เผลอแป๊บเดียวโรบินฮู้ดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการไปแล้วร่วม 3 เดือน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้ใช้ทั่วกรุงเทพ และมีลูกค้าลงทะเบียนเข้าใช้งานแล้วเกือบ 6 แสนราย มีร้านอาหารในแอปกว่า 55,000 ร้านค้า คาดปัจจุบันเป็นแอปสั่งอาหารอันดับ 4 ผู้ใช้ประทับใจกันเรื่องมารยาทของไรเดอร์เป็นพิเศษเตรียมขยายบริการไปต่างจังหวัด และออกฟีเจอร์ใหม่ๆเพิ่มอีกเพียบ
สถิติที่น่าสนใจของ Robinhood
ทาง Robinhood ได้มีการเปิดบ้านให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Robinhood เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ 88 หลังเปิดให้บริการมาร่วม 3 เดือนกับการตอบรับที่ดีมาก และมีสถิติที่น่าสนใจตามด้านล่างนี้
88 วันที่ผ่านมา Robinhood เดินทางมาถึงไหนแล้ว
- ลูกค้าลงทะเบียนในระบบกว่า 580,000 ราย
- ร้านอาหารในระบบกว่า 55,000 ร้านค้า
- ไรเดอร์ที่พร้อมให้บริการกว่า 11,500 ราย
- รายการอาหารทั้งหมดในระบบกว่า 1.6 ล้านรายการ
- มีร้านอาหารที่พร้อมให้ส่วนลดกับลูกค้า(เพราะไม่มี GP) กว่า 8,200 ร้าน
- มีคนเคยสั่งอาหารมากสุดถึง 3,528 บาท ในยอดบิลเดียว
- มีคนเคยสั่งอาหารไกลสุด 45 กม.
- มีผู้ใช้สั่งอาหารสูงสุดถึง 18 ออเดอร์ใน 1 สัปดาห์
- มีปลาแซลมอนจำนวนกว่า 5 ตันถูกสั่งจากแอป
- ไรเดอร์เคยรับงานได้สูงสุดถึง 44 งานต่อวัน
- ราว 74% ของไรเดอร์ทำโรบินฮู้ดเป็นงานเสริม
Top 10 ร้านอาหารขายดีบน Robinhood
- มนต์นมสด (สาขา เสาชิงช้า)
- รุ่งเรืองตั๋ง ก๋วยเตี๋ยวหมูสุขุมวิท 26 (เจ้าเก่า) ห้องหัวมุม
- Oba San 168
- หน่องริมคลอง
- ไก่ทอดเจ๊กี (โปโล)
- โจ๊กสามย่าน บรรทัดทอง
- ข้าวหมูแดงสีมรกต
- ประจักษ์เป็ดย่าง
- ซ้งเป็ดพะโล้
- ไข่หวานบ้านซูชิ จามจุรีแสควร์
คำค้นหายอดนิยม : แซลมอน, โจ๊ก, ก๋วยเตี๋ยว, ข้าวมันไก่, ส้มตำ
โซนที่มีออเดอร์เยอะที่สุด : จตุจักร ห้วยขวาง คลองเตย
สิ่งที่น่าสนใจจากข้อมูลข้างต้น คือ ร้าน Top 10 ในโรบินฮู้ด เต็มไปด้วยร้านที่ไม่ได้อยู่ในแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งเหตุผลก็คือทางร้านไม่ต้องการจ่ายค่า GP จำนวนมหาศาลในแพลตฟอร์มอื่น แต่เลือกที่จะเข้ามาอยู่ใน Robinhood เพราะแพลตฟอร์มนี้ไม่มีการเก็บค่า GP เลยนั่นเอง
เตรียมอัดฉีดเพิ่ม หลังเสียงตอบรับจากผู้ใช้ดี
เป็นอันรู้กันว่าตลาดการสั่งอาหารนี้ เหล่าผู้ใช้จะเลือกผู้ให้บริการรายไหน โปรโมชั่นเป็นสิ่งแรกๆที่ถูกพิจารณาก่อนเสมอ และด้วยความที่ Robinhood ได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ เช่นนี้ สิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัวจากผู้ใช้จำนวนมากขึ้นก็คืองบการตลาด ที่ต้องมีโปรต้อนรับผู้ใช้ใหม่หรือแม้แต่ผู้ใช้ปัจจุบันอยู่เสมอ โดยก่อนหน้านี้ทางทีม Robinhood ก็เคยแจ้งว่ามีงบอยู่จำกัดจำเขี่ย ไม่สามารถทำออกมาแข่งกับเจ้าอื่น ที่ทุนหนากว่าหลายสิบเท่าได้ แต่ด้วยความที่ธุรกิจเติบโตได้ดี ทำให้เหล่าผู้บริหารเตรียมขอทุนเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แล้ว
“ไม่มีคนชมว่าเราถูก ไม่มีใครด่าว่าเราแพง”
คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหารได้กล่าวถึงการทำโปรโมชั่นของ Robinhood ในปัจจุบัน ที่ไม่ได้ถึงกับจะไปฟาดฟันท้าชิงที่ 1 ของตลาด แต่ก็ดีเพียงพอที่จะทำให้คนเข้ามาใช้งานในแพลตฟอร์ม
ปัจจุบันรั้งอันดับ 4 ของผู้ให้บริการ Food Delivery ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ได้เป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการคาดการณ์ของทีม โดยอันดับ 1 จะตกเป็นของ GrabFood, อันดับ 2 เป็น FoodPanda ซึ่งทั้งสองแอปนี้จะมีรายการสั่งอาหารรวมกันหลายแสนออเดอร์ต่อวัน ส่วนอันดับสามเป็น LINE MAN ที่มียอดหลายหมื่นออเดอร์ และตามมาด้วย Robinhood ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน
ส่วนลดจากร้านค้า เป็นส่วนช่วยผลักดันสร้างความน่าสนใจให้ผู้ใช้
ส่ิงที่ทำให้โรบินฮู้ด ทำราคาได้ดี มีส่วนลดในแอปหลัก 10% ได้นี้ เกิดจากความพยายามของทีมที่เข้าไปพูดคุยกับร้านค้าต่างๆ ที่พอจะให้ส่วนลดเพิ่มเติมได้ตามกำลังของแต่ละร้าน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดีจากที่ตัวร้านไม่จำเป็นต้องแบกภาระค่า GP ของแพลตฟอร์ม จึงสามารถเลือกให้ส่วนลดแก่ลูกค้าเพื่อสร้างความสัมพันธ์ และแรงจูงใจให้คนสั่งเพิ่มเติม โดยปัจจุบันมีร้านค้าที่เลือกให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้อยู่ที่ราว 15% จากจำนวนร้านค้าทั้งหมด
มีร้านอาหารมาร่วมลดราคาพิเศษกันเพียบจากตอนแรกแค่ 8% ตอนนี้ทะลุกันขึ้นไป 20%
Food Delivery Forum เพิ่มสกิลให้ร้านค้าขายได้ขายเป็นบนโลกออนไลน์
นอกจากโรบินฮู้ดจะไม่มีการเรียกเก็บค่า GP แล้ว สิ่งที่โรบินฮู้ดช่วยเหล่าผู้ประกอบการร้านอาหารเพิ่มเติมคือมีการจัดสัมมนาออนไลน์สอนวิธีการประกอบธุรกิจร้านอาหารจากเหล่ากูรู รวมถึงวิธีการทำการตลาดออนไลน์ และสอนการถ่ายรูปอาหารให้สวยดึงดูด ใครผ่านมาเห็นก็ต้องอยากมาสั่งไปลิ้มลอง ซึ่งก็มีคนเข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์นี้เป็นจำนวนหลายร้อยราย รวมถึงมีคนออกแชร์ว่าหลังทำตามแล้วได้ผลดี ยอดขายขึ้นทันทีอีกต่างหาก
อบรมไรเดอร์ก่อนให้บริการ มารยาทดีไหว้สวยกันเพียบ
กลายเป็นจุดเด่นอย่างนึงของแพลตฟอร์มนี้กันไปแล้ว หลังมีการโพสต์และแชร์กันเยอะว่าไรเดอร์ของเจ้านี้มารยาทดีกว่าเจ้าอื่น พูดจากสุภาพเรียบร้อย และมีการยกมือไหว้เสมอ และที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ โดยปกติไรเดอร์แต่ละคนจะมีการรับงานจากหลายแพลตฟอร์มเป็นเรื่องปกติกันอยู่แล้ว แต่มีไรเดอร์บางรายเปิดเผยว่าถ้าส่งอาหารเจ้าอื่น ก็จะไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่พอเป็นการส่งในนาม Robinhood กลับมีการพูดสุภาพและยกมือไหว้ขอบคุณที่ใช้บริการเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็น่าจะเกิดจากการอบรมเหล่าไรเดอร์ก่อนให้บริการอยู่เสมอ ซึ่งถ้าใครอยากพิสูจน์ว่าเรื่องนี้จริงมั้ย ก็คงต้องลองสั่ง Robinhood กันดู
เริ่มเปิดรับร้านอาหารแบรนด์ดัง เพื่อดึงคนเข้ามาใช้ให้กว้างขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงนึงหลังเปิดให้บริการมาเกือบสามเดือน คือโรบินฮู้ดเริ่มมีเชนร้านอาหารแบรนด์ดังเข้ามาในแพลตฟอร์มแล้ว โดยปัจจุบันมีเครือ Minor (The Pizza, Swensens, Sizzler, Dairy Queen, Burger King, Bonchon), The Mall | Gourmet Eats – Food Hall, CRG, และ Siam Piwat ซึ่งจะต่างออกไปจากตอนแรกที่จะมีเพียงร้านค้าเล็กทั่วไปเท่านั้น จนมีข้อสังเกตว่าต่อไปทางโรบินฮู้ดจะเริ่มเก็บค่า GP และเปลี่ยนแนวทางทำตลาดเป็นเหมือนกับแอปอื่นหรือไม่นั้น ทางทีมงาน Robinhood ได้ตอบคำถามเรื่องนี้ไว้ว่า
“การดึงเครือร้านอาหาร เป็นการชวนคนเดินห้างมาเดินตลาดให้มากขึ้น”
กล่าวคือ แทนที่จะเน้นผู้ใช้ที่สั่งอาหารจากร้านทั่วไป การมีร้านอาหารชื่อดังเข้ามาก็จะช่วยเพิ่มความหลากหลายในแพลตฟอร์ม ในช่วงแรกอาจจะมีการแย่งลูกค้าไปบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็เชื่อว่าเมื่อมีจำนวนผู้ใช้ที่มากขึ้นก็จะส่งผลให้คนไปสั่งร้านอื่นในแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน และร้านอาหารในเครือเหล่านี้หลายร้านก็จะเป็นร้านธรรมดาที่เข้าไปเปิดในศูนย์อาหารเท่านั้น ไม่ได้เป็นเชนอาหารใหญ่แต่อย่างใด และร้านเหล่านี้ต่างก็อยากที่จะเข้าร่วมแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดด้วยกันทั้งสิ้น จากที่ไม่สามารถเข้าร่วมแพลตฟอร์มอื่นได้ เพราะโดยปกติร้านในห้างเหล่านี้จะต้องเสียส่วนแบ่งให้กับห้างอยู่แล้ว หากเข้าร่วมแพลตฟอร์มอื่น ก็จะต้องเสียค่า GP อีกหลายสิบเปอร์เซนต์อีก กลายเป็นเสียส่วนแบ่งหลายต่อ และไม่สามารถให้บริการได้นั่นเอง
ทีมบริหารยังยืนยันว่า Robinhood ยังเน้นที่ช่วยเหลือร้านตัวเล็กอยู่ และจะไม่เก็บ GP ไปตลอด ซึ่งเหตุผลว่าทำไมถึงสามารถทำได้ ไว้จะมาเล่าให้ฟังต่อไปอีกทีนะครับ
เตรียมเปิดฟีเจอร์ใหม่ และแคมเปญที่น่าสนใจอีกเพียบ
ถ้าใครได้ลองใช้งาน Robinhood ตอนนี้อาจจะรู้สึกว่าฟีเจอร์หลายอย่างจะยังไม่ทัดเทียมกับแอปอื่นในตลาดนัก ด้วยความที่เพิ่งเริ่มพัฒนาและให้บริการมาได้ไม่นาน และเงินทุนก็ไม่ได้หนาเทียบเท่ากับแพลตฟอร์มอื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทางทีมนิ่งนอนใจ ไล่ตามฟีเจอร์แต่ละแอปไม่ได้ โดยเตรียมตัวปล่อยฟีเจอร์ที่ขาดหายไปภายในไตรมาส 2 (มีนาคม-พฤษภาคม) ประมาณนี้
ฝั่งของผู้ใช้
- สามารถสั่งอาหารหลายออเดอร์พร้อมกันได้
- รองรับการจ่ายเงินที่หลากหลายขึ้น
- บันทึกร้านที่ชื่นชอบ
- ระบบรีวิวร้านค้า
- แผนที่ร้านค้า และการติดตามตำแหน่งของไรเดอร์
- เลือกตัดแต้มบัตรเครดิตมาใช้จ่ายโดยตรงได้ทันที
- นำเสนอ Playlist ร้านอาหารให้เหมาะกับแต่ละคน แต่ละช่วง เหมือน Playlist บนแอปเพลง
ฝั่งร้านค้า
- บริหารจัดการร้าน เมนู และสาขาได้ง่ายขึ้น
- ใช้งานร่วมกับ POS ได้
- ล็อคอินได้จากหลายเครื่องพร้อมกัน
เตรียมขยายตลาดไป 5 จังหวัดภายในปี 2564
เป็นสิ่งที่หลายคนเรียกร้องต่อทีมพัฒนาแอป ว่าอยากให้ Robinhood ขยายการบริการไปจังหวัดอื่นนอกเหนือจากกรุงเทพบ้าง แต่การขยายนี้ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องมีการเตรียมตัวในหลายด้าน ทั้งการติดต่อร้านอาหาร หรือหาไรเดอร์ในจังหวัดดังกล่าว ซึ่งทีมโรบินฮู้ดก็จะใช้เหล่าพนักงานของธนาคารช่วยเหลือด้านนี้เช่นเดิม คาดว่าภายในสิ้นปีจะสามารถขยายเพิ่มเติมได้ 5 จังหวัด โดยจะเน้นที่หัวเมืองใหญ่ก่อน เช่น โคราช ขอนแก่น แต่จังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ อาจจะต้องพิจารณาอีกครั้งจากสถานการณ์โควิดที่ยังแพร่ระบาด และยังหานักท่องเที่ยวมาใช้บริการได้ยากอยู่
เป้าหมาย Robinhood ในปี 2021
หลังเริ่มต้นมาได้อย่างสวยงาม ปี 2021 นี้ทางทีมโรบินฮู้ดก็เตรียมตัวหาทางขยายบริการให้เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยตั้งเป้าเอาไว้ได้น่าสนใจและน่าจะเป็นผู้เล่นในตลาดส่งอาหารที่แข็งแกร่งอีกเจ้าได้
- จำนวนไรเดอร์มากกว่า 20,000 ราย
- จำนวนร้านค้ามากกว่า 150,000 ร้านค้า
- จำนวนออเดอร์มากกว่า 25,000 รายการต่อวัน
- จำนวนผู้ใช้ 1,000,000 ราย
- คาดการณ์จำนวนเงินทั้งหมดที่สั่งผ่าน Robinhood ราว 1.6 พันล้านบาท
ทั้งหมดนี้ก็เก็บเอามาฝากสำหรับใครที่ใช้บริการ หรือติดตาม Robinhood แอปสั่งอาหารสัญชาติไทยแท้ๆ รายนี้อยู่นะครับ ถ้าใครสงสัยอะไรเพิ่มเติมยังไงสามารถมาคอมเมนต์พูดคุยกันได้นะครับ ไว้จะหาข้อมูลมาเล่าต่อสู่กันได้อีกทีครับ
เคยลองดู บางทีสั่งหลายเมนู เทียบกันลดไปเป็นร้อยนะ เห็นๆ เลยว่าบนนี้ 80 ไปโน่น 100
ตอนนี้เป็นแอพสั่งอาหารที่จะเปิดดูแอพแรกเลย แล้วเข้าไปเชคเทียบกับ grab หรือ foodpanda
ส่วน LINAMAN ผ่านโลด ค่าส่งแพง เคยพยายามให้โอกาสหลายครั้งแล้ว แต่เทียบกันทีไร ก็แพงกว่าเจ้าอื่นตลอด
ทำไมโซนที่มีออเดอร์เยอะที่สุดของ robinhood ถึงเป็น จตุจักร ห้วยขวางและคลองเตยอ่ะคะ พอดีต้องเอาข้อมูลไปใช้ในวิจัยอ่ะค่ะ