Apple รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2019 ได้ตามเป้าที่ถูกคาดการณ์เอาไว้ใหม่ขั้นต่ำลดลงจากช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามสถานการณ์และรายได้ที่ประเมินสำหรับปี 2019 นี้ก็ดูไม่สู้ดีเอาเสียเลย โดยเฉพาะธุรกิจทำเงินอย่าง iPhone ที่ยอดขายเปรียบเทียบแบบปีต่อปี ถูกคาดการณ์เอาไว้ว่าน่าจะร่วงลงไปอีก

ล่าสุด Apple ได้มีการประกาศรายงานผลประกอบการออกมา รายได้ของไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 84,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (2.6 ล้านล้านบาท) ประกอบกับราคาประเมินกำไรต่อหุ้น (EPS) อยู่ที่ 4.22 ดอลลาร์ฯ (131.83 บาท) ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขประเมินของ Wall Street (84,000 ล้านเหรียญฯ และ 4.17 ดอลลาร์ฯ) จุดสำคัญคือรายได้ของบริษัทลดลงถึง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ทำได้ราวๆ 88,300 ล้านเหรียญฯ หรือ 2.76 ล้านล้านบาท

จากรายงานเดียวกันนี้ Apple ได้มีการประเมินผลประกอบการสำหรับไตรมาสที่ 2 เอาไว้ที่ในกรอบรายได้ 55,000 ล้านเหรียญ ถึง 59,000 ล้านเหรียญ (1.72 – 1.84 ล้านล้านบาท) โดยนักวิเคราะห์คาดการขั้นต่ำไว้ที่ราวๆ 58,800 ล้านเหรียญ (1.83 ล้านล้านบาท)

ถึงแม้ผลประกอบการจะค่อนข้างเข้าเป้าที่คาดการณ์ไว้ แต่คงจะไม่ผิดนักหากจะต้องบอกว่าน่าผิดหวังเพราะรายได้ที่ว่าเข้าเป้านั้น ถูกประเมินใหม่กลางทางในช่วงต้นเดือนมกราคม 2019 นี้เอง หลังจากที่ Tim Cook (ซีอีโอ) ได้ส่งจดหมายไปยังผู้ลงทุนเพื่อประกาศการเปลี่ยนเป้าประเมินปรับลงจาก 89,000 – 90,000 ล้านเหรียญ (2.78 – 2.81 ล้านล้านบาท) ลงมาอยู่ที่ระดับ 84,000 ล้าน หรือ 2.62 ล้านล้านบาทเท่านั้นซึ่งเป็นการปรับการคาดการณ์ที่ค่อนข้างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลให้ราคาหุ้นของ Apple ตกฮวบถึง 10% ภายในวันเดียวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีเลยทีเดียว

ถึงแม้มันอาจจะดูน่าผิดหวังสำหรับการที่เราพลาดเป้าเดิมของรายได้ไป แต่เราเตรียมพร้อม Apple สำหรับระยะยาว ผลประกอบการของไตรมาสนี้ยังแสดงให้เห็นว่าจุดแข็งของธุรกิจเรายังคงอยู่ได้ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง – คำกล่าวของ Tim Cook | CEO – Apple

สำหรับคำกล่าวของ Tim Cook ที่ว่าธุรกิจของ Apple ยังคงอยู่ได้ดีทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างน่าจะสื่อถึงกำไรของกลุ่มที่รายได้ลดลงก็ยังคงดีในแง่อัตราส่วนกำไร และ ภาพรวมของธุรกิจที่แผนกอื่นๆ (Diversified Portfolio) ที่ยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี อีกจุดสนใจในรายงานชุดนี้คือผลประกอบการในกลุ่มประเทศ emerging markets ทั้งหลายโดยเฉพาะจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าหลัก (โดยเฉพาะ iPhone และ Mac) ที่มีอัตราการเติบโตมาค่อนข้างต่อเนื่อง รายได้ก็ยังไม่วายลดลงไปถึง 27% จาก 18,000 ล้านเหรียญ (5.62 แสนล้านบาท) มาอยู่ที่ระดับ 13,200 ล้านเหรียญ (4.12 แสนล้านบาท) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อนหน้า

สำหรับ iPhone นั้นเรียกได้ว่า “ดูไม่จืด” กับผลงานทำรายได้ร่วงกราวถึง 15% เมื่อเทียบกันปีต่อปี อยู่ที่ 52,000 ล้านเหรียญ หรือราวๆ 1.62 ล้านล้านบาท (ปีก่อนหน้าทำเอาไว้ถึง 61,000 ล้านเหรียญ หรือ 1.91 ล้านล้านบาท) ทั้งๆที่มีการเพิ่มส่วนต่างของผลกำไรต่อผลิตภัณฑ์มาโดยตลอด (นึกภาพราคา iPhone ที่พุ่งทุกปี พุ่งไปไม่หยุดยั้ง) ซึ่งในรายงานเป็นทางการของ Apple ได้มีการยกเลิกรายงานจำนวนยอดขายของ iPhone, iPad และ Mac ไปก่อนหน้านี้ คงเหลือเพียงส่วนรายได้ทำให้ไม่อาจระบุจำนวนยอดขายได้ชัดเจน แต่รายได้ก็สะท้อนคำตอบได้ไม่น้อยอยู่เหมือนกัน

ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องทางลบซะทีเดียว Apple ยังได้มีรายงานถึงรายได้ของแผนกอื่นอีกว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นบริการมีอัตราการเติบโตสูงถึง 19% ผลิตภัณฑ์ Mac 9% iPad 17% และ ผลิตภัณฑ์ Wearables, Home and Accessories โตสูงสุดถึง 33% เลยทีเดียว นอกจากนั้น อัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Margin) ของธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์บริการนั้นทำได้สูงถึง 62.8%

ก่อนหน้านี้ Apple ได้มีการเปิดเผยว่า Active Install Base หรือฐานการใช้งานผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 ล้านผลิตภัณฑ์ จาก 1,300 ล้านผลิตภัณฑ์ในเดือนมกราคมปี 2018 โดยมีพระเอกของความสำเร็จนี้อยู่ที่ iPhone…

ฐานการใช้งานผลิตภัณฑ์ iPhone ของเรายังคงเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง ในเดือนธันวาคม 2018 เราได้พบกับตัวเลขฐานการใช้งานสะสมที่สูงสุดตลอดกาลสำหรับ iPhone เราได้ก้าวผ่านตัวเลข 900 ล้านอุปกรณ์เป็นที่เรียบร้อย… – คำกล่าวของ Luca Maestri | CFO – Apple

 

ที่มา: TechCrunch