ด้วยความที่ปัจจุบันเราไปไหนมาไหน ก็จะมีใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือกันอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเล่นโซเชียล แชทคุยกับเพื่อน แชร์ภาพหรือคลิปให้โลกรู้ ซึ่งโดยมากตัวผู้ให้บริการก็จะมีการออกแบบเครือข่ายให้เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่ในแต่ละวัน แต่วันดีคืนดี ถ้ามีการจัดกิจกรรมพิเศษที่มีคนมาร่วมเป็นจำนวนเยอะกว่าปกติ เครือข่ายก็มักจะมีปัญหา โหลดไม่ได้ อัปไม่ไป ซึ่งสาเหตุมากจากอะไร และเราสามารถแก้ไขเตรียมการล่วงหน้าได้รึเปล่า?

ทำไมคนรวมตัวกันเยอะแล้วอินเทอร์เน็ตมือถือมักมีปัญหา?

ใครที่เคยไปคอนเสิร์ต เข้าร่วมงานกิจกรรมใหญ่ ๆ ที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่มักจะต้องเจอคือสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนคู่ใจ จะไม่สามารถใช้งานได้ หรือเรียกสั้นๆว่า “เน็ตล่ม” ซึ่งสาเหตุที่มาว่าทำไมล่มนั้นก็เกิดจากปริมาณคนที่เยอะกว่าที่เครือข่ายรองรับได้ โดยแต่ละพื้นที่จะมี แต่ละตำแหน่ง(แม้แต่ในตึกเดียวกัน) ก็จะมีความสามารถในการรองรับที่แตกต่างกันไป โดยในหนึ่งสถานีฐาน หรือหนึ่งตัวกระจายสัญญาณ จะรองรับได้มากน้อยแตกต่างกันไป ตามแต่เทคโนโลยีที่เครือข่ายนั้น ๆ เลือกใช้งาน ยิ่งลงเทคโนโลยีใหม่เท่าใด ก็จะสามารถรองรับได้ดีขึ้นเท่านั้น

กล่าวโดยสรุปคือ ปัจจัยที่จะทำให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตดีหรือไม่ดี ประกอบไปด้วย

  • สัญญาณแรงแค่ไหน : ขีดเดียว ยังไงก็ไม่ไหวจะแรง
  • จำนวนคนในพื้นที่มากน้อยเพียงใด : ถ้าคนเยอะ ก็แบ่งคลื่นแบ่งช่องสัญญาณกันไป
  • ปริมาณการใช้งาน : แม้คนจะน้อยถ้าโหลดกันโหด เครือข่ายก็ร่วงได้
  • ปริมาณเสาสัญญาณ : คนเยอะ ใช้มาก แก้ง่ายสุดคือลงเสาเพิ่ม (ถ้ามีพื้นที่)
  • ปริมาณคลื่นที่เครือข่ายนั้น ๆ มีครอบครอง : เสาเยอะก็ควรต้องพร้อมกับความถี่ที่มากด้วย
  • เทคโนโลยีที่เครือข่ายนั้น ๆ ใช้งาน : 3G < 4G < 5G รองรับผู้ใช้ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

อ่านเพิ่มเติม : ปัจจัยของความเร็วอินเทอร์เน็ตมือถือ – 2CA, 3CA, 4×4 MIMO คืออะไร, จำนวนความถี่ที่แต่ละเครือข่ายมีครอบครอง, 5G รองรับผู้ใช้งานมากกว่า 4G 10 เท่า

เมื่อมีการจัดกิจกรรม หรือการชุมนุมขึ้น โดยมากจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน ทำให้ผู้ให้บริการอย่าง AIS Truemove หรือ dtac จะไปลงทุนติดตั้งเสาสัญญาณใหม่เพื่อรองรับการใช้งานก็จะไม่คุ้มค่านัก เพราะการติดตั้งเสาเพิ่มตัวกระจายสัญญาณแบบถาวรอาจจะมีค่าใช้จ่ายหลักแสนจนถึงหลายล้านได้ ดังนั้นเครือข่ายต่าง ๆ จึงจะมี “รถเพิ่มสัญญาณมือถือ” ที่สามารถเพิ่มเสาสัญญาณในพื้นที่ที่ต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็วนั่นเอง

ทั้ง 3 เครือข่ายเคยยกพลนำรถโมบายล์ไปตั้งเพื่ออำนวยความสะดวก ในพื้นที่อับสัญญาณเมื่อครั้งปฏิบัติการค้นหานักฟุตบอลเยาวชนทีมหมู่ป่าที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน

มาถึงตรงนี้แล้ว ก็น่าจะเริ่มมีไอเดียว่าเมื่อไหร่ ที่เรามีการจัดกิจกรรม มหกรรมใหญ่ ๆ เราจะสามารถติดต่อประสานงานให้แต่ละเครือข่ายมขยายสัญญาณเพิ่มได้เหมือนกันหรือไม่ และเราจะต้องทำอย่างไร เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อขอสัญญาณเพิ่มเติมรึเปล่า ตรงนี้เราก็ได้ไปสอบถามเพิ่มเติมมาให้ โดยได้ข้อมูลมาจากคนในเครือข่ายหนึ่งนะครับ ซึ่งเครือข่ายอื่นอาจจะมีเงื่อนไขเล็กน้อยที่แตกต่างกัน แต่ระเบียบปฏิบัติองค์รวมไม่น่าจะต่างกันมากเท่าไหร่

ติดต่อขอได้รถโมบายล์ขยายสัญญาณได้กรณีใดบ้าง และมีค่าใช้จ่ายรึเปล่า?

ทางผู้ให้ข้อมูลไม่ได้มีการระบุตัวเลขมาแบบชัดเจนว่ากิจกรรมการชุมชุมจะต้องมีจำนวนมากน้อยขนาดไหน แต่โดยหลักการคือผู้ที่ร้องขอหรือผู้จัดงานต้องมีการประเมินจำนวนผู้เข้าร่วมงานมาก่อน ว่ามีจำนวนมากน้อยขนาดไหน จัดกิจกรรมขึ้นในพื้นที่ใด แล้วทางเครือข่ายจะเอาตัวเลขทั้งหมดไปพิจารณาว่า เครือข่ายในบริเวณดังกล่าว สามารถรองรับได้หรือไม่ ซึ่งโดยมากหากมีการรวมตัวกันหลักหลายพันไปจนถึงหมื่นคน และพื้นที่บริเวณดังกล่าว ปกติไม่ได้มีคนไปเยอะเป็นประจำ และทางผู้ให้บริการเห็นว่าเครือข่ายในบริเวณดังกล่าวน่าจะรองรับผู้ใช้จำนวนดังกล่าวไม่ได้ ก็มักจะตอบรับ และออกรถโมบายล์ไปเพื่อให้บริการเพิ่มเติมกัน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและทำให้ผู้ใช้งานในเครือข่ายตนสามารถเชื่อมต่อได้แบบไม่ติดขัด ซึ่งโดยมากมักจะไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพิ่มเติม แต่อาจจะต้องจัดเตรียมสถานที่ และความพร้อมอื่น ๆ เพื่อให้เครือข่ายสามารถนำรถโมบายล์เข้าไปติดตั้งและให้บริการได้

ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการขอรับบริการรถโมบายล์ขยายสัญญาณ

เมื่อทางเครือข่ายพิจารณาเห็นชอบว่าควรต้องเอารถเพิ่มสัญญาณมือถือไปติดตั้งแล้ว สิ่งที่ผู้จัดงานควรต้องจัดเตรียมให้พร้อมเพื่อให้สามารถดำเนินการได้

  • การจัดงานและพื้นที่ใช้งาน – โดยทางผู้จัดงานต้องคุยกับเจ้าของสถานที่เพื่อขอสิทธิ์ให้รถเพิ่มสัญญาณเข้าได้ ซึ่งถ้าเป็นการจัดงานจากภาคเอกชนด้วยกัน การตกลงกันก็จะไม่ได้ยุ่งยากมาก แต่สำหรับงานที่จัดในพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ที่หน่วยงานราชการดูแล จะต้องมีการขออนุญาตไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งถ้าเป็นงานใหญ่ระดับประเทศก็มักจะมีสำนักงาน กสทช. เป็นเจ้าภาพขอความร่วมมือมายังผู้ให้บริการมือถืออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่ออนุญาตและให้สิทธิ์ในการเข้าพื้นที่นำรถเข้าไปติดตั้งใช้งานเพื่อดูแลคนใช้มือถือในพื้นที่จัดงานได้
  • สถานที่จอดรถโมบายล์ – ในกรณีจัดงานจากภาคเอกชนด้วยกันทางผู้ให้บริการสัญญาณ ก็อาจจะเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ หาที่จอดที่เหมาะสมสำหรับติดตั้งรถเพิ่มสัญญาณ และขออนุญาตในการจอดรถในพื้นที่ดังกล่าว แต่ถ้าเป็นการจัดงานและรวมตัวของคนใช้งานในที่สาธารณะ รถโมบายล์จะไปจอดสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ จะผิดกฎหมายทันที ทั้งกีดขวางการจราจร และรุกล้ำพื้นที่หน่วยงานรัฐ หรือสาธารณะ โดยการจอดต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการให้บริการ และติดตั้งเครื่องมือสื่อสาร ไฟฟ้า โดยมากจึงต้องมีคำขอมาจากภาครัฐหรือ สำนักงาน กสทช. ที่จะอำนวยความสะดวกในพื้นที่จอดรถโมบายล์ โดยปกติ เมื่อได้พื้นที่เพื่อจอดรถชั่วคราวแล้ว อาจจะใช้เวลาถึง 3 วันล่วงหน้า
  • การเตรียมพร้อมล่วงหน้า – รถโมบายล์ไม่ใช่ว่าไปถึงแล้วจอด พร้อมใช้งานเลย ต้องวางแผนกันล่วงหน้าก่อนการจัดงานที่จะมีคนมาใช้งานกันหนาแน่น เพราะต้องเดินไฟฟ้าเข้าระบบอุปกรณ์ในรถโมบายล์ให้ใช้งาน 24 ชั่วโมง การนำสายไฟเบอร์จากเสาส่งสัญญาณมาเชื่อมการสื่อสารจากรถโมบายล์ ถ้าพื้นที่จอดรถไม่เหมาะสมการส่งสัญญาณเพิ่มก็จะไม่ตรงจุดพื้นที่ใช้งานทำให้เน็ตไม่แรงขึ้น แต่ถ้ามีเวลาเตรียมตัวดีๆ จุดจอดรถตรงพื้นที่ ผู้ใช้งานก็จะได้ใช้เน็ตแรงขึ้นได้
  • กรณีเร่งด่วน – เมื่อมีพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เหตุด่วน ที่ต้องใช้งาน ก็ไม่ใช่ว่าผู้ให้บริการมือถือจะสามารถวิ่งเอารถโมบายล์เข้าพื้นที่ได้ทันที แต่โดยมากจะได้รับการประสานจากภาครัฐ หรือกสทช. ให้นำรถโมบายล์ไปเพิ่มสัญญาณใช้งานเป็นกรณีเร่งด่วน กล่าวคือ จะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานรัฐก่อนนั่นเอง

 

สรุปแล้วหากมีการจัดงานกิจกรรม มหกรรม หรือการชุมนุม ที่มีคนจำนวนมาก ผู้จัดงานควรต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการเครือข่ายโทรศัพท์ให้ดี เพื่อรองรับผู้คนที่จะมาร่วมงาน ให้สามารถเชื่อมต่อสื่อสารได้อย่างปกติสุขตลอดเวลา และควรต้องจัดเตรียมพื้นที่ ติดต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะหน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานรัฐที่เข้าไปใช้พื้นที่ ให้มีการอนุญาตเข้าไปติดตั้งรถเพิ่มสัญญาณให้เรียบร้อยด้วย​ เพราะหากขาดสิทธิ์ส่วนนี้ไป ผู้ให้บริการทั้ง 3 ค่าย ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้เลยนั่นเอง