นับจากวันที่ Google ได้เปิดตัว Pixel 4 และ Pixel 4 XL ที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ต่างๆมากมาย บางอย่างหายไป บางอย่างเพิ่มเข้ามาใหม่ ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในคนที่ดู Live เสร็จก็กดพรีออเดอร์ทันทีโดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น (ยังไม่ทันรู้เลยว่าข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง) จนตอนนี้ได้มาอยู่ในมือเพื่อมาพรีวิวเรียกน้ำย่อยกันแล้ว

ตัวเครื่องจะมีให้เลือกทั้งหมด 3 สีด้วยกันคือ Just Black, Clearly White และ Oh So Orange ที่เป็นสีพิเศษสำหรับรุ่นนี้ โดยตัวเครื่องที่ใช้ในการพรีวิวครั้งนี้ก็คือ Pixel 4 สี Oh So Orange และ Pixel 4 XL สี Cleary White นั่นเอง

จะเห็นว่ากล่องของทั้ง 2 รุ่นมีขนาดเท่ากันเป๊ะๆ จุดที่แตกต่างกันก็คือชื่อรุ่นและภาพตัวเครื่องที่อยู่บนกล่อง

โดยในกล่องประกอบไปด้วยตัวเครื่อง, อะแดปเตอร์จ่ายไฟ 18W, สาย USB-C, หัวแปลง USB-A เป็น USB-C และคู่มือการใช้งานเบื้องต้น + เข็มจิ้มถาดซิม

และผมก็รู้สึกว่าตัวกล่องข้างในเหมือนกับของ Pixel 3 มากๆ เพราะจำรูปแบบการวางอุปกรณ์์ต่างๆข้างในได้

สงสัยอยากจะประหยัดค่าดีไซน์์กล่องแน่ๆเลย

สำหรับอะแดปเตอร์จ่ายไฟ 18W ที่ให้มาก็จะจ่ายไฟ 5V/3A และ 9V/2A

ทีนี้มาดูที่ตัวเครื่องกันบ้างดีกว่า

ตัวเครื่องจะมาพร้อมกับ Android 10 เวอร์ชันใหม่ล่าสุด และใช้ Qualcomm Snapdragon 855 ที่เป็น 64-bit Octa-core โดยมีความเร็วในการประมวลผลอยู่ที่ 2.84 GHz + 1.78 GHz ที่มาพร้อมกับ Qualcomm Adreno 640 ส่วน RAM ก็ให้มามากถึง 6GB และความจุสำหรับเก็บข้อมูลจะมีให้เลือกระหว่าง 64GB และ 128GB

สำหรับ Pixel 4 นั้นจะมีการดีไซน์ตัวเครื่องที่ต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด เพราะในรุ่นนี้ผิวของตัวเครื่องจะใช้วัสดุผิวด้าน (Matte) ทั้งหมด ไม่ได้เป็นผิวเงา (Glossy) บางส่วนเหมือนรุ่นก่อนๆ และด้านข้างตัวเครื่องใช้เป็นสีดำที่เป็นผิวด้านไม่ว่าตัวเครื่องจะเป็นสีใดก็ตาม

สำหรับตัวเครื่องสี Oh So Orange ตอนที่ได้สัมผัสของจริงก็มีคำถามแรกผุดขึ้นมาในใจเลยว่า “มันส้มตรงไหนกันเนี่ย?” เพราะสีส้มที่ว่านี้มันออกไปทางสีชมพู จึงทำให้รู้สึกว่ามันเป็นสีส้มอมชมพูมากกว่าที่จะเป็นสีส้มล้วนๆ

และยิ่งเวลาตัวเครื่องโดนแสงแดด เวลามองมุมข้างก็จะรู้สึกว่าออกไปทางสีชมพูมากกว่าเสียอีก

สำหรับด้านบนของตัวเครื่องจะมีแค่ช่องไมโครโฟนเท่านั้น ซึ่ง Pixel 4 จะใส่ไมโครโฟนมาให้มากถึง 3 ตัวด้วยกัน (ด้านบนของตัวเครื่อง, ด้านล่างของตัวเครื่อง และด้านหลังของตัวเครื่อง)

ส่วนด้านล่างของตัวเครื่องเป็นช่องไมโครโฟน, USB-C 3.1 และช่องลำโพง (เรียงตามลำดับจากซ้ายไปขวา) ซึ่งผมก็แอบเสียใจเล็กน้อยที่รุ่นนี้ย้ายลำโพงมาอยู่ใต้เครื่องเหมือนกับ Pixel 3A แล้ว ส่วนช่องหูฟัง 3.5mm นั้น อย่าไปถามหาเลย…

ด้านข้างฝั่งซ้ายของตัวเครื่องจะมีช่องใส่ถาดซิมแบบ Nano SIM และรุ่นนี้ก็รองรับ e-SIM ได้เหมือนเดิมนะ

ส่วนด้านข้างฝั่งขวาจะมีแค่ปุ่ม Power และ Volume เท่านั้น และสำหรับปุ่ม Power ถ้าเป็นเครื่องสี Just Black จะได้ปุ่มเป็นสีขาว ส่วนเครื่องสี Clearly White จะได้ปุ่มเป็นสีส้มแบบสีของตัวเครื่อง Oh So Orange ส่วนตัวเครื่องสี Oh So Orange จะได้ปุ่มที่มีสีอ่อนกว่าสีตัวเครื่องหน่อยนึง

และเป็นที่รู้กันว่าไม่มีช่องใส่ SD Card ให้อยู่แล้วสำหรับตระกูล Pixel

เมื่อลองเทียบระหว่าง Pixel 4 กับ Pixel 3 ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างดีไซน์ตัวเครื่องอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะขอบด้านข้างตัวเครื่ืองที่เป็นสีดำด้าน ต่างจากรุ่นก่อนๆที่เป็นสีตามเครื่องและเป็นวัสดุให้ความรู้สึกเหมือนกระจก และด้านหลังตัวเครื่องก็ทำเป็นผิวด้านทั้งหมดแล้ว

หน้าจอจะใช้เป็น OLED ที่รองรับ HDR ในอัตราส่วน 19:9 โดย Pixel 4 จะได้ความละเอียดหน้าจอ 2,280 x 1,080 ส่วน Pixel 4 XL จะอยู่ที่ 3,040 x 1,440 px  โดยทั้งสองรุ่นจะมาพร้อมกับ Smooth Display ที่จะแสดงผลที่ 90Hz ทำให้ภาพที่แสดงอยู่บนหน้าจอมีความลื่นไหลมากขึ้น ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่คิดว่ามันจะต่างกันแค่ไหนนะ แต่พอได้ลองใช้งานจริงก็ต้องยอมรับจริงๆว่าทำไมต้อง 90Hz

สิ่งหนึ่งที่แอบกังวลก็คืือมุมโค้งของหน้าจอแสดงผลจะโค้งไม่สวยเหมือนที่เจอใน Pixel 3A แต่พอได้มาจับของจริงก็พบว่าทำมุมโค้งได้สวยมาก และมีมุมโค้งที่ใหญ่กว่ารุ่นก่อนๆด้วย

สำหรับ Pixel 4 จะเห็นว่าด้านหน้าของตัวเครื่องหน้าจอทุกด้านจะชิดกับตัวเครื่องหมด ยกเว้นข้างบน เพราะว่ามีเซ็นเซอร์ต่างๆอยู่นั่นเอง โดยจะมีทั้งกล้อง NIR, Dot Projector และ Flood Emitter สำหรับการปลดล็อคด้วยใบหน้า, กล้องหน้า 8MP, Ambient Light Sensor, Proximity Sensor, ช่องลำโพง และ Radar Sensor สำหรับ Motion Sense

ด้านหลังของตัวเครื่องจะมีทุกๆอย่างอยู่ที่มุมซ้ายบนของตัวเครื่อง โดยจะมีทั้งกล้องคู่, Spectral + Flicker Sensor, Dual LED Flash และช่องไมโครโฟน

กล้องหลังจะมี 2 ตัวด้วยกันคือเลนส์ปกติความละเอียด 12.2 MP รูรับแสง ƒ/1.7 และเลนส์เทเล 16 MP รูรับแสง ƒ/2.4 โดยกล้องหลังจะมีระบบกันสั่นและ Spectral + Flicker Sensor สำหรับแก้ปัญหาการถ่ายภาพหรือวีดีโอบนหน้าจอแล้วเห็นภาพเป็นเส้นๆ โดยตัวกล้องหลังจะรองรับการถ่ายวีดีโอได้ถึง 4K แต่ว่ายังคงอยู่ที่ 30fps เท่านั้น ส่วน 1080p นั้นเลือกได้เลยว่าจะเป็น 30fps, 60fps หรือ 120fps

ส่วนกล้องหน้าจะมีเพียงตัวเดียว โดยมีความละเอียด 8 MP รูรับแสง ƒ/2.0 เป็นแบบ Fixed focus และรองรับการถ่ายวีดีโอที่ 1080p/30fps ซึ่งผมก็แอบแปลกใจเหมือนกันว่าทำไมถึงตัดสินใจใช้เป็น Fixed Focus แทนที่จะเป็น Auto Focus

สำหรับกล้องจะยังไม่พูดถึงอะไรมากนัก เพราะว่าผมยังไม่ได้มีโอกาสออกไปถ่ายรูปเล่นซักเท่าไร

และที่ขาดไปไม่ได้เลยก็คือโลโก้ตัว G ของ Google ที่อยู่ด้านหลังของตัวเครื่อง ซึ่งในรุ่นนี้ตรงโลโก้จะมีการปั้มผิวนูนขึ้นมาเล็กน้อยด้วย

ส่วนแบตเตอรีของ Pixel 4 จะมีความจุ 2,800 mAh ส่วน Pixel 4 XL จะมีความจุ 3,700 mAh ซึ่งหลายๆคนบอกว่า Pixel 4 ให้แบตเตอรีมาน้อยไป แต่ผมก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าแบตเตอรีเพียงเท่านี้จะสามารถอยู่ได้เต็มวันหรือไม่

แต่ที่แน่ๆคืือรุ่นนี้จะมีน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นกว่ารุ่นก่อน โดย Pixel 4 จะหนัก 162 g และ Pixel 4 XL หนัก 193 g ส่วนขนาดของตัวเครื่องแตกต่างจากเดิมไม่มากนัก

ถึงแม้ว่าลำโพงของตัวเครื่องจะยังคงเป็น Stereo เหมือนเดิม แต่ผมก็แอบไม่ชอบการวางตำแหน่งของช่องลำโพงในรุ่นนี้ซักเท่าไร เพราะมิติเสียงมันดูไม่ค่อยสมดุลเวลาใช้งานจริง

ที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับ Pixel 4 ก็คือการใช้ Face Unlock โดยสมบูรณ์ ไม่มี Fingerprint Scanner อีกต่อไป และ Live Caption (แสดง Caption จากเสียงในเครื่องไม่ว่าจะเปิดแอพอะไรก็ตาม) ที่สามารถใช้งานได้เลย ในขณะที่รุ่นก่อนๆต้องต่อคิวรอไป นอกจากนี้ยังได้ใช้ Live Wallpaper ของ Pokemon ที่พิเศษสำหรับ Pixel 4 ด้วยล่ะ ซึ่งเราสามารถใช้ Motion Sense เพื่อโต้ตอบกับตัวละครบนหน้าจอได้ด้วย

Motion Sense นั้นสามารถทำได้แค่บางอย่างเท่านั้น ไม่ได้รู้สึกหวือหวามากนัก ที่ได้ใช้บ่อยสุดก็จะเป็นการเปลี่ยนเพลงเท่านั้น ซึ่งสามารถปัดมือตอนที่ปิดหน้าจอได้ด้วย (น่าจะต้องเปิด Always On ไว้ด้วย) โดยจะมีแถบสีขาวๆที่ข้างบนสุดของหน้าจอเพิ่อแสดงให้รู้ว่า Motion Sense กำลังทำงานอยู่

ส่วน Face Unlock นั้นก็สามารถทำได้ไวมาก ยกขึ้นมาปุปก็สามารถปลดล็อคหน้าจอได้ทันที (ลองหลับตาแล้ว ปลดล็อคไม่ได้นะ 😆)

และทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น ส่วนการใช้งานจริง Pixel 4 จะตอบโจทย์หรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ก็ต้องโปรดอดใจรอรีวิวฉบับเต็มๆจาทีมงานนะครับ