วันนี้กสทช. ออกมาชี้ชัดปมควบรวม ทรู ดีแทค แล้วว่า “รับทราบ” หลังจากพิจารณามานานราว 1 ปี โดยกสทช. ระบุว่าการควบรวมจะอยู่ภายใต้มาตรการเงื่อนไขคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อรักษาประโยชน์ผู้ใช้บริการอย่างเคร่งครัด เช่นการกำหนดเพดานอัตราค่าบริการ ตั้งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบการดำเนินงานอย่างถูกต้อง และมาตรการอื่น ๆ อย่างเหมาะสม
จากที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลเรื่องการควบรวมกิจการ TRUE-DTAC สองยักษ์โทรคมนาคม ว่าอาจสร้างอำนาจให้ทั้งสองบริษัทมากขึ้นมาเหนือตลาด วันนี้ กสทช. ออกมาตัดสินแล้วอย่าง(ไม่ค่อย)ชัดเจนว่า “รับทราบ” ในการที่สองบริษัทจะควบรวมธุรกิจ แทนที่จะลงว่า ‘อนุมัติ’ หรือ ‘ไม่อนุมัติ’ ตามปกติ ในขณะที่เสียงข้างน้อยมี 1) ขอสงวนความเห็น เนื่องจากยังติดประเด็นตีความกฎหมาย และ 2) ไม่อนุญาตให้ควบรวมธุรกิจ
ทำไม กสทช. ปล่อยผ่านควบรวม ทรู ดีแทค
โดยเสียงข้างมากที่ออกเสียง “รับทราบ” นั้นมองว่าการควบรวมระหว่าง ทรู ดีแทค ไม่ถือเป็นการครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อกฎหมาย จึงไม่นับเป็นการผูกขาดหรือสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันตลาดโทรคมนาคม
แต่เนื่องจากการออกเสียงมีผลออกมาเท่ากัน คือ 2:2:1 ประธานที่ประชุมเลยได้ออกเสียงเพิ่มเป็นเสียงชี้ขาด ให้ได้ผลเป็น รับทราบ ในท้ายที่สุดครับ
แต่การควบรวมครั้งนี้ จะยังอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค โดย กสทช. ได้พิจารณาข้อกังวล 5 ประเด็น คือ
- ข้อกังวลเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ
- ข้อกังวลอุปสรรคการเข้าตลาด เรื่องขาดการแข่งขัน และการสนับสนุนรายย่อย
- ข้อกังวลคุณภาพการให้บริการ
- ข้อกังวลการถือครองคลื่นความถี่ การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน
- เศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
มาตรการสำหรับการควบรวม True Dtac
และได้ออกแนวทางควบคุมการควบรวมออกมา ตามข้อกังวลดังกล่าว เช่น กำหนดเพดานราคาอัตราค่าบริการโดยเฉลี่ย, คงทางเลือกให้ผู้บริโภคโดยกำหนดให้ true และ dtac แยกแบรนด์ออกจากกันเป็นเวลา 3 ปี, รักษาสัญญาการบริการกับลูกค้า, ประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าเชื่อมั่น, คงคุณภาพการให้บริการ และความครอบคลุมโครงข่าย, อนุญาตให้ผู้เช่ารายอื่นใช้เครือข่าย, และอื่น ๆ อีกมากมาย
แถมยังมีข้อสำคัญ ที่ระบุว่าหากควบรวมแล้วที่ส่อแววทำการผูกขาด หรือจำกัดการแข่งขันในตลาด กสทช. จะทำการระงับ หรือปรับปรุงมาตรการใหม่ได้ตามความเหมาะสม
ดังนั้นต้องจับตาดูต่อไป ว่าหลังจากออกนโยบายเยียวยาและกำกับบางส่วนแล้ว จะส่งผลต่อธุรกิจ สังคม และผู้บริโภคอย่างไรบ้าง แล้วในเมื่อ กสทช. มีโอกาสให้คุมตั้งแต่ตอนนี้ แต่ดันออกเสียง “รับทราบ” แล้วต่อจากนี้จะมีอำนาจทำอะไรได้อีกแค่ไหนกันเชียว
ที่มา : กสทช.
Comment