เป็นวันที่สองติดต่อกันแล้วสำหรับปัญหาบีทีเอสขัดข้องจนทำให้บริการล่าช้าเป็นชั่วโมง ซึ่งมีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายถึงสาเหตุของปัญหาเพราะการแถลงของบีทีเอสไม่มีความแน่ชัด ล่าสุดทางกสทช.ได้ออกมาให้ยืนยันหนึ่งในสาเหตุแล้ว นั่นคือตัวควบคุมการเดินรถเปลี่ยนมาใช้ระบบไร้สาย โดยใช้คลื่น 2.4 GHz คลื่นเดียวกับที่ให้บริการ WiFi จึงทำให้มีการกวนของสัญญาณ และเกิดปัญหาต่างๆตามมานั่นเอง

สำหรับข้อมูลนี้ได้ถูกเปิดเผยโดย นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ซึ่งได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้หลายเรื่องดังนี้ครับ

เตือนไม่ฟัง ยังทำต่อ

ก่อนหน้าที่ BTS จะเปลี่ยนมาใช้ระบบควบคุมใหม่นี้ มีการยื่นเรื่องเข้าไปขอใช้งานที่ กสทช. มาก่อน (อุปกรณ์ที่ใช้งานคลื่นความถี่ในประเทศทั้งหมดต้องผ่านการอนุมัติจากกสทช.) ซึ่ง ณ เวลานั้นทางกสทช. ก็ได้มีการแจ้งไปยังบริษัทแล้ว ว่าการใช้งานคลื่น 2.4 GHz นี้ มันเป็นคลื่นสาธารณะใครๆก็ใช้งานได้ เช่น Router ปล่อยสัญญาณ WiFi ต่างๆก็ใช้คลื่นนี้, Drone ก็ใช้คลื่นนี้ หลายครั้งที่เราใช้งาน WiFi ในที่คนหนาแน่นไม่ได้ก็เพราะมีคนใช้แย่งใช้งานคลื่นนี้กันเกินความสามารถของคลื่นนั่นเอง ดังนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกกวนถูกแทรกจนทำให้ใช้งานไม่ได้สูง ยิ่ง BTS ให้บริการในเมืองเป็นหลักด้วยแล้ว ไม่เหมาะสำหรับการนำมาทำรับบควบคุมการเดินรถมาก ทางบริษัทก็ทราบถึงความเสี่ยงแต่ก็ยังดำเนินการต่อไป

ป้องกันได้ แต่(ยัง)ไม่จ่าย

ทางคุณก่อกิจได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าแม้การใช้งานคลื่น 2.4 GHz จะมีความเสี่ยง แต่ก็พอจะป้องกันได้หากทางบีทีเอสมีการลงทุนสร้างระบบป้องกันการกวน อย่างไรก็ดีการทำระบบป้องกันนี้เห็นว่ามีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่ทางคุณก่อกิจก็แนะนำให้ทางบีทีเอสจัดการเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว หรือเปลี่ยนไปใช้คลื่นอื่นไปเลย ซึ่งทางกสทช. บอกว่ามีย่านอื่นให้เลือกใช้อยู่แล้ว

ดีแทคปิดสัญญาณ 2300MHz ตลอดเส้น BTS แต่แก้ปัญหาไม่ได้

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาทาง dtac ได้เข้าร่วมทดสอบแก้ไขปัญหารถไฟฟ้า BTS ใช้งานไม่ได้โดยทำการปิดเสาสัญญาณไป 22 Cell Site ตลอดเส้น BTS แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังที่เห็นว่าในช่วงเช้าของวันนี้ก็ยังเกิดปัญหาอยู่

บีทีเอสเตรียมย้ายคลื่น แก้ไขปัญหาเสร็จ 29 มิ.ย.

อย่างไรก็ดีมีการเปิดเผยว่าทางบีทีเอสได้ใช้งานคลื่นช่วง 2370 MHz ในการให้บริการช่วงก่อนหน้านี้ พยายามเลี่ยงช่วงคลื่นที่หนาแน่นบริเวณ 2400 MHz แต่คลื่นนี้จะค่อนข้างใกล้กับคลื่นที่ดีแทคและทีโอทีเพิ่งนำมาเปิดให้บริการ โดยมีสัมปทานอย่างถูกต้อง ในช่วงคลื่น 2310-2370 MHz ดังนั้นการกวนสัญญาณจึงเกิดขึ้นง่ายกว่าเดิม และกำลังส่งของสถานีฐานก็มีความแรงมากอีกต่างหาก ด้วยความที่ตัวบีทีเอสเองก็ไม่น่าจะมีสิทธิ์ในการใช้งานช่วงคลื่นนี้ (ก่อนหน้านี้คือเนียน??) จึงเตรียมเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่และย้ายไปใช้คลื่น 2400 MHz ช่วงปลาย เพื่อให้ห่างไกลคลื่น 2300 MHz นั่นเอง และจะลงระบบได้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มิ.ย.61

Thailand frequency spectrum allocation

สรุปแล้วจริงๆ dtac-T 2300MHz ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการที่ BTS ขัดข้องด้วยนั่นแหละ แต่เพียงว่า dtac เค้าไม่ได้ผิด อารมณ์ว่าเจ้าของตัวจริงเข้ามาใช้งาน คนที่ไม่ใช่ก็ต้องหลบไป แต่ที่ที่เค้าจะไปอยู่ได้ก็ดันเป็นที่สาธารณะ มีคนแย่งใช้กันเต็มไปหมดจนให้บริการไม่สะดวกนั่นเอง

ที่มาข่าว อ่านต่อเพิ่มได้ ThaiPBS และ RYT9