ข่าวล่าสุดมีการแจ้งว่าราคาของเรือธงแห่งปี 2019 ของ Samsung อย่าง Galaxy S10 ที่มีแววจะพุ่งขึ้น (อีกแล้ว) และอาจทะลุถึง 60,000 บาทเลยทีเดียวสำหรับตัวท็อปสุดหรือ Galaxy S10+ ที่จะมาพร้อม RAM 12GB  และ Storage 1TB ทั้งที่เราเพิ่งจะผ่านพ้นมือถือราคา 50,000 บาทกันมาหมาดๆ โดยราคานี้อาจแตกต่างจากรุ่นรอง (RAM 8GB/512GB) กว่า 1 หมื่นบาทเลยทีเดียว ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าหน่วยความจำที่เพิ่มขึ้นมานั้น มีราคาต้นทุนอยู่เท่าไหร่กันหนอ…

โดยปกติแล้วหน่วยความจำไม่ใช่ชิ้นส่วนที่ราคาแพงที่สุดในการผลิตสมาร์ทโฟน 1 เครื่อง เพราะโดยทั่วไปมักจะเป็นเทคโนโลยีของหน้าจอหรือไม่ก็ชิปประมวลผล แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันเพราะว่า Samsung มักจะมีเทคโนโลยีล้ำๆ มานำเสนอตลอดเวลาซึ่งชิ้นส่วนอย่างหน่วยความจำนั้น อันที่จริงก็เป็นอีกผลิตภัณฑ์นึงที่มี Samsung นี่แหละเป็นเจ้าตลาด

แล้วสรุปว่ามันแพงมากมั้ยนะ หน่วยความจำทั้งหลายเนี่ย…

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าการจะระบุไปเลยว่าหน่วยความจำพวกนี้แพงสักแค่ไหนไม่ใช่เรื่องที่จะสรุปเอาเลยได้ง่ายๆ เพราะราคาชิ้นส่วนกลุ่มนี้ถือว่าหาข้อมูลที่แม่นยำจริงๆ ยากมากๆหรือแม้แต่หาได้เจอจริงๆ ก็ไม่น่าจะเป็นราคาที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต้องจ่ายอย่างแน่นอนหากลองคิดดูว่าอำนาจต่อรองของแบรนด์อย่าง Samsung หรือ OEM เจ้าอื่นๆ จะมีมากแค่ไหนในการจัดซื้อชิ้นส่วนพวกนี้มาในราคาที่ถูกกว่าที่เราหากันได้เอง และแน่นอนว่าหากจะได้ราคาถูกๆ ก็ต้องซื้อกันแบบยกล็อตเป็นหมื่นๆ แสนๆ ตัว

เริ่มกันที่ตัวอย่างแรก มองย้อนไปที่เจ้า Galaxy s9 Plus ที่ถูกแตกพาร์ทราคาต้นทุนออกมาอ้างอิงจาก BOM (bill-of-materials) ที่มีการรีเสิร์จเอาไว้โดย Tech Insights ตั้งแต่ต้นปี 2018 จะเห็นว่า หน่วยความจำ RAM 6GB มีราคาแค่ 39 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 1,230 บาทเท่านั้นเอง ส่วนนึงอาจเป็นเพราะว่ามันเป็นของ Samsung เองนี่แหละ ในขณะเดียวกัน UFS Flash Storage ขนาด 64GB ที่ผลิตโดย Toshiba ก็มีราคาแค่ 12 ดอลลาร์ หรือ 379 บาท

หน่วยความจำประเภท Flash Storage

ถ้าให้เทียบบัญญัติไตรยางค์ไปเลยสำหรับ Galaxy S9 Plus ให้เป็นความจุแบบ 512GB และ 1TB โดยที่ไม่สนใจปัจจัยทางต้นทุนอื่นๆ เลยราคาก็จะอยู่ที่ราวๆ 96 ดอลลาร์ (3,030 บาท) สำหรับ 521GB และ 192 ดอลลาร์ (6,060 บาท) สำหรับ 1TB ตามลำดับ ซึ่งราคาจริงๆ คงจะถูกกว่านี้เยอะมากๆ ถ้านับปัจจัยต่างๆเข้าคำนวณเช่นราคาของ Flash Storage เองที่ถูกลงทุกปี และ ความคุ้มค่าทางด้านปริมาณ (Economy of Scale) ในการผลิต

ตัวเลขประมาณการณ์ของฮาร์ดแวร์ประเภทหน่วยความจำนั้นมีค่าเฉลี่ยต้นทุนการผลิตในปี 2019 ของ Flash Storage อยู่ที่ราวๆ 0.08 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 GB เท่านั้น ซึ่งถ้าใช้แค่ตัวเลขประเมินอย่างง่ายนี้เข้ามาคำนวณใหม่ล่ะก็ ราคาของความจุทั้ง 2 ข้างต้นจะถูกลงไปเกินครึ่งเลยทีเดียว

หน่วยความจำประเภท RAM

เอาแบบมักง่ายเทียบบัญญัติไตรยางค์เหมือนกันไปเลย RAM ขนาด 8GB (LPDDR4) จะมีราคาเพิ่มขึ้นที่ราวๆ 33% ไปอยู่ที่ 52 ดอลลาร์ หรือ 1,641 บาท ขณะที่ RAM ขนาด 12GB ก็น่าจะสักประมาณ 78 ดอลลาร์ หรือ 2,462 บาท แต่ถ้าจะมองตามความเป็นจริงของตลาดต้องบอกเลยว่าน่าจะถูกไปอีกมากเพราะปัจจุบันสภาพตลาดของ DRAM นั้นกำลังมีปัญหาของอุปทานที่เกินส่วนจนราคานั้นถูกลงมามากนั่นเอง

แล้วสรุปว่ามันจำเป็นต้องแพงขึ้นแค่ไหนกันนะ ถ้าเราจะอัพความจุเวลาซื้อสมาร์ทโฟนเนี่ย…?

กลับไปที่คำว่า “บัญญัติไตรยางค์” กันอีกที คือคำนวณแบบแพงสุดๆแล้วไม่สนใจปัจจัยราคาด้านอื่นเลยนะ ราคาต้นทุนสำหรับหน่วยความจำที่เพิ่มขึ้นใน Galaxy S10 ก็จะประมาณนี้:

  • รุ่นความจุ 6GB/128GB ต้นทุนของ RAM และ Flash Storage จะอยู่ที่ราวๆ 63 ดอลลาร์ (1,990 บาท)
  • รุ่นความจุ 8GB/512GB ต้นทุนของ RAM และ Flash Storage จะอยู่ที่ราวๆ 148 ดอลลาร์ (4,677 บาท) แพงขึ้นมา 85 ดอลลาร์ (2,687 บาท) เทียบกับรุ่น 6GB/128GB
  • รุ่นความจุ 12GB/1TB ต้นทุนของ RAM และ Flash Storage จะอยู่ที่ราวๆ 270 ดอลลาร์ (8,532 บาท) แพงขึ้นมา 122 ดอลลาร์ (3,855 บาท) เทียบกับรุ่น 8GB/512GB

นี่ขนาดต่อให้แล้ว โดยใช้เทียบบัญญัติไตรยางค์เอาดื้อๆ แบบไม่นับปัจจัยด้านอื่นๆทางธุรกิจซึ่งจะทำให้ต้นทุนถูกลงไปอีกราวๆ 30-50% อย่างที่กล่าวเอาไว้ก่อนหน้า ก็ยังชัดเจนอยู่ดีว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ประมาณ 2,687 – 3,855 บาทเท่านั้น คือเต็มที่ก็ 4,000 บาทกลมๆ ถ้วนๆ ไม่ใช่หลัก 10,000 บาทอย่างที่มีรายงานเรื่องราคาออกมาอย่างแน่นอน เรียกว่ามี Price Premium (ส่วนต่างที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้มาซึ่งหน่วยความจำที่เพิ่มขึ้น) อยู่ที่ 234% สำหรับการขยับจากรุ่น 6GB/128GB เป็น 8GB/512GB และ 179.5% สำหรับการขยับจากรุ่น 8GB/512GB ไปเป็น 12GB/1TB เอาง่ายๆคือ เราอาจต้องจ่ายค่าเพิ่มความจุให้กับซีรี่ย์ Galaxy S10 อยู่ที่ราวๆ 2 เท่าจากต้นทุนจริงที่ใช้ในการเพิ่มความจุให้กับสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ตามเพื่อความยุติธรรม เราต้องไม่ลืมว่าการเพิ่มความจุนั้น อาจไม่ใช่แค่การนำเอาชิ้นส่วนของความจุที่มากขึ้นมาใส่ แต่อาจรวมไปถึงต้นทุนของการพัฒนาซอฟแวร์และระบบปฏิบัติให้ใช้งานความจุนั้นให้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น หรือแม้แต่ชิ้นส่วนอื่นๆที่อาจจะต้องปรับปรุงให้รองรับกันได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง

มองอย่างเข้าใจ มันคือธุรกิจ ที่ต้องทำ…

อันที่จริงการทำกำไรจากราคาส่วนต่างมากมายขนาดนี้เพื่อกวาดเงินออกจากกระเป๋าเราเพียงเพราะแค่เราต้องการเพิ่มหน่วยความจำในสมาร์ทโฟนให้มันชัวร์ๆว่า มันจะไม่เต็มแน่ๆ เวลาใส่เกมส์ ใส่ภาพ ใส่เพลง ใส่อะไรเข้าไปเยอะๆ หรือการใช้งานที่ลื่นไหล multi-tasking ที่ไม่มีสะดุด เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทุกๆรายก็มักจะทำแบบนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะกับโมเดลที่เรียกว่าเรือธงทั้งหลาย เพราะเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคเต็มใจจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นที่สุด ความทันสมัย อยู่กับเทคโนโลยีที่ดีที่สุดตลอดเวลา ธุรกิจจึงเห็นโอกาสที่เหมาะสมว่า “นี่คือการนำรายได้จากผู้บริโภคที่มองความเป็นที่สุดมากกว่าความคุ้มค่าสร้างส่วนต่างที่สามารถไปทดแทนให้กับ Segment อื่นๆเช่นสมาร์ทโฟนราคาประหยัดได้มีโอกาสขายได้มากขึ้น แข่งขันได้ดีขึ้นในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยไม่ต้องเพิ่มราคาเสมอไป และภาพรวมของธุรกิจจะยังคงทำกำไรได้อย่างมั่นคง… “ นั่นเอง

ในส่วนของราคาจริงๆของ Samsung Galaxy S10 Series จะเป็นอย่างไรกันบ้างนั้นคงได้เห็นกันอีกไม่นาน รอติดตามกันได้เลยว่า 20 กุมภาพันธ์ นี้เราอาจจะต้องขายมากกว่าไตหรือไม่เพื่อให้ได้สมาร์ทโฟนที่ดีที่สุด เทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุด และความจุเยอะที่สุด มาไว้ในครอบครอง…  😆

 

ที่มา: Android Authority