ในเดือนกรกฎาคม 2562 คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า ACCC ได้ฟ้องร้อง Samsung Australia โทษฐานโฆษณาเกินจริงและทำให้ลูกค้าเข้าใจผิด เกี่ยวกับคุณสมบัติ “ทนน้ำ” ของมือถือหลายรุ่น จนเวลาล่วงเลยมาเกือบ 3 ปี ล่าสุดศาลรัฐบาลกลางของออสเตรเลียได้ตัดสินแล้วว่า Samsung Australia มีความผิดจริง และต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวน 14 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือกว่า 363 ล้านบาท

มือถือซัมซุง 7 รุ่น โดนฟ้องร้อง โฆษณากันน้ำเกินจริง

ตามคำร้องของ ACCC ระบุว่า โฆษณาของ Samsung Australia ที่ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดนั้นอยู่ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2559 จนถึงเดือนตุลาคม 2561 ซึ่งปรากฏให้เห็นในหลากหลายช่องทางเป็นจำนวนนับร้อยชิ้น โดยมีรุ่นที่เข้าข่าย 7 รุ่น (ตามรายชื่อด้านล่าง) ทำยอดรายรวมกันในออสเตรเลียราว 3.1 ล้านเครื่อง

  • Galaxy A5 (2017)
  • Galaxy A7 (2017)
  • Galaxy S7
  • Galaxy S7 Edge
  • Galaxy S8
  • Galaxy S8+
  • Galaxy Note

โฆษณากันน้ำ แต่น้ำเข้า ไม่รับประกัน

สาเหตุที่ทำให้ Samsung Australia โดนฟ้องร้อง เป็นเพราะมีโฆษณาบางตัวที่สื่อให้เห็นว่า “มือถือสามารถใช้งานใต้น้ำได้” และ “มือถือสามารถใช้งานในน้ำทะเลได้” ซึ่ง ACCC มองว่าขัดแย้งกับมาตรฐาน IP Rating ที่เป็นการทดสอบในน้ำจืด แถมยังมีลูกค้าร้องเรียนมาด้วยว่า พอน้ำเข้ามือถือขึ้นมาจริง ๆ ก็โดนปฏิเสธการรับประกันอีก

ทาง ACCC ยังชี้ให้เห็นว่า การเอาโทรศัพท์ไปจุ่มน้ำอะไรก็ตามที่ไม่ใช่น้ำจืด อาจส่งผลเสียหายต่ออุปกรณ์ในระยะยาวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับน้ำทะเลที่มีโอกาสทำให้พอร์ตชาร์จสึกกร่อน ซึ่ง Samsung Australia ไม่ได้ทำการทดสอบและให้ข้อมูลในส่วนนี้แก่ลูกค้า (หรืออาจทดสอบแล้ว แต่ไม่บอก ทาง ACCC ก็มองว่าผิดอยู่ดี )

หวิดไปนิดเดียว… ซัมซุงเกือบต้องเสียค่าปรับเพิ่มอีกเยอะ

ในข่าวร้ายของ Samsung Australia ก็ยังถือว่าพอมีข่าวดีอยู่นิด ๆ เพราะในเดือนสิงหาคม 2561 ทางออสเตรเลียมีการผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่าเดิม แต่เคสส่วนใหญ่ที่เป็นคดีความนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น จึงยึดอัตราค่าปรับตามกฎหมายฉบับเก่า ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วละก็… Samsung Australia คงต้องเสียเงินเพิ่มอีกบานตะไทเลย แค่ 363 ล้านบาทนี่ก็เยอะมากแล้ว

เคสนี้ไม่ใช่เคสแรก โซนี่ก็เคยโดนมาแล้ว

กรณีฟ้องร้องที่เกิดกับ Samsung Australia ไม่ใช่พึ่งจะมีครั้งแรก ก่อนหน้านี้ Sony ก็โดนคล้าย ๆ กัน โดยเป็นการฟ้องร้องแบบกลุ่มในสหรัฐฯ สุดท้าย Sony ก็ถูกตัดสินว่ามีความผิด ต้องยอมจ่ายเงินชดเชยให้ลูกค้าสูงสุด 50% ของราคาเครื่อง (อ่านเพิ่มเติม)

จะเห็นได้ว่า ช่วงปีหลัง ๆ ทั้ง Samsung ก็ดี Sony ก็ดี รวมถึงแบรนด์อื่น ๆ ที่มีมือถือทนน้ำ จะโฆษณาคุณสมบัติด้านนี้กันอย่างระมัดระวัง พยายามหลีกเลี่ยงภาพหรือข้อความที่เสี่ยงทำให้ลูกค้าเข้าใจผิด หรือบางยี่ห้อไม่พูดถึงเลยก็มีเหมือนกัน

 

ที่มา : ACCC (2)