Smart Watch หรือ Smart Band ทุกวันนี้ต้องบอกว่ามีการใส่เซนเซอร์เข้ามาให้มากมาย เห็นเรือนเล็กๆ แต่ตรวจวัดค่าต่างๆ ได้หลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในฟีเจอร์ที่หลายคนอาจมองข้าม หรือใช้เพียงแค่ตรวจสอบคุณภาพการนอน อย่างเซนเซอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2) วันนี้น่าจะเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อออกซิเจนในเลือดที่ลดลง อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อ COVID-19 ก็เป็นได้
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 มีรายงานพบผู้ป่วย COVID-19 ที่ตรวจพบออกซิเจนในเลือดต่ำโดยไม่ได้มีอาการแสดงใด ๆ ที่บ่งบอกถึงภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำเลย ทั้งที่โดยปกติร่างกายเราจะต้องตอบสนองด้วยการหายใจที่บ่อยขึ้น ยาวขึ้น เพื่อรักษาระดับออกซิเจนในร่างกายไปแล้ว ซึ่งมีการเรียกภาวะนี้ว่า Silent hypoxia หรือ Happy hypoxia1
Happy Hypoxia อาการร้ายแรงจากโควิดที่มาแบบเงียบ ๆ
Happy hypoxia ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย? ปกติแล้วเมื่อออกซิเจนในร่างกายลดลงจนถึงจุด ๆ หนึ่ง จะเกิดการกระตุ้นส่วนที่เรียกว่า Carotid body ซึ่งอยู่ใกล้กับหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ การกระตุ้นนี้จะส่งผลให้ร่างกายตอบสนองด้วยอาการ “หิวอากาศหายใจ” คือผู้ป่วยจะมีอากาศหายใจเร็ว และรู้สึกหายใจไม่อิ่ม (Dyspnea) ซึ่งอาการเหล่านี้จะพบได้ในผู้ป่วยโรคปอดบวม หรือผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว และที่สำคัญคือมันน่าจะเจอในผู้ป่วย COVID-19 ด้วย
และปัญหามันก็อยู่ตรงที่ว่าผู้ป่วย COVID-19 บางรายอาจจะไม่แสดงอาการหิวอากาศหายใจเลย แถมยังใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนปกติเสียด้วยซ้ำ จนกระทั่งระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงมากจนร่างกายไม่สามารถทนได้แล้ว ค่อยแสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน และอาการเหล่านั้นยังมีความรุนแรงจนอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว
ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าเหตุใดผู้ป่วย COVID-19 จึงไม่แสดงอาการของภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ แต่ก็มีหลักฐานมากพอที่บ่งชี้ว่าการติดเชื้อโคโรนาไวรัส มีส่วนทำให้ Carotid body ทำงานผิดเพี้ยน และไม่เกิดการตอบสนองต่อระดับออกซิเจนในเลือดที่ลดลง
เซนเซอร์ SpO2 ในนาฬิกาช่วยเฝ้าระวังโควิดได้
กลับมาที่ประเด็นของเรากันนะครับ เหตุใด Smart Watch หรือ Smart Band ที่มาพร้อมฟีเจอร์วัดปริมาณออกซิเจนในเลือด จึงมีประโยชน์ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ??
จากความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Happy hypoxia ของผู้ป่วย COVID-19 ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ทำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อ สามารถเฝ้าระวังความรุนแรงของโรคได้จากระดับออกซิเจนในเลือด ด้วยเซนเซอร์ SpO2 ใน Smart Watch หรือ Smart Band อย่างน้อยมันก็ช่วยเตือนให้คุณไปตรวจเช็คซ้ำกับแพทย์ในโรงพยาบาล เพื่อดำเนินการตรวจหาเชื้อได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ เนื่องจากการวัดอุณหภูมิร่างกาย (วัดไข้) อาจจะไม่สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อได้ เพราะเครื่องวัดอุณหภูมิมีความคลาดเคลื่อนได้จากหลายปัจจัย (เช่น อุณหภูมิในสิ่งแวดล้อมรบกวนการตรวจ) หรือผู้ป่วยอาจจะไม่มีไข้เลยก็ได้ ทำให้การวัดอุณหภูมิร่างกายคงไม่เพียงพอต่อการคัดกรอง
จากรายงานของหน่วยบริการสุขภาพแห่งชาติในประเทศอังกฤษ2 จึงเพิ่มวิธีการคัดกรองโดยใช้เซนเซอร์ SpO2 วัดระดับออกซิเจนในเลือด และยังแนะนำให้ประชาชนซื้อติดไว้คอยคัดกรองบุคคลในครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อการเชื้อ COVID-19 ด้วย หากระดับออกซิเจนในเลือดเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ให้สงสัยว่าคน ๆ นั้นอาจติดโคโรนาไวรัส จำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติมและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด (แม้เขาจะไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ ออกมาเลย)
การทำงานของเซนเซอร์ SpO2
การทำงานของเซนเซอร์วัดออกซิเจนในเลือด ใน Smart Watch และ Smart Band จะใช้หลักการสะท้อนของแสง หากสังเกตดี ๆ เซนเซอร์จะปล่อยแสงสีแดง (บางแบรนด์ใช้สีเขียว) พร้อมคลื่นอินฟราเรดที่ตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ออกมาพร้อมกัน แสงสีแดงจะทะลุผ่านเฉพาะเม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนมาก ในขณะที่คลื่นอินฟราเรดจะทะลุผ่านเฉพาะเม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนน้อย3
image credit : GARMIN : Pulse Ox
ดังนั้น การประเมินระดับออกซิเจนในร่างกาย จะดูจากปริมาณแสงสีแดงที่สะท้อนกลับสู่อุปกรณ์ของคุณนั่นเอง ซึ่งอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนปลายนิ้วที่นิยมใช้กันในโรงพยาบาล ก็อาศัยหลักการสะท้อนของแสงเช่นเดียวกันครับ
ตัวอย่าง Smart Watch และ Smart Band ที่มีฟีเจอร์วัดระดับออกซิเจนในเลือด
รวมนาฬิกาสมาร์ทวอทช์และสมาร์ทแบนด์ กว่า 20 รุ่น ที่ใช้วัดค่าออกซิเจนในเลือดได้ (SpO2)
สำหรับ Smart Watch – Smart Band ที่สามารถตรวจวัดความเข้มข้นของออกซิเจน (SpO2) ได้ เรารวบรวมมาให้ตรงนี้ละกัน ถ้าตกหล่นไปก็มาแจ้งเพิ่มเติมได้ (ปล. บางรุ่นจะวัดต่อเมื่อกดสั่งเท่านั้น ไม่สามารถติดตามวัดค่าเองได้ตลอดทั้งวันนะ ซึ่งเราจะทำเครื่องหมาย ◐ เอาไว้ให้นะครับ และโปรดเช็คสเปคอีกครั้งก่อนซื้อนะครับ)
Apple
- Apple Watch Series 6
Huawei
- Huawei Honor Band 5 SpO2
- Huawei Watch Fit 2020
- Huawei Watch GT
- Huawei GT2 Pro/GT2e
- Huawei Band 4 Pro ◐
- Huawei Band 6 ◐
Honor
- Honor Magic Watch 2 ◐
- Honor Band 6 ◐
Garmin
- Garmin Forerunner
- Garmin Vivoactive 4
- Garmin Vivosmart 4
- Garmin Instinct Solar
- Garmin Venu SQ
Fitbit
- Fitbit Versa 3
- Fitbit Sense
OPPO
- Oppo Band ◐
Samsung
- Samsung Galaxy Watch3
TicWatch
- TicWatch 3 Pro
Xiaomi
- Mi Watch
- Amazfit GTR 2 / 2e ◐
- Amazfit T-Rex Pro ◐
- Amazfit Bip U Pro ◐
SpO2 นับว่าเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ถึงกระนั้น การป้องกันก็ดีกว่าการตามแก้ไขนะ ยังไงเพื่อน ๆ ก็อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกจากบ้านกันด้วยนะครับ
ที่มา
- 1 Study explains fluctuation in blood oxygenation levels in COVID-19 patients | Aninews
- 2 Covid-19: Patients to use pulse oximetry at home to spot deterioration | BMJ
- 3 Pulse Ox Pulse Oximetry Functionality | Garmin
1. อุปกรณ์พวกนี้ ระดับ consumer grade ไม่ใช่ medical grade นะครับ
2. ต่อให้เป็น medical grade device สังเกตว่าเค้าใช้งานแบบจำเพาะที่มากๆ เช่น งับตรงปลายนิ้ว งับตรงติ่งหู เป็นต้น และเลือกระดับความแรงเองไม่ได้ ซึ่งต่างกับสายนาฬิกา ที่แล้วแต่คนจะรัด รัดแน่น รัดอ่อน
คือ มันอาจจะใช้เปรียบเทียบในตัวเองได้ แต่จะถือเอาเป็นสรณะ น่าจะลำบากครับ
1.ใช่ครับ แต่ใช้ดูคร่าวๆ ได้
2.อันนั้นมันออกแบบมาให้ใช้กับติ่งหูหรือปลายนิ้ว เอามารัดแขนไม่ได้เช่นกันครับ
3.ความแรงในการรัด ส่งผลต่อการวัดยังไงนะครับ