เป็นอีกเรื่องที่น่ายินดีกับการพัฒนาระบบแอปพลิเคชั่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทางการแพทย์อย่าง DeepEye ที่ช่วยตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขึ้นตาเนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจากโรคเบาหวาน ซึ่งในระยะยาวแล้วอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะตาบอดได้ และยังคว้ารางวัล Grand Prix จากงานสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ครั้งที่ 45 (International Exhibition of Inventions) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
แอปพลิเคชั่น DeepEye ถูกพัฒนาโดยทีมจักษุแพทย์ร่วมกับทีมวิศวกรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกอบด้วย รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์, รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต และผศ.นพ.ณวพล กาญจนารัณย์ หลักการของแอปพลิเคชัน DeepEyeได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือระบบ Artificial Intelligence มาใช้ร่วมด้วยในขั้นตอนการประมวลผลความเสี่ยงของโรค โดยตรวจสอบภาพจากรูปจอตาของผู้ป่วยที่ถ่ายบันทึกไว้ หลักการทำงานโดยรวมมีดังนี้
- เก็บข้อมูลภาพถ่ายจอตาของผู้ป่วยเพื่อสร้างฐานข้อมูลในการจำแนกโรค
- เชื่อมต่อกับกล้องถ่ายรูปจอประสาทตาแบบพกพาราคาประมาณ 3 แสนบาท แทนการใช้เครื่องตรวจจอตาของโรงพยาบาลที่มีราคาล้านกว่าบาท
- เมื่อถ่ายภาพจอตาของผู้ป่วย ระบบจะอัพโหลดรูปเข้าไปในแอพพลิเคชั่นพร้อมกับส่งข้อมูลไปที่เซิร์ฟเวอร์ ระบบ AI จะประมวลผลและแจ้งกลับมาแบบเรียลไทม์
- สามารถตรวจคัดกรองและจำแนกภาพถ่ายจอตาได้ 3 ประเภทใหญ่ ดังนี้
1. ปกติ (Normal)
2. มีเบาหวานขึ้นจอตา ( Diabeticretinopathy : DR)
3. โรคอื่นๆ (Other Diseases) - หากตรวจพบข้อใดข้อหนึ่ง เช่น ผู้ป่วยเป็นเบาหวานขึ้นตาหรือ DR ระบบยังสามารถบอกระดับความรุนแรงของโรคออกเป็น 4 ระดับ เล็กน้อยจนถึงรุนแรง หรือมีเส้นเลือดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นระยะเสี่ยงที่ผู้ป่วยตาบอดได้มากที่สุด
ปัจจุบันแอปพลิเคชัน DeepEye มีความแม่นยำอยู่ที่ 95% หากมีการภาพถ่ายจอตาของผู้ป่วยเก็บไว้เพื่อเป็นฐานข้อมูลมากขึ้นจะทำให้มีความแม่นยำเพิ่มขึ้นเป็น 99% ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานสากล โดยผู้พัฒนาคาดว่าจะใช้เวลาอีก 6 เดือน ก็จะเตรียมส่งให้ สปสช. ไปใช้กับโรงพยาบาลชุมชน
ถือเป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียวกับการพัฒนาครั้งนี้ในวงการแพทย์ที่จะสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยได้ในอนาคต และช่วยลดภาระรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งของรัฐบาลและประชาชนอย่างเราๆ ด้วย นอกจากนั้นตัวแอป DeepEye ยังได้รับความสนใจจากทีมแพทย์สวิส รวมถึง Google ที่กำลังสนใจและพัฒนาระบบ AI ทางการแพทย์ด้วย
ที่มา med.tu, bangkokbiznews.com
สุดยอดมาก ขอให้สามารถนำไปใช้งานได้เร็วๆ นะครับ
ผ่านมาถึงวันนี้มันถูกพัฒนาไปถึงไหนแล้ว และมีโอกาสที่จะพัฒนาไปจนถึงการตรวจสอบเทียบเคียงในบุคคลทั่วไปเลยได้หรือไม่ (ตรวจเบื้องต้นด้วย smartphone ทั่วไปโดยยังไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์ใน รพ. มาก)