราได้รับรายงาน

  • นโยบายด้านข้อมูลเท็จของบริษัทไม่อนุญาตให้มีการแทรกแซงหรือหยุดยั้งการลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รวมไปถึงไม่อนุญาตให้มีการให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ หรือวิธีการเลือกตั้ง ไปจนถึงการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง และการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการลงคะแนนด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายหรือเรียกร้องให้มีการแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ 

นอกจากนี้ นโยบายเพื่อป้องกันการแทรกแซงผู้ใช้สิทธิ์ของ Meta ยังไม่อนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตรายหลายประเภทที่ส่งเสริมให้เกิดการแทรกแซงหรือสกัดกั้นการลงคะแนนเสียง เช่น การบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับวันที่ สถานที่ เวลา และวิธีการในการลงคะแนนเสียงหรือการลงทะเบียนเลือกตั้ง หรือข้อเสนอในการซื้อขายเสียงด้วยเงินสดหรือของกำนัลต่าง  

และยังรวมถึงข้อมูลเท็จที่เป็นอันตราย ซึ่งรวมถึงการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ์ Meta ได้ใช้เทคโนโลยี AI ที่เข้าใจภาษาท้องถิ่นเพื่อตรวจจับและกำจัดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ในเชิงรุก รวมถึงการกลั่นแกล้ง (bullying) การล่วงละเมิด (harassment) และเนื้อหาที่ละเมิดนโยบายความรุนแรงและการยั่วยุในมาตรฐานชุมชนของ Meta ซึ่งถูกบังคับใช้ในชุมชนระดับโลกของ Meta ทั้งหมด พร้อมกับการดำเนินงานของผู้ตรวจสอบดูแลเนื้อหาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มเป็นภาษาไทย

 

3.เพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาและการดูแลเพจ

Meta จัดทำมาตรการเพิ่มเติมในการสร้างความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาและดูแลเพจต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม

Meta

  • ความโปร่งใสในการการเผยแพร่โฆษณา: ผู้ลงโฆษณาจะต้องผ่านกระบวนการยืนยันข้อมูลระบุตัวตนผ่านบัตรประชาชนที่ออกโดยรัฐบาล และระบุข้อความได้รับสปอนเซอร์จากบนโฆษณา และระบุว่าเป็นโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการเมือง เป็นการสร้าง Disclaimer ก่อน ถึงจะลงโฆษณาได้
  • ระบุสถานที่ ที่ทำการโฆษณา โดยจะไม่สามารถทำโฆษณาการเมืองจากนอกประเทศได้ เช่น การเลือกตั้งในไทย ผู้ที่ลงโฆษณาต้องอยู่ในประเทศไทย ไม่สามารถยิงมาจากบัญชีที่อยู่ต่างประเทศได้
  • คลังโฆษณา: Ad Library ศูนย์รวมข้อมูลสาธารณะ ที่คนไทยบุคคลทั่วไปทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลโฆษณาที่กำลังแสดงผลอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงข้อมูลโฆษณาเกี่ยวกับการเมือง ย้อนหลัง 7 ปี บน Facebook เพื่อตรวจสอบว่าโฆษณาถูกโพสต์ลงเมื่อใด ในแพลตฟอร์มใด และใครเป็นคนสปอนเซอร์โฆษณานั้น ๆ เป็นบริบทข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของบัญชีผู้ใช้ได้ดีขึ้น
  • ซึ่งโฆษณาในไทย เริ่มเก็บข้อมูลโฆษณาทางการเมืองตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2565
  • บริบทของบัญชีและเพจต่าง : Meta อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถดูประเทศของผู้ดูแลเพจได้ และได้เปิดตัว เกี่ยวกับบัญชีนี้ ทาง Instagram ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของบัญชีนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
  • โดยระยะเวลาการอนุมัติโฆษณาทางการเมืองจะอยู่ที่ 3 วัน

 

4.การยับยั้งเครือข่ายที่แทรกแซงความโปร่งใส

ทีมความปลอดภัยทางไซเบอร์ของ Meta จะสอดส่องและรับมือกับเครือข่ายออนไลน์ที่มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยและอาจมีการแทรกแซงความโปร่งใส เช่น การมีพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนบนโลกออนไลน์ (coordinated inauthentic behavior หรือ CIB) ซึ่งในช่วงการเลือกตั้ง CIB มุ่งบงการชักใยและสร้างอิทธิพลต่อความเห็นของสาธารณชนเพื่อเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ผ่านบัญชีปลอม และร่วมกันให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับตัวตนและเจตนาของพวกเขา

ซึ่งเราจะเห็นตัวอย่างการแทรกแซงการเลือกตั้งผ่านสื่อออนไลน์ ที่ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่โด่งดังระดับโลก คือ ช่วงเหตุการณ์การเลือกตั้งของสหรัฐฯ  ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทาง Meta ได้เริ่มออกมาตรการเข้มเกี่ยวกับเนื้อหาและโฆษณาทางการเมืองขึ้นในปี 2559 เพื่อป้องกันความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้งและการใช้ประโยชน์สื่อออนไลน์ในทางการเมือง

แฉผลการเลือกตั้ง Trump และประชามติ Brexit ถูกป่วนจากบริษัท Cambridge Analytica และความผิดพลาดของ Facebook

 

5.ร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเลือกตั้งและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมือง

ก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ Meta ได้มีการทำงานจัดทำโครงการร่วมกับพาร์ทเนอร์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ

  • การสร้างเสริมขีดความสามารถ: ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา Meta ได้จัดอบรมให้กับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเฝ้าระวังการเลือกตั้ง องค์กรไม่หวังผลกำไร และผู้สมัครรับเลือกตั้ง เกี่ยวกับนโยบาย บริการ เครื่องมือ และระบบการรายงานของ Meta
  • โครงการ We Think Digital Thailand ในปี พ.. 2562 ที่มุ่งสนับสนุนความรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล ได้มีความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรภาคีในประไทยแล้วกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อร่วมผลักดันให้คนไทยมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบในชุมชนของเรา มีผู้เข้าถึงข้อมูลและสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ภายใต้โครงการแล้วกว่า 32 ล้านคน
  • แคมเปญ #โซเชียลด้วยใจ (‘Empathy Heroes’): สื่อรณรงค์ในรูปแบบแอนิเมชันจาก Meta ร่วมกับโคแฟคประเทศไทย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย, มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ, มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, และไซด์คิก เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสามารถระบุข้อมูลบิดเบือนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมเชิงบวกและมีความรับผิดชอบ (Civic Engagement) ในช่วงการเลือกตั้ง