สำหรับบางคนที่สนใจเรื่องคลื่นความถี่ ความเร็วของอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์ ก็น่าจะได้ติดตามข่าวเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2018 นี้ หลังจากการประมูลเมื่อปี 2015 ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างขึ้นในวงการโทรคมนาคมประเทศไทยไม่น้อยเลย วันนี้ผมเลยจะมารวบรวมข้อมูลการประมูลทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมอัพเดทเรื่อยๆให้ได้อ่านกันในบทความเดียวครับ (อัพเดทล่าสุด 15 มิถุนายน 2561)

ข้อมูลการประมูลคลื่น 4G (900&1800MHz) ปี 2561 โดยสรุป1

วันเวลาประมูล :

  • กุมภาพันธ์ – ประกาศหลักเกณฑ์การประมูล
  • พฤษภาคม – จัดการประมูล
  • มิถุนายน – รับรองให้ใช้งานได้

*ล่าสุดคาดว่าเลื่อนการประมูลเป็น 4 สิงหาคม

คลื่นและจำนวน :

  • คลื่น 900 MHz ขนาด 5 MHz จำนวน 1 ใบอนุญาต อายุ 15 ปี ราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท
  • คลื่น 1800 MHz ขนาด 45 MHz แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท

ระยะเวลาใบอนุญาต : 15 ปี

สถานะปัจจุบัน 

  • คลื่น 900MHz ถูกถอดไม่ให้ประมูลแล้ว
  • คลื่น 1800MHz ประกาศเปิดให้ประมูลในวันที่ 4 สิงหาคม แต่ไม่มีใครเข้าร่วมประมูลด้วยเหตุผลที่เงื่อนไขและกฎเกณฑ์การประมูลที่ไม่จูงใจ

หัวข้อต่างๆในบทความนี้

 

ประเทศไทยใครถือครองคลื่นไหนอยู่บ้าง

ตารางรวมข้อมูลการประมูล และค่าใช้จ่ายที่ผ่านมา

Thailand frequency spectrum allocation

 

frequency

(MHz)

bandwidthexpire

(ค.ศ.)

value

(ล้านบาท)

avg.cost / year

(ล้านบาท)

avg.cost / 5MHz / year

(ล้านบาท)

AIS900 10MHz 2030 75,6545,043.61260.9
180015MHz203340,9862,277379.5
210015MHz202714,625975162.5
(TOT)210015MHz202531,2003,900650
DTAC85010MHz2018สัมปทานส่วนแบ่งรายได้ 30%N/A
180025MHz2018สัมปทานส่วนแบ่งรายได้ 30%N/A
210015MHz202713500900150
(TOT)230060MHz2025 36,0804,510375.8
TRUE85015MHz20254350

(ซื้อ Hutch)

31051.67
90010MHz203076,2985086.531271.63
180015MHz203339,7922210.67 368.44
210015MHz202713,500900150

 

จากที่เห็นคือคลื่นความถี่ที่ถูกนำออกมาประมูลในครั้งนี้ จะเป็นของทาง dtac ล้วนๆ ซึ่งทาง dtac ก็คงจะต้องเตรียมตัวในการทวงคืนคลื่นที่ตัวเองเคยใช้งานอยู่ให้ได้ เพราะดีลคลื่น 2300MHz ก็ยังมีความไม่แน่นอน มีเวลาเหลือให้ใช้งานไม่ถึงสิบปีเท่านั้น หากพลาดการประมูลครั้งนี้ไป คลื่นจะไม่เพียงพอต่อการให้บริการ และปัญหาเรื่องความเร็วและคุณภาพสัญญาณจะหนักกว่านี้อีกมากเลย

 

เปิดรายละเอียดและเงื่อนไขการประมูล โดยกสทช. ​ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน2

รายละเอียดการประมูลคลื่น คลื่น 900 MHz

  • ช่วงคลื่นที่ให้ใช้งาน : 890-895 MHz/935-940 MHz
  • ขนาด 5 MHz จำนวน 1 ใบอนุญาต อายุ 15 ปี
  • ราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท คิดจากราคาประมูลคลื่น 900MHz เมื่อปี 2558
  • ที่มาคลื่น จากสัมปทานของ dtac ซึ่งเคยใช้อยู่ 10MHz แต่จะถูกนำกลับมาประมูลในครั้งนี้เพียงครึ่งเดียว เพราะจะกันคลื่นเอาไว้สำหรับกิจการอื่น
  • เงื่อนไขจำนวนผู้เข้าร่วมการประมูล
    • กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 1 ราย ก็จะเปิดให้มีการประมูล
    • กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียงรายเดียว จะขยายเวลาเปิดรับผู้เข้าร่วมการประมูลไปอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่ม ให้เปิดการประมูลโดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเพิ่มราคา 1 ครั้ง
  • การชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะแบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด ดังนี้
    • งวดที่ 1 ชำระ 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน
    • งวดที่ 2 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
    • งวดที่ 3 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
    • งวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลส่วนที่เหลือทั้งหมด ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

รายละเอียดการประมูลคลื่น คลื่น 1800 MHz

  • ช่วงคลื่นที่ให้ใช้งาน : 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz
  • ขนาด 45 MHz แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ใบละ 15MHz อายุ 15 ปี
  • ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท  คิดจากราคาประมูลคลื่น 1800MHz เมื่อปี 2558
  • ที่มาคลื่น ดึงคืนจากทาง CAT ที่ให้สัมปทานทาง dtac ใช้งานอยู่ 25MHz เพื่อให้บริการคลื่น 2G และ 4G
  • เงื่อนไขจำนวนผู้เข้าร่วมการประมูล
    • กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 3 ราย จะประมูล 3 ชุดคลื่นความถี่
    • กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 2-3 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูลเท่ากับ N-1 ชุด โดย N=จำนวนผู้เข้าร่วมการประมูล นั่นคือถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูล 2 ชุด และถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 2 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูล 1 ชุด
    • กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 1 ราย จะขยายเวลาเปิดรับผู้เข้าร่วมการประมูลไปอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่ม ให้เปิดการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเพิ่มราคา 1 ครั้ง
  • การชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จะแบ่งการชำระออกเป็น 3 งวด ดังนี้
    • งวดที่ 1 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่จำนวน 50% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละราย พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล
    • งวดที่ 2 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่จำนวน 25% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละราย พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต
    • งวดที่ 3 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่จำนวน 25% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละราย ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

 

เงื่อนไขและข้อกำหนดของการประมูลปี 2561 ที่น่ารู้

การประมูลจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม

ตามแผนคาดว่าน่าจะประกาศหลักเกณฑ์การประมูลได้ในเดือน ก.พ. 2561 และน่าจะเปิดให้มีการประมูลได้ในเดือน พ.ค. 2561 ซึ่งคาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ในเดือน มิ.ย. 2561

ราคาประมูลเริ่มต้นมาจากราคาของเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ทางกสทช. มีมติกำหนดให้นำราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 900/1800 MHz ในปี 2558 มาคำนวณเป็นพื้นฐานที่เป็นอัตราส่วนเดียวกัน ในส่วนของการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ โดยคลื่น 900MHz คิดเป็น 76 ล้านบาท และคลื่น 1800MHz คิดเป็น 75 ล้านบาท ต่อการเคาะหนึ่งครั้ง

บทลงโทษ สำหรับผู้ชนะประมูลแล้วชิ่ง หนักหนาขึ้นกว่าเดิม

กรณีผู้ชนะการประมูลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนรับอนุญาต สำนักงาน กสทช. จะริบหลักประกันการประมูล ซึ่งคิดเป็นเงิน 5% ของราคาขั้นต่ำ พร้อมทั้งคิดค่าปรับในอัตรา 15% ของราคาขั้นต่ำ

เงื่อนไขการขยายโครงข่ายที่ทำได้ไม่ยาก

คลื่น 900MHz : ขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากรมากกว่า 50% ภายใน 4 ปี และต้องครอบคลุมประชากรมากกว่า 80% ภายใน 8 ปี  และต้องมีการจัดเก็บข้อมูลและลงทะเบียนผู้ใช้บริการ รวมถึงดูแลคุณภาพสัญญาณให้ได้มาตรฐานตามที่ กสทช. กำหนด

คลื่น 1800MHz : ขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากรมากกว่า 40% ภายใน 4 ปี และต้องครอบคลุมประชากรมากกว่า 50% ภายใน 8 ปี

เงื่อนไขค่าบริการที่ดูเหมือนจะถูก

อัตราค่าบริการ 4G จะต้องมีอัตราค่าบริการถูกกว่าอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีแพ็คเกจราคาประหยัดสำหรับผู้พิการ และจัดทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยให้ครอบคลุมถึงการจัดการขยะอิเล็คทรอนิกส์ สุขภาพของผู้ใช้บริการ

 

ข้อถกเถียงต่อการประมูลคลื่น 900/1800 MHz ในปี 2561

หลังจากที่ทางกสทช. ได้ประกาศการประมูลออกมาแล้ว ก็มีการวิจารณ์ถึงรายละเอียดการประมูลที่ดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผล ไม่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และดูเอื้อประโยชน์ให้กับบางรายอีกด้วย โดยเรื่องถูกถกเถียงมากที่สุดก็คือ ราคาตั้งต้นที่สูงเกินจริง คลื่นไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด และการจัดสรรใบอนุญาตที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุด

ราคาตั้งต้นที่สูงเกินจริงต่อใบอนุญาต

ตามที่ทาง กสทช. ได้แจ้งว่าราคาประมูลเริ่มต้น มาจากราคาของใบอนุญาตเมื่อสองปีที่แล้ว มีการโต้แย้งว่าเป็นการไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุผล 3 ข้อ

  1. ราคาสูงเกินค่าเฉลี่ยไปเยอะมาก โดยราคาการะประมูลใบอนุญาตทั้งสองใบที่ผ่านมา มูลค่าสูงติดอันดับต้นๆของโลกทั้งสองใบ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ต้นทุนการให้บริการของเครือข่ายสูงเกิน และมีผลต่อคุณภาพสัญญาณ หรือราคาค่าบริการได้
  2. ราคาประมูลจากเมื่อสองปีที่แล้วเป็นราคาที่ได้มาโดยผิดปกติ เพราะผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ในปีนั้น ก็คือ JAS ทิ้งใบอนุญาตหลังชนะการประมูลไป
  3. เป็นการกดดันผู้เข้าร่วมให้ต้องเริ่มการประมูลที่มูลค่าสูงทันที แทนที่จะเริ่มจากราคาเฉลี่ยก่อน แล้วจึงให้เคาะราคาเพิ่มขึ้นไปกันเอง ซึ่งอาจจะเป็นการกันไม่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่สามารถเข้ามาในตลาดได้

อย่างไรก็ดี ทั้งสามข้อข้างต้นนี้ก็มีคนมองแย้งอีกว่า การเริ่มต้นที่ราคาสูงๆก็เพื่อลดระยะเวลาการประมูลที่ยืดเยื้อ และเพื่อให้ทั้งสามเจ้าใหญ่แบกรับภาระต้นทุนที่เท่ากัน ซึ่งข้อโต้แย้งนี้ก็จะไปตกที่ข้อสามว่าไม่มีความจำเป็นต้องดันขึ้นไปที่ระดับราคาเดิม และควรให้ผู้เข้าร่วมประมูลเป็นคนตัดสินใจต่อกันเอง ไม่ควรจะยึดเพียงว่าอยากจะได้ตัวเลขไม่น้อยกว่าเดิม ที่ดูเหมือนจะเป็นการกดปั่นราคาขึ้นมา หรือกลัวว่าเจ้าใดเจ้าหนึ่งจะได้ต้นทุนของคลื่นที่ต่ำลงเท่านั้น แต่ควรมองตามหลักการประมูลที่ควรจะเป็นมากกว่า

เรื่องการกำหนดราคาตั้งต้นโดยอ้างอิงจากราคาเดิมเมื่อสองปีที่แล้วนี้ ไม่ใช่ว่ากสทช. ทั้งหมดจะเห็นด้วย โดยหนึ่งในเสียงข้างน้อยที่โหวตไม่ให้ใช้ราคาเดิม ก็คือ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ซึ่งเสนอให้มีการศึกษาว่าการประมูลคลื่นด้วยราคาสูงมากๆจะมีผลกระทบอะไรบ้าง

ถ้ากำหนดประมูลคลื่นครั้งที่ผ่านมาสูงมากแล้วถูกจริง คงไม่มีคนทิ้งใบอนุญาต และคนชนะคงไม่ต้องมาขอขยายเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต การประมูลในราคาแพงทำให้ผู้ประกอบการเจอสภาพเดียวกันคือต้นทุนสูงเหมือนกันหมดแล้วที่สุดจะสะท้อนไปที่ผู้บริโภค” นพ.ประวิทย์

คลื่นความถี่อาจจะไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด

ด้วยเหตุผลจากข้อแรกที่ราคาของใบอนุญาตสูงเกินไป ทำให้ไม่มีคนเข้าร่วมประมูลหลากหลาย ประกอบกับเงื่อนไขที่ทาง กสทช. ตั้งว่าด้วยเรื่องจำนวนใบอนุญาตของคลื่น 1800MHz ที่จัดสรรเอาไว้ 3 ใบ หากมีคนเข้าร่วมประมูลน้อยกว่า 4 รายจะนำออกมาประมูลเพียง N-1 หรือเปิดประมูลใบอนุญาตจำนวนน้อยกว่าผู้เข้าร่วม 1 รายเท่านั้น ทำให้มีโอกาสที่จะเหลือคลื่นที่ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ 15-30MHz ทั้งที่ประเทศไทยก็มีจำนวนคลื่นที่นำออกมาใช้งานน้อยกว่าประเทศอื่นๆอยู่แล้ว

จำนวนคลื่นที่ถูกนำมาใช้เพื่อกิจการโทรคมนาคม

การจัดสรรใบอนุญาตที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงสุด

เงื่อนไขการนำคลื่น 1800MHz ออกมาประมูลที่แบ่งใบอนุญาตออกเป็น 3 ใบ จำนวนคลื่นเท่ากันที่ 15 + 15 + 15 MHz นี้ มีความเสี่ยงที่คลื่นจะไม่ถูกนำเอามาใช้งานทั้งหมดตามข้อสองแล้ว ยังคงเป็นการจัดสรรใบอนุญาตที่อาจทำให้ชาติเสียผลประโยชน์อีกด้วย กสทช. ควรจะมีการคิดเงื่อนไขการประมูล โดยอิงจากปริมาณคลื่นความถี่ที่แต่ละเจ้าต้องการ ความพร้อมทางการเงิน และแผนการให้บริการ ซึ่งหลายฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า กสทช. ควรมีการจัดขนาดชุดคลื่นความถี่เป็นขนาดเล็กลง แทนที่จะจัดประมูลด้วยวิธีออกใบอนุญาตเพียง N-1

นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงกันอีกเล็กน้อยว่าการดึงคลื่นความถี่ช่วง 900MHz จำนวน 5MHz ไปใช้ในกิจการอื่นแทนโทรคมนาคม เป็นเรื่องที่น่าเสียโอกาสสำหรับชาติเพราะช่วงคลื่น 5MHz นี้ หากนำมาประมูลจะสร้างรายได้มากกว่ากิจการอื่นหลายเท่าตัวนัก6

ปรับเงื่อนไข ลดขนาดชุดคลื่นความถี่ เพื่อการประมูลที่ไร้ข้อครหา

ตามประกาศของ กสทช. ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เราน่าจะได้เห็นการกำหนดกฎเกณฑ์การประมูลออกมา ซึ่งก็มีการคาดหวังกันว่า หลังจากฟังความคิดเห็นสาธารณะไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กสทช. จะมีการปรับกฎเกณฑ์อีกครั้งให้เกิดการประมูลที่เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด ซึ่งพอจะสรุปข้อเสนอแนะเป็นข้อๆได้ดังนี้

  • ถอนเงื่อนไขการกำหนดชุดคลื่นความถี่ 15MHz และจำนวนใบอนุญาต N-1 และเปลี่ยนเป็นการประมูลชุดคลื่นความถี่เป็น 9 ชุด ขนาด 2×5 MHz แทน
  • กำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่สูงสุดในย่าน 1800 MHz ทั้งหมด ไม่เกิน 2×30 MHz
  • ปรับราคาเริ่มต้นการประมูลให้เหมาะสม ไม่ใช่เริ่มที่แพงที่สุด
  • กำหนดแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ชัดเจน

ก็เชื่อว่าทาง กสทช. ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี ทำเพื่อประเทศชาติ จะรับฟังข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายไปพิจารณาอีกครั้งก่อนประกาศกฎเกณฑ์ออกมาอย่างเป็นทางการนะครับ

(อัพเดท มกราคม 61) กสทช. เล็งยกเลิกประมูลคลื่น 900MHz, ปรับเงื่อนไขการประมูลคลื่น 1800MHz

(อัพเดท 23 ม.ค. 2561) เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 61 ได้มีข่าวจากทางกสทช. ว่าอาจทำการยกเลิกการประมูลคลื่น 900MHz จำนวน 5MHz เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับการนำไปใช้งานสื่อสารโครงการถไฟฟ้าความเร็วสูง และอาจจะปรับจำนวนใบอนุญาตคลื่น 1800MHz จากที่มี 3 ใบ ใบละ 15MHz เป็น 9 ใบ ใบละ 5MHz แทนตามที่ได้มีการเสนอจากการรับความคิดเห็นสาธารณะเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อ่านต่อ

(อัพเดท มีนาคม 61) กสทช. ชี้การประมูลน่าจะเลื่อนเป็นปลายปี

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. ได้ออกมาเปิดเผยในวันที่ 12 มีนาคมว่าการประมูลช่วงกลางปีน่าจะไม่เกิดขึ้นแล้วเนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในหลายๆด้าน ต้องรอคณะกรรมการชุดใหม่ที่เลือกเข้ามาในเดือนเมษายนเป็นคนจัดการแทน อ่านต่อ

(อัพเดท มิถุนายน 61) ไร้เงา 3 เครือข่ายตอบรับร่วมประมูล

15 มิถุนายน วันสุดท้ายท่ีทาง กสทช. กำหนดให้ยื่นเอกสารตอบรับการประมูลคลื่น 1800MHz ไร้เงา 3 เครือข่ายใหญ่ AIS dtac TrueMove H  ตอบรับ โดย TrueMove H ปฏิเสธการเข้าร่วมตั้งแต่ กลางเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ส่วน dtac และ AIS ประกาศในวันนี้เหมือนกัน

 

Side Stories เรื่องราวที่เกี่ยวข้องที่อาจส่งผลกระทบต่อการประมูล

AIS & Truemove ร้องขอให้ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระคลื่น 900 MHz ของปี 2558

ในช่วงปลายปี 2560 ทางคสช.3 ได้ส่งหนังสือถามความเห็น กสทช. ในการขยายเวลาจ่ายงวดประมูลคลื่น 900 MHz ให้ทรู และเอไอเอส หลัง 2 เจ้าร้อง คสช. บ่นไม่ไหวต้องจ่ายงวดสุดท้ายปี 2562 คนละ 60,000 ล้านบาท โดยจะขอยืดการชำระออกไปอีก 6 งวด โดยไม่มีดอกเบี้ย โดยเล็งจะใช้ ม.44 ช่วยเหลือ ซึ่งทาง กสทช. มีความเห็นว่าควรขยายระยะเวลาออกไปเพียง 3-5 งวด และต้องจ่ายดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยยึดหลักการเดียวกับตอนช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล5

หากทาง คสช. ตัดสินใจยืดการชำระออกไป น่าจะส่งผลให้ทั้งสองเจ้ามีสภาพคล่องในการเข้าร่วมประมูลได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันการประมูลได้ดีขึ้นกว่าเดิมพอสมควร แต่การยกเว้นโดยปราศจากดอกเบี้ยเลยนั้นก็ดูจะเป็นเรื่องที่อาจจะฟังแล้วงงๆกันนิดหน่อยว่า ทำแบบนี้ก็ได้เหรอ

Dtac ใกล้ได้ใช้คลื่น 2300MHz ของ TOT อย่างเป็นทางการ

หลังจากที่ กสทช. ได้ดึงเรื่องของสัญญาระหว่างดีแทคและทีโอที ที่จะเปิดให้ดีแทคเข้ามาใช้งานคลื่น 2300MHz ได้นั้น ปัจจุบันทาง กสทช. ก็ยอมปล่อยเรียบร้อย โดยให้เหตุผลว่าไม่มีอำนาจ (เอ้า?!?) ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่ากระบวนการหลังจากนี้หากเป็นไปด้วยดี ภายในไตรมาสแรก หรือสองของปี 2561 ลูกค้าดีแทคก็อาจจะได้เห็นการทดสอบคลื่น 2300MHz และเริ่มใช้งานจริงกันได้ โดยเริ่มมีหลายๆคนเห็นทีมวางเครือข่ายของดีแทคขึ้นเสากระจายสัญญาณคลื่น 2300MHz กันแล้ว

ถ้าพันธมิตรระหว่างดีแทคและทีโอทีเกิดขึ้นได้ คุณภาพสัญญาณของดีแทคก็น่าจะพัฒนาเพิ่มขึ้นพอสมควร และลดความตึงเครียดต่อการประมูลในปีนี้ไปได้มาก แต่อย่างไรก็ดีดีแทคก็ยังคงต้องการใบอนุญาตเข้ามาใส่ในพอร์ทเพิ่มเติม เพราะคลื่นที่จะได้ทำร่วมกับทีโอทีนี้ จะมีอายุสัญญาไม่ยาวเท่าการประมูล และมีค่าใช้จ่ายไม่ได้น้อยกว่ากันเลย

dtac ยิ้ม กสทช. ยอมให้แผนการเช่าคลื่น 2300 จาก TOT ผ่านแล้ว ด้าน AIS , Truemove H ได้ยืดเวลาผ่อนค่าคลื่น 900 MHz

 

เงื่อนไข กฎเกณฑ์ วันเวลาในการประมูล – ผู้ชนะการประมูลคลื่น 4G 900/1800MHz ปี 2561

อัพเดท ทางกสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่น 1800MHz ในวันที่ 4 สิงหาคม 2561 โดยยึดหลักการประมูลที่ราคาตั้งต้นและเงื่อนไขกฎเกณฑ์ตามเดิม ทำให้วันที่ 15 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการยื่นเอกสาร ไม่มีผู้ให้บริการรายใดตอบรับ ทำให้การประมูลคลื่น 1800MHz ครั้งนี้ต้องล่มลงไป รอติดตามว่าทาง กสทช. จะมีแนวทางแก้ไขปรับปรุงอย่างไรต่อไป

 

 

อ้างอิง

1ข่าวประชาสัมพันธ์ กสทช. : กสทช. ผ่านหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ที่จะใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ฯ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

2ข่าวประชาสัมพันธ์ กสทช. : สำนักงาน กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ที่จะใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ฯ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

3manager online : คสช. เตรียมออก ม.44 ขยายงวดจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz

4ข่าวสด : กสทช.ไม่เห็นด้วยขยายเวลาจ่ายเงินคลื่น 900 MHz ตามที่คสช.หารือ

5ไทยรัฐ : ทรูมูฟ-เอไอเอสขอร่วมวง “กสทช.” ชงพักจ่ายเงินประมูลทีวีดิจิทัล 3 ปี

6manager online : นักวิชาการชี้ N-1 ทำคลื่น 900/1800 MHz ถูกดอง