นับตั้งแต่ทั่วโลกเริ่มตื่นตัวเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลกันมากขึ้นในช่วง 1 – 3 ปีที่ผ่านมา บรรดายักษ์ใหญ่แห่งโลกเทคโนโลยีก็ทยอยกันเผยธาตุแท้ออกมาให้เห็นกันเรื่อย ๆ เลยว่าธูรกิจที่พวกเขาดำเนินกันอยู่นั้น ใช้ประโยชน์จากข้อมูลอันเป็นสิทธิส่วนบุคคลของพวกเราไปมากแค่ไหน เช่นเดียวกับช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ บรรดาบิ๊กเนมสัญชาติอเมริกันต่างพากันทยอยออกมายอมรับว่ามีการใช้พนักงานนั่งฟังคลิปเสียงของพวกเราในรูปแบบต่าง ๆ กันทั้งนั้น แต่ไม่เคยบอกจนวันนี้นี่เอง

เมื่อกฎหมายใหม่ทั่วโลก จี้จุด Tech Giants ต้องบอกให้ชัดว่าใช้ข้อมูลอะไร ยังไงจากผู้บริโภค

ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย Privacy Shield ของทางฝั่งสหรัฐอเมริกา กฎหมายคุ้มครองสิทธิอันเลื่องชื่อของยุโรปอย่าง GDPR ที่เริ่มบังคับใช้กันอย่างจริงจังตั้งแต่ปีที่แล้ว หรือแม้แต่ประเทศไทยของเราก็เพิ่งประกาศพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กันไปกำลังจะมีผลบังคับใช้ช่วงกลางปี 2563 เป็นต้นไป 😎 การขยับตัวอย่างจริงจังเช่นนี้ของรัฐบาลทั่วโลก ส่งผลให้บรรดาบริษัทเทคฯ ข้ามชาติทั้งหลายต้องทยอยกันปรับตัวยกใหญ่ ในแง่การนำเข้า ประมวลผล ส่งออก และดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคทั่วโลก

ข้อความต่อไปนี้มีเอกลักษณ์ของเจตนารมณ์ร่วมประการหนึ่งที่กฎหมายกลุ่มนี้ต่างก็มีการกำหนดบังคับไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหากพวกเราได้สังเกตุกันจะเห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมาบรรดาแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ ทั่วโลกนั้นมีการปรับข้อกำหนดและนโยบายใหม่หมดให้เราต้องกดปุ่ม ยอมรับ กันใหม่ก่อนเข้าใช้งานได้อีกครั้งนึงมาเรื่อย ๆ นั่นเอง

องค์กร หน่วยงาน หรือธุรกิจใด ๆ ที่ต้องมีการนำเข้า ประมวลผล และใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้บริโภคนั้น ต้องกำหนดโดยชัดแจ้งว่า มีวิธีการเก็บข้อมูลของพวกเราในรูปแบบใด และเอาไปใช้อย่างไร โดยใคร อย่างละเอียด

ประเด็นที่ทำให้บรรดา Tech Giants ตกเป็นเป้าทางสังคมขึ้นมาอีกครั้งนึงเลยก็คือ พวกเขาไม่เคยมีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนมากพอมาก่อนเลยว่า ข้อมูลเช่น คลิปเสียงที่ส่งกันบนแชท หรือ การพูดกับ Google Assistant หรือ Apple’s Siri นั้น ต้องมีการถอดเทป หรือนั่งฟังโดย มนุษย์ด้วย ไม่ว่าจะเพื่อการพัฒนาหรือตรวจสอบศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ก็ตาม งานนี้สำนักข่าว BBC ถึงกับสาวไส้มาแซวว่า ในข้อกำหนด เงื่อนไข และนโยบายการให้บริการของ Tech Giants กลุ่มนี้นั้น แทบจะหาคำว่า Human ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ (คือแซวว่า ไม่มีการใช้คำว่า บุคคล หรือ มนุษย์เอาไว้ในส่วนเงื่อนไขการให้บริการแต่จริงๆก็มีการใช้อยู่ แต่งุบงิบไม่ยอมบอก)

ใคร ๆ ก็ทำกัน แค่ไม่มีใครเคยบอกมาก่อน…

การตื่นตัวเช่นนี้ ทำให้เกิดกรณีถูกบรรดาสำนักข่าวชั้นนำสาวไส้กันถ้วนหน้าว่าบิ๊กเนมอย่าง Google | Apple | Facebook | Microsoft | Amazon ที่ลงทุนไปกับนวัตกรรมกลุ่ม Artificial Intelligence | Machine Learning เป็นอย่างมากนั้น ล้วนแล้วแต่ผ่านการว่าจ้างพนักงาน ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน ให้นั่งฟังคลิปเสียง หรือแม้แต่มานั่งส่องโพสต์ในโลกออนไลน์ของพวกเรา เพื่อพัฒนาศักยภาพของระบบกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าพวกเขาไม่เคยบอกให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ รู้กันมาก่อนอย่างเป็นทางการเลยนี่สิ

Facebook ถูกแฉ(อีกแล้ว) จ้างคนฟังคลิปเสียงใน Chat ของเรา ล่าสุดยอมรับและบอกว่าเลิกทำเป็นสัปดาห์แล้ว

ข่าวเดิมอันนี้มีหลายคนเข้าใจผิดกันว่า Facebook จ้างคนมาฟังเราคุยกัน แต่จริงๆแล้วข่าวนี้เป็นการจ้างคนมาฟังคลิปเสียงที่เราส่งหากันในแชท เพื่อตรวจสอบความถูกต้องว่า AI ถอดคำมาแม่นยำหรือเปล่าต่างหาก

ตามรายงานของ BBC นั้นระบุอีกว่า หากให้นับจำนวนครั้งที่ 5 บริษัทชั้นนำนี้ใช้คำว่า มนุษย์ หรือบุคคลมาชี้แจงไว้ในนโยบายและเงื่อนไขการให้บริการนั้น Google | Apple | Amazon จะเด่น ๆ กว่าเพื่อนเขาหน่อยเพราะ “ไม่เคยมีการใช้คำว่า Human เลยแม้แต่ครั้งเดียว” แต่ทั้งหมดนี้ก็ออกมายอมรับไปหมดแล้วด้วยว่าพวกเขาต่างเคยใช้คนนั่งฟังเสียงของเราในกระบวนการพัฒนาคุณภาพของปัญญาประดิษฐ์ชื่อดังอย่าง Google Assistant | Siri | Alexa กันทั้งนั้น

ส่วน Facebook ก็ไม่ได้ดีกว่าเพื่อนบ้านสักเท่าไหร่ เพราะถูกพบว่าได้ใช้คำว่า มนุษย์ เอาไว้ 1 ครั้งถ้วนซึ่งไม่ใช่การชี้แจงใด ๆ ถึงการใช้คนนั่งฟังข้อมูลของผู้บริโภค เพียงแต่อยู่ในข้อกำหนดการใช้งานแอปพลิเคชั่นที่ว่า “ทางแอปพลิเคชั่นจะมีการเก็บข้อมูลบางส่วนจากอุปกรณ์ที่ใช้งานเพื่อระบุว่าผู้ใช้งานเป็นมนุษย์” เท่านั้น จะดีกว่าเขาเพื่อนหน่อยก็ Microsoft ที่มีการระบุไว้บางส่วนของเงื่อนไขและนโยบายการให้บริการว่า “ในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลโดยพวกเรา… รวมไปถึงทั้งในรูปแบบอัตโนมัติและรูปแบบด้วยมือ (มนุษย์)” อ่ะ! รอดไปหนึ่ง

งานนี้ต้องขยับกันด่วน ๆ ส่วน Amazon ลั่นได้อีก บอกแค่ใส่เครื่องหมาย Comma (,) ไง 😲

งานนี้หลาย ๆ เจ้าไล่ตั้งแต่ Google | Apple และ Facebook ด้วย พากันออกมาประกาศชัดว่าได้ยกเลิกกระบวนการที่ต้องใช้มนุษย์นั่งฟังบทสนทนาของผู้บริโภคไปหมดแล้วเพื่อให้เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ของหลาย ๆ ประเทศ โดยเคสของ Facebook ประกาศชัดมาก ยกเลิกไปตั้ง 1 สัปดาห์ก่อนเป็นข่าวแล้วนะ

ส่วนฝั่ง Amazon สงสัยอยากได้พื้นที่สื่อ หลังหัวหน้าทีมฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ Alexa (ผู้ช่วยอัจฉริยะของแบรนด์) ได้ตอบสัมภาษณ์กับ BBC แบบไม่แน่ใจว่าติดตลก หรือประชด ว่า “ผมคิดว่า เราสามารถใส่เครื่องหมาย comma ไปหลังจบประโยคแล้วอธิบายเพิ่มไปได้นะ ช่วยเน้นให้อ่าน… “ แต่ล่าสุดที่ BBC รายงาน ก็ยังไม่ได้อัพเดทนะแค่ comma นี่ล่ะ เล่นเอาผู้สื่อข่าวสายเทคฯ ของ BBC อย่าง Dave Lee จวกเข้าให้ว่า “ให้ตายเถอะ ช่วยเพิ่มคำอธิบายเรื่องนี้ซะ ใส่ไปในกล่องข้อความชัด ๆ มันยากนักหรือไงนะ”

อันที่จริงถ้าจะให้มองในแง่บวกสุด ๆ ก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การที่มนุษย์ต้องทำหน้าที่ในการนั่งฟังแชท คลิปเสียง บทสนทนาของพวกเรานั้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ฉลาดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากเท่าที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้นั่นเอง แต่ไม่ว่าจะมีประโยชน์เพียงใด สิทธิของพวกเราในฐานะเจ้าของข้อมูลนั้นก็ไม่สมควรถูกมองข้ามไปไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ คืออย่างน้อยบอกกันให้ชัด ๆ หน่อย เพราะสุดท้ายพวกเราก็กดตุ่ม ยินยอม แบบที่ “แล้วชั้นเลือกอะไรได้มั้ย” อยู่ดี

มันคงจะดีไม่น้อยถ้าในตัวกฎหมายมีการกำหนดให้เราๆสามารถเลือกได้ว่ายินยอมหรือไม่ยินยอมเฉพาะหัวข้อนี้ ไม่ใช่เอะอะๆเหมารวมตกลงไป เพราะในความเป็นจริงแม้ว่าหลายคนจะยอมแลกความเป็นส่วนตัวเพื่อใช้ฟรี แต่ถ้าเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากจะกดให้ใครมาฟังเราอยู่แล้วล่ะ

 

อ่านเพิ่มเติม: Facebook ยอมรับจ้างคนนั่งฟังคลิปเสียงพวกเรา | ทำไมโฆษณาที่ขึ้นมาถึงเหมือนที่เพิ่งคุยกันซะเหลือเกิน | ทำไมประเทศพัฒนาแล้วถึงได้หวงข้อมูลส่วนตัวกันนักหนา?

อ้างอิง: BBC News | Inc.