Tidal นับเป็นอีกบริการสตรีมมิ่งเพลงระดับคุณภาพ ที่แรปเปอร์และโปรดิวเซอร์ชื่อดังอย่าง Jay-Z ปลุกปั้นมากับมือแต่กลับต้องประสบปัญหาทางการเงินที่เรียกได้ว่าขาดทุนสะสมมาเป็นเวลานาน แต่ดูเหมือนล่าสุดจะมีคนเห็นโอกาสจากแพลตฟอร์มนี้ โดยเป็นบริษัท Square ซึ่งมีผู้ก่อตั้งเดียวกันกับ Twitter นั่นก็คือ Jack Dorsey ที่ตัดสินใจเข้าถือหุ้นใหญ่มูลค่ากว่า 9 พันล้านบาท

ในช่วงสุดสัปดาห์แรกรับเดือนมีนาคมนี้เอง ที่ทางบริษัท Square ทำธุรกิจประเภทบริการทางการเงินและรวมถึงทำหน้าที่เสมือน Holding Company สำหรับกลุ่มทีมบริหารของ Twitter อย่าง Jack Dorsey ร่วมกับผู้ถือหุ้นสถาบันอย่าง Morgan Stanley และ Vanguard Group ได้มีประกาศอย่างเป็นทางการถึงการตัดสินใจเข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ในธุรกิจสตรีมมิ่งเพลงชื่อดังอย่าง Tidal โดยใช้วิธีการเข้าซื้อหุ้นส่วนด้วยเงินสดและแลกเปลี่ยนสัดส่วนหุ้นในเครือ คิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 297 ล้านเหรียญ หรือสูงถึง 9 พันล้านบาทเลยทีเดียว

Tidal – แผนการครองพื้นที่สื่อบันเทิงในสังคมออนไลน์ | แต่นักลงทุนยังกังวล… มองไม่เห็นหนทางทำกำไร

หลายฝ่ายมองว่าดีลนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับโลกของธุรกิจทางด้านเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และอุตสาหกรรมเพลง ซึ่งมีความใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ เพราะเทคโนโลยีคือสิ่งที่ทำให้เกิดทั้งโซเชียลมีเดียและการบริโภคสื่อมัลติมีเดียหรือเพลงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสื่อบันเทิงทั้งหลายนี้เองก็เป็นเสมือนส่วนนึงใหญ่ ๆ ที่มักจะถูกพูดถึงกันในสังคมออนไลน์ การที่ Jack Dorsey ตัดสินใจให้ Square เข้าถือครองธุรกิจนี้ของ Tidal จึงกลายเป็นจุดสนใจขึ้นมาในทันที

ย้อนไปในปี 2014 Tidal นั้นถูกก่อตั้งขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ โดยวิศกรอิสระกลุ่มหนึ่ง ก่อนที่ในปีเดียวกันนั้น ศิลปินชื่อดังอย่าง Jay-Z ผู้เห็นโอกาสในธุรกิจเพลงออนไลน์จะประกาศเข้าซื้อกิจการควักกระเป๋าไปเกือบ 2 พันล้านบาท โดยในช่วงแรกนั้น Tidal นับเป็นแพลตฟอร์มที่ถือหุ้นโดยศิลปินอเมริกันชื่อดังจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น Alicia Keys – Beyoncé – Calvin Harris – Chris Martin (Coldplay) – Daft Punk – Kanye West – Lil Wayne – Madonna – Nicki Minaj – Usher หรือแม้แต่แม่ริริ Rihanna ขวัญใจชาวไทยผู้เสมือนออกจากวงการเพลงไปแล้วก็เคยมีชื่อเป็นผู้ลงทุนใน Tidal ด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของนักลงทุนนั้นเริ่มมีกระแสในทางลบอยู่ไม่น้อยเช่นกันต่อการตัดสินใจครั้งนี้ของ Jack Dorsey เพราะเป็นที่รู้กันดีในกลุ่มนักลงทุนสาย Tech เลยว่า ในบรรดาธุรกิจสตรีมมิ่งเพลงนั้น Tidal มี Business Model ที่ทำกำไรยากที่สุด ซึ่งอันที่จริงก็เป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่าง จากการชูจุดเด่นอยู่ 2 เรื่องคือ

  1. Tidal มีการให้บริการคุณภาพเสียงระดับ Lossless (สูงสุดถึง 1411 Kbps)
  2. ส่วนแบ่งค่า Streaming แบ่งจ่ายให้กับศิลปินสูงที่สุดในตลาด ซึ่งล้วนแต่เป็นการแบกต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่งชื่อดังอย่าง Spotify และ Apple Music แบบมหาศาล โดยคู่แข่งเองก็ใช่ว่าจะทำกำไรได้มากในช่วงนี้เพราะการแข่งขันที่สูงมาก

ตามรายงานเบื้องต้นเปิดเผยว่าซีอีโอและผู้ก่อตั้งของ Twitter และ Square อย่าง Jack Dorsey จะเข้ามามีบทบาทโดยตรงใน Tidal ต่อไป ส่วนในฝั่งเจ้าของเก่าอย่าง Jay-Z ก็ยังคงได้รับความไว้วางใจให้นั่งตำแหน่งบอร์ดบริหารของ Tidal ต่อไปทันทีหลังดีลเข้าซื้อนี้เสร็จสิ้นลง ส่วนความเคลื่อนไหวฝั่งนักลงทุนแสดงความกังวลเป็นที่เรียบร้อยดึงมูลค่าหุ้นของ Square (SQ) ร่วงปิดตลาดติดลบ 7% เชื่อเป็นผลจากความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างย่ำแย่ของ Tidal นั่นเอง

 

อ้างอิง: CNN Tech