หลังจากเก็บตัวอยู่ในบ้านเกิด OPPO ก็พร้อมส่งมือถือจอพับดีไซน์ Fold อย่าง OPPO Find N3 บุกตลาดโลกกันสักที และก็ดูเหมือนว่าเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะที่สุดแล้ว เพราะรุ่นนี้เข้ามาเติมเต็ม Pain Point ที่ค่ายอื่น ๆ ให้ไม่ได้ เช่นกล้องเซนเซอร์เทพที่เหมือนยกกล้องมือถือเรือธงแบบปกติมาไว้ในมือถือจอพับ และยังมีฟีเจอร์อีกหลายอย่างที่สู้เจ้าตลาดได้สบาย ๆ เลย
ดีไซน์หรู ใครถือก็สวย
OPPO Find N3 ที่เราได้มารีวิวในวันนี้นั้นเป็นสีทอง Champagne Gold ฝาหลังกระจกแบบด้าน ที่ถือแล้วเสริมราศีความแพงให้กับผู้ใช้งานเป็นอย่างดี ส่วนดีไซน์โดยรวมเรียกได้ว่าถอดแบบมาจาก Find X6 Series แบบเต็ม ๆ ทั้งโมดูลกล้องขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง แต่ตัวเครื่องโดยรวมจะดีไซน์ออกมาในลักษณะแบนเรียบ ไร้ความโค้งมนดูแล้วลงตัว
นอกจากดีไซน์ที่ดูดีแล้ว ตัวเครื่องยังมาพร้อมน้ำหนัก 239 กรัมที่เบาพอ ๆ กับมือถือดีไซน์ธรรมดาเลยทีเดียว แต่การบาลานซ์น้ำหนักจะเทไปที่ฝั่งกล้องซะเยอะ ทำให้เวลาถืออาจมีความรู้สึกเมื่อยนิดหน่อย ตัวเครื่องเมื่อกางแล้วยังมีความบางเพียงแค่ 5.8 มม. เท่านั้น และเมื่อพับจะมีขนาดอยู่ที่ 11.7 มม.
เมื่อกางตัวเครื่องออกมาแล้ว ด้านซ้ายมือจะมาพร้อมกับสวิตช์ AlertSilder ปิด/เปิดเสียง ที่สามารถเลื่อนปรับได้ 3 โหมด ได้แง่โหมดเปิดเสียง / โหมดเงียบ / โหมดสั่น ด้านขวาจะมีปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่ม Power ที่มาพร้อมเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือ ด้านบนมาพร้อมเซนเซอร์อินฟาเรด ลำโพง 2 ตัว ไมโครโฟนเสริม 1 ตัว
ส่วนด้านล่างมาพร้อมช่อง Grill ที่เจาะไว้เพื่อความสวยงาม ถัดมาเป็นช่องไมโครโฟนสนทนาหลัก, ถาดซิมการ์ด, พอร์ต USB-C และลำโพงตัวที่ 3 และเมื่อพับแล้วยังแนบสนิท แทบมองไม่เห็นช่องว่างระหว่างจอแสดงผลเลย
จอสวยไร้รอยพับ ลำโพงดี 3 ตัว
OPPO Find N3 มาพร้อมจอแสดงผลแบบจัดเต็มทั้งจอนอก และจอใน โดยจอด้านนอกจะมาพร้อมกับอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับมือถือในรูปแบบปกติ ทำให้ใช้งานได้ลงตัวมากขึ้น มาในขนาด 6.31 นิ้ว พาเนล LTPO AMOLED ที่รองรับการปรับรีเฟรชเรตอัตโนมัติ 10 – 120Hz ความละเอียด FHD+ แถมยังสว่างสูงสุดถึง 2,800 nits สู้แดดจ้า ๆ สบายมาก
และเมื่อกางออกมาจะมาพร้อมกับจอ LTPO AMOLED ขนาดใหญ่ 7.82 นิ้วบนความละเอียด ครอบทับด้วยกระจกแบบยืดหยุ่น Ultra-Thin Glass ส่วนความละเอียดอยู่ที่ QXGA+ (2440×2268 พิกเซล) รีเฟรชเรตปรับได้ 1 – 120Hz แถมยังได้จอสว่าง 2,800 nits เท่ากัน
ความพิเศษของจอด้านในของ OPPO Find N3 อยู่ที่รอยพับที่เรียบเนียนไปกับตัวจอ ซึ่งถ้าไม่สังเกตดี ๆ หรือโดนแสงสว่างมาก ๆ ก็แทบจะมองไม่เห็นเลยรอยพับเลยทีเดียว เมื่อเอานิ้วลากผ่านก็ไม่ได้รู้สึกถึงร่องพับขนาดนั้น ซึ่งจุดนี้ OPPO ถือว่าทำมาดีมาก ๆ แบบที่ชนะมือถือจอพับเจ้าตลาดไปเลยเต็ม ๆ
นอกจากเรื่องรอยพับแล้ว เรื่องคุณภาพสีสันต่าง ๆ ทั้งจอนอก และจอด้านในก็ถือว่าทำได้ดีไม่แพ้กัน แถมตัวจอยังรองรับการแสดงผลแบบ Dolby Vision ทำให้การรับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ เต็มอิ่มกว่าเดิม นอกจากนี้ตัวจอยังมีระบบ ProXDR ที่เมื่อดูภาพที่ถ่ายมาในโหมด HDR ตัวจอจะดึงแสง คอนทราสต์ และรายละเอียดจากภาพได้สมจริง ไม่ถูกลดคุณภาพจากตัวจอด้วย
ส่วนด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ ในรุ่นนี้มาพร้อมกับลำโพง 3 ตัวระบบเสียงรอบทิศทาง ที่ให้เสียงในเกณฑ์ที่ดีใช้ได้เลยทีเดียว ได้ทั้งมิติ ได้ทั้งเสียงทุ้มฟังสนุก แถมยังรองรับ Dolby Atmos ที่ช่วยปรับเสียงตามคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่เรารับชมได้อัตโนมัติ แถมยังมีโหมด Spatial Audio ระบบเสียงรอบทิศทางให้เลือกเปิดด้วย
บานพับทนทาน พับได้เกินล้านครั้ง!
บานพับของ OPPO Find N3 ได้รับการพัฒนาใหม่ทำให้มีความเล็กลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับรุ่นก่อน แถมยังใช้วัสดุเซอร์โคเนียมเข้ามาเป็นส่วนประกอบทำให้ทนทานว่าเดิม อีกทั้งยังได้รับการการันตีจาก TUV Rheinland ว่าสามารถพับได้สูงสุดถึง 1 ล้านครั้งโดยที่ไม่เสียหาย หรือคิดเป็นการใช้งานนาน 10 ปีเลยทีเดียว
โดยในรุ่นนี้สามารถพับจอได้ที่ 45 – 125 องศา แต่อย่างไรก็ตามเมื่อดันตัวจอเลยองศาที่ระบุไว้ ตัวจอจะดีดกางออกมาเป็นสปริง ซึ่งอาจจะดูไม่มั่นคงนิดหน่อย และด้วยความที่โมดูลกล้องมีขนาดใหญ่และยื่นออกจากตัวเครื่องพอสมควร ซึ่งหากเราดันจอเลยองศาก็อาจจะทำให้ตัวกล้องไปกระแทกกับจุดที่วางไว้ก็ได้ และถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นเลยว่าตัวจอกางได้ไม่สุดด้วย
การใช้งานด้านซอฟต์แวร์ของ OPPO Find N3
ในแง่ของความต่อเนื่องในการใช้งาน OPPO Find N3 ถือว่าทำได้ดีเลยทีเดียว สามารถเล่นแอปผ่านจอรองด้านหน้า และกางออกมาเล่นผ่านจอใหญ่ได้แบบไร้รอยต่อ จะเล่นเกม Genshin Impact อยู่บนจอเล็ก ๆ แล้วอยากข้ามไปเล่นจอใหญ่ก็แค่กางจอออกมาก็พร้อมเล่นทันที ไม่ต้องออกแอปเข้าใหม่
นอกจากนี้แอปต่าง ๆ จากทางฝั่ง Meta เช่น Facebook, Messenger หรือ Instagram ก็มีการปรับ Optimized UI ของแอปให้เข้ากับอัตราส่วนของมือถือจอพับมากขึ้น ทำให้ใช้งานได้สะดวกเข้าถึงเมนูต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับแอปในเครือ Google ที่ได้ปรับหน้าตาให้รองรับมากขึ้นแล้ว ส่วนแอปอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ปรับอาจจะมีการแสดงผลหนังสือต่าง ๆ ไม่ครบบ้าง แต่ก็ไม่ส่งผลต่อภาพรวมการใช้งาน
ระบบ Muti-tasking เป็นอย่างไร
ในรอบนี้ OPPO ได้อัปเดตระบบ Multi-Tasking แบบใหม่ที่เรียกว่า Boundless View เพียงแค่ลากสองนิ้วที่กึ่งกลางจอ ก็สามารถตัดแบ่งหน้าจอ และเปิดใช้งานได้พร้อมกันถึง 3 แอป อีกทั้งยังเปิด Floating Window ได้อีก 1 แอป มาพร้อมระบบ Canva Shift เพียงแค่แตะที่หน้าต่างแอปก็สามารถสลับใช้งานได้สะดวก ไม่ต้องเข้าออกแอปเอง
อีกทั้งปรับขนาดหน้าแอปให้เป็นแนวตั้งเรียงกัน 3 แอป, แนวตั้ง 2 แนวกว้าง 1 หรือจะปรับให้เป็นแนวกว้างทั้ง 3 แอปก็ได้ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถปรับขนาดได้ตามใจชอบ เพราะตัวระบบจะล็อกอัตราส่วนเพียงแค่ 2 รูปแบบเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถลากไฟล์ หรือรูปภาพข้ามระหว่างแอปก็ได้ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลากด Insert หรืออัปโหลดไฟล์เอง
และปัญหาที่อาจจะเจอเมื่อใช้โหมด Boundless View ก็คือตัวแอปที่ยังไม่ได้มีการปรับ Optimize ให้เข้ากับตัวฟีเจอร์นี้ อย่างแอป Facebook หากมีการปรับขนาดจากไซส์แนวกว้าง เป็นแนวตั้ง ไอคอนเมนูต่าง ๆ ของตัวแอปจะแสดงผลผิดเพี้ยน ทำให้เข้าใช้งานเมนูเหล่านั้นไม่ได้ ต้องเปิด/ปิดแอปใหม่อีกรอบถึงจะแสดงผลได้ถูกต้อง
โหมดพับ Flex Form
โหมดการใช้งานแบบพับ Flex Form ของ OPPO Find N3 ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องการใช้งานผ่านแอปกล้องมากกว่า ซึ่งเราสามารถพับ 90 องศาเพื่อใช้พื้นที่ส่วนล่างในการตั้งตัวเครื่องเพื่อถ่ายรูป หรือใช้ถือถ่ายในระดับ Waist-Level ก็ได้ โดยปุ่มชัตเตอร์ และเมนูการตั้งค่ากล้องทั้งหมดจะย้ายลงมาอยู่ครึ่งล่างของตัวจอเพื่อให้กดสะดวกขึ้น หรือจะใช้การตรวจจับมือเพื่อเซลฟี่แบบ Hand-Free ได้ด้วย
นอกกจากนี้ OPPO Find N3 ยังรองรับการตั้งตัวเครื่องในรูปแบบ Tent Mode เพียงกางเครื่องออกประมาณ 45 องศา และวางคว่ำลง เซนเซอร์ในมือถือจะตรวจจับ และสามารถใช้งานดูคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านจอด้านนอกได้ หรือจะใช้งานเพื่อเซลฟี่ผ่านกล้องจอนอก หรือตั้งตัวเครื่องเพื่อวางถ่ายรูป และวิดีโอผ่านกล้องหลังก็ได้ แต่โหมดนี้จะมีบั๊กที่ตัวกล้องจะแสดงผลแบบกลับหัว ต้องเปิดแอปอื่น ๆ ล่อก่อน ถึงจะกลับหัวภาพ Preview ในกล้องให้
อย่างไรก็ตามหากนำไปใช้กับแอปทั่วไป รวมถึงแอปที่ติดตั้งมากับตัวเครื่อง จะไม่รองรับการใช้งานรูปแบบ Flex Form เช่นในแอปอัลบั้ม และแอปวิดีโอ ที่เมื่อพับ 90 องศาไม่แสดงผลแถบเครื่องมือ Control Panel ต่าง ๆ ให้กดใช้ แต่จะมีบางแอปที่รองรับอย่าง Facebook Messenger ที่เวลาวิดีโอคอลสามารถพับเพื่อตั้งตัวเครื่องได้ โดยเมนูการควบคุมต่าง ๆ จะย้ายมาไว้ที่จอด้านล่าง เช่นเดียวกับ YouTube ที่เมื่อพับแล้วจะมีแถบเครื่องมือ Media Player ขึ้นมาให้ควบคุมวิดีโอ
กล้องเทพสุดในวงการพับ
ภาพรวมกล้องหลัง 3 ตัว
OPPO Find N3 มาพร้อมกล้องหลัง 3 ตัวที่มีการร่วมงานกับ Hasselblad แบรนด์กล้องระดับตำนานเหมือนเช่นเคย และในรอบนี้ยังมีการดึงเซนเซอร์ Sony LYTIA 808 ตัวใหม่ล่าสุดมาใช้งาน โดยเซนเซอร์ตัวนี้มีจุดเด่นอยู่ที่เทคโนโลยี Stacked Pixel ที่ช่วยให้เก็บแสงได้มากกว่าเดิม และทำให้ได้คุณภาพภาพถ่ายที่ใกล้เคียงกับเซนเซอร์ขนาด 1 นิ้ว
ภาพที่ออกมาจากกล้องหลักจึงเก็บ Dynamic Range ได้ค่อนข้างกว้าง, Contrast สูง แต่จะมีบางจังหวะที่แอบ Overexposure นิดหน่อยกลืนรายละเอียดไปบ้าง แต่โดยรวมถือว่าทำได้ดีมาก ๆ นอกจากนี้ตัวเซนเซอร์หลักยังมาพร้อมกับระบบกันสั่น OIS ที่เข้ามาช่วยลดการสั่นไหวในขณะถ่ายภาพในที่แสงน้อยด้วย
ส่วนกล้อง Ultrawide เลือกใช้เป็นเซนเซอร์ความละเอียด 48MP พร้อมรองรับโหมด Auto Focus และรองรับการถ่าย Macro ตั้งแต่ระยะ 3.5 ซม. ขึ้นไป ส่วนคุณภาพของภาพถ่ายก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สัดส่วนต่าง ๆ ไม่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยน รายละเอียดส่วนขอบภาพยังคงชัดเจน ไม่ฟุ้งจนเกินไป มี Noise ให้เห็นบ้างนิดหน่อย
ด้านกล้อง Telephoto รุ่นนี้ใช้เป็นเซนเซอร์ความละเอียด 64MP รองรับการซูมแบบ Optical 3 เท่ารองรับการกันสั่นแบบ OIS ส่วนตัวคิดว่าคุณภาพของภาพถ่ายทำได้ดีเกินคาดมาก ๆ ทั้งรายละเอียดคมชัดธรรมชาติ ไม่ถูกปรับความคมให้ดูคมผิดปกติ แถมสีสันต่าง ๆ ยังใกล้เคียงเลนส์หลัก นำมาใช้ในโหมด Portrait ถ่ายคนแล้วออกมาดูดีมาก ๆ
นอกจากนี้กล้องหลังของ OPPO Find N3 ยังรองรับการถ่ายภาพแบบ XPAN ที่เป็นโหมดเฉพาะที่มากับกล้อง Hasselblad ถ่ายภาพในอัตราส่วนแนวยาวตามซิกเนเจอร์ของแบรนด์ อีกทั้งยังรองรับการถ่ายภาพในโหมดสี 10-bit ที่สามารถเก็บสีสันได้ละเอียดกว่าโหมดปกติ และสามารถนำไปปรับสี แต่งต่อในโปรแกรมอย่าง Photoshop หรือ Lightroom ได้ละเอียดกว่าด้วย
ระบบซูมเป็นอย่างไร?
OPPO Find N3 รองรับการถ่ายภาพซูมแบบไม่สูญเสียความละเอียดได้สูงสุดถึง 6 ระยะ โดยระยะแบบ Optical จะสามารถถ่ายได้ 3 ระยะคือ 0.6x (Ultrawide), x1 (กล้องหลัก) และ x3 (Telephoto) ส่วนระยะ x2 และ x6 นั้นจะเป็นการถ่ายภาพแบบ In-Sensor Zoom ที่ครอปภาพความละเอียดเต็มจากเลนส์หลัก หรือเลนส์ Telephoto ทำให้ได้ภาพที่ใกล้เคียงกับการใช้เลนส์จริง ๆ ในการถ่าย
สำหรับการซูมแบบดิจิทัลในรุ่นนี้รองรับสูงสุดที่ 120 เท่า แต่ระยะหวังผลนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 10 เท่า ถ้าเกินกว่านั้นภาพจะออกมาในลักษณะที่ดูวุ้นพอสมควร เพราะไม่มีเซนเซอร์ Periscope Telephoto มารองรับช่วงซูมที่เกินกว่า x3 ส่วนงานวิดีโอนั้นสามารถซูมแบบดิจิทัลได้สูงสุด 20 เท่า
ภาพรวมกล้องเซลฟี่
ในรุ่นนี้ให้กล้องเซลฟี่มาทั้งหมด 2 ตัว โดยตัวแรกจะอยู่บนจอแสดงผลด้านหน้ามีความละเอียดที่ 32MP และเมื่อกางจอออกมาจะเจอกล้องความละเอียด 20MP เจาะรูอยู่ที่มุมบนขวามือของจอแสดงผล ส่วนคุณภาพนั้นหากนำมาเทียบกัน กล้อง 32MP จะเก็บรายละเอียด สีสัน รวมถึง Dynamic Range ได้ดีกว่า
ส่วนกล้อง 20MP เมื่อมองด้วยตาเปล่าแล้ว คุณภาพไม่หนีห่างกันเท่าไหร่ แต่การ Process ภาพจะดัน Sharpness ขึ้นมาเยอะกว่าทำให้เส้นผม หรือรายละเอียดต่าง ๆ ดูคมกว่าเล็กน้อย เรื่องสีสันก็ถือว่าใกล้เคียงกัน และเมื่อซูมดูใกล้ ๆ จะพบว่ากล้องจะมี Noise พอสมควร ถ้าเน้นเซลฟี่ใช้กล้องตรงจอหน้า หรือเซลฟี่จากกล้องหลังผ่านโหมด Cover Screen จะดีกว่า เพราะจะได้ดีเทล รายละเอียดที่ดีกว่ามาก ๆ
งานวิดีโอ
สำหรับกล้องหลังในรุ่นนี้รองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 4K@60FPS ทุกระยะ สามารถซูมสลับเลนส์ไปมาได้ โดยที่ White Balance ไม่ได้ดูต่างกันจนเกินไป นอกจากนี้ยังรองรับการถ่ายวิดีโอแบบ Dolby Vision ที่ความละเอียด 4K@30FPS และสำหรับสายครีเอเตอร์ยังรองรับการถ่ายวิดีโอในรูปแบบไฟล์ LOG ในโหมด Movie เพื่อนำไปแต่งสีต่อในโปรแกรมตัดต่อได้ด้วย
ส่วนกล้องหน้าทั้งตรงหน้าจอด้านนอก และจอด้านในก็รองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียด 4K@30FPS เช่นกัน นอกจากนี้ยังรองรับโหมดกันสั่นแบบ EIS พร้อมเปิดโหมดวิดีโอบิวตี้พร้อมกันได้ที่ความละเอียด 1080P@30FPS ซึ่งถ้าใครอยากชมตัวอย่างงานวิดีโอสามารถเข้าไปชมในคลิปรีวิวได้เลย
ประสิทธิภาพการใช้งาน
ด้านประสิทธิภาพนั้น OPPO Find N3 มาพร้อมกับชิปเช็ตระดับเรือธงอย่าง Snapdragon 8 Gen 2 พ่วงด้วยหน่วยความจำแบบ ROM UFS 4.0 + RAM LPDDR5x 16GB + 512GB ทำให้ตัวเครื่องมีประสิทธิภาพแบบแรงเหลือ ๆ ใช้งานได้อย่างลื่นไหล จะเปิดกี่หน้าต่างก็ไม่ติดขัด
เช่นกับการเล่นเกม Genshin Impact ที่สามารถปรับกราฟิกสูงสุดได้ทุกอย่าง สามารถเล่นในโหมดจอนอกได้ที่เฟรมเรต 59 – 57FPS แต่แน่นอนว่าเมื่อกางจอออกมาเล่นในจอใหญ่ที่ความละเอียดสูงกว่า ทำให้ตัวเครื่องต้องรีดประสิทธิภาพมากกว่า ทำให้เฟรมเรตหล่นลงมาที่ประมาณ 55 – 50FPS ซึ่งก็ยังถือว่าเล่นได้ดีมาก ๆ อยู่ดี
ส่วนการเล่น ROV ต้องบอกว่าค่อนข้างชอบมาก ๆ ได้ด้วยความที่จอใหญ่มาก ๆ ทำให้มุมมองค่อนข้างเต็มตา ส่วนประสิทธิภาพก็สามารถเล่นได้ที่ 60 – 59FPS ทั้งจอนอก และจอในไม่ติดขัดแม้มีการปรับกราฟิกสูงสุด ส่วนเรื่องอุณหภูมิก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี เพราะมีเพียงแค่ความรู้สึกอุ่น ๆ มือเท่านั้น และเมื่อเล่นเกมผ่านจอใหญ่ระบบจะบังคับให้เล่นในจอแนวนอนเท่านั้นทำให้มือไม่ไปสัมผัสโดนจุดที่ร้อน เล่นติดต่อกันได้ยาว ๆ เลย
แบตเตอรี่อึดมั้ย?
OPPO Find N3 ให้แบตเตอรี่มาที่ความจุ 4,805 mAh พร้อมรองรับชาร์จไว SUPERVOOC ผ่านสาย USB-C ที่ 67W โดยทางแบรนด์ได้เคลมว่าชาร์จจาก 1 – 35% ใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น แต่น่าเสียดายที่ในรุ่นนี้ไม่รองรับชาร์จไร้สาย
ส่วนการใช้งานแบตเตอรี่ เมื่อทดสอบใส่ซิม 4G VoLTE เปิดแสงจอแบบ Auto Brightness และใช้งานจอแสดงผลด้านในเป็นหลัก เล่นเกม / เล่นโซเชียล เปิด Bluetooth เชื่อมต่อหูฟัง ฟังเพลงผ่าน Spotify เป็นเวลา 1 ชั่วโมงผ่าน 4G หลังจากนั้นก็เชื่อมต่อ Wi-Fi เปิดดู YouTube ความละเอียด 4K@60FPS HDR เป็นเวลายาว ๆ 4 ชั่วโมง ในระยะเวลา Screen On กว่า 5 ชั่วโมง 44 นาที แบตเตอรี่เหลืออยู่ที่ 11% ซึ่งถ้าไม่ได้ใช้งานจอด้านในหนัก ๆ อยู่ได้เต็มวันแน่นอน
สรุปการใช้งาน
สำหรับภาพรวมของ OPPO Find N3 ถือว่าทำได้ดีมาก ๆ กับการบุกตลาด Global ครั้งแรกในดีไซน์พับแบบปีกผีเสื้อ เพราะด้านฮาร์ดแวร์ถือว่าจัดเต็มจริง ๆ ทั้งด้านกล้องที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการพับในบ้านเรา, ได้จอแสดงผลที่รอยพับน้อย และใช้พาเนลคุณภาพเยี่ยมที่แสดงผลได้สว่าง และสวยมาก ๆ นอกจากนี้ยังได้งานประกอบที่ดูพรีเมียมทนทานจริง ๆ
ข้อดีของ OPPO Find N3
- จอสวย ได้พาเนลคุณภาพดีทั้งสองหน้าจอ
- กล้องดีที่สุดในบรรดามือถือจอพับในไทย
- อัตราส่วนตอนพับกำลังดี ใกล้เคียงมือถือรูปแบบปกติ
- รอยพับน้อย แทบมองไม่เห็น
- บานพับทนทาน พับได้ 1 ล้านครั้ง (ตามที่แบรนด์เคลม)
- เครื่องบาง น้ำหนักเบา
- รองรับการถ่ายวิดีโอ 4K ผ่านกล้องหน้าทั้งสองกล้อง
- โหมด Boundless View ใช้งาน Multi-tasking สะดวกขึ้น
- ให้ประสบการณ์ใช้งานระหว่างจอนอก และจอในได้สะดวก ไร้รอยต่อ
- สเปคแรงอยู่ในเกณฑ์เรือธง
- รองรับมาตรฐานทนน้ำ IPX4
- การันตีอัปเดต Android 4 ปี + Security Patch 5 ปี
แต่จุดที่ OPPO อาจจะต้องกลับไปทำการบ้านกันเพิ่มเติมคือเรื่องของซอฟต์แวร์ ที่ยังขาดฟีเจอร์สำคัญ ๆ อย่าง Control Panel สำหรับการใช้งานในรูปแบบของการพับ 90 องศา รวมถึงโหมด Boundless View ยังล็อกอัตราส่วนหน้าต่าง Multi Windows ไว้ 2 แบบอยู่ ซึ่งในอนาคตอาจมีซอฟต์แวร์ออกมาให้อัปเดตกันเพิ่มเติมก็ได้
จุดพิจารณาของ OPPO Find N3
- บานพับไม่ค่อยหนืด องศาจำกัดแค่ 45 – 125 องศา หากเกินกว่านั้นจะล็อกไม่แน่นหนา และกระเด้งได้
- บาลานซ์น้ำหนักกล้องไม่ดี เวลาวางตัวเครื่องแบบ 125 องศา อาจมีหงายได้
- จอกางได้ไม่สุด มีความเหลือบกันนิดหน่อย
- ไม่มีโหมดให้ใช้งานแบบ 90 องศากับแอปทั่วไป
- กล้องหน้าล็อก FPS ไว้ที่ 30FPS เท่านั้น ไม่รองรับการถ่ายวิดีโอแบบ 60FPS
- รองรับปากกา OPPO Pen (แต่ยังไม่มีวางจำหน่ายแยก)
ราคา และการวางจำหน่าย
OPPO Find N3 มีตัวเครื่องให้เลือกทั้งหมด 2 สี ได้แก่ สีทอง Champagne Gold วัสดุกระจก และสีดำ Classic Black วัสดุหนัง Vegan สุดพรีเมียม และมีเพียงแค่ 1 รุ่นความจุ 16GB + 512GB เท่านั้น ในราคา 69,990 บาท พร้อมวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
- REVIEW | รีวิว OPPO Find N3 Flip มือถือจอพับกล้องสวย อัปเดตฟีเจอร์แน่นกว่าเดิม มี Telephoto ซูม 2x ครั้งแรกของวงการ
- ราคาไทย OPPO Find N3 และ Find N3 Flip มือถือจอพับกล้องเทพแห่งปี 2023 เริ่มต้น 34,990 บาท
- สเปค OPPO A18 มือถือราคาประหยัด อัปเกรดชิปใหม่ ใช้ Helio G85 ได้จอลื่น 90Hz เปิดราคาไทย 4,499 บาท
Comment