หลายคนเวลาที่จะนึกถึง Gaming Notebook สักรุ่นหนึ่ง จะต้องมีชื่อของ ROG ติดขึ้นมาด้วยแน่นอน และในปี 2024 นี้ก็นับว่าเป็นปีที่ก้าวเข้าสู่ซีพียู Generation 14 ของ Intel อย่างเป็นทางการ ทาง ASUS ก็ได้ส่งโน้ตบุ๊คสำหรับคอเกมที่มาพร้อมกับซีพียูรหัสใหม่อย่าง Intel Core i9-14900HX ตัวแรงที่สุดของค่ายลงตลาด รีวิวนี้จะพาไปดูว่าซีพียู Intel Gen 14 มันจะแรงขึ้นขนาดไหน และในภาพรวมโน้ตบุ๊คเครื่องนี้ใช้งานแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

งานออกแบบ / ภายนอกตัวเครื่อง

งานออกแบบภายนอกยังคง DNA ความเป็น ROG ไว้ได้เหมือนเดิม แข็งแรง ดุดันไม่เกรงใจใคร แต่คราวนี้ลวดลายอาจจะไม่ได้เยอะมากเหมือนแต่ก่อน ภาพรวมตัว Body ภายนอกยังใช้ดีไซน์เดิมเหมือนรุ่นปี 2023 ที่ด้านหลังจะเป็นช่องระบายอากาศขนาดใหญ่ตลอดทั้งแนว โดยได้ย้ายพอร์ตการเชื่อมต่อมาไว้ที่ด้านข้างเครื่องทั้งสองฝั่งแทน

ด้านหลังตัวเครื่อง ASUS ROG Strix G16 (2024)

ด้านซ้ายมาพร้อมกับช่องระบายความร้อนขนาดไม่ใหญ่มาก และช่องต่อไฟเลี้ยง DC, HDMI 2.1, Thunderbloth 4 ที่รองรับการต่อจอแยกแบบ G-Sync (แต่ไม่รองรับการชาร์จไฟ PD), USB Type-C 3.2 Gen 2 ที่รองรับการต่อจอแยกแบบ G-Sync และชาร์จไฟ PD, ช่องหูฟัง 3.5

ด้านซ้ายของตัวเครื่อง ASUS ROG Strix G16 (2024)

ด้านขวามีช่องระบายความร้อนเหมือนด้านซ้าย และช่อง USB Type-A 3.2 Gen 2 จำนวน 2 ช่อง วางมาค่อนข้างห่างจากกันทำให้สามารถเสียบ Flash Drive ขนาดใหญ่ได้พร้อมกันสองตัว ภาพรวมพอร์ตให้มาครบถ้วน เพียงพอกับการใช้งาน แต่เสียดายที่ไม่มีช่องอ่าน SD-Card มาให้ ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ด้านข้างตัวเครื่องยังพอที่จะมีที่ให้ใส่อยู่ก็ตาม

ด้านขวาของตัวเครื่อง ASUS ROG Strix G16 (2024)

ด้านหน้ามาพร้อมกับไฟ Light Bar ยาวตลอดแนวตัวเครื่อง ช่วยเพิ่มความสวยงามและสร้างบรรยากาศการเล่นเกม แต่ก็ไม่ได้มีลูกเล่นเอฟเฟ็กต์ไฟอะไรมากนัก ก็จะดูจืด ๆ ไปหน่อย

ด้านใต้ตัวเครื่องมาพร้อมกับช่องดูดลมเย็นลวดลาย ROG โดยด้านในมาพร้อมกับพัดลมระบายความร้อน 3 ตัว พร้อมใช้โลหะเหลว Thermal Grizzly รุ่น Conductonaut Extreme เป็นสารนำความร้อนด้วย เพื่อช่วยส่งถ่ายความร้อนจากตัวชิปไปที่ Heatsink ได้เร็วขึ้น

ด้านใต้ตัวเครื่อง ASUS ROG Strix G16 (2024)

ลำโพง 2 ตัว ด้านใต้ตัวเครื่องให้คุณภาพเสียงกลาง ๆ เด่นที่ย่านเสียงกลาง สูง คล้ายลำโพงของโทรศัพท์มือถือ ส่วนเสียงเบส เสียงต่ำ ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เลยทำให้ภาพรวมดูเสียงฟังดูแห้ง ๆ ไม่ค่อยกระหึ่ม การแยกมิติซ้ายขวาทำได้กลาง ๆ

ตัวอะแดปเตอร์จากไฟให้ตัวเครื่องมีขนาดค่อนข้างใหญ่รองรับการจ่ายไฟ 280W เพียงพอกับการใช้งานของเครื่องนี้แน่นอน

อะแดปเตอร์ของ ASUS ROG Strix G16 (2024)

หน้าจอ

เมื่อเปิดฝาตัวเครื่องขึ้นมาจะพบกับหน้าจอ ROG Nebula Display ขนาด 16 นิ้ว สัดส่วน 16:10 ความละเอียด 2K+ (2560 x 1600) ใหญ่เต็มตา ภาพคมใช้ได้เลย แน่นอนว่าด้วยหน้าจออัตราส่วน 16:10 ทำให้ตัวเครื่องแม้ว่าจะใช้หน้าจอ 16 นิ้ว แต่ตัวเครื่องดูไม่ได้ใหญ่เท่าโน้ตบุ๊คหน้าจอขนาด 16 นิ้ว แบบเดิม ๆ ด้วยขอบจอที่บางนั่นเอง

หน้าจอ ROG Nebula Display

เรื่องของสีสันหน้าจอตัวนี้ใช้พาแนลแบบ IPS ความเที่ยงตรงสี DCI-P3 99% หลังจากที่ได้ใช้งานบอกเลยว่าสีสันทำได้ดีเลย ใช้เล่นเกมหรือทำงานก็ได้ สีตรงเหมือนกันหมด และอีกสิ่งหนึ่งที่ชอบมากคือ หน้าจอแบบด้าน Anti-glare ช่วงลดแสงสะท้อน เวลาเอาไปเล่นในห้องที่ค่อนข้างสว่างบอกเลยช่วยได้เยอะ

นอกจากสีตรงแล้วยังได้ Refresh Rate สูงถึง 240 Hz รองรับ G-Sync และ Response Time 3ms บอกเลยว่าหน้าจอมันลื่นเนียนตามาก เวลาขยับมุมกล้องเร็ว ๆ ภาพไม่มีอาการฉีกขาดให้เห็นเลย หรือตอนเล่นโซเชียลก็สมูธดี หน้าจอตัวนี้บอกเลยว่าครบเครื่องใช้งานได้หลากหลายจริง ๆ

ตัวน้ำหนักแกนฝาพับทำออกมาได้ดีมาก สามารถเปิดมือเดียวได้ และมีความหนืดเพียงพอไม่ให้หน้าจอสั่นเกินไปเวลาเราขยับเครื่องด้วย ตัวแกนฝาพับจะมีด้วยกันสองแกนซ้ายขวา ขนาดไม่ได้ใหญ่มากดูแข็งแรงดุดัน หน้าจอกางได้สูงสุดประมาณ 135 องศา

ด้านบนหน้าจอให้กล้อง Webcam แบบ 720p พร้อมไมโครโฟนตัดเสียง 2 ตัว ตรงนี้แอบเสียดายที่ไม่ได้กล้องแบบ Full HD

คีย์บอร์ด / ทัชแพด

ตัวแป้นพิมพ์ของ ROG Strix G16 G614 จะมาใน Layout แบบที่ไม่มี Numpad ทำให้ได้ปุ่มขนาดใหญ่ ไม่ต้องเบียดเสียดกัน และสามารถวางคีย์บอร์ดได้กึ่งกลางตัวเครื่อง โดยที่ด้านข้างซ้ายขวาเหลือพื้นที่อยู่พอสมควร

ด้านขวาบนมีปุ่ม Power พร้อมไฟแสดงสถานะ แต่ก็มีการแยกปุ่มฟังก์ชันที่ใช้บ่อย อย่างปุ่มเพิ่มลดเสียง ปุ่มปิดไมโครโฟน ปุ่มปรับรอบพัดลมแยกออกมา โดยเราสามารถตั้งค่าหรือตั้งมาโครในรูปแบบของเราได้

คีย์บอร์ดไฟ RGB แบบ Per-Key

ปุ่มคำสั่งที่ต้องกดคู่กับ Fn ให้มาครบถ้วน ทั้งการปรับไฟคีย์บอร์ด และปรับความสว่างของหน้าจอ มีปุ่ม Delete และ Print Screen มาให้ด้วย และที่บริเวณคีย์บอร์ดแถวสุดท้ายด้านขวาก็ให้มาเป็นปุ่ม Multi Media สำหรับควบคุมเพลง ส่วนตัวมองว่าแปลก ไม่ค่อยเห็นโน้ตบุ๊คให้ปุ่มอะไรมาแบบนี้

ถ้าอ้างอิงจากโน้ตบุ๊คของ ASUS รุ่นเก่า ๆ ตรงนี้จะเป็นที่อยู่ของปุ่ม Page up, Page Down, Home End ทาง ASUS คงคิดแล้วว่าปุ่มพวกนี้ไม่ได้ใช้เลยให้ปุ่ม Multi Media มาแทน สิ่งที่ขัดใจเกี่ยวกับ Layout มีอย่างเดียวคือ ปุ่มลูกศรที่ไม่แยกออกมาจากคีย์บอร์ดหลัก คือเวลาเล่นเกมแล้วคลำไปจะกด มักจะกดผิดบ่อยๆ

ปุ่มลูกศรวางชิดกันเกินไปหน่อย

ไฟ RGB แบบ Per-Key มีมาให้ทุกปุ่ม เป็นแบบไฟลอดด้านบน แต่แสงที่ส่องออกมานั้นมาจากตรงกลางปุ่ม ทำให้อักษรภาษาไทยที่อยู่ตรงขอบไฟไม่ค่อยสว่าง มองยากนิดนึง ตัวไฟสวยละมุนตามสไตล์ ROG แต่น่าเสียดายที่ไฟ RGB ปรับแยกระหว่างคีย์บอร์ดกับ Light Bar ด้านล่างไม่ได้

ความรู้สึกหลังได้ใช้งานพบว่าเป็นคีย์บอร์ดที่พิมพ์มันใช้ได้เลยนะ ตัวปุ่มมีความลึกใช้ได้เวลากระแทกแป้นพิมพ์แล้วไม่รู้สึกว่ามันสะท้านนิ้ว ส่วนตอนเล่นเกมก็อาจจะมีคลำปุ่มไม่เจอบ้าง (โดยเฉพาะตอนเล่น MOBA) ทั้งนี้เพราะคีย์บอร์ดบนโน้ตบุ๊คเป็นแบบ Chiclet แบน ๆ ด้วย แต่ก็มีการทำปุ่มนูนออกมาตรงตัว W ให้คลำหาง่าย ๆ

ความพิเศษของคีย์บอร์ดบนโน้ตบุ๊ค ROG รุ่นใหม่ ๆ คือจะมีการทำให้ช่องลมสามารถไหลเข้าได้จากทางด้านบน CoolZone เราจะรู้สึกได้เลยว่าลมไหลผ่านนิ้วของเราช่วยระบายความร้อนจากมือเราได้ด้วยนิดหน่อย คือตอนเล่นเกมจังหวะตึง ๆ ก็ช่วยได้เยอะอยู่

ตัวทัชแพดมีขนาดใหญ่วางอยู่ตรงกึ่งกลางของตัวเครื่องพอดี สัมผัสที่ได้ทดลองใช้มา ลื่นมาก และแม่นยำ คมใช้ได้เลย ไม่มีอาการหลอน ภาพรวมเป็นทัชแพดที่ดีไว้ใจได้ตัวหนึ่งเลย

ทดสอบความแรง

ROG Strix G16 G614 มาพร้อมกับซีพียู Intel Core i9-14900HX ซีพียูรุ่นล่าสุดของปี 2024 จับคู่กับการ์ดจอ NVIDIA Geforce RTX 4060 (TGP 140W) แรม 16GB เมื่อดูจากสเปคแล้วจะพบว่าความแรงอยู่ในระดับ กลาง-สูง เลยทีเดียว

ทดสอบความแรงซีพียูด้วยโปรแกรม Cinebench R23 ได้คะแนนแบบ Multi Core ไป 31,135 คะแนน และแบบ Single Core ไป 2095 คะแนน ซึ่งถือว่าสูงมาก ๆ มีโน้ตบุ๊คนับรุ่นได้ที่มีคะแนนเกิน 3 หมื่น

ผลการทดสอบซีพียูด้วยโปรแกรม Cinebench R23

ใครที่จะเอาไปใช้ทำงานตัดต่อวิดีโอ ใช้แต่งรูปไฟล์ RAW ใช้เขียนโปรแกรมรัน VM จำนวนมาก หรือใช้ทำโมเดล 3D บอกเลยว่าทำได้สบายมาก

แรมตัวเครื่องให้มาทั้งหมด 16GB DDR5 Bus 5600 MHz แบบ SO-DIMM สามารถถอดเปลี่ยนอัปเกรดภายหลังได้สูงสุด 64GB ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการใช้ทำงาน หรือเล่นเกม แต่ส่วนตัวรู้สึกอยากให้แรมที่ให้มาเป็น 32GB ไปเลย เพราะในปี 2024 อาจจะไม่เพียงพอแล้ว หรือให้มาเป็นแบบ 16GB แถวเดียว เพื่อจะได้ไปอัปเกรดเองได้ง่าย ๆ อะไรแบบนั้น

RTX 4060 140W แรงที่สุดในรุ่น

การ์ดจอ NVIDIA Geforce RTX 4060 ตัวนี้บอกเลยว่าคือตัวที่แรงที่สุดในบรรดา RTX 4060 บนโน้ตบุ๊คก็ว่าได้ เพราะค่า TGP สูงถึง 140W สูงที่สุดตามที่ NVIDIA เคลมแล้ว เอาไปทดสอบเล่นเกมบนความละเอียด 2K+ พบว่าทำผลงานได้ดี ลื่นทุกเกมเลยก็ว่าได้

ภายในตัวเครื่อง ASUS ROG Strix G16 (2024)

ผลทดสอบการเล่นเกม

  • Cyberpunk 2077 (Ray Tracing High, DLSS : Auto + Frame Gen + DLSS Ray Reconstruction) ได้ไป 62 FPS
  • PUBG (Ultra) อยู่ในช่วง 90-100 FPS
  • DOTA 2 (Best looking) อยู่ในช่วง 180-230 FPS
  • Couter Strike 2 (Very High) อยู่ในช่วง 100-150 FPS
  • Need For Speed Unbround (Ultra) อยู่ในช่วง 50-60 FPS
  • Forza Horizon 5 (Extreme, DLSS : Auto + Frame Gen) ได้ไป 76 FPS
  • Red Dead Redemption 2 (Ultra) ได้ไป 72 FPS
  • 3DMark Time Spy 11,776 คะแนน
  • 3DMark Port Royal 6,188 คะแนน

SSD ที่ให้มาความจุ 1TB แบบ NVME PCIe 4.0 ทดสอบด้วยโปรแกรม Crystal Disk Mark 8 มีความเร็วอ่านประมาณ 5000 MB/s และเขียนที่ 2700 MB/s ความเร็วที่ได้อยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ เพียงพอกับการใช้งานทั่วไป และเล่นเกมแน่นอน โหลดเกมใหญ่ ๆ มาลง 5-6 เกม ก็ยังเอาอยู่สบาย ๆ ส่วนความเร็วเท่าที่ทดสอบมาตอนใช้หนัก ๆ เช่น ตอนโหลดเกม ก็ไม่มีปัญหาความเร็วตก

ผลการทดสอบ SSD ด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark

ด้านการใช้งานทั่วไป

ทดสอบด้วยโปรแกรม PC Mark ได้คะแนนไป 8,944 คะแนน ซึ่งถือว่าได้คะแนนสูงมาก เอาไปใช้ทำงาน หรือใช้งานได้หลากหลาย แรงเหลือ ๆ

ผลการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องในภาพรวมด้วยโปรแกรม PCMark 10

ทดสอบความร้อนของตัวเครื่อง อุณหภูมิซีพียูร้อนสุด 100 องศาเซลเซียส ส่วนการ์ดจอร้อนสุด 76 องศาเซลเซียส ทดสอบในห้องแอร์ 26 องศาเซลเซียส คือต้องบอกว่าการที่โน้ตบุ๊คสเปคแรงแบบนี้อุณหภูมิแตะ 100 องศาเซลเซียส ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ชุดระบายความร้อนก็ยังเอาอยู่ คุมความร้อนให้ไม่เกิน 100 องศาเซลเซียสได้

ผลการทดสอบอุณหภูมิตัวเครื่องด้วยโปรแกรม HWMonitor

ส่วนเวลาเล่นเกมอุณหภูมิส่วนมากจะไม่เกิน 80 องศาเซลเซียส และความร้อนก็ไม่ได้แผ่ขึ้นมาถึงด้านบนเครื่องด้วย เล่นเกมยาว ๆ ได้สบาย ๆ แต่ต้องบอกก่อนว่าเสียงพัดลมของเครื่องนี้ก็ดังประมาณนึงเหมือนกัน ถ้าเรา Full load ตัวเครื่อง

ผลทดสอบแบตเตอรี่

ต่อมาเป็นการทดสอบแบตเตอรี่ว่าจะอึดแค่ไหน เพราะหลายคนน่าจะกังวลว่าเครื่องแรงขนาดนี้จะกินแบตไหม โดยทดสอบด้วยการดู YouTube ผ่าน Microsoft Edge เป็นเวลา 1 ชม. ปิดไฟคีย์บอร์ด เปิดความสว่าง และเสียงลำโพง 30% เปิดโหมดประหยัดพลังงาน

ผลการทดสอบแบตเตอรี่ด้วยโปรแกรม BatteryMon

พบว่าสามารถใช้ได้ประมาณ 6 ชม. 30 นาที ก็ถือว่าอึดใช้ได้ ถ้ามองว่ามันเป็นเกมมิ่งโน้ตบุ๊คนะ ส่วนหนึ่งก็มาจากแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ 90 Whr ด้วยที่ทำให้อึดขนาดนี้

โปรแกรมที่มากับเครื่อง

ROG Strix G16 G614 มาพร้อมกับโปรแกรมควบคุมตัวเครื่อง 2 ตัว ด้วยกัน คือ Armoury Crate และ MyAsus สำหรับเอาไว้ปรับโหมดการทำงานของตัวเครื่อง ปรับไฟ RGB ดูสถานะการทำงาน และอัปเดตซอฟต์แวร์ ไดรเวอร์

โปรแกรม Armoury Cate บน ASUS ROG Strix G16 (2024)

การปรับโหมดการทำงานหลัก ๆ จะมี 3 โหมด ด้วยกัน คือ Silent, Performance และ Turbo หรือถ้าพรีเซ็ตสำเร็จรูปที่ให้มานี้ยังไม่ถูกใจ เราสามารถปรับเองในโหมด Manual ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ROG Strix G16 G614 มีฟีเจอร์ MUX Switch ด้วย ที่จะเป็นการตัดการทำงานของการ์ดจอออนบอร์ด (iGPU) ทิ้งไป เหลือแค่การ์ดจอแยกเพียว ๆ ช่วยเพิ่มความแรงขึ้นมากกว่าเดิม หรือจะปิดไม่ใช้งานการ์ดจอแยก RTX 4060 เพื่อเน้นการประหยัดพลังงานก็ได้ โดยสามารถปรับได้ที่ GPU Mode

สรุป

ROG Strix G16 G614 เป็นโน้ตบุ๊คเกมมิ่งที่ทำประสิทธิภาพออกมาได้น่าประทับใจ สามารถเล่นเกม AAA ได้ลื่น ๆ เกิน 60 FPS ทุกเกม โดยเบื้องหลังความแรงนี้มาจากซีพียูรุ่นล่าสุดของ Intel Core i9-14900HX จับคู่กับการ์ดจอ RTX 4060 วัตต์เต็ม 140W แรงเต็มคาราเบล

งานประกอบ วัสดุ สัมผัสภายนอก ที่แข็งแรงแน่นหนา จับไปแล้วรู้สึกพรีเมียม ความรู้สึกตอนพิมพ์บนคีย์บอร์ดชุดนี้คือดีมาก พอร์ตการเชื่อมต่อให้มาตามสมควร คือก็ไม่ได้เยอะ อยู่ประมาณกลาง ๆ โดยแต่ละพอร์ตก็ให้มาเป็นพอร์ตรุ่นใหม่ล่าสุด อย่าง HDMI 2.1 และ Thunderbolt 4

หน้าจอ ROG Nebula Display ตัวนี้บอกเลยว่าชอบจริง ๆ ทั้งลื่น 240Hz ทั้งสีตรง DCI-P3 100% เอาไปเล่นเกมหรือเอาไปทำงานก็ทำได้ดีได้ทั้งคู่

ส่วนข้อสังเกต คงเป็นเรื่องของน้ำหนักที่เยอะ เป็นธรรมดาของโน้ตบุ๊คประเภทนี้อยู่แล้ว ลำโพงที่คุณภาพเสียงออกมากลาง ๆ ทั้ง ๆ ที่ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่น่าจะให้ลำโพงมาคุณภาพสูงกว่านี้ พอร์ตการเชื่อมต่อที่ให้มาแบบพอดี (เกินไปหน่อย) และไม่มีช่องอ่าน SD-Card มาให้ ถ้าเครื่องนี้ได้แรมเริ่มต้นเป็น 32GB จะเป็นอะไรที่ครบจบมาก

แน่นอนว่าเครื่องที่แรงย่อมมากับความร้อนที่มาก และเสียงพัดลมที่ดังกระหึ่ม ถ้ารับข้อสังเกตตรงนี้ได้ สิ่งที่ได้กลับมาคือความเย็นและความแรงของเครื่องนั่นเอง ใครที่กำลังมองหาโน้ตบุ๊คสเปคใหม่ล่าสุดในช่วงต้นปี 2024 อยู่ ROG Strix G16 G614 ก็เป็นอะไรน่าสนใจไม่น้อย

ข้อดี

  • หน้าจอเทพ สีตรง DCI-P3 100% ลื่นตาแตก 240 Hz
  • ขอบหน้าจอบางมาก
  • ขนาดเครื่องเล็กกว่าโน้ตบุ๊ค 16 นิ้วทั่วไป
  • งานประกอบแน่น
  • คีย์บอร์ด ทัชแพดดี มีปุ่มปรับเสียงแยก
  • ตัวเครื่องดีไซน์มาดี วางบนแผ่นรองเมาส์ ก็ไม่บังช่องลมเข้า
  • คุมความร้อนอยู่ ใช้ในห้องร้อนๆ ความแรงไม่ตก
  • สเปคแรง i9 + RTX 4060 วัตต์เต็ม 140W ลื่นทุกเกม
  • แบตอึดใช้ได้นาน 6.30 ชม.

ข้อสังเกต

  • หน้าจอกางได้ประมาณ 135 องศา
  • ลำโพงให้คุณภาพเสียงธรรมดา ๆ ถ้าตามมาตรฐาน ROG ต้องเสียงดีกว่านี้
  • คีย์บอร์ด ปุ่มลูกศรวางชิดกันเกินไป ทำให้กดผิดบ่อย
  • พอร์ตน้อยไปหน่อย ถ้ามองว่าเป็นเครื่อง 16 นิ้ว
  • ไม่มีช่องอ่าน SD Card
  • RAM 16GB น่าจะให้ 32GB มา จะใช้งานได้ฟินกว่านี้
  • Webcam 720p
  • พัดลมระบายความร้อนทำงานเสียงดัง
  • เครื่องหนัก + Adapter ใหญ่

สเปค ASUS ROG Strix G16 (2024)

  • ชื่อรุ่น ROG Strix G16 2024 รหัส (G614JVR-N4051W)
  • CPU : Intel Core i9 – 14900HX
    • 24 Core (8 P-Core 16 E-Core) 32 Threads
    • Turbo Boost 5.8 GHz
    • Cache 36M
    • Max TDP 65W PL2 175W
  • GPU : NVIDIA Geforce RTX 4060 Laptop
    • VRAM 8GB GDDR6
    • TGP 140W With Dynamic Boost
    • MUX Switch + NVIDIA Advanced Optimus
  • RAM : 16GB (8GBx2) DDR5 Bus 5600 MHz
  • SSD : 1TB M.2 NVME PCIe 4.0
  • หน้าจอ : 16 นิ้ว ROG Nebula Display
    • ความละเอียด 2.5K (2560 x 1600, WQXGA)
    • อัตราส่วน 16:10
    • Refresh Rate 240Hz G-Sync
    • Response Time 3ms
    • ประเภท : IPS แบบด้าน Anti-glare
    • ความสว่าง 500 Nits
    • ขอบเขตสี DCI-P3 100%
    • ผ่านมาตรฐาน Pantone Validated และ Dolby Vision HDR
  • Wi-Fi 6E (802.11ax) (Triple band) 2*2, Bluetooth 5.3
  • Battery : 90Whr
  • น้ำหนักตัวเครื่อง : 2.5 กิโลกรัม
  • OS : Windows 11 Home
  • ประกัน : 3 ปี On-site Service + Global warranty (ปีแรกเป็นประกันแบบ Perfect warranty)
  • ราคา : 69,990 บาท