TP-Link เปิดตัวมาตรฐาน Router Wi-Fi 7 802.11be รุ่นใหม่ล่าสุดครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีจุดเด่นเรื่องแบนด์วิดท์สูงกว่า Wi-Fi 6 ที่ 46.1 Gbps (เดิม 9.6 Gbps) ช่องสัญญาณกว้าง 320 MHz รองรับเข้ารหัสข้อมูลแบบ 4096 QAM และ MU-MIMO แบบ 16×16 ช่วยให้ Wi-Fi เร็วแรง และเสถียรยิ่งกว่าเดิม พร้อมขนผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่มาตรฐาน Wi-Fi 7 หลายรุ่นหลายกลุ่ม ทั้งสำหรับใช้ในบ้าน และสำหรับองค์กร ช่วยยกระดับ Wi-Fi ไปอีกขั้น
Wi-Fi 7 คืออะไร
Wi-Fi 7 หรือ 802.11be เป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สายรูปแบบใหม่ (ใช้สำหรับ Wi-Fi เท่านั้น) ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจาก Wi-Fi 6 ทำให้ Wi-Fi 7 สามารถทำงานได้อย่างเสถียร และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดความหน่วง (Latency) และเพิ่มแบนด์วิดของ Wi-Fi โดยมาพร้อมกับแบนด์วิดท์ที่ 320 MHz รองรับเข้ารหัสข้อมูลแบบ 4096 QAM 12 Bit, ปรับปรุงเทคโนโลยี MU-MIMO ให้เป็นแบบ 16×16 รองรับการรับส่งข้อมูลพร้อมกันสูงสุด 16 สตรีม
รองรับเทคโนโลยีใหม่อย่าง Multi-RU Puncturing ที่จะทำให้เครื่องลูกข่ายสามารถใช้สลับการใช้งานคลื่นความถี่ได้อัตโนมัติ ตามปกติแล้วเวลาที่เราเชื่อมต่อคลื่นความถี่อะไรก็จะใช้คลื่นความถี่นั้นตลอดไป หรือจนกว่าจะมีการเชื่อมสัญญาณใหม่ เช่น ใช้คลื่น 5 GHz อยู่แล้วระบบคำนวณว่า คลื่น 6 GHz หรือ 2.4 GHz ใช้งานได้ดีกว่าก็จะสลับให้เราไปใช้คลื่นเหล่านั้นแทน หรือใช้ส่วนอื่นในคลื่นความถี่เดียวกันที่ว่างอยู่ได้
Multi-Link Operation (MLO) เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยให้สามารถรวมสัญญาณข้ามคลื่นความถี่ได้ เช่น 5 GHz รวมกับ 6 GHz หรือคลื่นความถี่เดียวกันแต่คนละช่วงสัญญาณก็ได้ ทำให้ได้แบนด์วิดท์ในการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งเทคโนโลยีนี้คล้ายกับการทำ Carrier Aggregation บน 5G
Multi AP เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถนำ Router สองตัวช่วยกันส่งข้อมูลไปยัง Client เครื่องเดียวได้ ช่วยเพิ่มความเร็วให้กับเครื่อง Client ที่ต้องการแบนด์วิดท์สูงในช่วงเวลานั้น หรือช่วยกันส่งข้อมูลไปยังเครื่อง Client ในพื้นที่คาบเกี่ยวของ Access point สองตัวก็ได้เหมือนกัน
Router Wi-Fi 7 ที่เปิดตัวในงาน
TP-Link เปิดตัว Router Wi-Fi 7 ทั้งหมด 6 รุ่น แบ่งเป็น 3 กลุ่มการใช้งาน ได้แก่ กลุ่ม High Performance กลุ่ม Mesh Wi-Fi และกลุ่มใช้งานในองค์กร ซึ่งแต่ละกลุ่มมีจุดเด่นที่ต่างกันไป สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความต้องการ
Archer Series
Archer BE800 และ Archer BE550 สินค้ากลุ่มนี้เป็น Router แบบเน้นใช้งานตัวเดียว หรือเป็น Router แบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคยกัน รองรับการดูสตรีมมิ่ง 8K หรือการเล่นเกมออนไลน์ผ่านระบบคลาวด์ เหมาะสำหรับบ้านที่ไม่อยากวาง Router หลายตัว แต่อยากได้ตัวเดียวจบ ๆ แรง ๆ ไปเลย ตัวนี้ตอบโจทย์ และในอนาคต ถ้าเราอยากขยายสัญญาณเพิ่ม ก็สามารถเพิ่มอุปกรณ์ผ่านฟีเจอร์ Easy Mesh ได้ด้วย
หน้าตาจะต่างกับรุ่นเดิมที่มีเสาสัญญาณเยอะ ๆ ยุบยับ คล้ายแมงมุม โดยรุ่นใหม่นี้ได้ปรับหน้าตาให้มีความเรียบหรู และดุดันมากขึ้น เนื่องจากย้ายเสาสัญญาณที่ยื่นออกมาภายนอกมาเป็นแบบใหม่แบบภายในแทน แถมมาพร้อมกับไฟ LED หน้าเครื่อง ลวดลายแบบ 8-Bit ที่แสดงผลได้หลากหลายตามที่เราปรับแต่ง
พอร์ต LAN ด้านหลังเครื่องได้ถูกอัปเกรดเป็นแบบ 2.5 Gbps ขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว บอกลา LAN 1 Gbps และรุ่น Archer BE800 ยังรองรับ LAN แบบ 10 Gbps ถึง 2 ช่อง พร้อมพอร์ต Fiber SFP ด้วย ด้าน Wi-Fi รองรับแบนด์วิดท์สูงสุด 19 Gbps
TP-Link Archer รุ่นที่รองรับ Wi-Fi 7 เปิดตัวทั้งหมด 2 รุ่น คือ Archer BE800 ราคา 19,990 บาท และ Archer BE550 ราคา 9,990 บาท พร้อมวางจำหน่ายสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
Deco Series
Deco สินค้ากลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มของ Mesh Wi-Fi เน้นใช้งานหลายตัวร่วมกัน เพื่อให้สามารถขยายสัญญาณได้ทั่วบ้าน โดยไม่ต้องเดินสาย LAN ให้วุ่นวาย เปิดตัวทั้งหมด 2 รุ่น คือ Deco BE85 และ Deco BE65 พร้อมวางจำหน่ายสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
หน้าตาจะคล้ายกับ Deco รุ่นก่อนหน้านี้ โดยจะเน้นไปที่ดีไซน์แบบเรียบหรู สีขาว นำไปวางตรงไหนของบ้านก็ได้ เหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง ส่วนที่ต่างไปจากรุ่นเดิมจริง ๆ คือดีไซน์ด้านหน้าที่จะมีการเจาะรูระบายอากาศเป็นตัวเลข 7
ด้านหลังมาพร้อมกับพอร์ต LAN จำนวน 4 พอร์ต รูปแบบเดียวกับตระกูล Archer เลย แต่จะมีจำนวนน้อยกว่า ด้าน Wi-Fi รองรับแบนด์วิดท์สูงสุด 22 Gbps และสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้มากกว่า 200 อุปกรณ์
ราคาของ Deco BE85
- Pack 1 19,990 บาท
- Pack 2 38,990 บาท
- Pack 3 57,990 บาท
ราคาของ Deco BE65
- Pack 1 9,990 บาท
- Pack 2 18,990 บาท
- Pack 3 27,990 บาท
Omada Series
สุดท้ายจะเป็นสินค้ากลุ่มองค์กร Omada หรือระบบกระจายสัญญาณรูปแบบ Access Point พร้อม Controller ของ TP-Link เน้นใช้งานแบบอึดถึกทน เปิด 24/7 ไม่ปิดเลย เน้นความเสถียร และมีระบบบริหารจัดการหลังบ้านแบบละเอียดปรับแต่งได้เยอะมาก ๆ เปิดตัวใหม่ 2 รุ่นคือ EAP783 และ EAP773
ดีไซน์มินิมอล ถูกออกแบบมาเพื่อให้ดูกลมกลืนกับการตกแต่งอาคาร สามารถติดตั้งบนเพดานภายในอาคารได้โดยไม่รบกวนสายตาพอร์ตการเชื่อมต่อเป็นแบบ LAN 10 Gbps ที่รองรับไฟแบบ PoE++ หรือจะใช้แบบอะแดปเตอร์ก็ได้เหมือนกัน ด้าน Wi-Fi รองรับแบนด์วิดท์สูงสุด 22 Gbps
TP-Link EAP783 มีราคาอยู่ที่ 39,990 บาท และ EAP773 ราคา 25,990 บาท พร้อมวางจำหน่ายเดือนหน้าเป็นต้นไป เหมาะสำหรับบริษัทองค์กรที่อัปเกรดระบบให้เป็น Wi-Fi 7 รุ่นล่าสุด
นอกจาก Router จะเป็น Wi-Fi 7 แล้วก็ต้องใช้อุปกรณ์ตัวรับที่รองรับ Wi-Fi 7 ด้วยถึงจะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด ซึ่ง Intel ก็ได้นำการ์ด Wi-Fi 7 มาให้ดูในงานด้วย โดยเป็นรุ่น Intel Wi-Fi 7 BE200 Killer 1750x + Bluetooth 5.4 ยังไงใครซื้อ Router Wi-Fi 7 ไปก็อย่าลืมตัวรับที่เป็น Wi-Fi 7 ด้วยนะ
อุปกรณ์เทพแล้วเน็ตที่เอามาใช้ก็ต้องเทพตาม TP-Link ได้ร่วมมือกับ AIS ออกโปรโมชันส่วนลดค่าเครื่อง TP-Link Deco BE85 เมื่อซื้อเครื่องที่ AIS Online Store และเมื่อสมัครแพ็กเกจ BYOD ความเร็ว 2 Gbps / 1 Gbps พร้อมซื้อเครื่องจะได้รับส่วนลดทั้งค่าเครื่อง และค่าบริการรายเดือนด้วย
Wi-Fi 7 ใช้ได้ในไทยหรือยัง ?
ในตอนนี้ต้องบอกว่า “ยังใช้ไม่ได้” เพราะต้องรอกสทช. อนุมัติให้ใช้งาน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2024 เป็นต้นไป ใครที่ซื้อ Router TP-Link Wi-Fi 7 ไปในช่วงแรกจะใช้ได้แค่ Wi-Fi 6E เท่านั้น เมื่อกสทช.อนุญาตให้ใช้งานมาตรฐาน Wi-Fi 7 เมื่อไหร่ จะมีการปล่อยอัปเดตเฟิร์มแวร์ปลดล็อกประสิทธิภาพตามมาทีหลัง เรียกว่าในตอนนี้ซื้อเตรียมความพร้อมเผื่ออนาคตไปก่อนแล้วกัน
ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์
Comment