กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ออกหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. เพื่อขอดำเนินการให้ ผู้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทุกรายระงับการใช้ แอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ตามก็มีข้อมูลเผยออกมาว่ารัฐบาลอาจไม่สามารถแบนแอป Telegram ได้ เพราะก่อนหน้านี้รัสเซียเองก็เคยพยายามแล้ว แต่ก็คว้าน้ำเหลวมาตลอด
แอป Telegram คืออะไร ?
Telegram คือแอปพลิเคชันสำหรับเอาไว้ใช้คุยส่งข้อความระหว่างผู้ใช้งานคนอื่น คล้าย ๆ กับ LINE, Whatsapp และ Facebook Messenger ทว่ามีโฟกัสหลัก ๆ อยู่ที่ความเร็ว และความปลอดภัยเป็นที่หนึ่ง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถส่งข้อความหาเพื่อน ๆ แบบ 1-1 ก็ได้ หรือว่าจะสร้างห้องแชทส่วนตัวที่จุผู้ใช้งานไม่สูงสุดถึง 200,000 คนพร้อมกัน ทำให้ Telegram เป็นลูกผสมระหว่าง Email และ Messaging App อีกทั้งตัว Telegram เป็นแอปพลิเคชันไม่แสวงผลกำไรทำให้สามารถใช้งานได้อย่างทั่วถึง
ความนิยมของ Telegram ที่กลับมาพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเพราะการหยิบไปใช้งานของคณะ เยาวชนปลดแอก ที่เอาไว้ใช้ติดต่อสื่อสารกับคนจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ทำให้การวางแผนนัดหมายชุมนุมทางการเมืองเป็นไปได้อย่างแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งคนบุกเบิกก็ไม่ใช่กลุ่มวัยรุ่นไทย แต่กลับเป็นกลุ่มประท้วงในประเทศฮ่องกงที่ใช้เอาไว้สื่อสารนัดหมายจุดประท้วงโดยไม่ต้องห่วงถึงความปลอดภัยว่ารัฐบาลจะสามารถแทรกแทรงระบบของ Telegram ได้เลยนั่นเอง
กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) จ่อแบนแอป Telegram
สั่งปิดกลุ่ม FreeYOUTH ใน Telegram ซึ่งมีสมาชิกตอนนี้กว่า 1.65 แสนราย #ม็อบ19ตุลา pic.twitter.com/steigFZJSZ
— Eric (@sayompoo_eric) October 19, 2020
ถือว่าเป็นที่นิยมกันมากขึ้นกับแอปพลิเคชันส่งข้อความอย่าง Telegram ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารหลัก ๆ ของการติดต่อนัดหมายการชุมนุมทางการเมืองของคณะเยาวชนปลดแอก และเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของม๊อบแบบดาวกระจายที่ไร้แกนนำ แต่สามารถขับเคลื่อนคนเป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ล่าสุดดูเหมือนทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ดำเนินการออกหนังสือถึงเลขาธิการของ กสทช. เพื่อหวังแบนแอปพลิเคชัน Telegram และปิดกลุ่ม “FreeYouth” ที่มีสมาชิก คณะเยาวชนปลดแอก ร่วมเกือบ ๆ 2 แสนคน โดยเป้าหมายหลักคือต้องขัดขวางระบบสื่อสาร ให้การรวมตัวม๊อบประท้วงเป็นไปได้ยากขึ้น
รัสเซียยกเลิกแบน Telegram หลังคว้าน้ำเหลวมากว่า 2 ปี
โดยไทยไม่ถือเป็นประเทศแรกที่พยายามแบนแอป Telegram เพราะก่อนหน้านี้รัสเซียก็เคยพยายามที่จะแบนแอปนี้มาตลอด 2 ปีหลังจากที่ตัวแอปถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในกลุ่มหัวรุนแรงในรัสเซีย อีกทั้งทางผู้พัฒนา Telegram ก็ปฎิเสธที่จะหยิบยื่นข้อมูลส่วนตัวให้กับรัฐบาลรัสเซีย ทำให้ทางรัฐบาลจำเป็นต้องแบนแอป Telegram อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ระยะเวลาก็ล่วงเลยมาถึง 2 ปีแล้ว ทว่า…แอป Telegram ก็ยังสามารถใช้งานในรัสเซียได้ตามปกติมาตลอด จะมีปัญหาก็แต่เซิร์ฟเวอร์ล่มในบางครั้งเท่านั้น จนในที่สุด รัฐบาลรัสเซียประกาศยกธงขาว เลิกแบน Telegram อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
ทำไมรัสเซียไม่สามารถแบน Telegram ได้?
วิธีที่รัสเซียพยายามแบน Telegram ก็คือการแบนผ่านรหัส IP ที่ตัว Telegram ใช้งาน แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะทาง Telegram ใช้เทคนิคทางอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า Domain Fronting กล่าวคือ เทคนิคนี้จะใช้ตัวเซิร์ฟเวอร์ของ Google และ Amazon ในการซ่อนรหัส IP ในการเชื่อมต่อ ทำให้หลาย ๆ ครั้งทางรัฐบาลรัสเซียไม่สามารถระบุ IP ที่แน่นอนของ Telegram ได้ จนนำไปสู่การแบน IP ผิดพลาด ส่งผลให้บริการของ Google และ Amazon บางอย่างเกิดการขัดข้องชั่วคราว สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้งานมากมาย
อย่างไรก็ดี Joss Wright นักวิจัยอาวุโสเรื่องการเซ็นเซอร์ข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตของ มหาวิทยาลัย Oxford ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า
โดเมนฟร้อนติ้งคือการเปลื่ยน IP ของ Telegram ให้เป็นเหมือน IP ของ Google แทนทำให้ระบบไม่สามารถรู้ได้เลยว่า IP ไหนเป็นของ Google หรือ Telegram
ซึ่งทาง Telegram ก็ใช้วิธีนี้มาเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลรัสเซียไล่แบนอยู่เป็นเวลาเกือบ 2 ปีจนสุดท้ายก็ต้องยอมแพ้ยกเลิกการแบน Telegram ไปอย่างทำอะไรไม่ได้
และจากที่เห็นความพยายามมากกว่า 2 ปีของรัสเซียก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งแอปพลิเคชัน Telegram ได้ ทำให้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ประเทศไทยอาจจะไม่สามารถแบน Telegram ได้อย่าง 100% อีกทั้งถ้าตัวแอปถูกแบนจริง ๆ ผู้ใช้งานก็ยังสามารถใช้โปรแกรมจำพวก VPN ในการเปลี่ยนรหัส IP เพื่อใช้ตัวแอปได้อยู่ดี…ส่วน กสทช. จะทำอย่างไรต่อก็ต้องรอติดตามกันต่อไปครับ
Comment