วันก่อนเราได้พี่ชุมช่างภาพชื่อดังนำพา Galaxy S9+ ถ่ายรูปให้ดูแบบไม่แต่งเติมกันไปแล้ว แต่ว่าช่วงนี้บางคนน่าจะได้เห็นงานจากหลายเพจดังปล่อยภาพที่ด้วย Galaxy S9 กันมารัวๆ ซึ่งภาพสวยแบบต้องสงสัยว่านี่เราใช้กล้องตัวเดียวกับเค้าจริงๆเหรอฟระ วันนี้เดี๋ยวจะมาบอกให้ฟังกันว่าที่เค้าถ่ายออกมาได้สวยงามขนาดนั้น เค้าทำกันยังไง และมันต่างจากการที่เราถ่ายปกติขนาดไหน

เก็บไฟล์ RAW มาแต่งต่อ เคล็ดลับถ่ายภาพสวยบนมือถือ

สิ่งนึงที่หลายๆคนไม่ค่อยจะรู้เวลาดูภาพจากเพจดังๆ ที่คอยถ่ายภาพสวยมาให้เราชื่นชมก็คือ ภาพเหล่านั้นมักจะไม่ใช่ภาพที่ถ่ายด้วยโหมด Auto แต่เป็นการเก็บเอาไฟล์ RAW มาปรับแต่งต่อเสียมากกว่า โดยสีและเนื้อภาพที่ได้มักจะสวยกว่าภาพที่เราถ่ายด้วยโหมด Auto ยิ่งนัก

 
ซ้าย : JPEG(Auto), ขวา : RAW(Pro)

ตัวอย่างภาพโคตรสวยของ Galaxy S9/S9+ จากเพจเทพๆบางส่วน

ที่มาภาพ Sanit.portfolio, LightCulture, 21 DAY PHOTO, Maneemejai

ภาพ RAW คืออะไร ตั้งค่าตรงไหน

ภาพดิจิทัลที่เราถ่ายมาด้วยกล้องนี้ ส่วนมากจะถูกจัดเก็บเป็นไฟล์ JPEG ซึ่งจะเป็นไฟล์ที่ถูกปรับแต่งสี ความคมชัด และบีบอัดให้มีขนาดเล็กลง ส่วนไฟล์ RAW จะเป็นไฟล์ภาพถ่ายแบบดิบ ที่ยังไม่ถูก Process ใดๆมา เนื้อภาพเป็นไปตามที่เซนเซอร์เก็บบันทึกมาได้ ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งมากกว่า ซึ่งถ้าเปรียบระหว่าง JPEG กับ RAW ก็จะเหมือนไฟล์ JPEG เป็นสเต็กเนื้อที่ถูกปรุงสุกจัดแต่งมาให้บนจานพร้อมกินทันที ส่วนไฟล์ RAW จะเป็นเนื้อสดๆที่ยังไม่ถูกปรุง เราต้องมาจัดการแล่ ใส่เครื่องปรุง เอาขึ้นกระทะด้วยตัวเองก่อนถึงจะกินได้ ซึ่งก็จะมีรสชาติแบบที่เราต้องการที่สุดนั่นเอง

เปรียบเทียบความยืดหยุ่นในการปรับแต่งไฟล์ JPEG vs RAW

จากภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่าภาพ Original ของ JPEG และ RAW มีความต่างกันอยู่ โดย JPEG จะมีการปรับดึงฟ้าให้มีสีสันขึ้นมาและปรับคอนทราสให้เข้มขึ้นอีกหน่อย ส่วน RAW จะค่อนข้างกลางๆ สีสันไม่ได้สดอะไรมาก รายละเอียดตรงท้องฟ้าก็ไม่เห็นอะไร แต่เมื่อนำเอามาปรับ Exposure, Contrast, Saturation และอื่นๆผ่าน Lightroom แล้วก็จะเห็นได้ว่าภาพ RAW พื้นที่ส่วนสว่างและมืดจะสามารถดึงรายละเอียดและสีสันขึ้นมาได้อีกจนน่าพอใจ ส่วนภาพ JPEG ใช้การตั้งค่าเดียวกันกับ RAW จะเห็นได้ว่ารายละเอียดส่วนท้องฟ้าไม่สามารถดึงกลับมาได้ และรายละเอียดส่วนที่มืดก็จะตุ่นๆนิดหน่อย แต่ก็ยังพอแก้ไขได้ในระดับนึงครับ

ภาพ JPEG ที่ปรับแต่งส่วนมืดเพิ่มเติม ซึ่งสีจะดีขึ้นแต่พื้นที่ส่วนสว่างไม่สามารถดึงกลับมาได้อยู่ดี

Highlight

  • RAW เก็บรายละเอียดสีสันพื้นที่ส่วนมืด-สว่างมามากกว่า
  • สามารถปรับแต่งได้ยืดหยุ่นกว่าเดิม
  • ต้องทำผ่านแอปที่รองรับ เช่น Adobe Lightroom (ฟรี)
  • JPEG มีการใส่สี เพิ่มความคมชัดของภาพมาให้เสร็จสรรพแล้ว

วิธีการตั้งค่าเก็บไฟล์ RAW บน Galaxy S9 / S9+

สำหรับการตั้งค่าเก็บภาพเป็นไฟล์ RAW นั้นเราต้องไปที่การตั้งค่าของกล้อง แตะเลือกตรงความละเอียด จะมีให้เปิดการเก็บไฟล์เป็น RAW อยู่ ซึ่งจะถ่ายได้ต่อเมื่อเราเปิดโหมด Pro เท่านั้นนะ

 
เข้าไปที่การตั้งค่าของกล้อง > กดเลือกที่ Picture size > เปิดการบันทึกไฟล์ RAW & JPEG ด้านล่างสุด

ไฟล์ RAW บน Galaxy S9 ยังไม่แต่งก็ดีกว่า JPEG

แม้ว่าข้างต้นผมจะบอกว่าไฟล์ RAW ต้องเอาไปปรับแต่งก่อนเสมอก็จริง แต่ว่าเนื้อสดที่คุณภาพดี การกินดิบๆมันก็อร่อยไปอีกแบบ เช่นเดียวกับบน Galaxy S9 และ S9+ ที่เมื่อเราถ่ายภาพเสร็จแล้วจะมีการบันทึกไฟล์ไว้เป็น JPEG + RAW ซึ่งเมื่อดูแบบยังไม่แต่งไฟล์ RAW ก็สวยกว่าแล้ว สังเกตได้จากสีสันดูใสกว่า คอนคราสไม่ถูกตัวซอฟท์แวร์กล้องดึงจนจัดเกินไป ภาพดูสว่างขึ้นเล็กน้อย เห็นเกรนบางๆแบบเดียวกับกล้อง DSLR ดูดีมีราคามากเลยทีเดียว

Highlight

  • สีสันมีความสดใสกว่า คอนทราสไม่จัดไป
  • ภาพสว่างและคมชัดขึ้น
  • ไม่คมชัดจนเกินไป เห็นเกรนบางๆพอสวยงาม

มาดูตัวอย่างภาพเพิ่มเติมที่ผมได้ลองถ่ายเทียบ RAW vs JPEG บน Galaxy S9+ รีดประสิทธิภาพของกล้องออกมาให้เต็มที่มันจะทำได้ขนาดไหน โดยทั้งหมดนี้ถ่ายด้วยมือผมเอง ผสมกันระหว่าง Galaxy S9 / S9+ โดยใช้โหมด Pro และนำภาพ RAW ไปปรับแต่งผ่าน LightRoom อีกที ภาพซ้ายจะเป็นภาพ JPEG ส่วนด้านขวาจะเป็น RAW ที่แต่งเพิ่มเติมแล้วนะครับ

Google Photos Fullres

ดูภาพ Galaxy S9 แบบเต็มความละเอียดได้ที่นี่

แสงน้อยแต่โหมด Auto บน Samsung Galaxy S9 ก็โอเค

จากภาพตัวอย่างด้านบน จะเห็นได้ว่าภาพกลางคืนแม้ว่าจะใช้เพียงแค่ Auto แต่หลายๆภาพก็ออกมาน่าพอใจระดับเดียวกับ RAW หรือถ้าซูมดูบางภาพอาจจะทำได้ดูดีกว่า RAW ที่ยังไม่แต่งพอสมควรเลยด้วย ซึ่งเหตุผลก็มาจากที่ Galaxy S9 มีฟีเจอร์ลดน็อยซ์ ที่ภาพถ่ายกลางคืนของ Samsung ทำออกมาได้ดี มี Noise ในระดับที่น้อยมากแม้ว่าจะเปิด ISO สูงๆนั้น ทาง Samsung ได้อธิบายเรื่องนี้เอาไว้ว่าเป็นเพราะเทคนิค Multiframe Noise Reduction ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราถ่ายภาพในที่แสงน้อย ตัวกล้องจะบันทึกภาพทันที 12 ภาพ แล้วจับเอามารวมกันจนเหลือเพียง 1 เดียว ซึ่งการจับเอาภาพมารวมกันนี้ก็เพื่อเอา Noise แต่ละภาพมาเทียบกันและลบออกนั่นเอง ซึ่งทำแบบนี้ได้ก็เพราะตัวเซนเซอร์รับภาพที่มีการฝัง DRAM เอาไว้และสามารถบันทึกภาพต่างๆได้พร้อมกัน 12 ภาพอย่างรวดเร็ว โดยเซนเซอร์รับภาพอันนี้ก็เป็นตัวที่ทำให้ถ่ายภาพ Super Slow Motion ได้ด้วยนั่นเอง (เทคนิคเดียวกับบนเซนเซอร์ของ Sony Xperia นั่นแล)

อธิบายการทำงานของเทคนิค Multi-frame Noise Reduction ที่ทำให้ภาพกลางคืนบน Galaxy S9 เทพสุดๆ

อธิบายการทำงานของเซนเซอร์ Super-speed dual pixel ซึ่งจะมีชั้นของ Dual Pixel และ DRAM เพิ่มขึ้นมาจนสามารถถ่ายภาพพร้อมกันจำนวนหลายๆภาพได้

ถ้าไฟล์ RAW ดีกว่า JPEG ทำไมไม่เปิดให้ถ่าย RAW ตลอดเวลา

แม้ว่าไฟล์ RAW จะมีข้อดีมากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครอยากจะต้องมาปรับแต่งภาพตลอดเวลา แถมไฟล์ที่เก็บได้ก็จะมีขนาดใหญ่กว่า JPEG 4-5 เท่า ลองนึกดูว่าถ้าเราอยากกินอาหาร แล้วต้องคอยเก็บวัตถุดิบต่างๆเอาไว้เต็มไปหมด ต้องคอยเอาเนื้อไปย่างปรุงสุกเองให้อร่อยทุกภาพ มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ๆ และการแชร์เข้าช่องทาง Social ต่างๆก็ไม่รองรับไฟล์ RAW ซึ่งในที่นี้ก็คือ .DNG อีกด้วย

Highlight

  • ถ่าย 1 รูปต้องใช้พื้นที่จัดเก็บมากขึ้น 5-6 เท่า (4MB : 25MB)
  • ต้องโปรเซสภาพก่อนใช้งาน
  • แอปและโซเชียล ไม่รองรับไฟล์ RAW

สำหรับคนที่สงสัยเรื่องไฟล์ RAW และอยากทราบข้อมูลเรื่องการถ่ายภาพเพิ่ม เราเคยมีเขียนเรื่องสเปคกล้องสมาร์ทโฟนเอาไว้แล้ว แล้วจะเข้าใจมากขึ้นว่าบางครั้งความละเอียดของภาพไม่ได้ทำให้ภาพสวยขึ้นแต่อย่างไร แต่เป็นเรื่องรายละเอียดอื่นๆซะมากกว่า

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย RAW file อาจเป็นนามสกุลอื่นที่นอกเหนือจาก .dng ก็ได้ เช่น .cr2 หรือ .orf โดย .dng จะเป็น RAW file ที่เป็นฟอร์แมตของทาง adobe นั่นเอง ส่วนนามสกุลอื่นก็เป็นของค่ายอื่นๆแตกต่างกันออกไปครับ

อธิบายสเปคกล้องสมาร์ทโฟน เมื่อความละเอียดไม่ใช่ทุกอย่าง

กล้องดีแค่ไหนไม่สำคัญเท่าคนถ่าย

โปรดเข้าใจตรงกันเรื่องนึงก่อนว่า ปัจจัยที่จะถ่ายภาพสวยหลักๆคือ ฝีมือของคนที่อยู่หลังกล้อง ซึ่งในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงแค่ Galaxy S9/S9+ แต่รวมถึงทุกรุ่นทุกยี่ห้อเลย โดยเฉพาะที่ราคาขึ้น 20,000 บาท ที่ส่วนตัวผมมองว่าคุณภาพไม่ได้หนีกันเยอะมากนัก ภาพจะออกมาสวยหรือไม่สวย การเลือกแสง มุมมอง องค์ประกอบ วิธีเล่าเรื่องราวของคนถ่ายเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด แต่ที่เอามาบอกในบทความนี้คือ เคล็ดลับเพิ่มเติมในการรีดประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ ให้ออกมามากที่สุดมากกว่านะ

สำหรับวิธีถ่ายรูปสวยนั้นปัจจุบันน่าจะได้เห็นบทความ คลิปสอนถ่ายรูปกันเยอะแยะเต็มไปหมดละ ยังไงลองหากันดูได้ และที่สำคัญการดูภาพสวยๆจากเหล่ามืออาชีพ วิเคราะห์ว่าเค้าถ่ายยังไง และฝึกฝน ก็คือสิ่งที่สำคัญที่สุดนะครับ ลองดูคลิปที่เราเคยไป Screen Unlock พี่ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ช่างภาพสตรีทระดับโลกกันได้ กว่าพี่เค้าจะขึ้นไปถึงจุดนั้น เค้าต้องมีความพยายามและฝึกฝนเยอะเยอะทีเดียว:)

Play video

ขอให้ทุกคนสนุกกับการถ่ายภาพด้วยกล้องมือถือครับ~