เทเลนอร์ เอเชีย เผยผลจากการศึกษาหัวข้อ Digital Lives Decoded ที่สำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือมากกว่า 8,000 ราย ในประเทศบังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม เพื่อมุ่งหวังเข้าใจว่าการใช้โทรศัพท์มือถือช่วยให้ผู้คนทั่วเอเชียมีชีวิตดิจิทัลที่ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจหลายอย่างทั้งการใช้งานของคนเอเชีย และคนไทย

เทเลนอร์ เอเชีย คือใคร?

คุณเพตเตอร์ บอเร่ เฟอร์เบิร์ค ประธานคณะกรรมการบริหารและรองประธานกรรมการ ของกลุ่ม Telenor
คุณ Petter-Børre Furberg (เพตเตอร์ บอเร่ เฟอร์เบิร์ค), EVP and Head of Telenor Asia 

เทเลนอร์เอเชีย เป็นหนึ่งองค์กรธุรกิจในกลุ่มเทเลนอร์ บริษัทโทรคมนาคมของนอร์เวย์ เป็นเจ้าของดีแทคในไทย โดยมีสำนักงานใหญ่ ที่สิงคโปร์ หลังการควบรวมกิจการดีแทคเข้ากับทรู เทเลนอร์ เอเชีย ถือหุ้น 30.3% ในทรู คอร์ปอเรชั่น และเป็นพันธมิตรที่เท่าเทียมกับกลุ่มซีพี

ที่ทรู คอร์ป เทเลนอร์ เอเชีย จะนำสิ่งที่ดีที่สุดจากดีแทคและทรูมาสร้างให้แข็งแกร่งขึ้น พร้อมกับวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ทีมผู้บริหารในทรู คอร์ป มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจและดำเนินการตามทิศทางเชิงกลยุทธ์และลำดับความสำคัญทางธุรกิจ ที่คณะกรรมการกำหนด Telenor มีรูปแบบการเป็นเจ้าของอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเสนอชื่อกรรมการให้เป็นคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ โดยรวมแล้ว ผลประโยชน์ในการเป็นเจ้าของเทเลนอร์ เอเชีย ในประเทศไทยได้รับการจัดการโดยทีมบริหารจัดการการลงทุนโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การกำกับดูแล การบริหารบุคลากร การดำเนินงาน และการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ

Telenor Asia

และยังทำผลสำรวจต่างๆ เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม เพื่อนำผลนั้นมาปรับใช้ในธุรกิจ เช่นการสำรวจ Digital Lives Decoded ในครั้งนี้ ที่สำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือมากกว่า 8,000 ราย ในประเทศบังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

5 ประเทศที่เชื่อมต่อออนไลน์มากที่สุด (% ของผู้ตอบที่ใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวันบนมือถือ)

  • มาเลเซีย (89%)
  • ไทย (86%)
  • ฟิลิปปินส์ (86%)
  • อินโดนีเซีย (82%)
  • สิงคโปร์ (72%)
Telenor Asia

แนวโน้มระดับภูมิภาค

  • การนำเทคโนโลยีใหม่เข้าใช้งานในที่ทำงาน: 1 ใน 5 ผู้ตอบ (22%) คาดว่าการใช้ Generative AI จะเพิ่มขึ้นมากใน 6 เดือนถัดไป ในขณะที่ส่วนใหญ่ (86%) ต้องการการฝึกอบรมเพิ่มเติมจากนายจ้างของพวกเขา
  • ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยยังคงสูง: ผู้คน 9 คนจาก 10 คนกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเมื่อใช้มือถือของพวกเขา โดยเกือบสามคนจากสิบคนรายงานว่าพวกเขาพบการพยายามการล่อเข้ามาทางอีเมลสแปมทุกสัปดาห์
  • การใช้มือถือยังคงเพิ่มขึ้น: 3 จาก 4 คนใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวันในการใช้อุปกรณ์มือถือ และมี 70% คาดว่าเวลานี้จะเพิ่มขึ้นในปีหน้า โดยเป็นการใช้เรื่องงาน 76%

ผลสำรวจที่น่าสนใจด้านต่างๆ ของการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย

คนไทยมีแนวโน้มเชื่อมต่อบนโลกออนไลน์มากที่สุดของเอเชีย

5 ประเทศ ที่คาดว่าการใช้มือถือจะเพิ่มขึ้นในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า

  • ไทย (83%) 838 คน จาก 1,010 คน ที่ตอบแบบสำรวจ
  • มาเลเซีย (73%)
  • ปากีสถาน (73%)
  • ฟิลิปปินส์ (72%)
  • อินโดนีเซีย (69%)

จากผลสำรวจ 2 อย่างข้างต้น คนไทยเรานั้นถือว่าเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในการเชื่อมต่อบนโลกออนไลน์มากที่สุด โดยร้อยละ 86 ของคนไทยใช้เวลามากกว่าครึ่งวันบนโทรศัพท์มือถือ และจะมีการเพิ่มขึ้นในอีก 1 ถึง 2 ปีข้างหน้ากว่าร้อยละ 83 ซึ่งจะขึ้นมาเป็นที่ 1 แซงหน้ามาเลเซีย

การมีความสามารถด้านเทคโนโลยี จะทำให้ก้าวหน้าทางด้านอาชีพการงาน

การใช้ Generative AI

จะเห็นว่าช่วงนี้ บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ทุ่มทุนพัฒนา AI ของตัวเอง เพราะผลตอบรับการใช้งานดีเกินคาด โดยเฉพาะในไทย ที่นอกจากมีการเชื่อมต่อมือถือสูง และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงเรื่อยๆ

  • ธุรกิจไทยกำลังเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ณ ที่ทำงาน: เกือบ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 66 เชื่อว่าการใช้ AI ในที่ทำงานจะเพิ่มขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในเอเชีย
  • การทำงานผ่านโทรศัพท์มือถือ ไทยเป็นอันดับหนึ่ง: 66% ระบุว่าจะเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นมาก (ระดับภูมิภาค 54%)

ธุรกิจในไทยยังคงเปิดรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยกว่าร้อยละ 82 ระบุว่าองค์กรของพวกเขาสนับสนุนให้พนักงานใช้ generative AI ในที่ทำงาน มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่บอกว่าองค์กรของตนห้ามหรือไม่สนับสนุนการใช้ AI ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่ทำการสำรวจ ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15

Telenor Asia

ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเกือบครึ่งเชื่อว่าการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่สามารถช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีความก้าวหน้าในการทำงานได้ (ร้อยละ 53) ช่วยในการเปลี่ยนอาชีพ (ร้อยละ 37) หรือการจัดตั้งธุรกิจของตนเอง (ร้อยละ 31) ซึ่งเป็นรากฐานของศักยภาพอันมหาศาลของการเชื่อมต่อผ่านมือถือ

การใช้มือถือ ทำให้เข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ทำเงินได้มากขึ้น

ดังจะเห็นได้จากช่วงโควิด ที่คนไทยหลายคนพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ยกระดับทักษะและสร้างแหล่งรายได้ใหม่ เมื่อทำงานออนไซต์ไม่ได้ ทุกคนจึงหันมาหาเงินกันทางออนไลน์มากขึ้น อย่างเช่นบนแพลตฟอร์ม TikTok ที่เกิดดาวขึ้นมากมายช่วงนั้น และหลายคนก็หันไปค้าขายออนไลน์มากขึ้น

ร้อยละ 57 ของผู้ตอบแบบสำรวจในปีนี้กล่าวว่าอุปกรณ์เคลื่อนที่ของตนยังคงเปิดประตูสู่การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจที่เกือบร้อยละ 91 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาใช้มือถือเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

Telenor Asia

โดยการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ สามารถแบ่งได้ดังนี้ ทักษะด้านการสื่อสาร เช่น การเรียนรู้ภาษาใหม่ (ร้อยละ 67) และการจัดการโซเชียลมีเดีย (ร้อยละ 63) ซึ่งกลายเป็นทักษะที่ต้องการมากที่สุดในการเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์มือถือ ทั้งนี้ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้การจัดการโซเชียลมีเดียของคนไทยมีความโดดเด่นเป็นอันดับที่สูงที่สุดในการสำรวจ

โดยกว่าร้อยละ 72 กล่าวว่าพวกเขาต้องการใช้ทักษะที่มีเพื่อหารายได้เพิ่มเติม และแหล่งรายได้ใหม่ยอดนิยมที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่มาจากการลงทุนออนไลน์ (ร้อยละ 55) การขายในตลาดออนไลน์ (ร้อยละ 40) และการกลายเป็นนักสร้างคอนเทนต์ (ร้อยละ 38)

แพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนไทยนิยมใช้ติดตามข่าวสาร

โดย Facebook ยังคงเป็นแอปพลิเคชัน ยอดนิยมในการเชื่อมต่อกับกลุ่มคน (ร้อยละ 57) และรับข้อมูลข่าวสาร (ร้อยละ 52) อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะเริ่มแรก โดยเกือบ 1 ใน 8 ของเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 29 ปีได้รับข่าวสารจาก TikTok

คนไทยส่วนใหญ่ใช้ระบบ 5G ทำอะไร

  • การสตรีมวิดีโอหรือเพลง (ร้อยละ 84)
  • ทำงานหรือเรียน (ร้อยละ 69)
  • เล่นเกม (ร้อยละ 66)

การเล่นเกมบนมือถือยังคงเป็นกิจกรรมอดิเรกยอดนิยม และผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะใช้โทรศัพท์เพื่อเล่นเกม โดยเกือบครึ่งของผู้เข้าร่วมให้ข้อมูลของรายงานหรือร้อยละ 44 กล่าวว่าพวกเขาใช้อุปกรณ์มือถือเพื่อเล่นเกมส์ในทุกๆวัน โดยค่าเฉลี่ยของระดับภูมิภาคที่อยู่ที่ร้อยละ 30

โดยคนไทยถึง 3 ใน 4 รู้สึกว่าตนมีสมดุลที่ดีในการใช้เทคโนโลยี และไม่ได้มีการใช้งานที่มากเกินไป

คนไทยหัวร้อนถ้าเน็ตหลุด

ผู้ใช้มือถือชาวไทย มีแนวโน้มที่จะรู้สึกหงุดหงิดมากกว่าผู้ใช้ในระดับภูมิภาค เมื่อไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือได้ถึงร้อยละ 55 เลยทีเดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคจะอยู่ที่ร้อยละ 39

คนไทยนิยมใช้มือถือทำธุรกรรมทางการเงิน จัดการค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ผลสำรวจว่าคนไทยเชื่อมต่อออนไลน์สูง ไม่เว้นแม้แต่การใช้โทรศัพท์เพื่อจัดการธุรกรรมทางการเงิน จัดการค่าครองชีพที่สูงขึ้น ถือว่าคนไทยเราใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งสูงมากๆ คิดเป็นร้อยละ 93 ที่ใช้มือถือในการทำธุรกรรม

ส่วนใหญ่ใช้มือถือเพื่อเปรียบเทียบราคา (ร้อยละ 74) ค้นหาข้อเสนอที่ดีที่สุด (ร้อยละ 64) หรือติดตามการใช้จ่าย (ร้อยละ 49) ทั้งนี้อีกร้อยละ 93 ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อจัดการธุรกรรมทางการเงินทุกสัปดาห์ และ อีกร้อยละ 55 กำลังที่จะลงทุนออนไลน์เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่

คนไทยสบายๆ กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยน้อยที่สุด

Telenor Asia

จากผลสำรวจ คนไทยมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยบนโทรศัพท์น้อยที่สุด ซึ่งมีความโดดเด่นกว่าคู่แข่งในระดับภูมิภาคเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยในกลุ่มที่เป็นผู้ตอบแบบสอบถามอันดับต้น ๆ กล่าวว่าพวกเขาไม่ได้กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในระดับภูมิภาคอยู่ที่เพียงร้อยละ 8 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ชาวไทยมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ของผู้สูงอายุ (ร้อยละ 75) และเด็กเยาวชน (ร้อยละ 72) โดยพวกเขาเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการให้ความรู้แก่สมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับความปลอดภัยทางออนไลน์คือการให้แนวทางสำหรับพฤติกรรมออนไลน์ (ร้อยละ 71) และการพูดคุยอย่างเปิดเผย (ร้อยละ 61)

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยมีการให้แสดงความกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล (ร้อยละ 77) โดยเป็นการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว (ร้อยละ 69) และการคุกคามทางออนไลน์ (ร้อยละ 57) และบ่อยครั้งที่พวกเขาเผชิญกับข่าวปลอม การหลอกลวง และความรู้สึกติดกับโลกออนไลน์ ซึ่งพวกเขายังเผชิญกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ในระดับสูงสุดในภูมิภาค โดยเกือบครึ่ง (ร้อยละ 47) รายงานว่าพวกเขาประสบปัญหานี้อย่างน้อยเดือนละครั้ง

เทเลนอร์ เอเชีย ในฐานะหุ้นส่วนเครือข่ายโทรคมนาคมในไทย จะมีส่วนช่วยยังไงในเรื่องความปลอดภัยนี้

โดยเราได้รับคำตอบมาว่า องค์ประกอบที่สำคัญของประเทศดิจิทัลที่ครอบคลุม คือการทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีบุคคล ชุมชน หรือธุรกิจใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การสร้างทักษะด้านดิจิทัลในหมู่ประชาชน เป็นขั้นตอนสำคัญในการลดช่องว่างการใช้งาน โดยทำให้ทุกคนรู้สึกสบายใจและปลอดภัย ด้วยแนวทางที่ให้ความสำคัญกับดิจิทัลเป็นอันดับแรก การปกป้องผู้ใช้ทุกคนถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน และต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของบุคคล ภาครัฐ และบริษัทโทรคมนาคม การสร้างทักษะด้านดิจิทัลถือเป็นสิ่งสำคัญและควรฝังไว้ในโปรแกรมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต บริษัทโทรคมนาคมสามารถเสริมด้วยเนื้อหาด้านความปลอดภัยออนไลน์และแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การสนทนาในชั้นเรียนไปจนถึงวิดีโอการฝึกอบรมออนไลน์ นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้านความปลอดภัยที่ช่วยให้ผู้คนป้องกันตนเองจากความเสี่ยงด้านความปลอดภัย การฉ้อโกง และความเป็นส่วนตัว รวมถึงตัวกรองและแอปที่ช่วยหยุดอีเมลที่ไม่พึงประสงค์ ปกป้องรูปภาพ หรือรายงานกลโกง

ค่าแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตของไทย แพงหรือไม่ คุ้มค่าต่อการจ่ายเงินไหม?

คุณเพตเตอร์ บอเร่ เฟอร์เบิร์ค EVP and Head of Telenor Asia ได้ตอบว่า หากเทียบค่าแพ็คเกจของไทยกับต่างประเทศ ค่าอินเทอร์เน็ตของไทยค่อนข้างถูก และเป็นสิ่งที่คุ้มกับการลงทุน เพราะเราสามารถสร้างรายได้และโอกาสผ่านการใช้งานมือถือและอินเทอร์เน็ตได้

ดูผลสำรวจฉบับเต็ม https://www.telenorasia.com/stories/telenor-asia-digital-lives-decoded-2023/