เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา OnePlus เพิ่งจะถูกเปิดโปงว่าได้ทำการโกงผลการทดสอบคะแนน benchmark ไม่ว่าจะเป็นการโกงในแอพ AnTuTu หรือ GeekBench ซึ่งเราก็คาดว่าครั้งนี้ OnePlus จะไม่ทำซ้ำรอยเดิมอีก แต่น่าเสียดายที่วันนี้ทาง XDA เจ้าเก่าได้ออกมาประกาศอีกครั้งว่า OnePlus 5 นั้นมีการโกงคะแนนผลการทดสอบ benchmark อีกแล้ว พร้อมเผยสาเหตุการคว้าอันดับหนึ่งจากแอพ GeekBench 4

OnePlus 5 มาพร้อมกับชิป Snapdragon 835 octa-core (4 x 2.45GHZ + 4×1.9GHz) โดยการโกงของ OnePlus 5 จะเป็นวิธีการเร่งความเร็วของ 4-core เล็กที่มีความเร็ว 1.9GHz ให้วิ่งที่ความเร็วสูงสุดตลอดเวลาในการทดสอบ benchmark โดยได้มีการกำหนดแอพจากการดู package ID ไว้แล้วว่าจะให้เร่งความเร็วกับแอพไหนบ้าง

  • AnTuTu (com.antutu.benchmark.full)
  • Androbench (com.andromeda.androbench2)
  • Geekbench 4 (com.primatelabs.geekbench)
  • GFXBench (com.glbenchmark.glbenchmark27)
  • Quadrant (com.aurorasoftworks.quadrant.ui.standard)
  • Nenamark 2 (se.nena.nenamark2)
  • Vellamo (com.quicinc.vellamo)

ทาง XDA ได้ทำการทดสอบกับแอพ GeekBench 4 แบบที่โหลดมาจาก Google Play Store ซึ่งมี package ID ติดมาด้วย พร้อมกับทดสอบกับแอพ GeekBench 4 ที่มีการซ่อน package ID เอาไว้ และทำการตรวจเช็คความเร็วของ CPU ว่าการวิ่งระหว่างทดสอบนั้นเป็นอย่างไร โดยผลลัพธ์ที่ได้ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ระหว่างการทดสอบกับแอพ GeekBench 4 ที่ดาวน์โหลดมาจาก Google Play Store นั้น CPU วิ่งที่ความเร็วสูงสุดกว่า 95% ของการทดสอบ ผิดกับแอพที่มีการซ่อน package ID หรือการปิดโหมดโกง เอาไว้ ที่วิ่งที่ความเร็วสูงสุด 1.9GHz เพียงแค่ 24.4% เท่านั้น

ผลการทดสอบระหว่าง การเปิดโหมดโกงของ OnePlus 5 นั้นเห็นชัดที่สุดในส่วนของ multi-core ซึ่งเมื่อเปิดโหมดโกงแล้วจะเห็นว่าคะแนนในส่วนนี้จะอยู่ที่ราวๆ 6,700 คะแนน แต่ว่าเมื่อปิดโหมดโกงคะแนนก็จะลดลงมาไม่ถึง 6,500 คะแนน สำหรับในส่วนของ single-core นั้นไม่เห็นผลต่างเท่าไหร่นัก แถมบางทีการที่ไม่ได้เปิดโหมดโกงนั้นสามารถทำคะแนนได้สูงกว่าตอนที่เปิดอีกด้วยครับ

ล่าสุดทาง XDA ก็มีการติดต่อไปยัง OnePlus ถึงเรื่องการโกงคะแนนทดสอบ benchmark และคำตอบที่ทาง OnePlus ตอบกลับมาก็คือ

ผู้คนใช้แอพ benchmark เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องของผู้ใช้งาน และเราต้องการให้ผู้ใชงานนั้นได้เห็นถึงประสิทธิภาพที่แท้จริงของ OnePlus 5 ดังนั้นเราเลยอณุญาตให้แอพ benchmark นั้นทำงานเหมือนกับการใช้งานจริง และนั่นก็รวมถึงการเล่นเกมหรือใช้งานแอพหนักๆ นอกจากนี้ เมื่อเปิดแอพบน OnePlus 5 มันก็จะอยู่ในสถานะแบบเดียวกับการเล่นเกม เพื่อให้การเปิดแอพนั้นทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เราไม่ได้ทำการเร่งความเร็วของตัวเครื่อง แต่เราพยายามแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของ OnePlus 5 มากกว่า

ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเราทดสอบ benchmark เจ้า OnePlus 5 จะทำงานอยู่ในสถานะที่ไม่ใช่การใช่งานทั่วไป แต่ว่าจะเป็นการทดสอบในสถานะที่เหมือนกับว่าเรากำลังเล่นเกมหนักๆ อยู่ ทำให้ผลคะแนนที่ได้นั้นไม่ใช่ผลคะแนนที่แสดงให้เห็นถึงการใช้งานจริง แต่เป็นผลคะแนนจากการรีดประสิทธิภาพที่มีทั้งหมดของตัวเครื่องออกมาแสดงมากกว่า

ว่าแต่เพื่อนๆ ให้คิดยังไงกับการทดสอบ benchmark บ้างครับ? คิดว่าการทดสอบ benchmark นั้นควรจะวัดผลที่การใช้งานทั่วไปหรือว่าวัดผลที่ประสิทธิภาพสูงสุดที่รุ่นนั้นจะทำได้กันแน่?

 

ที่มา: XDA-Developers