ผู้ให้บริการสตรีมเพลงรายใหญ่ ๆ จากเดิมที่แข่งขันกันเรื่องปริมาณเพลงที่มีให้เลือกสรรและอัตราค่าบริการที่เป็นมิตรกับลูกค้าแล้ว เทรนด์ใหม่ที่ได้มีการเพิ่มเข้ามาคือ แพ็กเกจ “ฟังเพลงระดับ HiFi” หรือที่เรียกกันว่า Lossless โดยให้คุณภาพเสียงเทียบเท่า CD ต้นฉบับ สูงกว่า Lossy แบบธรรมดา แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า คนส่วนใหญ่แยกแยะความแตกต่างของคุณภาพเสียงดังกล่าวไม่ค่อยออก จึงเกิดคำถามตามมาว่า “จำเป็นจริง ๆ ไหมที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่ออัปเกรดเป็น HiFi”

ไฟล์เพลง Lossless และ Lossy คืออะไร คุณภาพแตกต่างกันแค่ไหน

 

เปรียบเทียบไฟล์เพลงจากต้นฉบับเดียวกัน เข้ารหัสแบบ Lossless (ซ้าย) และ Lossy (ขวา)

การเข้ารหัสเสียงเพื่อจัดเก็บไฟล์ในระบบดิจิทัล หลัก ๆ แล้วแบ่งออกเป็นสองรูปแบบ ได้แก่ Lossless และ Lossy ซึ่งมีความหมายตรงตัวคือ ไฟล์เพลงที่ “ไม่สูญเสีย” และ “สูญเสีย” ข้อมูล

  • Lossless : เป็นการเข้ารหัสเสียงที่ผ่านการบีบอัดมาแล้ว เช่น FLAC และ ALAC หรือไม่ผ่านการบีบอัดก็ได้ เช่น WAVE ซึ่งจะให้คุณภาพเสียงเทียบเท่าต้นฉบับ มีได้ตั้งแต่ระดับ CD บิตเรต 1,411 kbps ไปจนถึง Hi-Res บิตเรต 9,216 kbps
  • Lossy : รูปแบบการเข้ารหัสเสียงที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น MP3 และ ACC โดยมีการตัดทอนเสียงในย่านความถี่สูง ๆ ที่หูมนุษย์ไม่สามารถรับรู้หรือรับรู้ได้น้อยออกไป จนเหลือบิตเรตตั้งแต่ 320 kbps ลงไป ช่วยให้ประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บไฟล์และเหมาะต่อการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต

มีผลการทดลองจำนวนนับไม่ถ้วนที่แสดงให้เห็นตรงกันว่า หูของมนุษย์ปกติสามารถรับรู้เสียงได้ในช่วงความถี่ตั้งแต่ 20 ไปจนถึง 20,000 Hz โดยประมาณ[1] อาจเพิ่มหรือลดได้มากกว่านี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และจะลดลงเรื่อย ๆ แปรผันตามอายุที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นไฟล์เพลงแบบ Lossy บิตเรต 320 kbps จึงละทิ้งคลื่นเสียงในย่านความถี่สูง ๆ ที่ไม่จำเป็นทิ้งไป และคลื่นเสียงในย่านความถี่ต่ำก็ไม่หนาแน่นเท่า Lossless บิตเรต 1,411 kbps ด้วย ดูตัวอย่างเปรียบเทียบได้จากภาพด้านบน

ไฟล์เพลงฟอร์แมต FLAC (ซ้าย) มีขนาดใหญ่กว่า MP3 (ขวา) ราว 4 เท่า
หากเป็น Hi-Res จะยิ่งกินพื้นที่กว่านี้อีกมากโข

Apple เป็นอีกหนึ่งค่ายที่ได้เพิ่มบริการตรีมเพลงคุณภาพสูงเข้ามาใน Apple Music ในปีนี้โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากแผนบริการตามปกติ แต่บริษัทฯ ได้เขียนอธิบายไว้อย่างตรงไปตรงมาบนเว็บไซต์ว่า ระหว่าง AAC ที่เป็น Lossy กับ ALAC ที่เป็น Lossless นั้น มีความแตกต่างกันน้อยมากเสียจนแยกแทบไม่ออก[2]

ทดสอบการรับรู้เสียง Lossless และ Lossy ง่าย ๆ ในไม่กี่นาที

สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่อยากทราบว่า หูของตนเองนั้นแยกแยะความแตกต่างระหว่างเสียง Lossless และ Lossy ได้มากหรือน้อยเพียงใด ก็สามารถไปทดสอบกันได้ที่เว็บไซต์ ABX โดยให้ลองฟังเพลงจากช่อง “X” เปรียบเทียบระหว่าง “A” และ “B” แล้วจับคู่ให้สัมพันธ์กัน ซึ่งแต่ละครั้งเพลงในช่อง X จะเป็นการสุ่มไปเรื่อย ๆ สลับระหว่าง Lossless กับ Lossy ไม่ตายตัว ยิ่งทำการทดสอบมากเท่าไหร่ ผลลัพธ์จะยิ่งมีนัยสำคัญทางสถิติมากขึ้นเท่านั้น แต่หากใครไม่อยากเสียเวลานาน ๆ ก็เลือดแค่ 5 แทร็กพอ

ทดลองฟังเพลงแล้วพิจารณาว่า X นั้นตรงกับ A หรือ B
ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนครบจะมีผลทดสอบแสดงให้ดู

นอกเหนือจากหูของเราแล้ว สภาพแวดล้อม ประเภทและคุณภาพของอุปกรณ์เองก็ส่งผลต่อการได้ยินด้วย การทดสอบด้วย “หูฟัง” ใน “ห้องที่เงียบ” จะให้ผลลัพธ์แม่นยำที่สุด ส่วนลำโพงอาจแยกแยะความแตกต่างได้ยากกว่าระดับหนึ่ง

ควรจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อฟังเพลง HiFi ไหม

แพ็กเกจ HiFi ยังพอมีเหตุผลดี ๆ บางประการให้สมัครใช้บริการอยู่บ้าง เพราะประสาทการได้ยินของมนุษย์นั้นมีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก อาจไม่ใช่แค่เสียงเท่านั้นที่ส่งผลต่อการรับรู้ของสมอง การแปะป้ายว่า Lossless หรือ Hi-Res อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า “เสียงมันไพเราะ” ขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดอะไร และตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า หูของมนุษย์แต่ละคนมีประสิทธิภาพการได้ยินไม่เท่ากัน บางคนอาจแยกแยะระหว่าง Lossless กับ Lossy ออกอย่างง่ายดายเลยก็ได้

อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจของหลาย ๆ คนคงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ราคา” ที่ตอนนี้ผู้ให้บริการหลาย ๆ เจ้าก็แข่งขันกันเข้มข้นมากขึ้น ทั้ง TIDAL, Deezer และ Amazon Music ต่างปรับลดค่าแพ็กเกจ HiFi ของตัวเองลงมาในปีนี้ ส่วน Apple พ่วงมากับแพ็กเกจเดิมที่มีอยู่แล้ว ในขณะที่ Spotify กำลังจะตามมาเร็ว ๆ นี้ แต่ยังไม่ประกาศราคา ซึ่งถ้าไม่ห่างจากแพ็กเกจ Premium ที่ 129 บาทต่อเดือนมากนัก สมมติสักประมาณ 169 หรือ 199 บาท อะไรประมาณนี้ ก็คงน่าสนใจอยู่บ้างเหมือนกัน หรืออาจมีสิทธิพิเศษอะไรเพิ่มเติมเข้ามาอีกหรือเปล่า อันนี้ต้องรอดูกันอีกที


แพ็กเกจ HiFi ของ TIDAL ปรับราคาลงมาเหลือ 129 บาทต่อเดือนแล้ว

ปล. เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ขอย้ำว่า บทความนี้กล่าวถึงการฟังเพลงผ่านบริการสตรีมเท่านั้น หากเป็นเพลงแบบออฟไลน์ให้จัดเก็บเป็นรูปแบบ Lossless จะเข้าท่ากว่าหากพื้นที่ไม่ใช่ปัญหา เพราะสามารถแปลงเป็นฟอร์แมตอะไรก็ได้ในภายหลังอย่างยืดหยุ่นนั่นเองครับ

อ้างอิง