หากใครเคยลง Windows ใหม่, แบ่ง partition ดิสก์ หรือสั่ง format แฟลชไดรฟ์น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า NTFS กันมาบ้าง NTFS ย่อมาจาก New Technology File System เป็นระบบจัดการไฟล์บนคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นโดย Microsoft ตั้งแต่ปี 1992 ถูกใช้งานบน Windows หลายรุ่นมาจนถึง Windows 11 โดยอยู่เบื้องหลังการโยนไฟล์เข้าออกจาก SSD และฮาร์ดดิสก์ที่เราใช้กันเป็นปกติในปัจจุบัน (ควบคู่กับ FAT32 และ exFAT ที่ใช้กับพวกแฟลชไดรฟ์หรือ memory card)

NTFS ถูกใช้มานานและไม่ใช่ของใหม่สุดอีกต่อไป เพราะถัดมาในปี 2012 Microsoft ได้พัฒนาระบบที่ทันสมัยกว่ามาแทนที่ (นำ NTFS มาปรับปรุงเพิ่ม) ใช้ชื่อว่า ReFS ย่อมาจาก Resilient File System แปลตรงตัวตามชื่อคือระบบไฟล์ที่มีความยืดหยุ่น Microsoft เริ่มใช้ ReFS ครั้งแรกบน Windows Server 8 และใช้อยู่กับฝั่งเซิร์ฟเวอร์เป็นหลักมาตลอด ขณะที่ฝั่ง Client ก็เคยได้ใช้มาบ้างเช่นบน Windows 10 Pro แต่ก็ถูกถอดออกไปด้วยความไม่พร้อมหลายอย่าง

แต่ล่าสุด Microsoft ได้ตัดสินใจเอา ReFS มาใช้กับ Windows 11 ด้วยอีกครั้ง เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกสำหรับการจัดการไฟล์บนตัว OS เพราะ ReFS มีข้อดีกว่า NTFS หลายด้าน โดยเฉพาะด้านความพร้อมใช้งานของไฟล์ที่เพิ่มขึ้น (ความเข้ากันได้ดีขึ้น, ความผิดพลาดน้อยลง) และด้านการปรับขนาดไฟล์ (scalability) ที่ทำให้ระบบจัดการกับขนาดข้อมูลใหญ่ ๆ ได้ดีกว่าด้วย

ข้อดีของ ReFS ที่พัฒนาเพิ่มเติมจาก NTFS

  • รองรับขนาดการจัดการพื้นที่ไฟล์สูงสุดจาก 256TB เพิ่มเป็น 35PB (1,024TB = 1PB) 
  • ใช้วิธีการเขียนไฟล์แบบ copy on write / allocate-on-write ซึ่งจะเขียนไฟล์ไว้บนบล็อกข้อมูลใหม่ก่อน แทนการเขียนทับบล็อกข้อมูลเก่าที่ NTFS ใช้ ทำให้ข้อมูลเก่ายังไม่โดนแทนที่ทันทีจนกว่าจะเขียนเสร็จ ได้ข้อดีคือไฟล์เดิมก็จะไม่พังด้วยเวลากดยกเลิกกลางคันหรือ copy ได้ไม่สำเร็จ
  • ทำงานร่วมกับ Storage Spaces ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ตั้งแต่ Windows 8 ได้ดีขึ้น มีประโยชน์คือมีการสำรองระบบไฟล์ไว้บนดิสก์อีกตัวหนึ่ง ซึ่งจะช่วยซ่อมตัวเองกลับมาได้เมื่อดิสก์ตัวใดตัวหนึ่งมีปัญหา
  • ในกรณีที่ต่อให้ดิสก์ 2 ตัวไฟล์ข้างในพังพร้อมกัน การกู้คืนระบบก็ยังทำได้ง่ายและเร็วกว่าของเดิม เพราะ ReFS จะดึงข้อมูลที่มีปัญหาออกจากระบบไฟล์ชั่วคราวก่อน เพื่อให้ระบบโดยรวมทำงานต่อไปได้ ซึ่งค่อนข้างเหมาะกับงานฝั่งเซิร์ฟเวอร์ที่แข่งกับเวลา
  • ใช้การ checksum ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลปลายทางที่ copy มาว่าตรงกับต้นทางรึเปล่า เสริมข้อดีให้กับการวางไฟล์ที่ไม่ได้ทับของเดิมทันที คือใช้วิธีตรวจสอบทีหลังแทน ทำให้ยังได้ในเรื่องความปลอดภัยเหมือนเดิม (ม้าโทรจันแอบขึ้นรถแฝงตัวมากับไฟล์ไม่ได้)
  • พื้นฐานโดยรวมไม่ได้ต่างจาก NTFS มาก คือใช้โค้ดเดียวกัน แก้แค่ฐานส่วนจัดการไฟล์บนดิสก์ ทำให้ยังสามารถปรับความเข้ากันได้กับทุกอย่างที่อิงระบบเก่าได้ค่อนข้างเสถียร (อาจยังไม่เต็ม 100% แต่อยู่ในระดับสูง)

อย่างไรก็ตาม ReFS ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ไม่รับรองสตอเรจแบบถอดได้ (Removable Media) รวมถึงยังไม่รองรับการบีบอัด (Compression) และการเข้ารหัส (Encryption) บางรูปแบบ พูดง่าย ๆ ว่ายังรองรับซอฟต์แวร์หลายอย่างได้ไม่ดีเท่า NTFS ที่คนใช้มานานกว่า เลยยังไม่เหมาะกับผู้ใช้ PC ทั่วไปขนาดนั้น

คาดว่าครั้งนี้ Microsoft ตั้งใจเตรียมนำ ReFS มาใส่ไว้ใน Windows 11 เพื่อรองรับเผื่ออนาคตเฉย ๆ ยังไม่กะเอามาเป็น default สำหรับการลง Windows แทนที่ NTFS ในเร็ววันนี้ แต่ไม่แน่ เพราะปัจจุบันการใช้ข้อมูลในเครื่องระดับ PC ก็เริ่มต้องการความยืดหยุ่นที่สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนแล้ว เห็นได้จากการเขียนไฟล์แบบคลาวด์เข้าออก OneDrive ทุกวัน, การจัดการไฟล์ Excel เรคคอร์ดใหญ่ ๆ หรือกระทั่งการประมวลผลด้วย AI ที่กำลังจะตามมา (คอมบางเครื่องแทบจะกลายเป็น Workstation ที่เป็นเซิร์ฟเวอร์ในตัวได้แล้ว) ซึ่งทั้งหมดล้วนต้องการระบบจัดการไฟล์ที่ดีกว่าเดิมทั้งสิ้น นี่จึงน่าจะเป็นเหตุผลหลักว่าทำไม Microsoft ถึงอยากนำ ReFS มาใช้กับ Windows ทั่วไปด้วยนั่นเอง

 

 

ที่มา : Windows Latest, Microsoft