มาต่อกันกับอีกตอนหนึ่งของงานเสวนา “Pokemon Go จะพาสังคมไทยไปไหน?” ที่จัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (11 ส.ค.) หลังจากที่อ่านมุมมองต่อเกม Pokemon GO ในแง่ของเทคโนโลยีและในเชิงธุรกิจมาแล้ว อีกด้านหนึ่งที่มีการพูดถึงในงานเสวนาครั้งนี้ก็คือมุมมองจากนักจิตวิทยาที่จะพูดถึงประเด็นของกระแส วัยรุ่น กลุ่มผู้เล่น และการปรับตัวทั้งกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ และความคิดเห็นจากทาง กสทช. ที่พูดถึงในเรื่องของตัวเกม Pokemon GO กับกระแสจากหลายสื่อที่พูดถึงว่าอาจจะมีการจัดโซนนิ่งหรือการควบคุมเกมเกิดขึ้น

 

การเล่น Pokemon GO ทำให้เกิดเหตุอันตราย ห้ามลูกหลานเล่นดีกว่า ?

ผลกระทบที่เราพบเห็นในโลกออนไลน์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เกี่ยวกับเกม Pokemon GO ก็คือความเป็นห่วงจากผู้ปกครอง ผู้หลักผู้ใหญ่ว่าเกมจะทำให้บุตรหลานเสี่ยงอันตราย จนลามเกิดเป็นกระแสต่อต้านเกมระดับที่บอกว่าเกม Pokemon GO นั้นอันตราย ไม่ควรให้เล่นเด็ดขาด

ผศ. ดร. พรรณรพี สุทธิวรรณ นักจิตวิทยาพัฒนาการด้านเด็กและวัยรุ่น คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้ร่วมเสวนาในประเด็นที่ว่าเกมจะส่งผลกระทบต่อเด็ก วัยรุ่น ครอบครัว ผู้ปกครอง อย่างไรบ้าง โดยเป็นการมองในมุมของเด็กและวัยรุ่นที่ทาง ผศ. ดร. พรรณรพี เป็นผู้เชี่ยวชาญ

ผศ. ดร. พรรณรพี ได้ยกประเด็นถึงว่าการที่คนมาเล่นเกม Pokemon GO กันเป็นจำนวนมากนั้นเป็นเรื่องของกระแสและเทรนด์ในสังคม โดยได้ลองสอบถามสาเหตุที่ทำให้อยากเล่นจากลูกศิษย์มาบ้างก็ทราบว่าการที่ Pokemon GO บูมในไทยขึ้นมาภายในเวลาไม่ถึงอาทิตยืดีนั้นก็เพราะ “การรอคอย” ของผู้เล่นที่เห็นทางต่างประเทศได้เล่นกันก่อนหน้าแล้ว และเมื่อเกิดกระแสที่คนเล่น Pokemon GO กันเยอะ การเกิดกระแสต่อต้านก็ตามมาเป็นปกติของสังคม เมื่อไรที่มีกระแสความนิยมบางอย่างเกิดขึ้นก็จะเกิดกลุ่มที่รู้สึกหมั่นไส้หรือทำตัวขวางกระแสเป็นปกติ ทำให้เกิดกลุ่มที่ต่อต้านการเล่น Pokemon GO ขึ้นมาอย่างที่เราเห็นกันในอินเตอร์เน็ต

สำหรับมุมของพ่อแม่ผู้ปกครองที่เห็นลูกเล่นเกม หลายคนครอบครัวก็เป็นห่วงว่าด้วยลักษณะการเล่นของ Pokemon GO นั้นทำให้ต้องออกไปเดินเล่นข้างนอก อาจจะก่อให้เกิดเหตุ เกิดอันตรายได้ จึงทำให้พ่อแม่หลายๆ ครอบครัวมีการห้ามลูกเล่น Pokemon GO

ผศ. ดร. พรรณรพี บอกว่าพ่อแม่ไม่ควรจะไปห้ามลูกๆ ไม่ให้เล่นเกมแบบตรงๆ แต่ควรจะยกประเด็นมาพูดคุยเป็นเรื่องๆ ด้วยเหตุและผลให้ลูกเข้าใจว่าลูกเล่นได้หรือไม่ได้เพราะอะไร อย่างเช่น ถ้ามีลูกที่ยังเด็กก็ให้พูดถึงเรื่องการกำหนดอายุผู้เล่นของตัวเกมที่ต้องใช้ Google Account หรือ Pokemon Club Account ในการเล่น ซึ่งการสมัครก็มีกำหนดอายุของผู้สมัครไว้ โดย Google Account กำหนดไว้ที่ 13 ปี และของ Pokemon Club Account จะอยู่ที่ 9 ปี ถ้าหากลูกมีอายุน้อยกว่าเกณฑ์กำหนดก็ต้องอธิบายว่ายังไม่ถึงอายุที่เหมาะสมที่จะเล่น

ถ้าหากลูกอยู่ในช่วงอายุที่เล่นได้ตามข้อกำหนดของเกมก็ควรจะให้ลูกได้เล่น ด้วยความที่เกม Pokemon GO นั้นเรื่องของความนิยม สังคมรอบตัวของลูกๆ ก็จะเต็มไปด้วยเพื่อนๆ ที่ได้เล่นเกม และสำหรับเด็กหรือวัยรุ่น การที่ได้ทำอะไรคล้ายๆ กัน มีเรื่องที่เป็นจุดรวมหรือมีความชื่นชอบเหมือนๆ กันจะทำให้พวกเค้ารู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ พ่อแม่ควรจะยอมให้ลูกได้เล่นเกมตามสมควร แต่ก็ต้องคุยกันเรื่องข้อตกลงในการเล่น อย่างถ้าเล่นต้องไม่ทำให้กระทบต่อการเรียน เป็นต้น ผศ. ดร. พรรณรพี มองว่าการที่หลายๆ ครอบครัวสนับสนุนแนวคิดที่จะให้แบนหรือมีการควบคุมเกมนั้นมาจากสาเหตุที่ว่าพ่อแม่จะได้ไม่จำเป็นต้องมายกเหตุผลและข้ออ้างสารพัดมาอธิบายให้กับลูกๆ ฟัง

 

นึกถึงกีฬาไอคิโด้ที่เราเปลี่ยนพลังของคู่ต่อสู้มาช่วยตัวเรา แทนที่จะไปต้านกระแสของเกม สู้เราเบี่ยงและใช้โอกาสนี้ให้เป็นโอกาสในการทำความเข้าใจกันและเล่นไปด้วยกันดีกว่า – ผศ. ดร. พรรณรพี

 

ผศ. ดร. พรรณรพี เสริมว่าแทนที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้านกระแสเกม Pokemon GO ควรเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสด้วยซ้ำไป แต่เดิมที่ลูกๆ เล่นเกมอยู่กับคอมพิวเตอร์ที่บ้าน Pokemon GO ทำให้พวกเขาออกไปข้างนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ ได้ออกกำลังกายตามกระบวนการของเกมที่บังคับให้ผู้เล่นต้องเคลื่อนไหว พ่อแม่ควรจะปรับตัวและถือโอกาสใช้เกมเป็นสื่อในการสอนลูกในหลายๆ เรื่อง ลองหัดเล่น ให้ลูกๆ สอนเล่น และเริ่มเล่นด้วยกัน ทำความเข้าใจตัวเกมเพื่อที่จะได้พูดคุยได้เป็นภาษาเดียวกันกับลูกๆ และอาจจะกำหนดกฎกับลูกๆ อย่างเช่น หลัง 4 ทุ่ม ให้หยุดเล่นเพื่อพักผ่อน ไม่ให้เสียเวลากับเกมมากเกินไป และยังสามารถส่งเสริมกิจกรรมของครัวได้ เช่น นัดลูกๆ ในวันหยุดออกไปเดินออกกำลังกายตามสวนและเล่น Pokemon GO ไปด้วย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้พ่อแม่และลูกได้พูดคุยกับมากขึ้นและพ่อแม่ก็สามารถใช้ “การเล่น” เป็นการสอนลูก ในหลายๆ เรื่องได้อีกด้วย

อ. นพ. ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ นักวิชาการจิตเวชผู้ใหญ่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้เสริมในเรื่องที่สังคมห่วงว่าเกม Pokemon GO จะทำให้เกิดปัญหาในสังคม รวมไปถึงการเกิดปัญหากันภายในครอบครัวระหว่างพ่อแม่และลูก อ. นพ. ภุชงค์ บอกว่าอยากให้ผู้ใหญ่คิดใหม่ว่าปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นมันเกิดจากอะไรกันแน่ การที่มีเกมๆ หนึ่งเข้ามาเพิ่มในสังคมเดิมแล้วทำให้เกิดความวุ่นวายได้มันไม่ได้เกิดจากเกม แต่มันเกิดจากสภาพสังคมที่มีปัญหาแต่เดิมอยู่แล้ว และต้องมาพิจารณาแล้วว่าเพราะอะไรสังคมถึงได้อ่อนแอขนาดนี้ได้

 

อ. นพ. ภุชงค์ บอกว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม่เกิดปัญหาต่างๆ ก็คือเรื่องของวินัย เริ่มต้นจากภายในครอบครัวที่เป็นแกนหลักในการสั่งส่อนให้เด็กๆ เข้าใจ สังคมไทยปล่อยปละละเลยเด็กตอนยังเล็ก แล้วมาควบคุมเคร่งครัดกันตอนวัยรุ่น ซึ่งไม่สมควร ควรจะปลูกฝังกับตั้งแต่เด็ก ให้เด็กรู้ตัวเอง มีวินัย เมื่อมีอะไรเข้ามาใหม่อาจจะทำให้เด็กเขวได้ แต่ก็เพียงชั่วคราว ดังนั้นการที่เกิดปัญหาจากการที่มีเกมเข้ามาในสังคมก็คือเกิดจากครอบครัว เกิดจากการเลี้ยงดูลูก หากจะโทษเกมก็เหมือนกับการบอกว่า เกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์เยอะ ต้องสั่งห้ามใช้รถยนต์ 

อย่างไรก็ตาม อ. นพ. ภุชงค์ ก็แสดงความเห็นด้วยว่าทางเท้าในประเทศไทยก็ไม่ค่อยเหมาะกับการเดินเล่นเกม Pokemon GO เท่าไรนัก ไม่ว่าจะเป็นสภาพทางเท้าเอง ร้านค้าแผงลอยขวางทาง รถจักรยานยนต์ที่ขี่บนทางเท้า ก็แนะนำว่าให้เล่นกันด้วยความระมัดระวัง

 

 

Pokemon GO ควรถูกควบคุม จัดโซนนิ่ง กำหนดเวลาห้ามเล่น ?

นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้พูดตัวเกมที่สังคมจับมองว่าจะถูกควบคุมหรือโดนแบนหรือไม่ ทาง นพ. ประวิทย์ ได้บอกว่าเท่าที่ทางองค์กรเองได้ศึกษาตัวเกม Pokemon GO มาก็พบว่าโดยเนื้อหาของเกมแล้วไม่มีอะไรที่ผิดหรือขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด ทำให้เราไม่เห็นว่าตัวเกมจำเป็นต้องมีการถูกแบนอย่างที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้

ในมุมมองที่ค่อนข้างสุดโต่งไปหน่อยอย่างแนวคิดที่บอกว่าเกมจะเป็นอุปกรณ์สำหรับสปายสอดส่องเอาข้อมูลจากในไทยนั้นก็บอกว่าเป็นไปได้ยากมาก ด้วยระบบแล้วเชื่อว่าการส่งข้อมูลตำแหน่ง ภาพต่างๆ กลับไปทางผู้พัฒนานั้นระบบแอปสามารถทำได้ แต่ถ้าหากถึงขั้นที่ว่ามีการเก็บข้อมูลกลับไปยังทางผู้พัฒนาในทุกๆ เนื้อหา ทุกประเภทข้อมูลล่ะก็ ไม่น่าเป็นไปได้เพราะทางเซิฟเวอร์ที่รับข้อมูลจากทั่วโลกเข้าไปจะต้องมีประสิทธิภาพสูงมาก และถ้าถึงขั้นที่จะล้วงข้อมูลความลับกันจริงๆ เค้าไม่มาเอาข้อมูลคนทั่วๆ ไปกัน ไปเจาะบุคคลสำคัญเป็นรายบุคคลไปดีกว่า ทาง นพ. ประวิทย์ จึงมองว่าแนวคิดเรื่องการล้วงข้อมูลจึงไม่น่าเป็นประเด็นให้ถกเถียง

 

ถ้าหากว่ามีเกมใหม่ๆ มาอีก เราต้องมานั่งจัดเสวนาพูดคุยกันแบบนี้ทุกรอบมันก็ไม่ใช่เรื่อง – นพ. ประวิทย์

 

เรื่องของการควบคุมเกม นพ. ประวิทย์ มองว่าอาจจะมีบ้าง แต่เป็นไปเพื่อช่วยให้เกิดความเหมาะสมต่อสถานที่ คล้ายกับกรณีที่ทางญี่ปุ่นขอให้ทาง Niantic Labs ลบพื้นที่บริเวณอนุสรณ์รำลึกถึงเหตุการระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่าออกไปจากพื้นที่ที่โปเกมอนเกิด เพื่อไม่ใช่มีผู้เล่นมาสร้างความเดือดร้อนในบริเวณนั้น และยังเสริมด้วยว่าแนวคิดที่จะจำกัดเวลา อย่างตอนกลางคืนห้ามเล่น ก็คงเป็นไปไม่ได้

นพ. ประวิทย์ ให้ความเห็นว่าการบล็อกหรือแบนเกมนั้นไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร บล็อกไปแบนไปคนที่จะเข้าถึงก็เข้าถึงได้อยู่ดี ไม่ต่างอะไรจากเดิม ทาง นพ. ประวิทย์ ได้พูดถึงเกี่ยวกับพฤติกรรมการเล่นเกม Pokemon GO ในช่วงที่ผ่านมาว่า มีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับ Pokemon GO เกิดขึ้นให้เห็นกันบ้างแล้ว แต่สาเหตุไม่ได้มาจากแค่ตัวเกม แต่มาจากตัวผู้เล่นด้วย ดังนั้นสิ่งที่สังคมควรจะใส่ใจไม่ใช่อยู่ที่เกมที่เข้ามา แต่สิ่งที่สังคมควรจะใส่ใจก็คือพฤติกรรมของคน ของผู้ใช้เทคโนโลยี การให้ความสนใจเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรจะสนใจให้ถูกประเด็น เพื่อที่เราจะได้พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่ช้าก็จะเข้ามาสู่สังคมไทยไม่ต่างกับ Pokemon GO ที่เข้ามาในครั้งนี้


จากงานเสวนาครั้งนี้ก็ได้ความโดยรวมว่ากระแส Pokemon GO ที่สร้างความกังวลในสังคมไทยนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยเรื่องหนึ่งเท่านั้น และในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ Pokemon GO ที่เข้ามาสู่สังคมไทย แต่ก็มีอะไรหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นแอป เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ หรืออาจจะเป็นอย่างอื่นที่เรายังคาดเดาไม่ได้ ก็เข้ามาสู่งสังคมไทยอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นแล้วการที่สนใจเพียงแค่เกมๆ เดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลนัก

ปัญหาต่างๆ ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ห่วงว่าจะเกิดขึ้นเพราะการเล่น Pokemon GO ก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล อยู่ที่พฤติกรรมของคนๆ นั้น ถ้าพฤติกรรมการเล่นมีปัญหา เป็นลูกเป็นหลานผู้ใหญ่ก็ควรจะดูแลและสั่งสอนโดยการอธิบายให้เข้าใจ การห้าม หรือการเรียกร้องให้รัฐควบคุมไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแต่อย่างใด เกมไม่ได้ผิด ผิดที่พฤติกรรมของผู้เล่นเกมต่างหาก

สุดท้ายนี้ผมจะหยิบยกคำกล่าวจากตัวแทนของทีม PH21 ที่เป็นทีมที่แข่งขันพัฒนาเกมในรายการ Microsoft Imagine Cup และได้รับรางวัลชนะเลิศมา โดยบอกว่าอย่างให้เปลี่ยนคำถามจากที่เราตั้งว่า “Pokemon Go จะพาสังคมไทยไปไหน?” ให้ลองกลับมุมคิดแล้วตั้งคำถามใหม่ดูว่า “สังคมไทยเราจะพา Pokemon Go ไปในทิศทางไหนได้บ้าง?” สอดคล้องกับที่วิทยากรหลายท่านเห็นร่วมกันว่า เราน่าจะใช้ Pokemon GO เป็นโอกาส และสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น มากกว่าที่จะไปเพ่งเล็งและมุ่งเป้าทำลายเพราะเห็นว่ามันเป็น “เกม”