สถานการณ์ COVID-19 ถือว่าทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการระบาดรอบที่ 3 ที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจหลาย ๆ ภาคส่วนต่างหยุดชะงักไปตาม ๆ กัน ซึ่งวิธีเดียวที่จะสามารถบรรเทาสถานการณ์นี้ได้คือการเริ่มแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้ไวที่สุด โดยไม่นานมานี้หอการค้าได้เจรจากับหน่วยงานรัฐเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอกชนที่มีกำลังเงินสามารถซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้กับบุคลากรในบริษัทได้แล้ว

เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอกชนจ่ายค่าวัคซีนให้พนักงาน 

แบบฟอร์มแสดงความประสงค์ซื้อ “Vaccine ฟื้นเศรษฐกิจ” https://thaichamber.org/question/159

สภาหอการค้าไทยได้เปิดเว็บไซต์ ให้ผู้ประกอบการเอกชน ลงชื่อเพื่อขอซื้อวัคซีน COVID-19 ไปฉีดให้กับพนักงานในบริษัทเองได้ (ต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้นนะ) ซึ่งล่าสุดมีหลายองค์กรแจ้งความประสงค์เพื่อซื้อวัคซีนแล้วมากกว่า 1 ล้านโดส ถ้ามีคนลงชื่อครบ 5 ล้านโดสเมื่อไหร่ ทางหอการค้าจะรีบส่งข้อมูลให้กับทางรัฐบาลเพื่อรีบหาซื้อวัคซีนมาให้ฉีดในทันทีเลย เห็นแบบนี้ถ้าบริษัทห้างร้านต่าง ๆ เริ่มฉีดวัคซีนก่อนคนอื่น ธุรกิจอาจฟื้นฟูได้ไวขึ้นก็เป็นได้ครับ

 

100 ล้านโดสให้ทันสิ้นปี ตอนนี้ไทยมีวัคซีนอะไรบ้าง

ชาร์ตสรุปจำนวนวัคซีนที่มี และ 35 ล้านโดสที่เหลือที่ต้องหาเพิ่ม

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าว่าจะหาวัคซีนให้ได้เพิ่มเติมจนครบ 100 ล้านโดส (จากเดิมที่ตั้งไว 70 ล้าน) เพื่อฉีดให้กับประชาชนไทยราว ๆ 50 ล้านคน (นับเป็น 70% ของประชากรทั้งหมด ) ให้ทันสิ้นปี 2564 ซึ่งถ้าสรุปรวม ๆ แล้วตอนนี้ประเทศไทยมีวัคซีนดังนี้ (รวมเป็นประมาณ 65 ล้านโดส)

  • AstraZeneca – 61 ล้านโดส เริ่มส่งเดือนมิถุนายนนี้ 6 ล้านโดส และเดือนต่อไปเรื่อย ๆ เดือนละ 10 ล้านโดส
  • Sinovac – 3 ล้านโดส ได้มาก่อนหน้านี้แล้ว 2.5 ล้านโดส บวกกับที่รัฐบาลจีนบริจาคให้เพิ่มอีก 500,000 โดส

ส่วนที่เหลืออีก 35 ล้านโดส ที่ต้องหามาเพิ่ม ตอนนี้ก็ยังมีเพียงแผนการคร่าว ๆ เท่านั้น สรุปรวม ๆ ก็จะมีดังนี้

  • Sputnik V – 5 ถึง 10 ล้านโดส
  • Pfizer – 5 ถึง 10 ล้านโดส
  • หอการค้าช่วยจัดหาให้ อีก 10 – 15 ล้านโดส เพื่อให้ผู้ประกอบการเอกชนนำไปฉีดให้พนักงานเองได้

โพสต์ Facebook ของท่านนายก ที่กล่าวถึง วัคซีนอีก 35 ล้านโดส

35 ล้านโดสที่เหลือจะทำการจัดซื้อโดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม ไปเจรจากับ Sputnik Vaccine และ Pfizer เพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ให้ภาคเอกชนบริจาคเงินเพื่อไปซื้อ 10-15 ล้านโดส นำไปฉีดให้พนักงานเอง ส่วนโรงพยาบาลเอกชนสามารถขอจัดซื้อเองได้เพื่อไปฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายมีความเสี่ยง ที่ไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนของตนเองแต่จะต้องทำตามเงื่อนไขความปลอดภัยที่รัฐบาลตั้งไว้ทั้งหมดดังนี้

  1. มีระบบดูแลความปลอดภัยการฉีดวัคซีนตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด
  2. มีการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนที่ถูกต้อง
  3. มีระบบติดตามอาการ และผลข้างเคียงจากวัคซีนตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด

สาเหตุที่วัคซีนไม่สามารถนำเข้า และจำหน่ายผ่านเอกชนได้เป็นเพราะว่ายังเป็นวัคซีนฉุกเฉินอยู่ และไม่มีวางขายทั่วไป เพราะฉะนั้นถ้าเอกชนต้องการจะเจรจาซื้อเองต้องมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้รับรองการซื้อขายเท่านั้น ทำให้ก่อนหน้านี้เราไม่ได้เห็นองค์กรเอกชนที่ไหนนำเข้าวัคซีนมาเอง (ยกเว้นจะจดทะเบียนเอาเองซึ่งก็ไม่ได้มีใครทำ) 

สรุป Timeline วัคซีนในไทย

ตารางสรุป Timeline การได้รับวัคซีนตามข้อมูลล่าสุด (27 เมษายน 2564)

แล้วแบบนี้คนไทยจะได้เริ่มฉีดวัคซีนกันเมื่อไหร่ ? ตอนนี้ข้อมูลที่แน่ชัดมีเพียง Sinovac 3 ล้านโดสที่ได้รับมาแล้วตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. AstraZeneca ก็สรุปข้อตกลง จะได้รับ 6 ล้านโดสแรกช่วงเดือน มิ.ย. นี้ และหลังจากนั้นอีกเดือนละ 10 ล้านโดสจนครบหมดในช่วงเดือน ธ.ค. Pfizer มีความเป็นไปได้ที่จะส่งวัคซีนให้ไทยในเดือน ก.ค. จนถึงสิ้นปี จำนวนประมาณ 5 – 10 ล้านโดส

ส่วน Sputnik V ได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวแล้ว โดยรอทาง Sputnik Vaccine ส่งคนมาเจรจาเพื่อสรุปข้อตกลงกันต่อไป ส่วนของหอการค้าที่จะจัดหาให้เอกชนก็ต้องรอล่ารายชื่อครบแล้วส่งให้กระทรวงสาธารณสุขทำเรื่องเพื่อขอซื้อต่อไปครับ คาดว่าด้วย Timeline แบบนี้ประชาชนไทยก็จะได้ทยอยรับการฉีดวัคซีนไปเรื่อย ๆ จนถึงสิ้นปีตามที่วางแผนไว้

ทำไม 100 ล้านโดสถึงฉีดให้ได้แค่ 50 ล้านคน ?

อ้างอิงจากข้อมูลเว็บไซต์ ศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า COVID-19 เป็นโรคที่จำเป็นต้องมี Follow-up Dose (การฉีดวัคซีนซ้ำหลังจากเข็มแรก) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของวัคซีน ซึ่งควรเว้นระยะห่างราว ๆ 3-4 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีนที่ฉีดไป แถมจำเป็นต้องฉีดเข็มที่สองเป็นชนิดเดียวกับเข็มแรก เช่นถ้าฉีด AstraZeneca เข็มแรก เข็มที่ 2 ก็ต้องใช้ AstraZeneca อีกครั้งนั่นเอง เพราะฉะนั้น 100 ล้านโดส จะคำนวณออกมาอยู่ที่คนละ 2 โดส เป็น 50 ล้านคนนั่นเอง

แล้ววัคซีนของใครดีที่สุด?

Play video

หลาย ๆ คนเห็นชนิดของวัคซีนกับ Efficacy Rate (ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค) ที่ออกมาจากสถาบันต่าง ๆ ก็อาจจะคิดว่า Moderna กับ Pfizer ของประเทศสหรัฐฯ ที่มีค่า Efficacy Rate สูงถึง 95% จะต้องดีที่ที่สุดแน่นอนเมื่อเทียบกับ Johnson & Johnson ที่มีค่า Efficacy Rate เพียง 66% เท่านั้น แต่มันไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะวัคซีนแต่ละชนิดผ่านการทดสอบที่มีตัวแปรแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลา และสถานที่ ทำให้ความเสี่ยงของตัวอย่างวิจัยไม่เท่ากัน ซึ่ง Moderna กับ Pfizer ทำการทดสอบในช่วงเดือน สิงหาคม – พฤศจิกายนที่มีการระบาดน้อยกว่าช่วงที่ Johnson & Jonhson ทดสอบ ผลจึงออกมาดีกว่านั่นเอง

ภาพแสดงช่วงเวลาการทดสอบวัคซีนของแต่ละชนิด อ้างจากจำนวนเคส COVID-19 ที่ระบาดในช่วงนั้น (ขอบคุณภาพจาก VOX)

ทั้งนี้ทั้งนั้นวัคซีนแต่ละรุ่นไม่ได้มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้ผู้ฉีด “ไม่ติด COVID อีกเลย” แต่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ฉีด ลดความเสี่ยงที่ไวรัสจะทำอันตรายถึงขนาดต้องเสียชีวิต หรือเข้าโรงพยาบาล ทำให้ฉีดแล้วอาจยังมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ธรรมดา แต่สามารถหายเองได้เมื่อรักษาตามอาการ เพราะฉะนั้น ฉีดของอะไรก็ได้ดีกว่าไม่ฉีดแน่นอนครับ สำหรับผู้ประกอบการเอกชนที่สนใจสามารถกรอกแบบฟอร์มแสดงความประสงค์ซื้อวัคซีนได้ที่ลิ้งก์ด้านล่างเลยครับ

Source: ThaiChamber, Brandthink, แบบฟอร์มแสดงความประสงค์ซื้อวัคซีน, CDC, HFocus