ช่วงต้นปีของปีนี้ดูเหมือนว่ากระแสของโซนี่ดูจะเงียบเหงากว่ายี่ห้ออื่นๆ ส่วนหนึ่งเพราะว่าเรือธงรุ่นใหม่อย่าง Xperia Z3+/Z4 นั้นไม่ได้หวือหวาอะไรมาก เป็นเพียงการปรับปรุงเพิ่มจาก Xperia Z3 เรือธงเมื่อปลายปีที่แล้วไปให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง และดูเหมือนว่าจะไม่มีการนำเข้ามาขายในไทยอีกด้วย ทำให้มือถือโซนี่ที่นำเข้ามาขายในบ้านเราในครึ่งปีแรกมีเพียงมือถือระดับล่างกับระดับกลางเท่านั้น สำหรับมือถือของโซนี่ที่เข้ามาในปีนี้มีด้วยกันทั้งหมด 3 รุ่นคือ Xperia E4 ที่เป็นรุ่นล่าง แล้วก็ Xperia M4 Aqua และ Xperia C4 Dual ที่เป็นรุ่นกลาง

** ภาพเยอะมากครับ ระวังติด FUP **

เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสทดลองใช้งาน Xperia C4 Dual เป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็มๆ จึงจะมารีวิวทั้งด้านประสบการณ์จากการใช้งาน คุณสมบัติต่างๆ ของมัน รวมถึงเอกลักษณ์ต่างๆ ของมือถือโซนี่

สเปคของเครื่อง

เริ่มด้วยรายละเอียดสเปคของเครื่องเลยละกันครับ สำหรับเจ้า Xperia C4 Dual นั้นมีข้อมูลสเปคดังต่อไปนี้

  • หน้าจอ IPS LCD ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full-HD (1080×1920)
  • CPU MediaTek MT6752 64-bit octa-core 1.7 GHz
  • GPU Mali-T760MP2
  • RAM 2 GB, ROM 16 GB รองรับ microSD สูงสุด 128 GB, รองรับ OTG
  • รองรับ 2 ซิม (nanoSIM) dual-standby, ซิมนึงเป็น 2G
  • รองรับทุกเครือข่ายในประเทศไทย (2G/3G/4G)
  • Wi-Fi 802.11 a/b/g/n, Dual-band, Wi-Fi Direct, Wi-Fi hotspot
  • การเชื่อมต่อต่างๆ Bluetooth v4.1, A2DP, aptX, LE, microUSB v2.0, NFC, ฟังวิทยุ FM ได้
  • กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล พร้อม LED Flash
  • กล้องหน้าความละเอียด 5 ล้านพิกเซล เลนส์มุมกว้าง 25mm พร้อม LED Flash
  • มาพร้อมกับ Android Lollipop 5.0
  • แบตเตอรี่ 2,600 mAh
  • รุ่นนี้ไม่กันน้ำกันฝุ่น
  • ขนาดเครื่อง 150.3 x 77.4 x 7.9 มิลลิเมตร
  • น้ำหนัก 147 กรัม
  • มีทั้งหมด 3 สี ขาว,ดำ,เขียวมินต์
  • ราคาวางขายในไทย 10,990.- บาท

 

หน้าตาและการออกแบบ

จบเรื่องสเปคกันไปแล้ว เรามายลโฉมเจ้า Xperia C4 Dual กันเลยดีกว่า เริ่มจากการแกะกล่องออกมา ก็จะพบตัวเครื่อง สาย USB-microUSB พร้อม Charger แล้วก็คู่มือต่างๆ ครับ

 

แอนดรอยด์ฟิกเกอร์ไม่ได้แถมมาในกล่องนะครับ :p

สำหรับหน้าตาและการออกแบบของเจ้า Xperia C4 Dual ตัวนี้ก็ยังใช้หลัก Omnibalance ที่โซนี่เริ่มใช้มาตั้งแต่ Xperia Z รุ่นแรก ซึ่งก็ทำให้มีการกระจายน้ำหนักที่ดีทีเดียวครับ

ด้านหน้าตัวเครื่อง ท่อนบนก็จะประกอบไปด้วยเซนเซอร์วัดแสง ไฟ Notification LED ลำโพงสนทนา กล้องหน้าและแฟลชคู่กล้องหน้า สังเกตที่กล้องหน้าจะเห็นว่ามีขนาดใหญ่และบริเวณขอบจะมีวงแหวนที่ทำให้ดูโดดเด่นขึ้นมามากทีเดียวเลยครับ

 

มาต่อกันที่ด้านข้างตัวเครื่อง เริ่มจากฝั่งขวาไล่จากบนลงล่าง จะประกอบไปด้วย ช่องสำหรับใส่ microSD และ nanoSIM 2 ช่อง ลงมาข้างล่างก็จะพบกับปุ่ม power สไตล์โซนี่ที่โดดเด่น ปุ่มปรับเพิ่มลดเสียง แล้วก็ปุ่มชัตเตอร์ที่โซนี่ใส่มาให้กับมือถือแทบทุกรุ่น ปุ่มชัตเตอร์สามารถตั้งให้เป็นปุ่ม quick launch แอปกล้องได้ครับ โดยใช้ได้เลยเป็นค่าเริ่มต้น

ปุ่ม power ที่เป็นเอกลักษณ์ของมือถือ Xperia

อีกสักรูป

 

สำหรับฝั่งซ้ายนั้นจะมีเพียงช่องเสียบ microUSB เท่านั้นครับ

 

ด้านบนก็มีช่องหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร จากที่ได้ทดสอบพบว่าถ้าไม่ได้มองจะเล็งเสียบยากนิดหน่อย เพราะมันจะค่อนไปทางด้านหลังเครื่องเล็กน้อย และช่องเสียบค่อนข้างแน่น (ไม่แน่ใจว่าใช้ไปสักพักจะหายแน่นมั้ย)

 

ด้านล่างเครื่องก็จะมีช่องไมค์สำหรับสนทนาคุยโทรศัพท์ครับ

 

มาที่ด้านหลังเครื่องก็จะพบกับกล้องหลังพร้อมไฟแฟลช ทางขวาของกล้องก็จะเป็นไมค์บันทึกเสียง บริเวณกลางๆ ก็จะมีเป็นบริเวณที่มีชิป NFC อยู่ครับ แล้วก็มีลำโพงอยู่ทางด้านล่างของเครื่อง

 

หลังจากนั้นก็ทดลองเปิดเครื่องกันเลย เปิดมาก็จะพบกับหน้า Home เริ่มต้นที่มี Widget ของแอป What’s New ที่นำเสนอข่าวสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลง หนัง รวมถึงแอปแนะนำต่างๆ ครับ ในส่วนของ Shortcut ด้านล่างก็เป็นแอป Media ต่างๆ ของโซนี่เอง ไม่ว่าจะเป็น Music (แอป Walkman เก่า), Album, Video และ Playstation นอกจากแอปพวกนี้ก็จะมีแอปของกูเกิลที่ติดตั้งมาให้แล้วครับ

 

มาที่สีสันบนหน้าจอกันบ้าง สำหรับ Xperia C4 Dual นั้นก็มีเทคโนโลยี Bravia Engine 2 เช่นเดียวกับ Xperia รุ่นอื่นๆ เพื่อเสริมให้สีสันบนหน้าจอดูสวยขึ้น นอกจากนี้แล้วยังมีโหมด Vivid ที่ให้สีสดขึ้นไปอีกด้วยครับ แต่ผมไม่ได้ทดสอบความแตกต่างมาครับ เปิดใช้แต่ Bravia Engine 2 เท่านั้น

แม้ว่า Xperia C4 Dual นั้นจะเป็นมือถือระดับกลาง แต่ก้มาพร้อมกับจอความละเอียด Full-HD ทำให้ภาพที่แสดงบนหน้าจอนั้นคมขึ้น สำหรับผมที่ใช้มือถือจอ HD (720 x 1280) มาก่อนก็พบว่าภาพต่างๆ ดูคมและละเอียดขึ้นแบบเห็นได้ชัดครับ

 

จอของ Xperia C4 Dual นั้นมีขนาด 5.5 นิ้ว ซึ่งถือว่าเริ่มใหญ่แล้ว จากที่ผมได้ทดลองใช้งานมาพบว่ามือของผมนั้นเล็กไปหน่อยสำหรับมือถือจอขนาดนี้ การใช้งานมือเดียวนั้นจะค่อนข้างลำบากเพราะนิ้วเอื้อมได้ไม่ทั่วบริเวณจอ อีกทั้งบางครั้งจับแล้วกลัวว่าจะตกเหมือนกัน ส่วนใหญ่เลยใช้งาน 2 มือเพื่อความสะดวกครับ

 

ผมสังเกตพบว่าด้านหลังตัวเครื่องของ Xperia C4 Dual นั้นเป็นรอยมือได้ค่อนข้างง่ายครับ (ส่วนใหญ่เจอจากเหงื่อบนมือ) อย่างไรก็ตาม พอมันแห้งก็จะมองรอยไม่ค่อยออก และสามารถเช็ดออกได้ง่ายครับ

 

 

benchmark

สำหรับการทดสอบผล Benchmark ผมได้ใช้แอปสำหรับการ Benchmark คือ Geekbench 3, AnTuTu และ 3DMark Ice Storm ในการทดสอบครับ ได้ผลคะแนนดังนี้

คะแนนจาก Geekbench

ในการทดสอบด้วย AnTuTu นั้นผมพบว่าตัวแอปมีปัญหาในเชื่อมต่อกับเซิฟเวอร์ ทำให้คะแนนทดสอบไม่ถูกบันทึกและขึ้นเป็น Non-verified Score ครับ พยายามหลายวิถีทางแล้วก้แก้ไม่ได้ เลยขอใช้คะแนนทดสอบนี้ครับ

คะแนนจาก AnTuTu

คะแนนจาก 3DMark

จากตัวเลขคะแนนก็จะพบว่าทำคะแนนได้ไม่เลวเลยทีเดียว โดยในด้านการประมวลผลนั้น CPU MediaTek 6752 สามารถทำคะแนน Benchmark ของ AnTuTu ได้สูงกว่า Snapdragon 808 เสียอีก (อย่างใน LG G4) แต่ในการทดสอบกับ Geekbench จะพบว่าการทำงานคอร์เดียวนั้นยังด้อยกว่า และส่วนของการทำงานหลายคอร์นั้นมีคะแนนดีกว่าเพราะ MediaTek 6752 มีจำนวนคอร์มากถึง 8 คอร์ ในขณะที่ Snapdragon 808 มีคอร์เพียง 6 คอร์

ในส่วนของการประมวลผลกราฟิกนั้นชิป MediaTek 6752 ยังคงด้อยกว่า Snapdragon 808 อย่างเห็นได้ชัด

*หมายเหตุ คะแนนเหล่านี้เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้น สิ่งสำคัญกว่าคือการใช้งานจริง

 

การใช้งานทั่วไป

เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะสงสัยว่าประสิทธิภาพของชิป MediaTek มันเป็นเช่นไรบ้าง ตอนผมได้เครื่องมาไม่นานผมก็เลยทดสอบด้วยการเล่นเกมมาตรฐานอย่าง Asphalt 8: Airborne แล้วผมไปสังเกตว่ามือถือ Xperia นั้นสามารถอัดวิดีโอหน้าจอได้ในตัวของมันเองเลย (เมนูจะอยู่ข้างเมนูถ่ายรูปหน้าจอตอนกดปุ่ม power ครับ) ผมก็เลยอัดวิดีโอมาให้ชมกันครับ

Play video

ระหว่างอัดนั้นไมค์จะรับเสียงจากข้างนอกด้วยครับ แต่ในวิดีโอผมไม่ได้พูดและอยู่ในที่ค่อนข้างเงียบ

ตัวเกมนั้นปรับกราฟิกไว้ที่ High ซึ่งจากการทดลองเล่นก็พบว่าลื่นไหลใช้ได้ มีหน่วงบางจังหวะบ้างแต่ไม่ทำให้การเล่นติดขัดครับ หากเป็นการเล่นระหว่างการบันทึกหน้าจอด้วย หน้าจอจะดูหน่วงๆ ไปบ้าง แต่ตัววิดีโอก็ได้ออกมาอย่างที่เห็นครับ

 

อุณหภูมิเครื่องในช่วงที่เล่น Asphalt 8

เล่นเกมมาหมาดๆ สิ่งที่ตามมาก็คือความร้อนของเครื่อง ผมได้เปิดใช้ CPU-Z ในการตรวจอุณหภูมิของ CPU ก็พบว่าตามตัวเลขแล้วร้อนใช้ได้เลยครับ แต่ว่าด้วยความที่ Xperia C4 Dual นั้นมีขนาดเครื่องที่ใหญ่และส่วนที่ร้อนนั้นค่อนข้างไปทางบน ราวๆ แถวบริเวณกล้อง การจับถือในช่วงเล่นเกมหรือหลังจากการเล่นเกมก็ไม่ได้ไปโดนส่วนนั้นเท่าไร เลยไม่ค่อยรู้สึกร้อนครับ ยกเว้นแต่ว่าจะเล่นเสร็จปุ๊บหย่อนใส่เข้ากระเป๋ากางเกง ก็รู้สึกร้อนขาไม่ใช่เล่นครับ 

 

การใช้ RAM ในสภาพทั่วไป

สำหรับการใช้งานทั่วไปเล่นเน็ตเล่นเฟส เปิดแอป สลับแอป ทำได้ลื่นไหลทีเดียวครับ ตอนเปิดเครื่องมาใหม่ๆ ก็มี RAM ว่างอยู่ราว 475 MB หลังจากทดลองใช้งานโดยไม่เคลียร์แอปเลย จนเข้าวันที่ 2 ถึงรู้สึกว่าหน่วงขึ้นมาบ้าง พอเคลียร์ที่เปิดไปก็กลับมาลื่นไหลเหมือนเดิมครับ

ในส่วนของ ROM นั้น Xperia C4 Dual ให้มา 16GB แรกเริ่มเปิดเครื่องมาจะมีเหลือให้ใช้ได้ 9GB กว่าๆ ครับ ถ้าเป็นการใช้งานทั่วๆ ไปเช่น ลงแอป ลงเพลง ลงเกมเบาๆ ผมว่าก็เหลือเฟือครับ แต่ถ้าใครเป็นคอเกมที่ใช้พื้นที่เยอะๆ ก็แนะนำให้ใส่ microSD เพิ่ม หรืออย่างผมที่ฟังเพลงพวก FLAC ก็ต้องอาศัย microSD ช่วยเพลงเพราะไฟล์มันใหญ สำหรับ Xperia C4 Dual นั้นรองรับ microSD ได้สูงสุดถึง 128GB ถือว่ารองรับได้มากเลยทีเดียวครับ (ลืมถ่ายหน้าจอมาแปะให้ดูครับ ขออภัยอย่างสูง ( _/|_ ) )

อีกหนึ่งอย่างที่ทางโซนี่ชูเป็นจุดเด่นของ Xperia C4 Dual ก็คือลำโพงที่เสียงดังฟังชัด จากการทดสอบฟังเสียงจากลำโพงของเจ้า Xperia C4 Dual ก็พบว่าเสียงดังดีมากครับ เปิดระดับเสียงสักครึ่งหนึ่งก็ดังพอฟังชัดทั่วห้องแล้วครับ …แต่! แม้ว่าลำโพงจะเสียงดังแค่ไหน หากเราจับตัวเครื่องวางราบไปบนพื้นโต๊ะเรียบๆ ล่ะก็ จะพบว่าเสียงลำโพงอันทรงพลังนั้นเงียบกริบเลย เนื่องจากด้านหลังของตัวเครื่อง Xperia C4 Dual นั้นเป็นผิวเรียบไม่มีแง่งหรือส่วนที่ยื่นออกมาดันให้เกิดช่องว่าง ทำให้เสียงจากลำโพงโดนปิดไม่ให้เล็ดรอดออกมา ลองดูจากคลิปได้ครับ

Play video

ทดสอบเสียงลำโพง Xperia C4 Dual

แบตเตอรี่

Xperia C4 Dual เครื่องนี้มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 2,600 mAh ก็ถือว่าให้มาเยอะใช้ได้ครับ หากใครคุ้นเคยหรือใครพอจะรู้จักมือถือ Xperia มาก่อนก็น่าจะทราบดีว่า Xperia นั่นจะมีฟังก์ชันสำหรับประหยัดแบตเตอรี่คือ STAMINA Mode ที่สามารถปรับการใช้งานของแอปต่างๆ ได้เพื่อลดการใช้แบตเตอรี่ รวมถึงฟังก์ชัน Ultra STAMINA และ Low Battery ที่จะปิดการใช้งานบางอย่างเพื่อที่จะเค้นแบตให้ใช้ได้จนเฮือกสุดท้าย 

แต่เนื่องจากผมต้องการทดสอบการใช้งานแบบเต็มๆ ก็เลยไม่ได้เปิดโหมดประหยัดแบตใดๆ ครับ รวมถึง Wi-Fi ก็ปรับให้ต่อตลอดเวลา ไม่มีพักตอนปิดหน้าจอ หลังจากนั้นผมได้ทดลองใช้งาน 1 วันเต็มโดยเริ่มถอดสายชาร์จก่อน 11 โมงนิดหน่อยแล้วไปเดินห้าง ต้องบอกก่อนว่าช่วงต้นนั้นมือถือผมยังไม่ได้ใส่ซิมครับ แต่พอไปถึงห้างผมก็จัดการเรื่องซิมเสร็จสรรพก็ใส่ทันทีเปิด 3G ลองสักพักหนึ่งแล้วก็เปลี่ยนมาใช้ Wi-Fi และระหว่างนั้นก็ได้ลองใช้กล้องถ่ายนู่นเป็นระยะๆ ถ้าสังเกตช่วงที่แบตเตอรี่แทบไม่ลดเลยนั่นคือช่วงปิดพักจอครับ จะเห็นว่าช่วง Idle นั้นแบตแทบไม่ลดเลย

 

พอกลับถึงบ้านผมได้ทดลองโหลดเกม Asphalt 8: Airborne มาลองเล่น (ช่วงเดียวกับคลิปข้างบนครับ) หลังจากนั้นสักพักก็เสียบ USB กับคอมเพื่อโอนไฟล์วิดีโอลงเครื่อง ระหว่างโอนไฟล์จะพบว่าแบตถูกชาร์จเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย หลังจากนั้นผมก็ได้ใช้ Xperia C4 Dual ดูวิดีโอที่โอนมาต่อเนื่องนานพอสมควร รวมๆ แล้วก็น่าจะสัก 3 ชั่วโมงได้ โดยสลับกับการเล่นเฟสไปด้วย สังเกตบริเวณในกราฟที่ Screen On จะเห็นว่าติดต่อกันนานอยู่ครับ โดยหลังจากนั้นก็เป็นการใช้งานทั่วไป

ในวันนั้นเองผมก็พบว่าแบตเตอรี่สามารถอยู่ได้ถึงราว 3 ทุ่มกว่าๆ เลยครับ คิดเลขกลมๆ ก็จะได้ว่าสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องราว 10 ชั่วโมงเลย แถมมีการใช้งานหน้าจอนานซะด้วย

สำหรับวันธรรมดาที่ผมพก Xperia C4 Dual ไปทำงานด้วย โดยช่วงเวลาที่ถอสายชาร์จเป็นช่วง 9 โมงกว่าๆ น่าจะราวครึ่ง ระหว่างเดินทางใช้ 3G ตลอด ระหว่างทางได้ใช้ฟังเพลงไปด้วย และเนื่องจากแชทกับเพื่อนๆ นานพอสมควรกว่าผมจะถึงที่ทำงานแบตก็ลดลงมาเหลือที่ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้วครับ พอถึงที่ทำงาน (ราว 10 โมงครึ่ง) ผมก็เปลี่ยนเป็นต่อ Wi-Fi แล้วเปิดฟังเพลงไปทำงานไป ระหว่างนั้นก็มีการเปิดหน้าจอโทรศัพท์มาดูนู่นนี่บ้างเล็กน้อย แต่หลักๆ คือการปิดจอและเปิดเพลงครับ เมื่อถึงเวลาเลิกงาน (18.53 น.) หยิบมือถือมาเปิดดูพบว่าแบตเหลือมากถึง 72% ครับ หลังจากนั้นผมก็เดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางก็ใช้งาน 3G ตลอดทางครับ พอใกล้ๆ ถึงบ้านก็หยิบมาดูรอบหนึ่ง (20.11 น.) พบว่าแบตเหลืออยู่ที่ 61% ครับ

 

เพื่อความชัวร์ผมก็ทดลองเก็บข้อมูลแบตอีกวันหนึ่ง วันนี้ในช่วงเช้าในงานโทรศัพท์ระหว่างเดินทางค่อนข้างมาก เปิดจอนาน แชท 3G ทดลองเปิด Google Maps จนแบตเหลือ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ก่อนถึงที่ทำงาน พอไปถึงที่ทำงานก็ผมใช้งานแบบเดิมครับคือต่อ Wi-Fi กับฟังเพลง ตอนเย็น (17.21 น.) หยิบขึ้นมาดูทีนึงก็พบว่าแบตเหลืออยู่ที่ 69% และกลับไปถึงบ้านก็สามารถใช้ต่อได้ยาวถึง 5 ทุ่มเลยทีเดียว โดยเหลือแบตอยู่ที่ 27%

 

จะเห็นได้ว่าการใช้งานทั่วๆ ไปนั้น Xperia C4 Dual สามารถจัดการแบตเตอรี่ได้ค่อนข้างดีทีเดียว สามารถใช้งานพ้นวันได้สบายๆ ครับ อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ทดสอบในกรณีที่ใช้งาน 2 ซิม และในกรณีที่เป็นการใช้งานหนักๆ 3G/4G ตลอดทั้งวัน สำหรับ 2 กรณีที่ว่ามานี้จะมีการใช้งานแบตเตอรี่หนักกว่านี้แน่นอนครับ แต่สำหรับคนที่ใช้งานหนักล่ะก็ ผมเชื่อว่าโหมดประหยัดแบตอย่าง STAMINA จะสามารถช่วยให้แบตคุณอยู่ได้ยาวนานขึ้นอย่างแน่นอนครับ

 

การใช้งานกล้อง

มาที่กล้องกันบ้าง สำหรับเจ้า Xperia C4 Dual ตัวนี้มาพร้อมกับกล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล และกล้องหน้าเลนส์มุมกว้างความละเอียด 5 ล้านพิกเซลพร้อมแฟลช สำหรับซอฟท์แวร์กล้องของโซนี่นั้นจะมีโหมด Auto ที่เรียกว่า Superior Auto โดยข้อแม้ของการถ่ายด้วยโหมด Superior Auto ก็คือจะถ่ายได้ความละเอียดสูงสุดที่ 8 ล้านพิกเซลเท่านั้น สำหรับโหมด Manual ที่ให้เราตั้งค่าทั้งตาม Preset หรือตั้งค่า White Balance หรือ Exposure เองได้ เราจะสามารถปรับให้ความละเอียดภาพเพิ่มไปเป็น 13 ล้านพิกเซลได้ครับ

นอกจากนั้นก็จะเป็นลูกเล่นต่างๆ ตามสไตล์ของโซนี่ คือการแต่งภาพด้วย AR (Augmented Reality) ที่สามารถนำภาพกราฟิก 3 มิติ เข้ามาตกแต่งในภาพได้ของเราให้มีชีวิตชีวามากขึ้น

เรามาลองดูภาพจากกล้องหลังกันดีกว่าครับ ภาพต่อไปนี้ถ่ายด้วยโหมด Superior Auto ครับ (ภาพสุดท้ายเป็นสภาพแสงมืดมาก)

สำหรับการถ่ายภาพกลางคืนนั้นสามารถถ่ายได้ค่อนข้างรวดเร็วทันใจดีครับ ไม่ว่าจะเป็นการกดถ่ายด้วยปุ่มชัตเตอร์ หรือเป็นการกดชัตเตอร์บนหน้าจอ ต่อไปลองดูตัวอย่างภาพจากโหมด Manual กันบ้างครับ

ในด้านการถ่ายวิดีโอนั้น Xperia C4 Dual สามารถถ่ายได้ความละเอียดที่ Full-HD 1080p ครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพบขณะถ่ายวิดีโอก็คือภาพที่แสดงบนหน้าจอจะค่อนข้างจะดีเลย์ครับ ทำให้การหันหรือแพนกล้องกะจังหวะได้ลำบากขึ้นเล็กน้อย แล้วก็การจับโฟกัสก็เหมือนจะยังช้าไปนิดหน่อย ลองดูตัวอย่างวิดีโอครับ 

Play video

สำหรับการกันสั่นนั้นโซนี่ยังคงใช้เพียงซอฟท์แวร์เท่านั้น แม้แต่รุ่นเรือธงอย่าง Xperia Z3+/Z4 ก็ยังไม่ได้ใส่ OIS มาให้ ลองดูตัวอย่างวิดีโอที่ผมถ่ายไปเดินไปดูครับ (คาดว่าภาพเบลอเพราะเลนส์อาจจะเป็นรอยเปื้อน)

Play video

แล้วในบางจังหวะที่เดินเร็วๆ นั้นจะพบว่าวิดีโอที่ถ่ายมายังคงสั่นมาก และนอกจากจะสั่นมากแล้วกล้องยังจับโฟกัสไม่ค่อยติดอีกด้วย สำหรับในส่วนวิดีโอนี่ต้องขออภัยที่ผมไม่ได้ถ่ายในช่วงกลางวันมาให้ได้ชมกันครับ

  Play video

มาที่กล้องหน้ากันบ้างครับ สำหรับมือถือตระกูล Xperia C นั้นเป็นมือถือที่โซนี่ผลักดันให้มีจุดเด่นเป็นกล้องหน้าที่สามารถเซลฟี่ได้ออกมาดูดีและสวยงาม จึงได้เลือกใช้ฮาร์ดแวร์กล้องที่แตกต่างจากรุ่นอื่น ในส่วนของซอฟท์แวร์นั้นก็จะมีให้เลือกปรับเป็นโหมด Soft-skin ที่เหมือนกับพวกโหม Beauty ของหลายๆ ยี่ห้อนั่นเองครับ นอกจากนี้แล้วยังถ่ายภาพแบบ HDR ด้วยกล้องหน้าได้อีกด้วย ลองดูภาพจากกล้องหน้ากันครับ 

ภาพชุดนี้ไล่จากภาพแรกจะเป็น auto, manual, soft-skin, กล้องหลังไม่มีแฟลช, กล้องหลังแบบมีแฟลช, กล้องหน้าแบบไม่มีแฟลช และกล้องหน้าแบบมีแฟลชครับ

ด้วยเลนส์มุมกว้างของ Xperia C4 Dual ก็ทำให้สามารถเก็บภาพได้กว้างถึง 80 องศา กว้างเลนส์ธรรมดาพอสมควรเลยทีเดียว ลองดูภาพเปรียบเทียบของกล้องหน้า Xperia C4 Dual กับ Zenfone 2 (ที่สามารถเก็บภาพได้กว้าง 88 องศา) กันครับ ภาพแรกจะเป็น Zenfone 2 ตามด้วยภาพจาก Xperia C4 Dual นะครับ 

นอกจากนี้แล้วกล้องหน้าก็สามารถเล่น effect ต่างๆ ทั้งแต่งโทนสีและใส่ AR เข้ามาประกอบในภาพได้เช่นกันครับ

การใช้งาน 2 ซิม (Dual SIM)

Xperia C4 Dual นั้นรองรับการใช้งาน 2 ซิมแบบนาโนซิม (nanoSIM) โดยเป็น dual-standby และซิมนึงเป็น 2G ครับ โดยปกติแล้วผมใช้งานโทรศัพท์แค่ซิมเดียวเลยไม่ได้ทดสอบการใช้งานแบบ 2 ซิม ขออนุญาตแนะนำให้ดูจากบล็อก Mini Review ตามใจฉัน Xperia Z3+ Dual Sim (Xperia Z4) ครับ เพราะว่าตัว ROM ของโซนี่แต่ละรุ่นนั้นไม่น่าจะต่างกันมากนัก การใช้งานก็น่าจะเหมือนๆ กันครับ

 

Software

ในส่วนของ Software และ ROM ของโซนี่ผมจะขอพูดถึงหน้าตาทั่วไป แล้วก็แอปประจำเครื่อง ของโซนี่ได้แก่ Music, Album และ Video ส่วนของ Playstation นั้นจะขอข้ามไป เพราะผมไม่ได้ทดลองใช้ครับ (ไม่มีเครื่อง Playstation และเหมือนตอนนี้โซนี่กำลังปรับอะไรอยุ่)

มาเริ่มกันที่หน้าของ Home Screen กันครับ

 

หน้า Home Screen ของโซนี่นั้นจะมาแบบเรียบๆ ไม่ได้ปรับแต่งอะไรเท่าไรครับ จะมีก็แค่ธีมของโซนี่เอง สำหรับ Home Screen lามารถเพิ่มได้สูงสุดเป็น 7 หน้า เมื่อทัชที่จอสักครู่ก็จะมีเมนูสำหรับการเลือกวาง App shortcut, Widget, เปลี่ยน Wallpaper, เปลี่ยน Theme และสิ่งที่เพิ่มมาใน Android 5.0 ของโซนี่คือ Home Settings ที่สามารถตั้งค่าได้ว่าต้องการให้หน้า Home Screen หมุนเป็นแนวนอนได้หรือไม่

 

สำหรับมือถือหรือแท็บเล็ต Xperia นั้นมีธีมให้เลือกค่อนข้างเยอะครับ สามารถหาดูและดาวน์โหลดได้ผ่านทางแอป What’s New ของโซนี่ ผมก็ลองโหลดธีมของ MAD MAX มาใช้เล่นดู ก็ให้อารมณ์แปลกใหม่ดีครับ

 

มาต่อกันที่แอป Album ที่เป็นแอปสำหรับดูรูปภาพที่ติดมากับเครื่อง Xperia ทุกเครื่อง สำหรับการใช้งานทั่วไปก็ไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ ตอนเข้าแอปจะมีแนะนำว่าสามารถเปิดใช้งาน PlayMemories ที่เป็นบริการเก็บและซิงค์ภาพของโซนี่ได้ โดย PlayMemories นั้นอนุญาตให้เราฝากไฟล์ภาพขนาดไม่ใหญ่เกิน Full-HD (1080 x 1920) ได้ฟรีๆ แบบไม่จำกัดพื้นที่นั่นเอง

 

สำหรับการใช้งานเพื่อดูภาพก็คล้ายๆ กับแอปดูภาพทั่วไป แต่จะสามารถ Swipe ปัดหน้าจอเพื่มเปลี่ยนการแสดงผล Thumbnail ภาพให้เล็กลงหรือใหญ่ขึ้นนั่นเอง สำหรับใครที่เคยใช้ Xperia มาก่อนน่าจะคุ้นชินครับ

 

สำหรับเมนูด้านซ้ายก็สามารถเลือกดูภาพตามหมวดหมู่ได้เล็กน้อยครับ เช่น ภาพที่มีข้อมูลสถานที่ ภาพจากการแต่งด้วยแอปกล้อง ภาพหน้าคน เป็นต้น และสามารถเลือกดู Devices ที่เปิดเป็น Media Server เพื่เข้าไปดูได้ด้วยครับ นอกจากนี้แล้วยังสามารถซิงค์กับบัญชีอย่าง Facebook หรือ Picasa เพื่อซิงค์รูปภาพได้ด้วย

 

เมื่อเข้ามาดูในส่วนของ Settings ของ Album ก็จะมีให้ตั้งค่าการซิงค์ ปรับการแสดงผล Navigation menu รวมถึงการตั้งให้มือถือเป็น Media Server ครับ

 

มาต่อกันที่แอป Video ครับ สำหรับแอป Video ของโซนี่นั้นฟีเจอร์ต่างๆ ก็ถือว่าครบครัน แน่นอนว่าอย่างแรกคือมันสามารถเปิดเล่นไฟล์วิดีโอได้ (ก็มันแอปเล่นวิดีโอนี่เนอะ) สามารถเล่นไฟล์ MKV และปรับแต่งขนาดฟอนท์ของซับไตเติลได้ (คาดว่ายี่ห้ออื่นก็ทำได้เช่นกัน) สำหรับเมนูของแอปนั้นจะสามารถเลือกดูประวัติการดูวิดีโอได้ รวมถึงเลือกไฟล์จาก Media Server ได้

 

วิดีโอสามารถเล่นได้ตั้งแนวตั้งและแนวนอนครับ นอกจากนี้แล้วยังปรับลงมาเป็นจอเล็กแบบ YouTube ได้อีกด้วย และหากต้องการปิดก็สามารถปัดไปทางกลางจอแบบ YouTube ได้เลย

 

แอปตัวสุดท้ายที่เราจะพูดถึงก็คือแอป Music ผู้สืบทอดแอปเล่นเพลงของโซนี่จากเดิมที่ใช้ชื่อว่า Walkman สำหรับ Music นั้นมีหน้าตาที่น่าสนใจครับ และมีเอกลักษณ์โดดเด่นกว่าแอปทั้ง 2 แอปที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เริ่มเข้ามาที่หน้าแรกก็จะพบรายการเพลงอยู่ ถ้าเราฟังเพลงอยู่ก็จะแสดงคิวเพลงที่เล่นอยู่และลำดับต่อๆ ไปอีก 2 ลำดับ ว่ามีเพลงอะไรบ้าง และด้านล่างก็จะแสดงว่าเราเพิ่งเล่นเพลงหรือ Playlist ไหนไป

 

ทางขวาล่างจะเห็นวงกลมพร้อมสัญลักษณ์โน้ตดนตรีอยู่ นั่นคือฟีเจอร์ที่มากับ Music เรียกว่าปุ่ม Quick Play โดยเราสามารถตั้งค่าการทำงานผ่านหน้า Settings ของ Music ได้ดังนี้

  1. สุ่มเล่นเพลงจากทั้งหมด
  2. สุ่มเล่นเพลงจากเพลงที่เราฟังบ่อย
  3. สุ่มจากเพลงที่เพิ่งเพิ่มเข้ามา
  4. สุ่มเล่นจากเพลงที่เราเลือกเป็น Favorite ไว้
  5. หรือจะซ่อนการแสดงปุ่มนั้นไปเลยก็ได้

 … อ้อ สำหรับแอป Music ตัวนี้จะเป็นรุ่น Beta นะครับ สังเกตที่ขวาบนจะมีตัวหนังสือสีแดงๆ บอกรุ่นเบต้าเอาไว้

พอเปิดเมนูด้านข้างออกมาดูก็พบกับตัวเลือกมากมาย โดยสามารถเลือกดูเพลงในคิว ดูรายชื่อเพลงตามชื่อศิลปิน, อัลบัม, เรียงตามชื่อเพลง หรือแบ่งตามที่อยู่ของเพลงในโฟลเดอร์ก็ได้ ถ้าหากเลือกดู Playlist ก็จะพบเห็น Playlist ทั้งที่แอปสร้างไว้ให้ เช่น เพลงเพิ่มมาใหม่ (Newly Added) หรือ เพลงที่เล่นบ่อย (Mostly Played) และเราสามารถสร้างเพิ่มเองได้ทั้งในมือถือเลย หรือจะ Sync จากคอมผ่านโปรแกรม Media Go ของโซนี่ก็ได้ครับ ภาพรวมตรงนี้จะคล้ายๆ กับสมัยยังเป็น Walkman 

สำหรับเมนู Home network นั่นก็คล้ายๆ กับของ Video ครับ คือเราสามารถเลือกเปิดเพลงจากอุปกรณ์ที่อยู่ใน Wi-Fi เดียวกันได้ จากที่ผมทดสอบใช้โน้ตบุ๊กเปิด Media Go ก็สามารถเปิด Media Sharing ให้มือถือเห็นได้ครับ ทำให้มือถือสามารถ Stream เพลงบนโน้ตบุ๊กมาเล่นบนมือถือได้

 

กลับมาที่หน้าแรกอีกรอบหนึ่ง สำหรับปุ่ม 3 จุดขวาบน (Option) นั้น ในแอป Music สามารถตั้งเวลาในการเล่นเพลงได้ครับ โดยสามารถเลือกให้เล่นเพลงได้นาน 15 นาที, 30 นาที, 1 ชั่วโมง หรือ 2 ชั่วโมง ก่อนที่เครื่องจะหยุดเล่นเพลงเอง เหมาะสำหรับใครที่ชอบฟังเพลงก่อนนอนแล้วกลัวผลอยหลับไปแล้วลืมปิดเพลงครับ

 

ภาพขวาเป็นเพลงที่เล่นจาก Home Network จะมีสัญลักษณ์อยู่ข้างชื่ออัลบัมครับ

เอาล่ะ ถ้าสังเกตด้านล่างของหน้าหลักจะเห็นว่ามีแถมเพลงที่กำลังเล่นแสดงอยู่ด้วยครับ เราก็ลองจิ้มเข้าไปดูหน้าเล่นเพลงเลยดีกว่า ในหน้าเล่นเพลงก็จะพบกับพื้นที่ด้านบนขนาดใหญ่ที่จะโชว์ปกอัลบัมให้เราเห็น ถ้าเพลงไหนไม่มีข้อมูลปกก็จะแสดงเป็นภาพแผ่นดิสก์ คล้ายๆ กับ Walkman รุ่นก่อนครับ แต่ภาพจะต่างกันไปนิดหน่อย ร่นลงมาข้างล่างหน่อยก็จะเห็นชื่อเพลง ศิลปิน อัลบัม และบริเวณที่ควบคุมการเล่นเพลง สำหรับการใช้งานในหน้านี้ผมจะพบปัญหาหลักๆ อยู่อย่างก็คือ เวลาที่เราใช้นิ้วลากตำแหน่งบน seekbar ไปซ้ายสุดจอ จะพบว่าไม่สามารถลากให้มันไปอยู่ตำแหน่งเริ่มต้นเพลงได้ (ออกมาสภาพเหมือนภาพขวา) เพราะทัชจะหลุดพ้นจอก่อน ดังนั้หากจะย้อนเพลงก็ต้องใช้ปุ่ม previous เอาครับ เอาจริงๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร แต่ก็มองว่าเป็นจุดด้อยจุดหนึ่ง

 

ถ้าหากกดปุ่ม option ขวาบนก็จะพบตัวเลือกมากมายเลยครับ เช่น Throw เพื่อเล่นเพลงบนอุปกรณ์อื่น, Visualizer ที่แสดงเอฟเฟกต์ประกอบเพลง ไม่ต่างกับสมัยก่อน (เป็นฟีเจอร์ที่ผมแทบไม่เคยใช้เลย) ที่น่าสนใจก็คือ Edit music info ที่เมื่อเข้าไปแล้วจะสามารถดาวน์โหลดทั้งข้อมูลของเพลงและภาพปกอัลบัมได้ครับ

 

น่าจะสังเกตเห็นแล้วว่าแอป Music ของโซนี่จะเล่นภาพปกอัลบัมมาก ก็จริงครับ เพราะโซนี่ถึงเข้าเอาภาพปกอัลบัมของเพลงที่กำลังเล่นอยู่มาทำเป็น Backgroud หน้า Lock screen ของเครื่องเลยครับ ฮา … ถ้าได้ปกสวยๆ และมีปกในหลายๆ เพลง หน้า Lock screen ก็จะเปลี่ยนไปได้หลากหลายทำให้ดูมีสีสันมากขึ้นครับ

 

สำหรับฟีเจอร์ด้านเสียงของโซนี่นั้นก็มี ClearAudio+, ClearStereo, ClearBass มาให้ตามสไตล์มือถือ Xperia ครับ แต่สิ่งที่เพิ่มมาในมือถือรุ่นใหม่ๆ คือสามารถปรับเสียงให้เหมาะกับหูฟังเป็นรุ่นๆ ไปได้ โดยปัจจุบันจะมีเฉพาะการตั้งค่าที่ปรับให้เหมาะกับหูฟังของโซนี่เท่านั้น (หูฟังทั่วไปก็เลือกใช้ตัวเลือกนี้ได้ครับ แต่อาจจะได้เสียงที่ไม่เข้ากัน) โดยแต่ละรุ่นที่มีให้เลือกนั้นเป็นหูฟังแถมในมือถือรุ่นก่อนหน้า บางรุ่นบ้านเราอาจจะไม่ได้แถมมา เพราะของที่บรรจุมาต่างโซนก็ต่างชนิด 

 

เผอิญผมมีหูฟัง MH1C อยู่เลยถือโอกาสหยิบมาลอง โดยปกติแล้ว MH1C นั้นจะมีเสียงเบสค่อนข้างชัดและจะเด่นกว่าเสียงโทนกลางและแหลม พอลองเลือกการตั้งค่าหูฟังดูก็พบว่าเสียงทางเบสจะเบาลงเล็กน้อยและเสียงโทนกลางแหลมจะชัดขึ้นมาครับ ฟังเล่นไปนิดหน่อย ก็ยังบอกไม่ถูกว่ามันดีแค่ไหน แต่ผมว่าก็เป็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจ และได้ข่าวแว่วๆ มาว่าอนาคตโซนี่จะปรับให้รองรับหูฟังทุกรุ่น โดยอาศัยการวัดความต้านทานของหูฟังก่อนปรับค่าเสียงครับ

 

สรุป

หลังจากได้ใช้งานมา 1 สัปดาห์เต็มๆ ผมรู้สึกว่า Xperia C4 Dual นั้นใช้งานได้ดีทีเดียว ในด้านซอฟท์แวร์นั้นทำงานทั่วไปได้ลื่นไหลดี จะมีช้ายังไม่ถูกใจหน่อยก็คือการใช้ปุ่มชัตเตอรเพื่อเปิดกล้อง ยังทำเวลาได้ไม่เร็วทันใจนัก ส่วนใหญ่จะใช้เวลาราวๆ 1 วินาที ช้าสุดคือราว 3-5 วินาที การใช้งานกล้องสำหรับถ่ายภาพนิ่งถือว่าไม่เลวสำหรับมือถือระดับกลาง การจับโฟกัสทำได้ค่อนข้างเร็วทั้งภาพกลางวันและกลางคืน แต่สำหรับการถ่ายวิดีโอนั้นผมอาจจะขอเรียกว่ายัง “กาก” อยู่ โดยเฉพาะการป้องกันการสั่นขณะถ่ายวิดีโอ แอปของโซนี่เองก็ก็ตอบสนองความต้องการทั่วไปได้ครบถ้วน ในแง่ของฮาร์ดแวร์ งานออกแบบ วัสดุก็ดูหรูหราแบบโซนี่ จับถือแล้วรู้สึกว่าเบา แต่สำหรับผมแล้วรู้สึกว่าจอ 5.5 นิ้วนั้นใหญ่ไปสักหน่อยทำให้ใช้งานมือเดียวไมถนัด

 

จุดเด่น

  • หน้าจอสีสันสวยงาม จอความละเอียด Full-HD
  • กล้องหน้าเลนส์มุมกว้าง เก็บภาพได้กว้างดี และเก็บภาพได้ค่อนข้างสว่างแม้ไม่เปิดแฟลช
  • ใช้งานได้ 2 ซิม และใส่ microSD ได้สูงสุด 128 GB โดยไม่ได้แทนที่ช่องใส่ซิม
  • แอปของโซนี่ (Album, Video, Music) มีอัพเดตอยู่เรื่อยๆ ทำให้ได้มีการปรับปรุงตลอดเวลา
  • จากผลงานการอัพเดต Firmware ก่อนหน้านี้ น่าจะคาดหวังการซัพพอร์ทในระยะยาวจากโซนี่ได้
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้พ้นวันสบายๆ
  • ราคาถือว่าไม่แพงเท่าไรนัก อยู่ที่ 10,990 บาท

 

จุดด้อย

  • หน้าจอขนาด 5.5 นิ้วอาจจะไม่เหมาะสำหรับคนมือเล็กหรือชอบใช้งานมือถือ
  • กล้องไม่ได้มีอะไรโดดเด่น ระบบกันสั่นขณะถ่ายวิดีโอมีเพียงซอฟท์แวร์เท่านั้น ไม่มี OIS
  • กล้องหลังเป็นรอยเปื้อนค่อนข้างง่าย ควรมีผ้าเช็ด (เวลาหยิบนิ้วผมไปโดนบ่อยมาก)
  • ถอดแบตเตอรี่เปลี่ยนไม่ได้ (ต้องแกะเครื่อง ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาให้แกะได้)
  • แม้ว่าลำโพงจะเสียงดังดี แต่ถ้าหากว่ากับพื้นเรียบๆ เสียงจะไม่ค่อยออก กลายเป็นเสียงเบาไปครับ

จบไปแล้วสำหรับรีวิว Xperia C4 Dual หวังว่ารีวิวนี้จะเป็นประโยชน์กับเพือนๆ ที่สนใจนะครับ 🙂