สำนักงาน กสทช. ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งโต๊ะถกประเด็น “การจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ” ปรับรูปแบบให้มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เพื่อลดจำนวนการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า รวมถึงการนำสายลงใต้ดินอย่างเร่งด่วนภายในปี 2567 นอกจากนี้ยังหารือถึงความเป็นไปได้ในการมัดรวม จัดให้มีการใช้ผู้ให้บริการโครงข่ายเพียงรายเดียวอีกด้วย
สายสื่อสารที่รกรุงรังเป็นปัญหาคาราคาซังของประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ได้กลับมาเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงอย่างแพร่หลายอีกครั้งนับตั้งแต่ที่ Russell Crowe นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังชาวออสเตรเลียได้โพสต์ภาพถ่ายเซลฟีกับเสาไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จนกลายเป็นไวรัลบนอินเทอร์เน็ตไปทั่วโลก โดยทางคณะรัฐมนตรีนั้นไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงมีมติการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศออกมาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน
การจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2565 เบื้องต้นจะดำเนินการในระยะทาง 456 กม. หลังจากนั้นจะดำเนินการส่วนที่เหลืออีก 936 กม. ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดมีระยะทางรวมประมาณ 6,000 กม. โดยมีการตั้งเป้าดำเนินการให้ได้เฉลี่ยปีละ 2,000 กม. จนแล้วเสร็จในปี 2567
ในที่ประชุมยังได้เห็นชอบในการแบ่งอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจนเพื่อให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามแบบแผน ดังนี้
- การไฟฟ้านครหลวง : กำกับดูแลการพาดสายสื่อสาร กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร ในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค : กำกับดูแลการพาดสายสื่อสาร กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร ในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- กรุงเทพมหานคร : อำนวยความสะดวกการจราจรในพื้นที่การจัดระเบียบสายสื่อสาร ประสานงานกับตำรวจเพื่อดูแลและอนุญาตการใช้พื้นที่ทางเท้า รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชน
- สำนักงาน กสทช. : กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานงานกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร
ทั้งนี้ สำหรับแนวคิดการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Single Last Mile นั้น สามารถทำได้ทั้งการจัดระเบียบสายแขวนอากาศและสายใต้ดิน แต่การจะนำวิธีการรูปแบบนี้มาใช้งาน ทางหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์และข้อบังคับมารองรับเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเสียก่อน
ที่มา : สำนักงาน กสทช.
เพราะเขาคนเดียว เลยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับปฏิมากรรมของบ้านเรา ควรขอบคุณเขาไหมหนอ
ถ้าถามผมก็ควรขอบคุณนะ ผมว่าไม่ใช่เพราะทุกคนคิดว่าวันสวยอยู่แล้วหรือมันไม่ใช่ปัญหาหรอก เพียงแต่มันเป็นเรื่องที่จะว่าเล็ก ก็ไม่เล็ก จะว่าใหญ่ก็ไม่ใหญ่ จะทำต้องออกแรงพอสมควร ใช้ทั้งเงินและทรัพยากร พอสมควร เพื่อแลกกับคำว่า สวยงามเป็นระเบียบ มีความเป็นไปได้สูงว่าถ้าจะทำ จะโดนเล่นงานว่ามีเรื่องอื่นสำคัญกว่ามั้ย? แต่พอคนที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาพูดถึง มันเลยเป็นเหมือน ทำให้มีข้ออ้างได้ว่า เป็นหน้าตาของประเทศ ที่คนอื่นเขามองเข้ามา เลยขยับตัวได้ ไม่กล้ามีใครมาแซะ
ด่าไปก้อเท่านั้น พูดไปก้อไม่สำนึก ผลประโยชน์ล้วน ๆ ไม่เข้าใครออกใครหรอกครับ
อดเห็นของแรร์ สายพาดสะพานลอยแล้วสิเนี่ย 😆😆
เดี๋ยวนะ จะมีเจ้าของสายเพียงรายเดียว อะไรประมาณนี้ใช่ไหม (เหมือนรู้เลยว่าใครจะได้เป็นคนได้สิทธิ์นี้)
เอ่อ นั่นสิ