กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในชั่วข้ามคืนทันทีหลังการเปิดตัวของ Nintendo Switch (OLED model) กระแสตอบรับแตกออกเป็น 2 ทิศทางในสัดส่วนที่ค่อนข้างเหนือความคาดหมาย มีทั้งคนที่ชอบใจและคนที่ผิดหวัง และหลายคนยังลังเล เลือกซื้อไม่ถูก ผมจึงทำสรุปข้อมูลเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้าออกมาให้ดูกันง่าย ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจครับ
สำหรับ Nintendo Switch รุ่นใหม่นี้จะไม่ใช่รุ่นโปรที่รองรับการแสดงผล 4K ตามที่มีข่าวลือนะครับ เป็นการอัปเกรดแบบไมเนอร์เชนจ์เฉย ๆ สังเกตได้จากการที่ยังใช้ชื่อเดิม แค่เพิ่มคำว่า OLED model ห้อยเอาไว้ข้างท้ายในวงเล็บ การเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ และสิ่งที่ควรทราบ มีดังนี้
- หน้าจอใหญ่ขึ้นจาก 6.2 นิ้ว เป็น 7 นิ้ว
- ความละเอียดหน้าจอ 1280 x 720 พิกเซล เท่าเดิม
- เปลี่ยนพาเนลแสดงผลจาก IPS LCD เป็น OLED
- ซีพียูและจีพียูไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- อัปเกรดที่เก็บข้อมูลภายในจาก 32GB เป็น 64GB
- แบตเตอรี่ใช้งานได้นานสุด 9 ชั่วโมงเท่าเดิม
- ขาตั้งดีไซน์ใหม่แบบเต็มชิ้น ปรับได้หลายระดับ
- ลำโพงเสียงดีขึ้น ดังขึ้น
- ใส่พอร์ตอีเทอร์เน็ตเข้ามาแทนที่พอร์ต USB ด้านในด็อก
- ด็อกใช้งานร่วมกันได้ระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่
จอภาพ
เปลี่ยนพาเนลเป็นชนิด OLED สีสันสดใส
เพื่อน ๆ จะเห็นได้ว่า จุดที่พัฒนาไปมากที่สุดคือ หน้าจอที่เปลี่ยนพาเนลจาก IPS LCD เป็น OLED ในเชิงเทคนิคแล้วจะแสดงผลได้สวยสดมากกว่า เพราะไม่ต้องอาศัยชั้นฟิลเตอร์ในการกำเนิดสี อีกทั้งส่วนมืดจะดำสนิท คอนทราสต์สูงกว่ากันหลายเท่าตัว รวมถึงความสามารถในการสู้แสงที่ดีกว่า จึงไม่มีปัญหาเวลาใช้งานกลางแจ้ง
อย่างไรก็ตาม พาเนล OLED อาจมีจุดที่ต้องพิจารณาอยู่บ้างเหมือนกัน เนื่องจากมีส่วนประกอบที่เป็นสารอินทรีย์ ซึ่งจะเสื่อมสภาพเมื่อใช้งานเป็นเวลานาน ๆ เกิดเป็นภาพค้างในจุดที่ไดโอดต้องเปล่งแสงบ่อย ๆ หรือที่เราเรียกกันว่า “หน้าจอเบิร์น” นั่นแหละครับ
ข้อจำกัดนี้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่จะเบิร์นมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลา อุณหภูมิ และระดับความสว่างขณะใช้งาน เป็นต้น บางคนอาจลากยาวได้ถึง 3-4 ปีแทบไม่แสดงอาการ หรือในทางกลับกัน หากใช้งานหนัก ๆ อาจสังเกตเห็นการเบิร์นได้ตั้งแต่ช่วง 1-2 ปีแรก
หน้าจอใหญ่ขึ้น ขอบหน้าจอบางลง
อ้อ ! อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับหัวข้อนี้คือ หน้าจอใหญ่ขึ้นจาก 6.2 นิ้ว เป็น 7 นิ้ว เอาจริง ๆ แอบแตกต่างกันเยอะอยู่นะ น่าจะเห็นผลชัดกับบางเกมที่อินเทอร์เฟซและตัวอักษรมีขนาดเล็ก เช่น Pokemon แต่ความละเอียดการแสดงผลยังเท่าเดิมที่ระดับ HD เนื่องด้วยขนาดใหญ่ขึ้นภาพจึงอาจจะดูแตก ๆ มากกว่านิดหน่อย
ประสิทธิภาพตัวเครื่องและการเล่นเกม
Nintendo Switch (OLED model) ไม่ได้อัปเกรดในส่วนของซีพียูและจีพียู ดังนั้นประสิทธิภาพโดยรวมถึงไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากเดิม ต่อออกทีวียังแสดงผลได้สูงสุดที่ระดับ Full HD เหมือนรุ่นก่อน ที่เพิ่มเข้ามามีเพียงแค่สตอเรจที่ขยายจาก 32GB เป็น 64GB อาจช่วยประหยัดค่า microSD card ได้สำหรับคนที่ใช้งานพื้นที่เก็บข้อมูลอยู่ในช่วงไม่เกินนี้ คำนวณเป็นเงินส่วนต่างได้ประมาณ 200 – 300 บาท
สำหรับแบตเตอรี่ของ Nintendo Switch (OLED) และ Nintendo Switch มีความจุ 4310mAh เท่ากัน เล่นได้นานสุด 9 ชั่วโมงต่อแบตเตอรี่ 100% และใช้เวลาในการชาร์จจนเต็ม 3 ชั่วโมงโดยประมาณ กล่าวโดยสรุปในหัวข้อนี้ ไม่มีอะไรต้องพิจารณาเป็นพิเศษ
ประสบการณ์การใช้งาน
อันที่จริงลำโพงตัวเครื่อง Nintendo Switch รุ่นเดิมนั้นทำออกมาได้ดีมาก ๆ อยู่แล้ว แต่ใน Nintendo Switch (OLED model) ได้ปรับปรุงให้เสียงดังและแจ่มกว่าเดิมไปอีกระดับ ช่องเสียงใหญ่ขึ้นราว 2 เท่าเลยทีเดียว น่าจะช่วยเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกมได้ไม่น้อย
ช่องลำโพงยาวขึ้นประมาณ 2 เท่า
นอกจากนี้ขาตั้งยังได้ถูกออกแบบใหม่ให้มีลักษณะแบบเต็มชิ้น ทำให้วางได้มั่นคงยิ่งขึ้น อีกทั้งยังปรับระดับได้หลากหลาย ไม่เหมือนรุ่นดั้งเดิมที่ปรับอะไรไม่ได้ และมีความโยกเยกพอสมควร
ขาตั้งแบบเต็มชิ้น ปรับระดับได้หลายองศา
ในส่วนของด็อก Nintendo Switch (OLED model) ได้เพิ่มพอร์ตอีเทอร์เน็ตสำหรับเสียบสาย LAN เข้าไป 1 ช่องที่ด้านใน แทนที่ตำแหน่งเดิมของพอร์ต USB ทำให้จำนวนพอร์ต USB รวมลดลงจาก 3 ช่อง เหลือ 2 ช่อง ไม่นับ USB-C ที่เอาไว้จ่ายไฟให้อุปกรณ์
ปรับดีไซน์ของด็อกเล็กน้อย แต่ยังใช้งานร่วมกับรุ่นเก่าได้
ใส่พอร์ตอีเทอร์เน็ตเข้ามแทนที่พอร์ต USB ที่ด้านใน
ทั้งนี้ Nintendo Switch ทั้ง 2 รุ่นสามารถใช้ด็อกของกันและกันได้ ดังนั้นคนที่มีรุ่นเดิมอยู่แล้ว สามารถเลือกอัปเกรดแค่ด็อกโดยการซื้อแยกได้เช่นกัน เวอร์ชันปัจจุบันขายอยู่ 59.99 เหรียญ หรือประมาณ 1,990 บาท ไม่รวมภาษี ส่วนเวอร์ชันใหม่ยังไม่ประกาศวางขาย
ด็อกรุ่นปัจจุบันไม่มีพอร์ตอีเทอร์เน็ต แต่มีพอร์ต USB จำนวน 3 ช่อง
ราคาและการวางจำหน่าย
Nintendo Switch (OLED model) ราคาแพงขึ้นจาก Nintendo Switch ประมาณ 1,500 – 2,000 บาท และจะวางขายพร้อมกันทั้งโซนญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป ในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 โดยรุ่นเก่าไม่มีการปรับราคาลง (อย่างน้อยก็จนถึงตอนนี้) ช่วงแรกของการวางขาย อาจต้องแย่งกันซื้อเหมือนเดิม เพราะบ้านเรายังไม่มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และอาจต้องเผื่องบเอาไว้สูงกว่าราคาจริงอีกนิดหน่อยด้วย
- Nintendo Switch (OLED model) – ราคา 37,980 เยน / 349.99 เหรียญ (ประมาณ 11,290 บาท)
- Nintendo Switch – ราคา 32,978 เยน / 299.99 เหรียญ (ประมาณ 9,690 บาท)
พิจารณาจากราคาแล้วห่างกันไม่มาก น่าจะตัดสินใจได้ไม่ยากทั้งคนที่มีเครื่องอยู่แล้วและคนที่ยังไม่มีเครื่อง ถ้าใครถือเล่นบ่อย ๆ นี่ Nintendo Switch (OLED model) ยังไงก็ดีกว่า แค่หน้าจออย่างเดียวก็ดูคุ้มค่าเงินแล้ว กลับกัน สำหรับคนที่ต่อเล่นกับทีวีเป็นหลักก็แทบไม่ต้องสนประเด็นเรื่องหน้าจอ เลือกซื้อเป็น Nintendo Switch อาจประหยัดไปได้หลายตังค์ ยิ่งถ้าซื้อมือสองน่าจะยิ่งถูกลงไปอีกครับ
ส่วน Nintendo Switch Lite ที่เป็นน้องเล็ก อันนี้โพซิชันของเค้าแตกต่างจากชาวบ้านอยู่แล้ว คือ ขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา เน้นการพกพา โดยมีข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติการเชื่อมต่อออกทีวีและแบตเตอรี่ที่ไม่ค่อยอึดเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่จึงซื้อมาเป็นเครื่องที่ 2 เสียมากกว่า น้อยคนที่จะซื้อมาเป็นเครื่องหลัก แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกครับ
มือถือให้ใช้ถนอมยังงัยพอเข้าปีที่สามเบิร์นทั้งนั้น
เครื่องเกมที่จอต้องติดแทบตลอดเวลาการทำงาน ก็น่าห่วงว่าระยะยาวจะเป็นยังงัย