เมื่อวานนี้ (11 ส.ค.) ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมฟังเสวนาหัวข้อ “Pokemon GO จะพาสังคมไทยไปไหน?” ที่จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวงานเสวนานั้นได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านแต่ละสาขามาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันค่อนข้างหลากหลายมุมมอง ซึ่งหลายท่านก็ได้สัมผัสตัวเกม Pokemon GO กันมาบ้างในระดับที่เข้าใจว่าเกมมีลักษณะเป็นอย่างไร เนื้อหาที่พูดคุยกันในงานเมื่อวานนั้นเป็นไปด้วยความสร้างสรรค์และมีสาระน่าคิดน่าสนใจมาก ผมเลยนำมาสรุปเป็นประเด็นๆ ให้อ่านกันครับ โดยในบล็อกนี่จะเป็นเรื่องของ ตัวเกม เทคโนโลยี และมุมมองในแง่ของธุรกิจครับ

 

ทำไม Pokemon GO ถึงเป็นกระแสฮิตขนาดนี้

ผศ. ดร. วิษณุ โคตรจรัส นักวิชาการด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และหัวหน้า Lab วิจัยเกม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มองว่าตัวเกม Pokemon GO นั้นน่าจะมีกลุ่มผู้เล่นที่แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือเหล่าเด็กๆ ในสมัยอดีตที่เติบโตมากับเกมและการ์ตูนโปเกมอน มีความผูกพันกับโปเกมอนและในปัจจุบันก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เมื่อมีเกม Pokemon GO ออกมาก็ทำให้นึกถึงความหลัง คิดถึงโปเกมอนที่รู้จัก รวมถึงระบบการเล่นที่มีส่วนคล้ายคลึงกับเกมต้นฉบับ ทำให้คนกลุ่มนี้พากันมาเล่น Pokemon GO ผู้เล่นอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มคนที่ไม่เคยรู้จักโปเกมอนมาก่อน ผศ. ดร. วิษณุ ได้ยกตัวอย่างภรรยาของตนเองว่าไม่รู้จักโปเกมอนมาก่อน แต่เมื่อเห็นตัวละครโปเกมอนในเกมก็พบว่ามันมีความน่ารัก ทำให้อยากสะสม และหันมาเล่น Pokemon GO ในที่สุด

โปเกมอนหลากหลายชนิดในเกม Pokemon GO

ในแง่ของเทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาเกม Pokemon GO ทาง ผศ. ดร. วิษณุ มองว่าไม่ได้มีความแปลกใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากเกมที่ใช้ข้อมูลแผนที่หรือแนว Location-based นั้นเคยมีการก่อนอยู่แล้ว อย่างเช่นเกม Ingress ของทาง Niantic Labs เองที่พัฒนามาก่อนที่จะพัฒนาเกม Pokemon GO รวมถึงไปเทคโนโลยี Augmented Reality ที่นำมาใช้กับเกมก็ไม่ใช่เทคโนโลยีที่แปลกใหม่ และการนำมาใช้นั้นก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นกว่าเดิมด้วย ยังไม่ถึงขั้นที่ภาพเสมือนจะแสดงผลรวมกับสิ่งของในโลกจริงได้ (ถ้าทำได้คาดว่าต้องการพลังในการประมวลผลสูงกว่านี้มาก) และยังเสริมประเด็นเรื่องการใช้งานกล้องส่องหาโปเกมอนอีกด้วยว่าหากใครห่วงเรื่องการถ่ายภาพ ก็กดปิดโหมด AR ได้ แถมยังทำให้จับโปเกมอนง่ายขึ้นอีกด้วย

ซ้าย – นายปริเมธ วงศสัตยนนท์ / ขวา – นายพงศธร สันติวัฒนกุล

นอกจากทาง ผศ. ดร. วิษณุ แล้ว ภายในงานเสวนาทางจุฬาฯ ได้เชิญลูกศิษย์ของ ผศ. ดร. วิษณุ มาแสดงความคิดเห็นในฐานะนักพัฒนาเกมด้วยกัน 2 คนคือ นายปริเมธ วงศสัตยนนท์ และ นายพงศธร สันติวัฒนกุล โดยทั้ง 2 คนนี้เป็นตัวแทนจากทีม PH21 ที่เพิ่งไปคว้ารางวัลชนะเลิศ Microsoft Imagine Cup ในสาขาการพัฒนาเกมมาจากสหรัฐอเมริกา โดยทั้งคู่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกระแสของเกม Pokemon GO ในมุมมองคล้ายคลึงกัน โดยมองว่าระบบเกมทำให้ดึงดูดผู้เล่นในอดีตที่เคยเล่นโปเกมอนภาคก่อนหน้าให้มาสนใจได้ แต่ในปัจจุบันยังพัฒนาไปไม่ถึงจุดที่มีระบบเหมือนตัวเกมหลัก ยังขาดระบบอย่างการแลกเปลี่ยนโปเกมอนระหว่างผู้เล่นที่เป็นระบบหลักไป และเห็นว่าเมื่อระบบส่วนนี้สมบูรณ์จะทำให้ตัวเกมมีความน่าสนุกและน่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

True กับ Pokemon GO สรุปว่ายังไง ?

 

คุณพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงานประธานคณะผู้บริหารและหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมเสวนาในประเด็นเรื่องการถือลิขสิทธิ์เกี่ยวกับโปเกมอนของทางบริษัท ได้พูดถึงว่าในตอนนี้ทรูยังไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเกม Pokemon GO ทางทรูถือลิขสิทธิ์เพียงแค่คาแรกเตอร์ของโปเกมอนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คุณพีรธน ได้บอกว่า ทราบมาว่าตัวเกม Pokemon GO จะมีพัฒนาเป็น 2 ช่วงหลักๆ คือการทำตัวเกมเป็น Global Version ที่ทำออกมาเพื่อทดสอบตัวเกม และปรับปรุงให้ระบบมีความเสถียรขึ้น หลังจากนั้นจึงพัฒนาให้เกิดการทำ Localization เพื่อเจาะกลุ่มแต่ละประเทศให้มีความแตกต่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง คุณพีรธน ไมได้ลงรายละเอียดชัดว่าการทำ Localization ของเกมจะเป็นเช่นไรหรือมีอะไรบ้าง แต่ได้ยกตัวอย่างในมุมหนึ่งของการทำ Localization ในเชิงของภาษา ว่าอยากจะช่วยผลักดันให้ตัวเกม Pokemon GO มีข้อความอธิบายเป็นภาษาไทยด้วย เพื่อที่ผู้เล่นในไทยจะได้อ่านและเข้าใจความหมายและคำเตือนต่างๆ

คุณพีรธนบอกว่าทางทรูมอง Pokemon GO เป็นมากกว่าเกม แต่สามารถเติบโตได้จนเป็นถึงตัวกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดความสนใจจากคนได้ทุกกลุ่มทั่วโลก คาแรกเตอร์ของโปเกมอนนั้นเป็นเสมือนภาษาที่คนทั่วโลกเข้าใจและกลายเป็นที่ชื่นชอบของทุกๆ คน อย่างที่ญี่ปุ่นก็ได้ตัดสินใจว่าจะนำคาแรกเตอร์โปเกมอนมาใช้ในงานโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นในปี 2020 ที่กรุงโตเกียว เมื่อมองกลับมาที่ในไทย เราควรจะใช้ตัวเกม Pokemon GO ให้เป็นมากกว่าเกม และสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน เป็นโอกาสทางธุรกิจทั้งฝั่งผู้ให้บริการเทคโนโลยีอย่างทรู หรือทั้งผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่เราเริ่มเห็นการนำ Pokemon GO มาโปรโมทธุรกิจกันแล้ว รวมถึงแนวคิดของกระทรวงวัฒนธรรมที่กำลังศึกษาว่าจะขอใช้ Pokemon GO ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและเผยแพร่ประเพณี วัฒนธรรมไทย คุณพีรธน กล่าวว่าตัวเกมของ Pokemon GO ยังเพิ่งอยู่แค่ขั้นแรกเริ่ม เป็นก้าวเล็กๆ ของเกมนี้เท่านั้น และสามารถเติบโตไปได้อีกไกล

 

อ่านต่อ – งานเสวนา “Pokemon Go จะพาสังคมไทยไปไหน?” ตอนจบ: มุมมองนักจิตวิทยาและการควบคุมเกม