Nothing Ear (2) หูฟังไร้สาย True Wireless ที่หลาย ๆ คนตกหลุมรักกับดีไซน์โปร่งใสสุดล้ำกลับมาอีกครั้ง! ซึ่งในคราวนี้ก็มากับสเปคหลาย ๆ อย่างที่ได้รับอัปเกรดใหม่ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งน้ำหนักที่เบาลง โหมดตัดเสียงรบกวนที่ปรับได้หลายระดับ เรามาดูกันดีกว่าว่าในราคาเปิดตัวที่สูงกว่ารุ่นเดิม Nothing Ear (2) จะพัฒนาไปอย่างไรบ้าง

สเปค NOTHING EAR (2)

  • ไดร์เวอร์ขนาด 11.6 มม.
  • ไมโครโฟน 3 ตัว
  • รองรับ Codec: AAC, SBC, LHDC 5.0 มาตรฐาน Hi-Res 24bit
  • ระบบตัดเสียงรบกวนแบบ Adaptive Personalised ANC
  • In-Ear Detection
  • มาตรฐานทนน้ำ : หูฟัง IP54 / เคส IP55
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้สูงสุด 36 ชั่วโมง (ปิด ANC) และ 22.5 ชั่วโมง (เปิด ANC)
  • รองรับ Bluetooth 5.3 เชื่อมต่อได้พร้อมกัน 2 อุปกรณ์ / รองรับ Microsoft Swift Pair และ Google Fast Pair
  • น้ำหนักหูฟังข้างละ 4.5 กรัม

ดีไซน์ และวัสดุ

อุปกรณ์ภายในกล่อง

Nothing Ear (2) มาพร้อมกล่องกระดาษไร้พลาสติกมีรอยปรุให้แกะกล่องเหมือนในรุ่นก่อน ด้านในมาพร้อมกล่องสีดำด้านมีสมุดคู่มือที่พิมพ์ QR-Code ให้ดาวน์โหลดแอป Nothing X และเมื่อดึงคู่มือออกมาจะพบกับตัวหูฟังถูกห่ออยู่ในกระดาษสีขาวเรียบร้อย ถาดที่ใส่เคสหูฟังสามารถดึงออกมาได้ โดยจะมีพอร์ตชาร์จ USB-Type C และจุกหูฟัง 2 ขนาดได้แก่ ไซส์ S และ L  มาให้

สำหรับตัวหูฟัง และเคสของ Nothing Ear (2) ยังมาในดีไซน์กึ่งโปร่งใส แวววาว เห็นส่วนประกอบด้านในเช่นเดิม ซึ่งดีไซน์หากดูด้วยตาเปล่าแล้วอาจจะยังไม่แตกต่างจากในรุ่นก่อนเท่าไหร่ แต่หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าตัวกล่องชาร์จจะมีความเป็นเหลี่ยมมากกว่าในรุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด วัสดุพลาสติกมีความหนา และดูมีราคามากกว่าในรุ่นก่อน ฐานของตัวหูฟังถูกปรับให้นูนออกมาจากตัวเคสทำให้เวลาวางไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นรอย

แต่ทั้งนี้ถึงแม้ว่า Build Quality จะดูดีขึ้น แต่ตัวเคสชาร์จก็ยังเป็นรอยขนแมวค่อนข้างง่ายอยู่ดี อยากแนะนำให้ซื้อมาพร้อมกับหูฟังเลย จะได้ใช้งานได้แบบเซฟ ๆ ไม่มีรอยขีดข่วนให้กวนใจ

ส่วนตัวหูฟังโดยรวมแล้วยังมีดีไซน์ที่คล้ายเดิม แต่ต่างกันตรงที่น้ำหนักที่เบาลงกว่าเดิมเล็กน้อย สวมใส่ได้สบายเข้ารูปหู ไม่อึดอัด มีระบบตรวจจับเมื่อใส่หรือถอดหูฟัง นอกจากนี้ยังได้มีการเปลี่ยนระบบควบคุมจากในรุ่นแรกที่สัมผัสได้โดยตรงจากตัวหูฟัง กลายเป็นควบคุมด้วย Pressure Sensitive บีบตัวก้านซึ่งเรียกได้ว่าตอบสนองได้ไว แต่ต้องออกแรงบีบเล็กน้อย สามารถปรับเปลี่ยนคำสั่งต่าง ๆ ได้ผ่านแอป Nothing X ด้วย

ตัวหูฟังสามารถชาร์จได้ผ่านสาย USB-Type C และชาร์จไร้สาย สามารถประกบกับมือถือที่รองรับชาร์จไร้สายแบบ Reverse-Charging เพื่อชาร์จได้เลย โดยในรุ่นนี้มาพร้อมแบตเตอรี่ 33 mAh (ตัวหูฟัง) และ 485 mAh ที่ตัวเคสชาร์จ โดยทางแบรนด์ได้เคลมไว้ว่าในรุ่นนี้ฟังได้นาน 36 ชั่วโมง เมื่อปิด ANC และ 22.5 ชั่วโมง หากเปิด ANC

เชื่อมต่อสะดวก

Nothing Ear (2) รองรับ Google Fast Pair และ Microsoft Swift Pair เพียงแค่เปิดฝากดปุ่มที่เคสค้างไว้ จากนั้นก็จะมีหน้าต่าง Pop-Up ขึ้นมาให้กดเชื่อมต่อแบบง่าย ๆ เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น ส่วนใครที่ใช้ iOS สามารถเชื่อมต่อได้ผ่านแอป Nothing X แค่เปิดฝาตัวแอปก็จะ Detect หูฟังแค่คลิกเดียวก็เชื่อมต่อได้ทันที นอกจากนี้แล้วตัวหูฟังยังรองรับการเชื่อมต่อ 2 อุปกรณ์พร้อมกันเพียงแค่เข้าไปตั้งค่าผ่านแอป Nothing X

Nothing Ear (2) เสียงดีไหม?

Nothing Ear (2) มาพร้อมกับไดรเวอร์ขนาด 11.6 มม. เหมือนในรุ่นก่อน แต่ได้มีการปรับปรุงไดอะแฟรมใหม่ เปลี่ยนมาใช้วัสดุแกรฟีน และโพลียูรีเทนทำให้เก็บรายละเอียดเสียงได้ดีขึ้น นอกจากนี้ในรุ่นนี้ยังรองรับ LHDC 5.0 Codec เป็นที่เรียบร้อย ทำให้สามารถฟังเพลงไฟล์เสียงคุณภาพสูง Hi-Res Audio 24 bits ได้

สไตล์เสียงของ Nothing Ear (2) จะมาในโทนใส ๆ เก็บรายละเอียดเสียงครบ มีมิติ เสียงร้องชัดเจน ย่านแหลมจะค่อนข้างเด่นเป็นพิเศษ (เปิดเสียงดังมีบาดหู) ส่วนเบสอยู่ในช่วงที่กำลังดี แต่ถ้าชอบแนวตึบ ๆ ฟังเพลงแนวฮิบฮอป R&B อาจจะต้องเข้าไปปรับใน EQ เพิ่มสักนิดหน่อย ส่วนเวทีเสียงอยู่ในระดับพอดี ไม่ถึงกับกว้าง แต่ก็ไม่ได้แคบมากจนอึดอัด ฟังเพลงแนวป็อปสนุก ใช้ดูหนังก็กระหึ่มอยู่พอสมควร

ระบบโปรไฟล์เสียงส่วนตัว Personal Sound Profile

หากใครไม่ชอบสไตล์เสียงมาตรฐานที่โรงงานตั้งมา สามารถเข้าไปปรับ Equalizer ในแอป Nothing X ได้เอง นอกจากนี้แล้วตัวแอปยังมีระบบโปรไฟล์เสียงส่วนตัว Personal Sound Profile ที่ช่วยปรับค่าคลื่นความถี่เสียงต่าง ๆ ให้เข้ากับสไตล์การฟังของเรา ผ่านการทำเทสความสามารถในการฟัง และกดตามจังหวะคลื่นเสียงที่เราได้ยินโดยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งผลลัพธ์ก็ทำออกมาได้น่าทึ่งเลย

Nothing Ear (2) ตัดเสียงรบกวนดีแค่ไหน?

Nothing Ear (2) มาพร้อมระบบตัดเสียงรบกวนที่ที่เหนือชั้นกว่าในรุ่นก่อน สามารถตัดเสียงรบกวนได้ 3 ระดับตามความต้องการของเรา ส่วนระดับที่ 4 จะเป็นระบบตัดเสียงแบบ Adaptive Noise Cancellation ที่สามารถปรับลดเสียงรบกวนตามสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ได้โดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังมีโหมด Transparency ที่ช่วยให้เราได้ยินเสียงรอบข้างด้วย

ใส่ทำงานในออฟฟิศ อาจมีเสียงคีย์บอร์ด และเมาส์หลุดลอดมาได้บ้าง

ซึ่งจากการทดลองใช้งานถือว่าทำได้ดี ไม่ว่าจะเดินริมถนนที่มีรถเคลื่อนที่เร็ว ๆ หรือนั่งอยู่บนรถไฟฟ้าก็หายห่วง หูฟังสามารถลดเสียงรบกวนลงไปอยู่ในระดับที่เบาพอสมควร ทำให้ฟังเพลงได้ชัดเจนมากขึ้น แต่สำหรับเสียงพูดคุย เสียงคีย์บอร์ด หรือเสียงคลิกเมาส์อาจจะมีหลุดเข้ามาให้ได้ยินแบบเบา ๆ แต่ก็ไม่ถึงกับว่าน่าหงุดหงิด

ฟีเจอร์ Personalised ANC

ในรุ่นนี้ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ Personalised ANC โหมดตัดเสียงรบกวนที่ปรับให้เข้ากับตัวผู้ใช้งาน ซึ่งหากเปิดใช้ฟีเจอร์นี้ผ่านแอป Nothing X เราก็จะต้องทำแบบทดสอบเพื่อปรับการตอบสนองความถี่ ANC ให้เหมาะกับหู และสภาพแวดล้อมเสียงในขณะนั้น

แต่จากการใช้งานโหมด Personalised ANC ส่วนตัวคิดว่ายังไม่นิ่งเท่าไหร่ เพราะมีบางจังหวะสั้น ๆ ที่โหมดตัดเสียงไม่ทำงาน หรือเวลาที่เปิดโหมด Transparent จู่ ๆ ฟีเจอร์นี้ก็ดันมาตัดเสียงรบกวนให้เองแบบงง ๆ ทำให้มีความขรุขระในการใช้งานบ้าง แต่ทั้งนี้ปัญหาที่ว่านี้อาจเกิดจากซอฟต์แวร์ หากมีเวอร์ชั่นใหม่ปล่อยให้อัปเดตอาจทำได้ดีขึ้นกว่านี้

ไมโครโฟนเป็นอย่างไร

เสียงจากไมโครโฟนของ Nothing Ear (2)

ใน earbud แต่ละข้างจะมาพร้อมไมโครโฟน 3 ตัว ที่เข้ามาช่วยในการตัดเสียงรบกวนในขณะสนทนา ซึ่งก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีเลยทีเดียว ในขณะที่อัดคลิปทดสอบก็ได้นั่งอยู่ข้าง ๆ เครื่องฟอกอากาศในโหมดแรงสุด ก็ไม่มีเสียงลมเข้ามาแม้แต่นิดเดียว ส่วนในด้านของคุณภาพเสียงของไมโครโฟนอยู่ในระดับที่ดี ได้ยินชัดเจน

จุดอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ฟีเจอร์ Ear Tip Fit Test

Nothing Ear (2) เมื่อเชื่อมต่อกับแอป Nothing X ยังมีฟีเจอร์เจ๋ง ๆ อย่าง Ear Tip Fit Test ที่จะช่วยทดสอบว่าจุกหูฟังที่เราเลือกใช้อยู่เหมาะกับขนาดรูหูของเรารึเปล่า มี Low Lag Mode ลดอาการเสียงดีเลย์ในขณะที่เล่นเกม แถมเคสชาร์จ และตัวหูฟังยังรองรับมาตรฐานทนน้ำทนฝุ่นด้วย ไม่ต้องกลัวว่าน้ำจะเข้าหูฟังในขณะออกกำลังกาย แถมยังมีโหมดชาร์จไวเพียง 10 นาทีก็สามารถฟังติดต่อกันได้สูงสุด 8 ชั่วโมง (แบบปิด ANC)

สรุป

ข้อดี

  • เชื่อมต่อสะดวก มี Google Fast Pair
  • ดีไซน์สวยไม่เหมือนใคร
  • คุณภาพเสียงดี เสียงร้องชัด รายละเอียดครบ
  • Personal Sound Profile ดีสมคำเคลม
  • น้ำหนักเบา ใส่สบาย
  • ชาร์จแบบไร้สายได้ แปะหลังมือถือชาร์จได้เลย
  • ไมโครโฟนตัดเสียงรบกวนดี
  • เชื่อมต่อแอป ควบคุมได้สะดวก

ข้อพิจารณา

  • ระบบ Personalised ANC ยังไม่ค่อยนิ่ง
  • เสียงค่อนข้างแหลมบาดหู หากเปิดเสียงดัง
  • Pressure Control กดค่อนข้างลำบาก ต้องออกแรงเล็กน้อย
  • เคสเป็นรอยขนแมวง่ายมาก ๆ

Nothing Ear (2) ราคาเท่าไหร่ ซื้อได้ที่ไหน?

Nothing Ear (2) วางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้วในราคา 5,490 บาท สามารถหาซื้อได้ที่ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการได้แก่

นอกจากนี้ยังสามารถเช็คร้านค้าที่มีสินค้าวางจำหน่ายได้ที่เว็บไซต์ https://th.nothing.tech/ ใครที่ได้ลองใช้แล้ว มีความคิดเห็นอย่างไร มาลองแชร์กันใต้คอมเมนท์ได้เลยนะ