เชื่อว่าเมื่อวานนี้หลายๆ คนคงเจอ เหตุระเบิดในกรุงเทพ ผ่านการแจ้งเตือนจาก Facebook แบบงงๆ ว่าเฮ้ย มันเกิดระเบิดขึ้นยังไง ทำไมไม่มีข่าว แต่ทำไม Facebook มาบอกให้เรารายงานตัวว่าปลอดภัยไหม หรือไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งเท่าที่เห็นหลายๆ คนก็มึนๆ กดว่าปลอดภัยไปก่อน จากนั้น Safety Check มันก็เริ่มทำงานเป็นระบบทันที คือส่งให้เพื่อนคนอื่นๆ มาร่วมกันรายงานความปลอดภัย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เกิดอะไรขึ้นที่กรุงเทพสักนิด.. แล้ว Facebook ไปทำอีท่าไหนถึงได้บอกว่ามีเหตระเบิดกันละเนี่ย

Facebpook Safety Check มาจากไหน

ที่มาที่ไปของ Facebook Safety Check นั้นเกิดขึ้นในปี 2014 โดย Mark Zuckerberg ได้ออกมาโพสต์บน Facebook ของเค้าเองเลยว่าที่เค้าคิดทำระบบ Safety Check ขึ้นมาเพราะโลกเราเกิดภัยพิบัติมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และก็มีการพยายามติดต่อหรือเช็คกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ ที่อาจจะไปอยู่ในประเทศ หรือสถานที่เกิดเหตุว่าปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งทาง Facebook เองก็เคยเปิดใช้งานระบบนี้มาก่อนบ้างแล้ว แต่มาเปิดตัวอย่างเป็นทางการในครั้งนี้

 

Facebook Safety Check ทำงานยังไง

ระบบ Facebook Safety Check นั้นทำงานโดยเมื่อมีการพบเหตุการณ์หรือภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยในช่วงแรกนั้นมีการเปิดแจ้งเตือนเฉพาะภัยธรรมชาติ เช่นสีนามิที่ญี่ปุ่น แผ่นดินไหวที่ชิลี โดยเมื่อการรายงานและข่าวนั้นถูกจับเข้าระบบ Safety Check แล้วก็จะเริ่มมีการค้นหาบุคคลที่มีการระบุตำแหน่งในบริเวณใกล้เคียงสถานที่เกิดเหตุนั้นๆ

 

และส่งแจ้งเตือนให้รายงานว่าปลอดภัยดี (I’m Safe) หรือไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ (Not in the area) ซึ่งหลังจากนั้่นมันก็จะไปโผล่ในหน้าไทม์ไลน์ของเพื่อนๆ และถ้าใครอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุก็จะมีให้รายงานด้วย

หรือถ้าเรารู้ว่ามีเหตุเกิดที่ไหน อยากจะเช็คว่ามีเพื่อนๆ หรือคนที่เรารู้จักไหมก็สามารถกดเข้าไปเช็คได้เช่นกัน ซึ่งก็จะมีข้อมูลว่าเค้ากดรายงานสถานะแล้วหรือยัง

เหตุการณ์แบบไหน Facebook Safety Check ถึงจะนำเข้าระบบ

เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาสักพักแล้วตั้งแต่ช่วงแรกว่า Facebook มีระบบการนำเข้าเหตุการณ์ร้ายหรือภัยพิบัติอย่างไร โดยจากในช่วงแรกที่มีการเตือนเฉพาะภัยทางธรรมชาติ หลังๆ ก็จะเริ่มมีการเตือนเรื่องสงครามหรือการก่อวินาศกรรมเพิ่มเติม เช่นการก่อการร้ายในกรุงปารีส หรือเหตุระเบิดในโยลาไนจีเรีย 

โดยทืม Facebook Safety Check นั้นได้สร้าง Algorithm ในการตรวจสอบข่าวต่างๆ และเปิดระบบนี้ขึ้นมาเองในช่วงแรก แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเปิดระบบ Safety Check ใหม่ โดยเพิ่มการพิจารณาโพสต์จากผู้คนในละแวกนั้นๆ รวมทั้งให้ผู้คนในเขตหรือบริเวนรอบๆ ช่วยยืนยันว่ามีเหตุการณ์จริงไหม และจะเปิดระบบหรือไม่

แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นมาเหมือนกันว่าเหตุการนั้นต้องร้ายแรงขนาดไหน และล่าสุดก็น่าจะมีอีกประเด็นใหม่ตามขึ้นมาด้วยคือ มันน่าเชื่อถือได้แค่ไหน?

ความผิดพลาดของ Facebook Safety Check

การรายงานผิดพลาดของ Facebook Safety Check นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกกับเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพเมื่อวานนี้เป็นครั้งแรก แต่ยังเคยมีการรายงานเหตุระเบิดที่ปากีสถานในเดือนมีนาคม แต่กลับให้ผู้ใช้งานในสหรัฐ อังกฤษ และประเทศอื่นๆ รายงานความปลอดภัยของตนเอง 

ซึ่งเหตุความผิดพลาดจากการไปประมวลผลข่าวเก่าที่มีการนำมาเล่าใหม่ แล้วเปิดระบบขึ้นมา นอกจากจะทำให้ระบบนี้ดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือแล้ว ยังเหมือนกับการตอกย้ำภาพข่าวต่างๆ ที่ถูกนำมาแชร์บนโลกโซเชียลโดยเฉพาะ Facebook ว่ามักจะเป็นข่าวปลอม ข่าวหลอก หรือข่าว click-bait ที่เราได้เห็นกันเป็นประจำ ซึ่งล่าสุดเยอรมันเองก็เตรียมมาตรการปรับ Facebook หากมีการนำเสนอข่าวปลอมจะโดนปรับ 500,000 ยูโรอีกต่อข่าว

แล้วแบบนี้ประเทศไทยหรือรัฐบาลก็ควรจะดำเนินการฟ้อง Facebook ไหม เพราะถ้าเกิดมีการแจ้งเหตุผิดพลาดว่ามีระเบิดในกรุงเทพ แล้วนักท่องเที่ยวต่างๆ ที่กำลังจะเดินทางมาเห็นแล้วยกเลิกไม่มาแล้วเมืองไทย นั่นหมายความว่าเราสูญเสียรายได้ไปในทันทีเลยนะ

ประโยชน์และเป้าหมายของ Facebook Safety Check 

แน่นอนว่าการมาของ Facebook Safety Check นั้นก็เพื่อให้เราติดตามสถานการณ์ของครอบครัว คนที่เรารัก หรือว่าเพื่อนๆ ที่อาจไปอยู่ในเหตุหรือเภทภัยต่างๆ ได้ทันท่วงที ทั้งนี้ทาง Facebook ยังเปิดให้มีการบริจาคผ่านระบบ Safety Check หรือ Live ได้ด้วย แต่ทั้งนี้ยังเปิดให้ใช้งานได้เฉพาะหน่วยงานต่างๆ ที่ลงทะเบียนเอาไว้ รวมถึงยังล็อคให้ใช้งานได้ในบางประเทศเท่านั้น

จุดประสงค์ของ Facebook Safety Check นั้นทำออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตามเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้เราได้รับทราบเรื่องราวต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ของคนที่เรารู้จักว่ายังปลอดภัยดี หรือไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากเหตุการณ์นั้นๆ แต่จากตัวระบบที่มีการรายงานผิดพลาดนั้นอาจจะเกิดผลกระทบในวงกว้างแบบทันที เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทาง Facebook น่าจะต้องรีบมีการปรับปรุงระบบคัดกรองและคำสั่งเปิดให้ดีขึ้นกว่านี้ ไม่งั้นก็หากเกิดการแจ้งเตือนที่ผิดพลาดเข้าบ่อยๆ Safety Check อาจจะมีสภาพเหมือนนิทานอีสปเรื่องเด็กเลี้ยงแกะ ที่หมดความน่าเชื่อไปในที่สุด

 

source : facebook, mark zuckerberg, the verge