งานนี้ไม่รู้ว่าเป็นการทิ้งทวนให้ผู้สนับสนุนชาวอเมริกันประทับใจก่อนการโบกมือลาทำเนียบขาวของ Trump แบบเป็นทางการในช่วงเดือนหน้านี้หรืออย่างไร หลังจากล่าสุดทางด้านกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ ได้รับไฟเขียวให้ส่งฟ้อง Facebook ในข้อหาเลือกปฏิบัติสำหรับประเด็นการรับสมัครพนักงานกว่า 2,600 ตำแหน่งที่ Trump เชื่อว่าไม่เป็นไปตามนโยบาย American First เพราะเป็นตำแหน่งที่เปิดรับเฉพาะผู้สมัครชาวต่างชาติล้วน ๆ

นับตั้งแต่ประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐ ฯ เข้าสู่ตำแหน่งในช่วงต้นปี 2017 เป็นต้นมา เขาได้มีนโยบายหลัก ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบรรดา Tech Giants มาตลอดนั่นคือนโยบาย “American First” หรือ “ชาวอเมริกันต้องมาก่อน” ซึ่งส่วนหนึ่งของนโยบายนี้คือ การดึงเอาตำแหน่งงานประจำโดยเฉพาะกลุ่มที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกลับมาเป็นของชาวอเมริกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้นได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสูงที่สุดทั้งในแง่ธุรกิจและแรงงาน

ซึ่งเดิมทีการที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องสัญชาติของแรงงานมากนักดังนโยบายของทรัมป์ ทำให้บรรดา Tech Giants มักจะเปิดกว้างเพื่อเฟ้นหาบุคลากรที่ฝีมือดีที่สุดในโลกมารวมอยู่ในแผ่นดินอเมริกาอย่างที่เป็นมาโดยตลอด ซึ่งมีแง่ดีทั้งต่อการที่บุคลากรชั้นเลิศด้านเทค ฯ มักจะอยากมาประสบความสำเร็จกับ Tech Giants ที่ดีที่สุดในโลกที่นี่ และอีกด้านนึงแรงงานต่างชาติก็มักจะมีค่าแรงโดยเฉลี่ยที่ต่ำกว่าการจ้างชาวอเมริกันแท้ ๆ อีกด้วยนั่นเอง

Facebook ไม่สนองนโยบาย “American First” เลือกรับเฉพาะแรงงานต่างชาติ เป็นเหตุถูกฟ้องส่งท้ายเทอมทรัมป์

ดูเหมือนจะมีอยู่องค์กรหนึ่งที่เหมือนเป็นไม้เบื่อไม้เมาไม่แยแสนโยบายนี้ของ Trump เท่าไหร่นัก นั่นคือ Facebook Inc. ภายใต้การนำของ CEO หนุ่ม Mark Zuckerberg ที่นับตั้งแต่ปี 2017 จนถึงปัจจุบันพวกเขายังคงมีการประกาศรับสมัครพนักงานที่เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น มากถึง 2,600 ตำแหน่ง จึงเป็นที่มาให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ รับเรื่องสนองนโยบายสั่งฟ้อง Facebook ขอหาเลือกปฏิบัติในการรับสมัครงานทันทีรับเดือนสุดท้ายของปี 2020 กันเลยทีเดียว

ข้อความของรัฐบาลสหรัฐ ฯ นั้นชัดเจนมาโดยตลอดว่า หากองค์กรใดปฏิเสธการให้โอกาสการจ้างงานแก่ชาวอเมริกันโดยเลือกปฏิบัติ (เปิดรับสมัครเฉพาะแรงงานต่างชาติ / หรือเลือกเอาแรงงานต่างชาติก่อนชาวอเมริกันโดยพิสูจน์ได้) ไม่ว่าพวกเขาจะจ้างงานภายใต้วีซ่าชั่วคราวประเภท H-1B ซึ่งถูกกฎหมาย แต่องค์กรเหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบในความผิดฐานเลือกปฏิบัติ มันผิดหลักกฎหมายแรงงานของเราอย่างชัดเจน – Eric Dreiband | ผู้ช่วยอัยการ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ

สำหรับการรับสมัครจำนวนกว่า 2,600 ตำแหน่งที่ว่านั้น Facebook ชี้แจงว่า พวกเขามุ่งเฟ้นหาแรงงานด้านเทคโนโลยีระดับหัวกะทิเท่านั้นซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของวีซ่าประเภทชั่วคราวแบบ H-1B ซึ่งมอบให้แก่ชาวต่างชาติที่มีความชำนาญงานพิเศษในแขนงต่าง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หลังจากที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และชาวอาเซียนบ้านเราด้วยบางส่วน เรียกได้ว่ามีฝีมือด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จัดจ้านอยู่ในระดับ Top โลกเหมาะสมแก่การทำงานให้กับองค์กรชั้นนำอย่าง Facebook เป็นที่สุดอยู่แล้ว ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งธุรกิจของ Facebook และสหรัฐที่จะดำรงอยู่ในฐานะเบอร์หนึ่งของโลกด้านเทคโนโลยีได้ต่อไป

งานนี้ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า อีกหนึ่งข้อหาของ Facebook เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร และทางทีมงานของ Joe Biden จะเข้ามารับเรื่องต่อหรือปล่อยตกในอีก 1 เดือนที่กำลังจะมาถึงนี้ (กำหนดการเข้ารับตำแหน่งปลายเดือนมกราคม 2021)

 

อ้างอิง: CNN Business | BBC Tech