ในวันที่ 18 ส.ค. ที่จะถึงนี้ ตามจริงควรจะเป็นวันที่มีการประมูลคลื่น 900MHz แต่อย่างที่หลายคนทราบคือค่ายมือถือทั้ง AIS, TrueMove และ dtac ต่างพร้อมใจกันเมินคลื่น 900MHz ไม่มีคนยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลแม้แต่รายเดียว ด้วยเหตุผลทั้งด้านราคาและเงื่อนไขที่รับไม่ได้ คลื่นจึงเป็นหมันและสูญเสียโอกาสสร้างรายได้ให้ประเทศหลายหมื่นล้านบาท
บทความนี้รวบรวมข้อมูลจากหลายๆส่วนที่ได้รับมาเพราะก็มีคนถามกันมาเนืองๆว่าคลื่น 900 MHz ไม่ถูกประมูลแล้วยังไง หรือบางคนก็ไม่แม้แต่ที่จะสนใจเพราะเข้าใจกันว่าก็แค่คลื่นความนึงที่ไม่มีใครเอา ปัจจุบันก็สามารถใช้งานได้ดีอยู่ แต่ในความเป็นจริงหลายคนอาจจะไม่ทราบว่าคลื่นความถี่ชุดนี้เป็นคลื่นที่มีมูลค่ามหาศาลมาก และการที่มันไม่ถูกนำออกมาใช้นี้กลับจะส่งผลระยะยาวและทำให้พวกเราพลาดโอกาสหลายๆอย่างไปเลยด้วยซ้ำ
คลื่น 900MHz มีมูลค่ารวมกว่า 1.5 แสนล้านในการประมูลเมื่อปี 2559
คลื่นความถี่ย่านต่ำอย่าง 900MHz เป็นคลื่นที่เหล่าผู้ให้บริการต่างๆเล็งและอยากได้มาโดยตลอด ถ้าหากว่าตามข่าวเรื่องการประมูลคลื่น 900MHz มาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วจะทราบถึงราคาการประมูลของใบอนุญาตคลื่น 900MHz 2 ใบที่ถูกปั่นให้พุ่งขึ้นไปจนถึงใบละ 75,654 ล้านบาท และ 76,298 ล้านบาท ด้วยความที่ลักษณะของคลื่นความถี่ต่ำนี้สามารถส่งสัญญาณไปได้ไกลกว่าคลื่นความถี่สูง ทำให้ไม่ต้องติดตั้งเสาส่งสัญญาณเยอะ ก็สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างกว่าคลื่นความถี่สูงอย่างคลื่น 1800MHz และ 2100MHz ค่าลงทุนในการสร้างเสาส่งสัญญาณต่ำกว่าเดิมได้หลายเท่าตัว ใครได้ไปก็จะทำให้การวางเครือข่ายให้ครอบคลุมใช้งานได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะ อย่างไรก็ดีราคาประมูลในปีนั้นก็เป็นอันรู้กันว่าเป็นราคาที่ไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงเท่าไหร่นัก เพราะ JAS (เจ้าของ 3BB) คนที่ประมูลได้หนึ่งในสองรายแรก กลับทิ้งใบอนุญาตไป ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ จนทำให้ AIS ผู้ให้ราคาสูงที่สุดอันดับ 3 ต้องรับใบอนุญาตใบนั้นไปแทนแบบไม่ได้เต็มใจเท่าไหร่นัก
dtac เคยยื่นราคาคลื่น 900MHz สูงสุดกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ผู้ให้บริการ 2 ใน 3 ราย ต่างก็มีคลื่นความถี่ต่ำเก็บเข้าพอร์ตไปเรียบร้อยเหลือแต่เพียงดีแทคที่ปัจจุบันไม่มี ซึ่งก็พยายามเรียกร้องให้เกิดการประมูลมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา แม้ว่าดีแทคจะยื่นราคาต่ำที่สุดจาก 4 ราย แต่ก็ให้ราคาขึ้นไปสูงถึง 70,180 ล้านบาท และครั้งนี้ก็มีทีท่าพร้อมที่จะสู้ราคาในทีแรก แต่เมื่อมีการเปิดเผยถึงกฎการประมูลที่บีบผู้ชนะทุกทาง จึงทำให้ดีแทคจำเป็นต้องตัดใจไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่นี้ในทันที ซึ่งความซวยอาจจะตกมาอยู่ที่ผู้ใช้ดีแทคที่จะยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมนัก (จริงอยู่ว่าปัจจุบันไม่พอใจอยากจะย้ายเครือข่ายก็ได้ แต่บางคนก็พอใจกับดีแทคและอยากได้เครือข่ายที่ดีขึ้นก็แค่นั้น)
สาเหตุทำ dtac ถอดใจเพราะเงื่อนไขการประมูลที่รับไม่ได้
การประมูลคลื่น 900MHz ในครั้งนี้มีการอ้างอิงราคาตั้งต้นจากราคาการประมูลคลื่น 900MHz เมื่อปี 2559 ซึ่งราคานั้นเป็นราคาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงเท่าไหร่นักเพราะคนที่ประมูลคลื่นได้ไป 2 รายแรก มีรายหนึ่งที่ทิ้งใบอนุญาตไป ราคาที่แท้จริงหากไม่มี JAS มาปั่นขึ้นไป ก็อาจจะไม่สูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงผู้ที่เข้าร่วมในปีนี้ก็ไม่ได้มีโอกาสในการหาลูกค้าใหม่เหมือนเหมือน 3 ปีที่แล้ว ดังที่เห็นว่าทาง TrueMove สู้ทุกราคาเพื่อหวังแย่งลูกค้าบนคลื่น 2G 900MHz ของ AIS มาให้ได้นั่นเอง ดังนั้นหากต้องมีต้นทุนขั้นต่ำที่สูงขนาดนั้นแต่โอกาสไม่ได้มากเท่าเดิมอีก ก็ฟังดูจะไม่เข้าท่าในทางธุรกิจเท่าไหร่
แต่ดูเหมือนว่าความต้องการคลื่นความถี่ต่ำของดีแทคจะมีสูงมาก จากที่เราได้เห็นว่าซีอีโอของดีแทคมีการเข้าพบกับกสทช. หลายครั้งเพื่อแสดงความต้องการคลื่นนี้และทำท่าจะยอมจ่ายแม้ว่าราคาจะสูงมากก็ตาม ซึ่งในวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังเข้ารับเอกสารชี้แจงเงื่อนไขการประมูลแล้ว กลับต้องผงะและตัดสินใจถอนตัวจากการประมูลคลื่น 900MHz เหลือแต่เพียงคลื่น 1800MHz เอาไว้ ซึ่งเงื่อนไขที่ทำให้ดีแทคต้องถอดใจ ได้แก่
- คนที่ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบแก้ไขปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงการติดตั้งระบบป้องกันการกวนสัญญาณให้กับระบบรถไฟทั้งหมด ที่วันนี้ประเมินมูลค่าไม่ได้ เพราะโครงการยังไม่ได้เริ่มสร้างเลยด้วยซ้ำ
- แม้ว่า กสทช. เหมือนจะใจดีเปิดให้สามารถหักค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาคลื่นรบกวนได้ 2,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขประมาณการที่ทางดีแทคคาดการณ์ไว้ มีสิทธิ์เกินตัวเลขนั้นไป 3-4 เท่า
- กสทช. สงวนสิทธิ์ในการโยกความถี่ไปใช้ช่วงอื่นภายหลังได้ ซึ่งหมายความว่าหากดีแทคลงทุนในเครือข่าย 900MHz นี้ไปแล้วเท่าไหร่ จะต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด เพราะเปลี่ยนช่วงคลื่นเท่ากับเปลี่ยนอุปกรณ์ทันที
เงื่อนไขทั้งสามข้อนี้ถ้าใครที่ทำธุรกิจเจอเข้าไปก็คงต้องหันหน้าหนีกันหมด เพราะเหมือนต้องทำธุรกิจที่ไม่มีความแน่นอนแม้แต่อย่างเดียว
อ่านต่อ ทำไมดีแทคไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900MHz
รถไฟความเร็วสูง บนคลื่น 900MHz กับความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
อีกเรื่องที่น่ารู้ของคลื่น 900MHz ที่นำมาประมูลนี้ เป็นคลื่นสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุลง มีช่วงความถี่กว้าง 10MHz แต่จะถูกนำเอามาประมูลเพียง 5MHz ส่วนที่เหลือทางกระทรวงคมนาคมมีการขอให้ กสทช. ช่วยกันเอาไว้เผื่อโปรเจกต์รถไฟที่ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่าจะได้สร้างเมื่อไหร่ อย่างไรก็ดีก็มีความเห็นจากหลายฝ่ายที่มองว่าการนำเอาคลื่นที่มีมูลค่าสูงขนาดนี้มากันให้โปรเจกต์ที่ยังไม่มีอนาคตชัดเจน และอาจจะไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเท่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นเรื่องที่ทำให้ชาติเสียโอกาส โดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ยังได้ให้สัมภาษณ์เสริมเอาไว้อีกว่าการกันคลื่น 900MHz เพื่อนำไปใช้งานบนเทคโนโลยี GSM-R นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นเทคโนโลยีที่กำลังจะตกยุค นานาประเทศเตรียมจะย้ายไปใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ดีกว่าเริ่มตั้งแต่ปี 2565 หรืออีก 4 ปีข้างหน้าเท่านั้น1 ซึ่งล่าสุดทางดีแทคได้เสนอให้ทาง กสทช. เปลี่ยนไปกันคลื่น 450MHz ที่ทีโอทีคืนไปให้ก่อนหน้านี้แทน เพื่อรอใช้งานเทคโนโลยีใหม่บน LTE-R2 และยังสามารถเอาคลื่น 900MHz นี้ออกมาประมูลได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยทั้ง 10MHz และยังเสนอให้ผู้ให้บริการแต่ละรายต่างฝ่ายทำระบบป้องกันของตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่เหมารวมมาอยู่ที่ผู้ได้คลื่นรายสุดท้ายรายเดียวอย่างในปัจจุบันนี้
ยังหวังคลื่น 900MHz ปล่อยออกมาประมูล
เป็นเรื่องที่แน่นอนแล้วว่าการประมูลคลื่น 900MHz ในวันเสาร์ที่ 18 ส.ค. จะไม่เกิดขึ้นแล้วแน่ๆ แต่หลายฝ่ายก็ยังหวังว่าจะได้เห็นคลื่นนี้กลับออกมาให้ประมูลและได้ใช้งานในเร็ววันด้วยเหตุผลมากมายตามข้างต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คงขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมการ กสทช. ที่รับผิดชอบจะต้องพิจารณาหาทางออกที่ดีที่สุดให้แก่ประเทศชาติ หากท้ายที่สุดแล้วคลื่นโดนแช่แข็ง ไม่ได้ใช้งานยาวหลายปีทำรัฐเสียรายได้ ประชาชนเสียโอกาส งานนี้ กสทช. คงจะไม่พ้นคำครหา ว่าคลื่นความถี่ 900MHz เป็นของดีที่ไม่มีใครต้องการเพียงเพราะ กสทช. ผู้ถือกฎกำกับไม่เป็น
ปล. ปัจจุบันการประมูลคลื่นยังมีอยู่นะครับ แต่เกิดขึ้นเฉพาะคลื่น 1800MHz เท่านั้น และมีเพียง AIS และ dtac ที่เข้าร่วม โดยจะประมูลกันในวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 2561 ที่จะถึงนี้ครับ
อ้างอิง เผื่ออ่านเพิ่มเติม
1โพสต์ทูเดย์ : ทำไมไม่มีใครประมูลคลื่น 900 MHz
2MGROnline : ดีแทค เสนอแนวทางปลดล็อกคลื่น 900 MHz ให้รถไฟฟ้าย้ายไปใช้คลื่น 450 MHz แทน
คลื่นไม่ได้หายไปไหน แต่รัฐไม่มีรายรับที่ควรจะได้
กลัวเป็นเหมือน bts
กลัว และป้องกันนี่ไม่ผิดครับ แต่ทางป้องกันมันมีหลายทาง และทางที่เค้าเลือกมามันเล่นง่ายไปหน่อยครับ
แก้ไม่ยาก ทำไมไม่แก้ กสทช
เคยแก้อะไรได้รึ แม่มเสือกระดาษ
แก้ที่ตัว กสทช ก่อนน่าจะดีกว่าไหมครับนั่น
เสือนอนกิน
เรามีความสงสัยว่าทำไมต้องเป็นคลื่น 900MHz ด้วยที่จะนำไปใช้กับรถไฟฟ้าความเร็วสูง ในเมื่อรัฐบาล หรือกองทัพก็มีคลื่นความถี่ต่ำอยู่ ทำไมถึงไม่แบ่งมาให้รถไฟฟ้าความเร็วสูงใช้อะ จะเก็บเอาไว้ทำไมนะ (ใครมีข้อมูลในส่วนนี้นำมาแชร์กันนะ)
เพราะเป็นคลื่นมาตรฐานของระบบขนส่งรางที่เรียกว่า GSM-R น่ะครับ เค้าใช้ 900MHz เป็นหลัก แต่เรื่องของเรื่องคือเค้าจะย้ายไปใช้ LTE-R กันแล้ว ซึ่งมันมีคลื่นให้ใช้กันเยอะแยะมากกว่าคลื่น 900MHz เยอะเลย อย่างที่ดีแทคเค้าเสนอก็คือให้ไปใช้ตัว 450MHz น่ะครับ
สมองหมาปัญญาควาย พ่อค้าเขาไม่โง่หรอก
ใจร่มๆหน่อยนะครับ ไม่ต้องหยาบคายก็ได้
ในเมื่อครั้งนี้ไม่มีใครประมูล ก็ลดราคาตั้งต้น Reset ทุกอย่างใหม่หมด ให้ราคาที่มันอยู่บนความเป็นจริง
แล้วก็เงื่อนไขก็ต้องไปหาทางอื่นแก้ดู ถ้าต้องการจะขายของนะ
เอาไงดี เพื่อประโยชน์รัฐเป็นหลัก หรือ ประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก หรือเพื่อผลงาน เอาหน้าเป็นหลัก
ถึงจะลดราคาทางค่ายก็ต้องคิดอยู่ดีคุ้มหรือเปล่า ต้องมาหาวิธีแก้กันสัญญาณกับรถไฟความเร็วสูงอีก …
ครั้งนี้ดีแทคไม่ได้ขอลดราคานะ แต่ว่าไม่ไหวกับเงื่อนไขเรื่องเป็นคนรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวมากกว่า ถ้าจะเอาแฟร์ๆคือรับผิดชอบร่วมกันครับ ซึ่งทำแบบนี้กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วอ่ะ
จริงๆ ทางออกก็มีให้เลือกเพื่อที่จะได้ผลประโยชน์ทั้งทางรัฐและเอกชน (ตามสมควรแล้ว) ไม่คิดจะทำให้เสร็จจบเพื่อเอาเวลาไปเดินหน้าพัฒนาเรื่องอื่นต่อได้
บ้านเมืองเราก็เป็นแบบนี้แหล่ะ ท่ามาก ระเบียบจัด แต่เรื่องเลวจริงๆ เนี่ยแอบทำลับๆ และเร็วมาก
รอเทคโนโลยีเปลี่ยนแล้วค่อยใช้ GSM-R ราคาได้จะลง
ช่วงที่รอก็เอารถดีเซลรางวิ่งไปก่อน
ที่เค้าบอกกันคือ ถ้าทู่ซี้ใช้ GSM-R ต่อนี่อุปกรณ์จะค่อยๆแพงขึ้น เพราะคนเลิกใช้ ไม่มีใครผลิตนะ
สอบถามผู้รู้ แล้วรายได้ของรัฐหายไปแบบนี้ กสทช จะไม่โดนฟ้องโดนอะไรเหรอครับ ถือว่าทำหน้าที่มิชอบไหม
อยากได้เงิน แต่เล่นตัวลีลาเยอะ คิดจะเอาเงินแบบไม่ต้องทำงาน ฝันไปเถอะ คนเค้าทำธุรกิจเสียเงินทั้งทีต้องได้รับการบริการบ้าง ไม่ได้หวังจะมาทำงานให้ใครได้เงินฟรีๆ