สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกมาตรการใหม่เพื่อคุ้มครองนักชอปออนไลน์ ในชื่อว่า มาตรการส่งดี (Dee-Delivery) ให้สิทธิ์ผู้บริโภคที่สั่งของออนไลน์ และจัดส่งแบบเก็บเงินปลายทาง สามารถแกะเช็กสินค้าก่อน ปฎิเสธการรับสินค้า หรือแจ้งขอคืนเงินได้ภายระยะเวลาใน 5 วันในกรณีที่สินค้าไม่ตรงปก หรือสินค้าที่สั่งมามีจุดชำรุดบกพร่อง โดยจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนกรกฎาคมนี้

สคบ. ได้มีมติเห็นชอบ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ‘เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. ….’ โดยจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และคุ้มครองให้กับผู้ที่สั่งของจากช่องทางออนไลน์จ่ายเงินปลายทาง โดยออกเป็นมาตรการที่เรียกว่า “มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)”

ซึ่งมาตรการที่ว่านี้บังคับให้บริษัทขนส่งสินค้าเป็นตัวกลาง ถือเงินค่าสินค้าที่เก็บมาจากผู้ซื้อเป็นเวลา 5 วัน ก่อนโอนให้กับผู้ส่งสินค้า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อมีสิทธิ์ทักท้วง แจ้งขอคืนสินค้า และขอคืนเงินได้ และบังคับให้ผู้ส่งต้องระบุชื่อนามสกุล หรือระบุชื่อที่อยู่ของบริษัท หมายเลขโทรศัพท์ อีเมลด้วย และได้กำหนด 4 เงื่อนไขที่ผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนได้ ดังนี้

4 เงื่อนไขที่ผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนได้

  1. ในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่สั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่องให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสินค้าคืนจากผู้บริโภคกลับไปยังผู้ส่งสินค้า และคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค
  2. ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้าไปส่งแล้วเรียกเก็บเงินปลายทาง หากผู้บริโภคมีการชำระค่าสินค้าแล้ว และพิสูจน์ได้ภายหลังว่าผู้บริโภคไม่ได้สั่งซื้อสินค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสินค้าคืนจากผู้บริโภคกลับไปยังผู้ส่งสินค้า และคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค
  3. เมื่อผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับเงินที่ชำระค่าสินค้าจากผู้บริโภคแล้วให้ถือเงินไว้ก่อนเป็นเวลา 5 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคได้รับมอบสินค้าและชำระเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้ประกอบธุรกิจจะยังไม่นำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า
    และเมื่อพ้นกำหนด 5 วันนับแต่วันที่ได้รับชำระเงินจากผู้บริโภคแล้วปรากฎว่าผู้บริโภคไม่ได้มีการแจ้งขอเงินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า แต่ถ้าผู้บริโภคแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืนต่อผู้ประกอบธุรกิจภายในกำหนดเวลา 5 วันนั้น ว่าผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ตนไม่ได้สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ตนสั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่อง และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบสินค้าที่รับคืนมาจากผู้บริโภคแล้วก็ดี ถ้าปรากฎว่าสินค้านั้นเป็นไปตามเหตุที่ผู้บริโภคแจ้งมาจริง ดังนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค และส่งมอบสินค้านั้นคืนให้กับผู้ส่งสินค้า ทั้งนี้ หลักเกณฑ์นี้จะไม่นำไปใช้บังคับกับกรณีผู้บริโภคขอเงินคืนด้วยเหตุผลอื่นนอกจากเหตุดังกล่าวนั้น
  4. ในกรณีที่ผู้บริโภครับและเปิดดูสินค้าให้กระทำต่อหน้าผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้บันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอหรือเอกสารหลักฐานอย่างอื่นไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อบุคคลทั้งสองดังกล่าวตรวจสอบสินค้าแล้วพบว่าสินค้านั้นไม่ตรงตามข้อ 1 และ 2 ให้ผู้บริโภคปฏิเสธไม่รับสินค้านั้นได้
    • กรณีที่ผู้บริโภคไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบสภาพสินค้าในขณะรับสินค้า เมื่อได้ทำหลักฐานตามวรรคหนึ่งและส่งให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับการโต้แย้งในเวลาตามที่กำหนดในข้อ 3 ให้ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธไม่รับสินค้าและได้รับเงินค่าสินค้าคืน

* อ่านร่างฉบับเต็มได้บนเว็บไซต์ สคบ.*

สรุปเข้าใจง่าย หากสั่งของออนไลน์ เก็บเงินปลายทางต้องทำอย่างไร

  1. หากเราสั่งของออนไลน์ สินค้ามาส่งถึงมือเราแล้ว ก่อนอื่นที่จะต้องทำคือบันทึกภาพ หรือวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน พร้อมแกะดูต่อหน้าบริษัทขนส่ง ซึ่งหากสินค้าไม่ตรงกับที่ซื้อ หรือสินค้ามีความเสียหาย ชำรุด สามารถปฎิเสธการรับสินค้าได้ทันทีหากทั้งฝั่งผู้ซื้อ และบริษัทขนส่งเห็นพ้องตรงกัน
  2. หากเราไม่ได้สั่งของ แต่จู่ ๆ มีของมาส่งเรียกเก็บเงินปลายทาง แต่ดันจ่ายเงินไปแล้ว หากพิสูจน์ได้ว่าเราไม่ได้สั่งจริง ๆ ผู้ที่ส่งสินค้ามาต้องรับของคืน และต้องคืนเงินให้กับเรา
  3. หรือในกรณีที่เราไม่อยู่บ้าน แล้วมีคนรับของจ่ายเงินแทน ไม่สามารถตรวจสอบสินค้าได้ด้วยตนเอง ก็ต้องถ่ายภาพหรือวิดีโอเป็นหลักฐานขณะแกะไว้เหมือนกัน หากของด้านในดันไม่ตรงปก หรือมีความชำรุดจริง สามารถส่งหลักฐานให้กับบริษัทขนส่งภายในระยะเวลา 5 วันนับตั้งแต่วันที่รับของ หากบริษัทขนส่งตรวจสอบแล้วว่าสินค้าเป็นไปตามหลักฐานจริง ๆ บริษัทขนส่งต้องคืนเงินให้กับผู้ซื้อเต็มจำนวนภายใน 15 วัน

อย่างไรก็ตาม ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า สคบ. ได้ออกกฎให้บริษัทถือเงินค่าสินค้าของผู้ซื้อก่อนโอนให้กับผู้ส่งเป็นระยะเวลา 5 วัน ถ้าพ้นจาก5 วันนี้ไปแล้ว หากผู้ซื้อไม่ได้แจ้งขอคืนเงินหรือแจ้งปัญหาใด ๆ เข้ามากับบริษัทขนส่ง ทางบริษัทจะสามารถโอนเงินค่าสินค้าให้กับผู้ขายได้เลย ดังนั้นหากมีปัญหาใด ๆ ต้องติดต่อไปที่บริษัทขนส่งภายใน 5 วันทันที

ณ ตอนนี้ สคบ. ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศฯ หลังมีการประชาพิจารณ์เสร็จสิ้นแล้ว และจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในเดือนกรกฎาคมปี 2567 นี้ และจะบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์ | สคบ.