งานนี้เรียกว่าดราม่าส่งท้ายปีกันอีกแล้ว สำหรับ Tech Giants ระดับโลกอย่าง Apple – Google – Microsoft – Tesla – Dell ที่ล่าสุดถูกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการสนับสนุนให้เกิดการละเมิดสิทธิเยาวชนด้วยการใช้แรงงานและทารุณกรรมเด็กภายในเหมืองแร่ Cobalt ที่นำมาใช้ผลิตแบตเตอรี่ จากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาทางกลุ่ม IRA (International Rights Advocates หรือ กลุ่มสนับสนุนด้านสิทธินานาชาติ) ได้ทำการรวบรวมเอกสารสำคัญในฐานะตัวแทนของกลุ่มผู้เสียหาย ยื่นเรื่องดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อ Tech Giants ชั้นนำ 5 รายด้วยกันได้แก่ Apple – Google – Microsoft – Tesla – Dell โดยกล่าวอ้างในคำแถลงการณ์ว่า “บริษัทเหล่านี้รับรู้และแสดงเจตนาสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานเเด็ก ซึ่งเป็นการทำงานในสภาพที่มีลักษณะเป็นการทารุณกรรมและอันตรายต่อชีวิตอย่างเหมืองแร่โคบอลต์”

Tech Giants กับข้อหาหนัก รู้ปัญหาละเมิดสิทธิเด็ก แต่ไม่แก้ไข

สำหรับมูลเหตุในการฟ้องร้องนั้น มีการเปิดเผยว่าเป็นเพราะจำเลย (Tech Giants ทั้ง 5 ราย) รับรู้ถึงปัญหาการละเมิดสิทธิเยาวชนภายใน Supply Chain ดังกล่าวมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่กลับไม่มีการแสดงถึงเจตนาที่จะจัดการปัญหานี้อย่างเด็ดขาด มีเพียงการตรวจสอบเป็นครั้งคราวเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะไม่มีความผิดโดยตรงเท่านั้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจของพวกเขาสนับสนุนโดยทางอ้อมให้มีการละเมิดสิทธิของเยาวชนอยู่ดีนั่นเอง

ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิของเยาวชนภายในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกนั้น เป็นปัญหาที่นับว่าเป็นที่รับรู้กันดีมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2016 เป็นต้นมาที่บรรดาสำนักข่าวชั้นนำของโลกไม่ว่าจะเป็น CNN | The Guardian | The Washington Post ล้วนแล้วแต่เคยทำข่าวประเด็นการทารุณกรรม บังคับใช้แรงงานเด็ก และสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของเยาวชนชาวคองโกเป็นอย่างมาก สำหรับการใช้แรงงานในธุรกิจเหมืองแร่ประเภท Cobalt ในคองโก ซึ่งกรมแรงงานกลางของสหรัฐ ฯ ก็เคยขึ้นบัญชีดำประเด็นปัญหาเรื่องนี้เอาไว้เป็นการสั่งให้ธุรกิจสัญชาติอเมริกันต้องมีการตรวจสอบ Supply Chain ของพวกเขาว่ามีการละเมิดสิทธิหรือไม่

โดยแร่ Cobalt ที่ว่านี้เป็นสารประกอบสำคัญที่สุด ถูกใช้อยู่ในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ประเภท Lithium-ion ในปัจจุบัน และคองโกประเทศเดียวนั้นควบคุมซัพพลายของแร่ Cobalt สูงถึง 2 ใน 3 ของทั้งโลกเลยทีเดียว จึงอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากมาก ๆ สำหรับธุรกิจกลุ่ม Electronics อย่างผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ชั้นนำทั้งหลาย ส่วนในรายของ Tesla คือผู้บุกเบิกยายยนต์ไฟฟ้าซึ่งส่วนประกอบหลักของรถก็คือ “แบตเตอรี่” และแน่นอนว่าต้นทุนราคาของแร่ Cobalt ที่มีล้นเหลืออย่างคองโกนั้น “ถูกที่สุด” ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหลักที่ธุรกิจเหล่านี้ไม่กล้าหนีขาดไปจากซัพพลายของคองโกได้นั่นเอง

Apple – Google – Dell พร้อมใจกันบอกปัด ส่วน Microsoft – Tesla ยังเงียบ

งานนี้ฝั่ง Apple | Google | Dell ต่างพากันรีบออกแถลงการณ์ถึงข้อกล่าวตามคดีดังกล่าวโดยมีการแถลงไปในทางเดียวกันว่าพวกเขามีการจัดทำ Code of Conduct หรือระเบียบและกระบวนการตรวจสอบระบบ Supply Chain อยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิทธิมนุษยชนในรูปแบบใด ๆ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิของเยาวชนจะต้องไม่ถูกละเมิดโดยซัพพลายเออร์ที่ทำธุรกิจกับพวกเขา โดยเฉพาะฝั่ง Apple ที่แอบเคลมแรงว่าตั้งแต่ปี 2017 พวกเขาได้ทำการตัดสินใจแบนธุรกิจเหมืองแร่โคบอลต์ในคองโกไปทั้งหมดถึง 6 รายแล้ว เพราะมีปัญหาพัวพันกับการใช้แรงงานเด็ก รวมถึงสภาพการทำงานเหมืองที่ไม่ได้มาตรฐานเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย

เช่นเดียวกับทาง Google ที่รีบออกแถลงถึงเรื่องนี้ว่าทาง Google พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่เพื่อจัดการปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของเยาวชนในคองโก แต่ก็ยืนยันเช่นกันว่า “Google ยืนหยัดว่าการใช้แรงงานเด็กและมาตรฐานความปลอดภัยของเหมืองแร่โคบอลต์ที่ต่ำนั้น เป็นสิ่งที่รับไม่ได้อย่างยิ่ง แต่ก็มั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าว”

อย่างไรก็ดีงานนี้ฝั่ง Microsoft กับ Tesla ยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นใด ๆ ต่อข้อกล่าวหานี้ แต่ทั้ง 2 บริษัทเคยมีการให้ความเห็นในเรื่องนี้เอาไว้อยู่บ้าง ตั้งแต่ช่วงที่เคยตกเป็นข่าวดังเรื่องการละเมิดสิทธิเยาวชนในคองโก โดยเฉพาะ Tesla ที่เคยออกมายอมรับตรง ๆ เลยว่า การจะตรวจสอบซัพพลายเออร์ให้ครบถ้วนทุกรายชนิดที่ดูแลไปถึงรูปแบบวิธีการจ้างงานและจัดหาแรงงานนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ทำได้จริงยากแถมธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรี่นั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงการค้าขายกับคองโกได้เลย งานนี้ต้องติดตามกันต่อยาว ๆ ว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้มีมูลหรือไม่ และจะจบลงได้ในรูปแบบใดตราบเท่าที่ธุรกิจเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาธุรกิจเหมืองแร่โคบอลต์ของคองโกอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน

 

อ้างอิง: CNN Tech | The Washington Post