แม้ว่า ในช่วงนี้เราเริ่มจะเห็นการใช้งานสกูตเตอร์ไฟฟ้ากันมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความสะดวกในการเดินทางระยะสั้น ๆ รวมถึงยังสามารถพับและหิ้วไปไหนมาไหนได้ แต่น้ำหนักของสกูตเตอร์เหล่านี้ก็ยังค่อนข้างมากอยู่ดี หน่วยงานวิจัย Mercari R4D และทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาสกูตเตอร์ไฟฟ้าแบบเป่าลมสุดแนว ชื่อ poimo ขึ้นมา ซึ่งมันมีน้ำหนักเพียงแค่ 5.5 กก. เท่านั้น แถมยังปล่อยลมเพื่อพับใส่กระเป๋า พกพาไปได้ทุกที่อย่างง่ายดายอีกด้วย

จุดประสงค์และจุดเด่นของ poimo

สกูตเตอร์ไฟฟ้าแบบเป่าลมตัวนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อทดแทนการเดินทางระยะสั้นด้วยรถยนต์ ที่ทั้งเปลืองน้ำมัน และก่อมลพิษ ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งชื่อ poimo ของมัน มาจากคำว่า portable และ inflatable mobility ที่แปลได้ว่า พกพาสะดวก เป่าลมได้ และเคลื่อนที่ได้คล่องตัว

ความโดดเด่นที่สุดของเจ้า poimo คือ มันเป็นสกูตเตอร์ไฟฟ้าแบบเป่าลม ประกอบกับวัสดุของตัวรถทำมาจาก TPU ที่มีน้ำหนักเบา จึงทำให้มันมีน้ำหนักรวมที่เบามาก เพียงแค่ 5.5 กก. เท่านั้น และแม้ว่า ตัวรถมีน้ำหนักเบาขนาดนี้ แต่มันก็แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักได้มากถึง 80 กก. เลยทีเดียว ส่วนอีกสาเหตุนึงที่ทีมพัฒนาเลือกใช้วัสดุประเภทนี้ เพราะมันมีความยืดหยุ่นสูง ดังนั้น หากเกิดอุบัติเหตุไปชนกับคนเดินเท้าขึ้นมา ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บหรือความเสียหายได้นั่นเองครับ

นอกจากนี้ ชิ้นส่วนของตัวรถแทบทั้งหมดยังสามารถถอดแยกออกจากกันได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็น แฮนด์ ล้อ แบต หรือแม้แต่มอเตอร์ ยิ่งไปกว่านั้นทั้งระบบควบคุมรถและระบบจ่ายไฟ ล้วนเป็นแบบไร้สายทั้งหมด ทำให้มันสามารถประหยัดพื้นที่ไปได้มาก สามารถปล่อยลมออกแล้วยัดเข้ากระเป๋าเป้ได้อย่างสบาย ๆ เลย

แรงบันดาลใจในการออกแบบ

poimo นั้น ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากตัวละครหุ่นยนต์ Baymax จากภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Big Hero 6 ของค่าย Disney โดยทีมพัฒนาได้ออกแบบโดยคำนึงว่า จะต้องถูกหลักสรีรศาสตร์ เรียบง่าย ไม่เกะกะ และไม่หนัก รวมถึงต้องเป็นพาหนะที่ทั้งเด็กและผู้สูงอายุเข้าถึงได้อีกด้วย

นิยามใหม่ของการเดินทางระยะสั้น

จริงอยู่ ที่ ณ ปัจจุบัน มันก็มีพาหนะขนาดเล็กอย่างสกูตเตอร์ไฟฟ้า หรือจักรยานไฟฟ้า ที่มันก็ตอบโจทย์เรื่องการเดินทางระยะสั้น เพื่อไปต่อรถสาธารณะได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่เจ้าพวกนี้ยังติดปัญหาหลัก ๆ อยู่สองข้อ ข้อแรก คือ “น้ำหนัก” ซึ่งโดยมากแล้ว พาหนะจำพวกนี้ แม้จะพับเก็บได้ ไม่เกะกะก็จริง แต่ก็มักจะหนักเกิน 10 กก. ขึ้นไป ทำให้เคลื่อนย้ายได้ไม่สะดวกนัก และส่วนอีกข้อ คือ “ที่จอด” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับประเทศไทยของเรานั้นหาที่จอดที่ปลอดภัยได้ยากเหลือเกิน

Xiaomi Electric Scooter 1S สกูตเตอร์ไฟฟ้าของ Xiaomi แม้จะใช้งานได้ดีมากก็จริง แต่ก็หนักถึง 12.5 กก.

ดังนั้น ทีมพัฒนาจึงได้ออกแบบเจ้า poimo ขึ้นมา โดยมันเป็นการต่อยอดมาจากเทคโนโลยี “หุ่นยนต์นิ่ม” หรือ soft robotics และผสานเข้ากับพาหนะไฟฟ้าส่วนบุคคล (ก็จำพวกสกูตเตอร์หรือจักรยานไฟฟ้า ตามที่กล่าวไปนั่นแหละครับ) เพื่อสร้างนิยามใหม่ของการเดินทางระยะสั้นขึ้นมา โดยทำลายข้อจำกัดเดิม ๆ เหล่านั้นทิ้งไป

ตอนเป่าลมเข้าจะทำยังไง

หากอ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะสงสัยว่า ปล่อยลมออกเพื่อพับเก็บ แล้วตอนเป่าลมเข้าเพื่อจะใช้อีกรอบล่ะ จะทำยังไง จะให้ใช้ปากเป่าหรอ ? เรื่องนี้ก็ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะเดี๋ยวนี้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่าง “ปั๊มลมไฟฟ้าพกพา” เป็นตัวช่วยแล้ว ขนาดก็ไม่ใหญ่อะไรมาก แค่พอ ๆ กับเพาเวอร์แบงค์เท่านั้นเอง แค่ตั้งค่าแรงดันลมที่เหมาะสมที่ 6-7 psi เอาไปเสียบ แล้วรอแค่ครู่เดียว ลมก็เต็มแล้วครับ

ปั๊มลมไฟฟ้าขนาดจิ๋ว

ยังเป็นแค่รุ่นต้นแบบ ของจริงเจ๋งกว่านี้อีก

อุปกรณ์ตัวนี้ยังเป็นเพียงแค่รุ่นต้นแบบเท่านั้น แต่ทีมนักพัฒนาได้บอกว่า หากพัฒนาสำเร็จแล้ว ของจริงจะมีน้ำหนักที่เบาและพกพาได้สะดวกกว่าที่เห็น ณ ตอนนี้อีกครับ

จะพร้อมวางจำหน่ายตอนไหน ราคาจะแพงมั้ย

อันที่จริงแล้ว เจ้า poimo ถูกพัฒนามาตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 แล้ว และมันก็ถูกทดสอบการใช้งานจริงไปแล้วในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลตอบรับเองก็ดีมากด้วย แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในการใช้งานจริงเสียก่อน เช่นว่า มันจะไปรบกวนคนเดินเท้ามั้ย มันจะปลอดภัยมั้ย อะไรแบบนี้เป็นต้น รวมถึงข้อกฎหมายในการใช้งานพาหนะเองก็ด้วย (เวลาจะทำอะไรที คิดกันรอบคอบมาก สมกับเป็นญี่ปุ่นจริง ๆ ครับ)

และแน่นอนว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องนึง คือ ราคา เพราะถึงแม้สินค้าจะดีแค่ไหน แต่หากมันแพงเกินไป จนคนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง มันก็คงจะปังได้ยาก ดังนั้น ตอนนี้ทีมพัฒนาจึงพยายามหาวิธีไม่ให้มันมีราคาที่สูงจนเกินไปอยู่ เพราะฉะนั้น สรุปสั้น ๆ ในประเด็นนี้ได้ว่า มันยังไม่พร้อมในตอนนี้

จะเห็นได้ว่า เจ้า poimo มันน่าสนใจมากทีเดียว ยิ่งในฐานะที่ตัวผู้เขียนเองก็ขี่สกูตเตอร์ไปทำงานทุกวันด้วยแล้ว จึงรับรู้ถึงข้อจำกัดของพาหนะจำพวกนี้ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยส่วนตัวแล้ว จึงยิ่งอยากให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ และถูกนำไปต่อยอดเป็นอย่างมากครับ

Play video

ที่มา : designboom, DesignWanter, dezeen, InceptiveMind, ACM Digital Library, mercan