ในที่สุดก็มาซักทีสำหรับรีวิวของ OnePlus 8 Pro ที่รอบนี้ได้ผันตัวมาเป็นสุดยอดเรือธงระดับพรีเมียมแบบเต็มตัวแล้ว โดยถ้าจะให้รีวิวสั้นๆ ก็ต้องบอกว่า OnePlus 8 Pro นั้นคุ้มค่ากับเงิน 33,900 บาทที่จ่ายไปอย่างแน่นอน แทบจะหาที่ติไม่ได้ แต่ถ้าจะให้รีวิวยาวๆ ล่ะก็.. เชิญอ่านได้ด้านล่างเลยครับ

แกะกล่องเช็คของ

ตรงนี้ผมขออนุญาตข้ามหัวข้อแกะกล่องเช็คของแล้วกันนะครับ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ พี่ภัทร Octopatr ของเรา ได้ทำบทความ Unbox เจ้า OnePlus 8 และ OnePlus 8 Pro เอาไว้แล้ว แต่ต้องบอกก่อนนะว่ากล่องที่เราได้มา เป็นแบบ Media Set พิเศษเฉพาะสื่อไอทีเท่านั้น แต่ที่ทราบมา ข้างในกล่อง Retail ที่ขายตามปกติก็จะมีตัวเครื่อง OnePlus 8 Pro, เคสใส, หัวชาร์จ, สายเคเบิ้ล, คู่มือ ฯลฯ ไม่มีหูฟัง หรือหางหนูแถมมาเช่นเคยนะจ๊ะ

Play video

สัมผัสแรก

ครั้งนี้ผมได้เครื่อง OnePlus 8 Pro สีเขียว Glacial Green มา ซึ่งครั้งแรกที่ได้จับตัวเครื่อง ก็ต้องบอกเลยว่ารอบนี้ OnePlus ทำการบ้านมาดีจริงๆ ด้วยความที่รอบนี้กล้องหน้าไม่ได้ให้มาเป็นกล้องเด้งป๊อปอัพ เหมือน OnePlus 7 Pro หรือ OnePlus 7T Pro แล้ว ทำให้น้ำหนักจับถือของ OnePlus 8 Pro อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างพอดีมือเลยล่ะ แถมสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ยังให้ความรู้สึกที่แบบพรีเมียมมากๆ อีกด้วย งานประกอบ และดีไซน์การออกแบบของ OnePlus 8 Pro ครั้งนี้ ผมให้เต็มสิบเลยไม่หัก

สำรวจตัวเครื่อง

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่ารอบนี้ OnePlus 8 Pro บอกลากล้องหน้าแบบป๊อปอัพไปแล้ว ครั้งนี้พวกเขามาพร้อมกับหน้าจอแบบเจาะรูแทน โดยรูจะอยู่บริเวณเกือบๆ ซ้ายสุดของมุมฝั่งซ้ายด้านบน ตรงนี้ใช้ไปนานๆ ผมแทบจะไม่ได้สังเกตเลยว่ามีรูกล้องหน้าอยู่ (แต่บางคนอาจจะมีหงุดหงิดสายตานิดหน่อย) ..อ้อ! จอของ OnePlus 8 Pro เป็นแบบโค้งนะ มีขอบบนขอบล่างที่บางมากๆ

พลิกมาด้านหลัง จะเจอกับกล้องทั้งหมด 4 ตัว ซึ่งเรื่องสเปคกล้อง และภาพถ่ายต่างๆ เดี๋ยวจะเจาะลึกกันอีกทีด้านล่างของบทความนะ

ฝั่งขวาจะมีปุ่ม Power และปุ่ม Alert Slider ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของมือถือ OnePlus เลยก็ว่าได้ โดยผู้ใช้งานจะสามารถปรับเปลี่ยนเป็นโหมด Ring, Vibrate หรือ Silent ได้โดยที่ไม่ต้องเปิดหน้าจอขึ้นมา ส่วนด้านซ้ายมือของตัวเครื่อง จะมีแค่ปุ่มเพิ่ม-ลดเสียงเท่านั้น

ด้านล่างของตัวเครื่อง จะมีถาดใส่ซิมแบบ Double Slot, รูไมค์, พอร์ต USB-C และลำโพง ซึ่งสำโพงของ OnePlus 8 Pro จะให้มาเป็นแบบสเตอริโอคู่

ขณะที่ด้านบน ก็จะมีเพียงแค่ไมค์ตัวที่สองเท่านั้น โดยหน้าที่หลักๆ ของไมค์ตัวนี้ จะมีไว้คอยตัดเสียงรบกวนเวลาคุยโทรศัพท์นั่นเอง

 

UI และการใช้งานทั่วไป

จุดขายของ OnePlus ที่มีมาอย่างช้านานเลยก็คือตัว Oxygen OS ที่ใครได้ลองใช้งาน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำงานลื่นไหลแบบสุดๆ ใช้งานเพลินๆ แทบจะไม่มีอาการค้างหรือกระตุกเลย แถมหน้าตา UI ยังมาแบบคลีนๆ เกือบจะคล้ายกับ Pixel Experience ของมือถือ Google Pixel อีกด้วย

OnePlus 8 Pro สามารถใช้งานกลางแดดจัดๆ ได้แบบสบายๆ ตามที่หน้าสเปคเคลมเอาไว้เลยว่าหน้าจอดันความสว่างได้สูงสุดที่ 1,300 nits

ใครที่ไม่ชอบปุ่ม 3 อันด้านล่าง ตรงนี้สามารถเข้าไปเปลี่ยนใช้เป็นแบบ Navigation Gesture แทนได้นะ ใช้งานไม่ยาก แรกๆ อาจจะงงๆ หน่อย แต่ใช้บ่อยๆ เดี๋ยวก็ชินไปเอง

ส่วนฟีเจอร์สามัญประจำเครื่องต่างๆ อย่าง Night Mode (ตัดแสงสีฟ้า), Dark Mode (โหมดมืด) หรือ Screen Recorder (อัดหน้าจอ) ทาง OnePlus 8 Pro ก็มีมาให้ครบ

ถ้าคนไหนคิดว่าจอความละเอียด Quad HD+ กับค่ารีเฟรชเรท 120Hz มันซดแบตเกินไป ก็ไปเปลี่ยนปรับลดสเปคหน้าจอได้นะ โดยหน้าจอจะปรับความละเอียดได้ 2 แบบ ก็คือเป็น Full HD+ กับ Quad HD+

แต่น่าเสียดายที่ค่ารีเฟรชเรทปรับเป็น 90Hz ไม่ได้ ต้องเลือกระหว่าง 120Hz ที่กินแบตสุดๆ กับ 60Hz ที่พอเปิดแล้วมัน…ไม่ได้ลื่นเหมือน 120Hz

OnePlus 8 Pro ยังมีฟีเจอร์ Vibrant Colour Effect Pro ด้วยนะ โดยฟีเจอร์นี้จะเข้ามาทำให้ภาพวิดีโอ หรือคอนเทนต์ต่างๆ มีสีที่สดขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่ Motion Graphics Smoothing อันนี้มีข้อสังเกตนิดหน่อย คือเวลาเปิดใช้งานแล้ว รู้สึกว่าดูคอนเทนต์บน YouTube แล้วจะมีอาการแลคๆ กระตุกๆ อยู่เล็กน้อยเป็นครั้งคราว แต่พอปิด อาการก็หายไป

ใครที่รำคาญรูกล้องตรงมุมซ้ายบนหน้าจอ อันนี้สามารถปิดได้นะ แต่เมื่อปิดแล้ว แถบบริเวณนั้นจะถูกถมดำหมดเลย พวก Notifications ต่างๆ จะเขยิบลงมาประมาณอีกหนึ่งสตอป

อ้อ รอบนี้ทาง OnePlus 8 Pro นั้นใส่ฟีเจอร์ Live Caption มาให้ด้วย วิธีเปิดใช้งานก็ง่ายๆ เพียงแค่กดปุ่มเพิ่ม หรือลดเสียงเท่านั้นเอง โดยตัว Live Caption จะอยู่ข้างล่างสุด จากที่ลองใช้งานมา ก็พบว่าฟีเจอร์นี้ค่อนข้างแม่นยำพอสมควรเลยนะ สำเนียงแบบไหนก็เอาอยู่ ขอแค่ออกเสียงสะกดถูกต้องเป็นพอ

สำเนียงอเมริกันของ MKBHD 

สำเนียงอังกฤษของป๋า Harry Redknapp

เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือใต้หน้าจอ

OnePlus 8 Pro มาพร้อมกับเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบซ่อนเอาไว้ข้างใต้ของหน้าจอ บริเวณของตัวเซนเซอร์ก็พอดีกับนิ้วโป้งพอดิบพอดี แถมยังคง Concept สแกนปลดล็อคหน้าจอไวเหมือนเดิมอีกด้วย ทว่า..ด้วยความที่เซนเซอร์เป็นแบบ Optical ทำให้บางทีหากนิ้วเราเปียกๆ ก็อาจจะสแกนไม่ติดได้

 

GPS

การใช้งาน GPS ของ OnePlus 8 Pro ถือว่าทำผลงานออกมาได้ดี สมกับฐานะมือถือเรือธงระดับพรีเมียมเลยล่ะ นอกจากลองใช้กับ Google Maps แล้ว ผมยังเอาไปลองใช้งานกับพวกแอป Delivery ต่างๆ อย่าง Grab อะไรแบบนี้ด้วย พบว่าหมุดที่ปักค่อนข้างจะแม่นเลยทีเดียว

ดู Netflix ได้ทั้งแบบ Full HD และ HDR10

สำหรับการใช้งานดูคอนเทนต์ต่างๆ บน Netflix อันนี้ไม่ผิดหวังแน่นอน เพราะ OnePlus 8 Pro สามารถดูหนังและซีรีส์บน Netflix ได้ที่ความละเอียดสูงสุด Full HD แถมยังรองรับการแสดงผลแบบ HDR10 อีกด้วย

ยังเจอจอเขียวอยู่ไหม?

สืบเนื่องจากข่าวเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่ามีผู้ใช้งาน OnePlus 8 Pro หลายรายบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า พอปรับลดแสงต่ำๆ พร้อมกับเปิดหน้าจอ 120Hz ไปด้วย จะเจอกับอาการจอเขียว ซึ่งตรงนี้จากที่ผมลองใช้มา พยายามลองปรับดูแล้ว ไม่เจอกับอาการจอเขียวแล้วนะ คาดว่า FW ที่ใช้อยู่ น่าจะเป็นตัวที่แก้ไขปัญหานี้มาเรียบร้อยแล้วล่ะ

 

เสียงกระหึ่มด้วยลำโพงสเตอริโอ

OnePlus 8 Pro มาพร้อมกับลำโพงสเตอรีโอแบบคู่ ซึ่งเสียงที่ได้ถือว่าโอเคเลยทีเดียวล่ะ เอาไปดูหนังแอคชั่นบน Netflix แล้วก็รู้สึกว่าเสียงมันมารอบทิศทางจริงๆ ส่วนเวลาเอาไปฟังเพลง อันนี้ก็โอเคเหมือนกัน เสียงใสฟังชัด แต่อาจจะไม่ได้เน้นเรื่องเบสอะไรมาก ถ้าใครซีเรียสเรื่องนี้อาจจะต้องไปเชื่อมต่อกับหูฟังหรือลำโพง Bluetooth กันอีกที

 

การเชื่อมต่อกับหูฟัง Bluetooth

ส่วนการเชื่อมต่อกับหูฟังไร้สาย อันนี้ไม่มีปัญหา ลองเอา AirPods ของ Apple มาเชื่อมต่อ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเสียงที่หูฟังขับออกมามันดร็อปลงไปหรือว่าอะไร (จริงๆ อาจจะมีดร็อป แต่ผมแยกไม่ออก)

 

ประสิทธิภาพความแรง

ส่วนตัวมองว่า OnePlus 8 Pro นั้นแรงจนถึงขนาดที่ว่า แทบจะไม่ต้องติดตั้งแอป Benchmark ต่างๆ มาทดสอบ หรือยืนยันความแรงของมือถือรุ่นนี้เลย เพราะหากดูจากสเปคแล้ว ทั้งชิป Snapdragon 865, RAM 12GB แบบ LPDDR5, หน่วยความจำแบบ UFS 3.0 หลายคนที่ดูสเปคมือถือเป็น ก็น่าจะพอทราบดีอยู่แล้วว่าสเปคแบบนี้มันแรงแบบแรงทะลุนรกมากๆ

อย่างไรก็ตามแต่.. เมื่อลองเอา OnePlus 8 Pro ไปวัดความแรงกับแอป AnTuTu ก็ได้คะแนนมาทั้งหมด 575,370 แต้ม ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ แทบจะเป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟน ณ ปัจจุบันที่มีสเปคแรงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้สำหรับ OnePlus 8 Pro

OnePlus 8 Pro มาพร้อมกับหน่วยความจำแบบ UFS 3.0 ที่ปกติก็ว่าแรงแล้ว แต่ครั้งนี้ OnePlus จับตีบวก ยัดเทคโนโลยี Turbo Write มาให้อีก ทำให้ OnePlus 8 Pro จะทำออกมาได้ดีกว่ามือถือที่ใช้หน่วยความจำ UFS 3.0 แบบทั่วไปอยู่พอสมควร โดยทำคะแนนแบบอ่านไปได้ 1,628 MB/s และแบบเขียนที่ 737.21 MB/s (เยอะกว่ามือถือที่ใช้ UFS 3.0 แบบปกติอยู่ประมาณ 15-20%)

การเล่นเกมลื่นไหล เฟรมเรทไม่มีตก

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมจะบอกตรงนี้เลยว่า OnePlus 8 Pro สามารถปรับกราฟิกต่างๆ ในเกมยอดนิยม อาทิเช่น RoV, PUBG หรือ Call of Duty Mobile ได้แบบสุดหมด แถมเฟรมเรทวลาเล่นจริง หรือกำลังบวกกับคนเยอะๆ ก็ไม่มีแกว่งอีกด้วย

Play video

การถ่ายภาพ

OnePlus 8 Pro มีกล้องหลังทั้งหมด 4 ตัว ประกอบไปด้วยเซนเซอร์หลัก Sony IMX689 ความละเอียด 48 ล้านพิกเซล, กล้อง Ultra Wide ใช้เป็นตัว IMX586 ความละเอียด 48 ล้านพิกเซล, กล้อง Telephoto ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ที่ซูมแบบ Optical ได้ 3x และดันแบบ Digital ได้ไกลสุด 30x และกล้องตัวสุดท้ายเป็น Colour Filter Camera ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ส่วนกล้องหน้าให้มาที่ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาดูภาพตัวอย่างที่ถ่ายจาก OnePlus 8 Pro กันเลยดีกว่า

ภาพตัวอย่างจาก OnePlus 8 Pro

ภาพตัวอย่างจากกล้อง Ultra Wide

ภาพตัวอย่างจากกล้อง Telephoto (0.6 > 1 > 3 > 10 >30x)

ภาพตัวอย่าง Night Mode

ภาพตัวอย่าง Colour Filter

ภาพตัวอย่างกล้องหน้า

ดราม่ากล้อง Colour Filter สรุปเป็นไงมาไง | OnePlus เตรียมออกแพทช์แก้ไข

หลายคนน่าจะพอทราบเรื่องดราม่ากล้อง Colour Filter ของ OnePlus 8 Pro กันมาบ้างแล้วล่ะว่าสามารถถ่ายทะลุพลาสติกหรือสิ่งของบางอย่างที่มีขนาดบางๆ ได้ ซึ่งตรงนี้ก็มีหลายคนเกรงว่า อาจจะมีพวกที่คิดไม่สร้างสรรค์ไปใช้ในทางที่ผิดๆ แต่ผมบอกได้เลยนะว่า ภาพที่ได้จากกล้อง Colour Filter มันไม่ได้ยิงทะลุเสื้อผ้า หรือพลาสติกอะไรได้แบบที่เข้าใจกัน จากที่ลองถ่ายสิ่งของ รวมไปถึงถ่ายเพื่อนที่ทำงาน ก็พบว่ามันไม่ได้ทะลุอะไรเลย กว่าจะเจอของที่ถ่ายแล้วทะลุนี่ยากมากๆ แถมบางชิ้นที่ถ่ายได้ หากลองเอาไปสะท้อนกับแสงดีๆ ก็พบว่า มันทะลุอยู่แล้ว กล้อง Colour Filter แค่ไปทำให้มันชัดขึ้นเฉยๆ เท่านั้นเอง

ซึ่งในส่วนนี้ OnePlus เอง ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหา เตรียมออกแพทช์อัพเดทแก้ไข ปรับซอฟต์แวร์ไม่ให้กล้อง Colour Filter นั้น สามารถใช้งานได้ไปก่อน (เฉพาะในประเทศจีน) จากนั้นหากพวกเขาสามารถแก้ไขจุดบกพร่องตรงนี้ได้ ก็จะออกแพทช์แก้ไขมาอีกทีนึงครับ

OnePlus เตรียมออกอัพเดทปิดใช้งานฟีเจอร์กล้อง Color Filter จนกว่าจะแก้ปัญหาส่องทะลุพลาสติกได้

 

ฟีเจอร์ Audio Zoom

มาลองทดสอบฟีเจอร์ Audio Zoom กันบ้างดีกว่า โดยฟีเจอร์นี้จะใช้ไมค์ทั้ง 3 ตัว แบ่งหน้าที่ช่วยกันทำหน้าที่ดูดเสียง, ตัดเสียง และโฟกัสไปที่วัตถุที่กำลังเปล่งหรือขับเสียงออกมา ซึ่งหลังจากลองแล้ว ก็พบว่า พอกดซูมเข้าไป เสียงพี่ภัทรดังขึ้นแบบสังเกตเห็นได้ชัดเลย

Play video

แบตเตอรี่

ด้วยความที่สเปคหน้าจอของ OnePlus 8 Pro นั้นให้มาเป็นแบบจัดเต็มสุดๆ ทั้งความละเอียด Quad HD+ แถมยังมีค่ารีเฟรชเรทที่สูงถึง 120Hz ทำให้แบตเตอรี่นั้นอาจจะไม่ได้อึดแบบขั้นเทพหรือว่าอะไร แต่ทั้งนี้ จากที่ลองใช้งานแบบเปิดทุกอย่างสุด ใช้งานแบบจัดเต็มจริงๆ ไม่มีกั๊ก ก็พบว่า OnePlus 8 Pro มี Screen on Time ไปทั้งหมดเกือบๆ 4 ชั่วโมงด้วยกัน แถมยังเหลือแบตอีก 26% ด้วย แต่ถ้าใครอยากให้แบตอึดกว่านี้ แนะนำให้ลองปรับความละเอียดจอเหลือ Full HD+ หรือปรับค่ารีเฟรชเรทลงเป็น 60Hz นะครับ อันนี้รับรองว่าแบตอึดขึ้นกว่าเดิมราวๆ 20 – 30% แน่นอน

เรื่องการชาร์จไฟเข้า บอกเลยว่า OnePlus 8 Pro ไม่เป็นสองรองใครอย่างแน่นอน เสียบชาร์จทิ้งไว้แป๊บเดียว 30 นาที ก็ได้แบตมาใช้ประมาณ 50 – 60% แล้ว แถมรอบนี้ยังรองรับการชาร์จแบบไร้สาย (Wireless Charging) แล้วอีกด้วย แต่น่าเสียดายที่ต้องซื้อเพิ่มเอานะ ไม่มีแถมมาให้ในกล่อง

อย่างไรก็ตาม หากบ้านใครมีแท่นชาร์จไร้สายอยู่แล้ว ก็สามารถเอา OnePlus 8 Pro ไปวางชาร์จได้นะ แต่ตรงนี้ถ้าไม่ได้ใช้กับแท่นของ OnePlus 8 Pro โดยเฉพาะ ตัวมือถือจะรับไฟได้สูงสุดเพียงแค่ 5 วัตต์เท่านั้น ซึ่งหากไม่ได้รีบอะไร ตั้งชาร์จเอาไว้หัวนอน ตื่นมาแบตก็น่าจะเต็มพอดี แต่ถ้ารีบๆ ก็แนะนำให้เสียบสายชาร์จ น่าจะทันใจกว่า

 

ชาร์จไฟให้อุปกรณ์อื่นแบบไร้สายได้

แถมครั้งนี้ OnePlus 8 Pro ยังสามารถปล่อยกระแสไฟให้อุปกรณ์อื่นๆ ชาร์จแบบไร้สายได้อีกด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่าฟีเจอร์อันนี้มีประโยชน์มากๆ เลยนะ เพราะเป็นคนใช้สมาร์ทวอทช์กับหูฟังไร้สายเป็นประจำ บางทีก็ลืมชาร์จแบต เอาอุปกรณ์เหล่านั้นมาวางชาร์จบน OnePlus 8 Pro แก้ขัดไปก่อน ถือว่าโอเคเลยล่ะ

 

กันน้ำกันฝุ่น IP68

OnePlus 8 Pro เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกและรุ่นเดียวในตอนนี้เลยของ OnePlus ที่ผ่านมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่นแบบ IP68 หมายความว่า เจ้า OnePlus 8 Pro สามารถลงไปใช้ชีวิตอยู่ในน้ำจืดที่มีความลึก 1.5 เมตร ได้นานถึง 30 นาทีด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่า หากใครเป็นคนซุ่มซ่าม ชอบทำมือถือตกน้ำบ่อยๆ มาใช้ OnePlus 8 Pro ก็น่าจะอุ่นใจไม่น้อยเลยล่ะ แต่ขอเตือนเอาไว้ก่อนนะว่าหากเกิดอุบัติเหตุน้ำเข้าเครื่องจริงๆ ประกันขาดเลยนะ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็น อย่าไปมือถือไปจุ่มน้ำเล่นเลย อีกทั้งมาตรฐานดังกล่าวจะใช้ได้เฉพาะกับน้ำจืดนะ ไม่แนะนำให้เอาไปเล่นในน้ำเค็ม หรือน้ำทะเล

คิดซะว่าเหมือนใส่หมวกกันน็อคแล้วกันเนอะ เราใส่หมวก เพื่อเพิ่มเกราะให้กับหัวสมอง เราคงไม่ใส่หมวก เพราะจะเอาหัวไปดิ่งพื้นกันหรอก ฮ่าๆ

 

OnePlus 8 Pro คุ้มค่าตัว 33,900 บาทหรือเปล่า

จากที่ถือใช้งานมาตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนตัวผมให้ OnePlus 8 Pro ผ่านนะ รับรองว่าเงินที่เสียไป คุ้มทุกบาททุกสตางค์แน่นอน ด้วยสเปคแบบนี้ น่าจะยังสามารถใช้งานได้แบบยาวๆ 3 – 4 ปี แถม OnePlus ยังออกมายืนยันอีกว่าจะอัพเกรด Android OS ให้อีก 2 เวอร์ชั่น และแพทช์รักษาความปลอดภัยยาวๆ อีก 3 ปี

แถมรอบนี้สัมผัสจับถือของ OnePlus 8 Pro นั้น มาแบบพรีเมียมมากจริงๆ ใครที่ติดภาพว่า OnePlus เป็นมือถือนักฆ่าเรือธง อยากให้ลองไปจับเครื่องจริง OnePlus 8 Pro ตามห้าง หรือร้านต่างๆ ดู แล้วจะลืมทุกอย่างที่รู้มาทั้งหมด ความรู้สึกที่ได้เวลาถือ และใช้งานเจ้า OnePlus 8 Pro มันดีงามมาก

เรื่องกล้องที่ดูเหมือนจะเป็นจุดด้อยของ OnePlus มาโดยตลอด ตรงนี้ OnePlus 8 Pro ก็เข้ามาลบข้อกรหาตรงนี้ไปแบบหมดจดสะอาดเอี่ยมอ่อง แม้จะดัน Digital Zoom ได้แค่ 30x ไม่ได้ไปไกล 50x หรือ 100x เหมือนกับค่ายอื่นๆ แต่บอกตามตรง ผมเชื่อว่าไม่ค่อยมีใครใช้ฟีเจอร์ตรงนี้กันมากหรอก เว้นแต่จะถ่ายเล่นๆ หรือถ่ายดวงจันทร์มาอวดเพื่อน ระยะซูมที่ผมมองว่าเป็นประโยชน์ก็น่าจะเป็นพวกระยะ 5x – 10x มากกว่า ซึ่งในส่วนนี้ภาพที่ได้จาก OnePlus 8 Pro นั้นโอเคสุดๆ ใครที่ชอบถ่ายรูปแนวมินิมอล ถ่ายตึกบ้านช่อง ถือ OnePlus 8 Pro เข้าย่านที่มีตึกสูงๆ น่าจะแฮปปี้ไม่น้อยเลยล่ะ

แต่จะมีตินิดหน่อยก็เรื่องแบตเตอรี่นี่แหละ ที่ส่วนตัวอยากให้มันอึดกว่านี้อีกสักหน่อย แต่ก็เข้าใจว่าจอ Fluid AMOLED ความละเอียด Quad HD+ บวกกับค่ารีเฟรชเรท 120Hz นี่ตัวสูบแบตดีๆ นี่เอง อย่างที่บอกไปข้างบน ถ้าใครอยากให้แบตอึดกว่านี้ ก็ลองปรับความละเอียด หรือค่ารีเฟรชเรทลดลงมาดู

 

สรุปผลการใช้งาน

จุดเด่น

  • จอสวย ทัชติดมือ รีเฟรชเรท 120Hz ลื่นไหลสุดๆ
  • ปุ่ม Alert Slider เลื่อนเปิดปิดเสียงเรียกเข้าได้ง่ายๆ ไม่ต้องเปิดหน้าจอ
  • สเปคแรง ใช้งาน หรือเล่นเกม ปรับกราฟิกทุกอย่างได้สุด เฟรมเรทไม่มีตก
  • เล่นไปนานๆ เครื่องไม่ร้อนมาก เพราะมี Heat Pipe
  • รอบนี้กล้องดีงามจริง
  • กันน้ำกันฝุ่น IP68
  • สัมผัสจับถือพรีเมียมมากๆ แถมน้ำหนักเบา
  • Oxygen OS

จุดที่ยังต้องปรับ

  • เวลาใช้ Nagivator Gesture จะค่อนข้างลำบากเวลาเลื่อนปัดซ้าย-ขวาตรงขอบจอ เพราะจอโค้ง เลื่อนปัดยาก
  • แบตเตอรี่น่าจะอึดกว่านี้ (ถ้าเลือกลดความละเอียด ลด Refresh Rate ก็ช่วยได้)
  • กล้อง Colour Filter อาจใช้งานไม่ได้ไปยาวๆ จนกว่า OnePlus จะแก้ปัญหาเรื่องถ่ายทะลุสิ่งของได้
  • รองรับ 5G ในไทยช้าไปหน่อย (ปลายปี 2020)