การเข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มรูปชนิดที่เทคโนโลยี อุปกรณ์สื่อสาร สมาร์ทโฟน หรืออินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอยู่ในทุกๆกิจวัตรของเรานั้น กลายเป็นประเด็นหลักที่โลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และสำหรับภาคธุรกิจก็เช่นเดียวกัน เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนผ่านจากการเป็นของเล่นใหม่ สู่การเป็นเครื่องมือกระแสหลักชนิดที่ธุรกิจใดไม่ใช้เทคโนโลยี ธุรกิจนั้นถือว่าล้าหลัง และแน่นอนว่าผู้สร้างผลผลิตทางข้อมูลจำนวนมหาศาลให้กับภาคธุรกิจก็คือผู้บริโภคอย่างเราๆนี่เอง…

ข้อมูลส่วนตัว ขุมทรัพย์ล้ำค่าของบริษัทเทคโนโลยี ที่เราให้ไปแบบไม่ระวังตัว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวเรื่องการนำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจจำนวนมาก ไม่ว่าจะโดยการได้รับอนุญาตโดยปริยายคือเรากดยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการบางอย่างแบบไม่ระวังตัว (นึกภาพว่าเรานั่งเล่นควิซยอดฮิตบน Facebook อย่าง “คุณ…ในอีก 5 ปีข้างหน้า” 😀 ) หรือบางทีก็ไม่ได้อนุญาตเลยเสียด้วยซ้ำอย่างที่มีข่าวลือกันโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ที่เพิ่งผ่านพ้นมา ถึงขนาดว่า โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ตบางรายมีการให้ลูกค้ารายใหญ่เข้าถึงฐานข้อมูลที่ถูกย่อยและแปลความมาจาก กล่องข้อความแชทส่วนตัว 😯 ที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมของผู้บริโภครายบุคคลกันเลยทีเดียว จนเป็นเรื่องเป็นราวชนิดที่ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกต้องผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปขึ้นศาลเพื่อตอบคำถามต่อเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศต่อความกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล

เคยมั้ย… เวลาที่เราเม้าท์มอยกันสนุกปากกับเพื่อนๆ ถึงสินค้าและบริการต่างๆ เสื้อผ้าสุดชิค สถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิป และกลับบ้านไปเราเปิด Facebook หรือ Instagram ขึ้นมาไถดูเต็มไปด้วย ads ของสินค้าที่เราเพิ่งพูดถึงมาหยกๆ หรือเว็บไซต์จองโรงแรมตามจุดหมายปลายทางยอดฮิตราวกับว่า ตาวิเศษรู้ หูวิเศษได้ยิน มีคนดลบันดาลให้เราต้องเสียตังค์  สะดวกเกิ๊น!  😎 

จาก Data-Driven Economy สู่ Surveillance Capitalism

อันที่จริงในส่วนของ Data-Driven Economy นั้นไม่ใช่คำศัพท์ใหม่แต่อย่างใด เพราะการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการบริหารและธุรกิจนั้นมีมานานเกินครึ่งทศวรรษแล้วด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าในปัจจุบันมันกลายมาเป็นทุกส่วนของชีวิตเราทุกคนไปแล้ว มันเป็นมากกว่าแค่การจัดทำฐานข้อมูล แต่เราเข้าสู่ยุคของการประยุกต์ใช้ขั้นสุดของนวัตกรรมทางข้อมูลที่มาเป็นคอมโบเซ็ตอย่าง การจัดเก็บข้อมูลขนาดมหึมาที่เป็นระบบกว่าที่ประวัติศาสตร์เคยมี (Big Data) ซึ่งมาพร้อมกับ การเรียนรู้ ประมวล และดำเนินการอันรวดเร็วแบบยังไม่มีจุดสิ้นสุดของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence และ Machine Learning) โดย 2 องค์ประกอบหลักของนวัตกรรมทางข้อมูลนี้ทำให้เราได้พบกับคำศัพท์ใหม่แกะกล่อง 2019 กับคำว่า “Surveillance Capitalism” หรือ “ทุนนิยมบนการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล” (จริงๆแล้วคำศัพท์นี้ถูกบัญญัติเอาไว้ครั้งแรกตั้งแต่ 2014 นะแต่เพิ่งได้รับการพูดถึงในวงกว้างก็ตอนนี้นี่ล่ะ)

มันคือทุนนิยมที่ทำงานในรูปแบบของตัวแปรทางข้อมูลที่ถูกย่อยแยกและสกัดมาแล้วอย่างแยบยล – Shoshana Zuboff | นักทฤษฎีศาสตร์ทางธุรกิจและสังคม

สำหรับคำว่า Surveillance เราอาจจะคุ้นหูคุ้นตากันอยู่บ้างเพราะโดยปกตินั้นจะหมายความถึง การสอดส่องตรวจการ เช่น Surveillance System หรือ Surveillance Camera ก็คือระบบตรวจการหรือกล้องวงจรปิดที่จะจับตาดูเราทุกฝีก้าวนั่นเอง! พอถูกคุณ Shoshana นำเอามารวมไว้กับคำว่าทุนนิยม (Capitalism) นิยามให้เข้าใจกันง่ายขึ้นอาจเรียกได้ว่ามันคือ “การสร้างเม็ดเงินชนิดไม่รู้จบ โดยอาศัยการเข้าถึงข้อมูลและคุณลักษณะทุกรูปแบบของผู้บริโภครายบุคคล” นั่นเอง  😕

เทคโนโลยีแห่งข้อมูล… ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไปแล้ว

หากสงสัยว่ามันสำคัญอะไรนักหนากับการที่บริษัทเทคโนโลยีจะก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราถึงขนาดที่ต้องสร้างความตระหนักให้ผู้อ่านเห็นว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเราพวกเรามีความสำคัญมากสักแค่ไหนกับคำว่า “ทุนนิยม” เราลองนึกดูว่า การเข้าถึงข้อมูลอะไรก็ได้ในชีวิตประจำวันของเรามันง่ายขึ้นมากน้อยแค่ไหนหากเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว และถ้ามองในแง่มูลค่าของเงินล่ะก็ลองหาคำตอบกันดูว่า 10-15 ปีก่อนหน้านี้ เรามีบริษัทยักษ์ใหญ่ในแง่มูลค่า 5 อันดับแรกของโลกที่วนเวียนอยู่ในกลุ่มพลังงาน อุตสาหกรรมหนัก สินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อเทียบกับวันนี้ที่ 5 อันดับแรกของโลกประกอบไปด้วย Microsoft, Apple, Google, Amazon, และ Facebook ยังไงล่ะ ซึ่งบริษัทพวกนี้ล้วนใช้วิทยาการขั้นสูงสุดของ Information Technology เข้ามาเกี่ยวข้องในทำการรายได้มหาศาลจากผลิตภัณฑ์และบริการของตนทั้งสิ้นนั่นเอง

แล้วรายได้มหาศาลที่ว่าสร้างมาจากอะไรน่ะหรอ… ก็สร้างมาจากการที่ยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีพวกนี้ล้วนเข้าถึงข้อมูลของเราละเอียดชนิดที่ว่า เราชอบทำอะไร เรามีไลฟ์สไตล์แบบไหน เรามีสถานภาพทางการเงินอย่างไร เราชอบฟังเพลงหรือดูหนังแนวไหน เรากำลังมีความรู้สึกแบบใดกับชีวิต และฐานข้อมูลมหึมานี้ระบุได้แม้กระทั่งอนาคตของเราว่า เราจะทำอะไรต่อไป เราเข้าคูหาแล้วมีโอกาสกาเบอร์ไหนมากที่สุดในวันเลือกตั้ง (ทั้งๆที่บางทีเราเองยังไม่แน่ใจเลยเสียด้วยซ้ำ) และแน่นอนว่าข้อมูลพวกนี้ ระบุอนาคตได้แม่นยำเสียยิ่งกว่า Quiz “คุณ… ในอีก 5 ปีข้างหน้า” เป็นไหนๆ  :mrgreen:

แต่ความพีคที่สุดนอกเหนือจากรายได้มหาศาล คือเมื่อบริษัทเหล่านี้เมื่อสามารถระบุพฤติกรรมไลฟ์สไตล์และทำนายอนาคตของเราได้แล้ว ก็จะสามารถปั่นหัวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราได้เช่นกัน ลองนึกภาพเวลาเราไถฟีดเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์แล้วเห็นคนที่คิดเหมือนกับเราเยอะๆ เราก็จะเข้าใจว่าคนส่วนมากคิดแบบเดียวกัน ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจต่อเรื่องนั้นๆให้มากขึ้นไปได้ ทั้งที่ในความจริงแล้วมันเป็นเพียงอัลกอริทึ่มแสดงผลของบริษัทเหล่านั้นที่ทำขึ้นมาเพื่อทำให้เรารู้สึกดี เห็นข้อมูลที่เราอยากเห็นเวลาใช้บริการก็เท่านั้นเอง แต่ถ้ามองอีกมุมคือถ้าเค้าต้องการจะเปลี่ยนความคิดของเรา การที่เค้าพยายามขึ้นข้อมูลต่างๆบนฟีดให้มาก แสดงความคิดที่เค้าต้องการจะฝังเข้าไปในหัวของเรา ก็จะสามารถทำได้เช่นเดียวกันนั่นเอง

ความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของเรา = แหล่งทำเงินที่ใหญ่ที่สุดบนโลกใบนี้

อย่างที่เราพอจะทราบกันอยู่แล้วว่ายักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีของโลก ณ วันนี้ ล้วนแล้วแต่มีรายได้ไม่ส่วนนึงก็ส่วนใหญ่มาจากระบบโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีมูลค่าสูงเสียยิ่งกว่ายุคที่โทรทัศน์คือแหล่งบันเทิงหลักของทุกครอบครัว เพราะการทำโฆษณาในรูปแบบดิจิทัลอย่างที่ทุกวันนี้ทำกันนั้น มันไม่จำเป็นต้องกระจาย ไม่จำเป็นต้องเยอะ เพียงแต่มันต้องตรงเป้าหมาย และวิธีการที่ธุรกิจกลุ่มนี้ทำให้ได้มาซึ่งการแยกประเภทของผู้บริโภคที่ตรงตามเป้าหมายเสมอก็เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกเสียจากการเก็บ รวบรวม ประมวล แบ่งประเภททางคุณลักษณะและพฤติกรรมของพวกเราทุกคน ในทุกๆกิจวัตรของเราหรือแม้กระทั่งเราแค่เอานิ้วโป้งปัดหน้าจอสมาร์ทโฟนเพื่อไถและกดไลค์เพื่อนๆผ่านสังคมออนไลน์ไปวันๆก็ตามที การันตีให้ตรงนี้เลยว่าพวกเรากำลังถูกจับตาดูในเกือบทุกๆการเคลื่อนไหวของชีวิตเลยก็ว่าได้เว้นแต่ว่า คุณจะไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้ ไม่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเลยตลอดช่วงชีวิตของคุณต่อจากนี้ไปอะไรทำนองนั้น…

ผู้บริโภคอาจเป็นเหยื่อของนวัตกรรมทางข้อมูล… ?

อันที่จริงมีสิ่งที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่าและเรากำลังจะได้พบเจอกันไม่เร็วก็ช้ากันทุกๆคนอย่างแน่นอนก็คือ “การกำหนดพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคโดยใช้สื่อกระตุ้นที่ผ่านการประมวลมาอย่างแยบยลผ่านนวัตกรรมทางข้อมูลแล้วว่า ผู้บริโภคคนไหนต้องใช้อะไรไปกระตุ้นให้มีความต้องการซื้อหรือใช้บริการใดๆตามความประสงค์ของผู้จัดการข้อมูลหรือเจ้าของแพลตฟอร์มประชาสัมพันธ์นั้นๆ” ขออนุญาติแปลภาษาไทยเป็นภาษาไทยให้เพื่อนๆสมาชิกชาว DroidSans ที่อาจจะยังไม่ตระหนักได้เห็นภาพกันดังนี้…

สมมุติว่าเราเป็นคนที่คลั่งไคล้ในป้าย SALE เอามากๆ และเรากำลังมีความต้องการอยากได้ เครื่องฟอกอากาศ หรือ หน้ากากกันฝุ่น PM2.5 ชั้นดีที่ขาดตลาดกันอยู่อย่างเช่นทุกวันนี้ เสิร์จหาเท่าไหร่ก็ไม่มีของต้องผ่านการ pre-order รอราวๆ 1 เดือนเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเช้าวันหนึ่งเราเปิดสมาร์ทโฟนคู่ใจขึ้นมาไถหน้า feed ของ Facebook เพื่อส่องชีวิตเพื่อนๆตามปกติ แต่เราดันไถผ่าน ads ชิ้นโตขนาดครึ่งจอสมาร์ทโฟนพร้อมข้อความสุดลึกซึ้งใจความว่า เครื่องฟอกอากาศรุ่นนี้ ของแท้ประกันศูนย์ ลดไปเลย 50% สั่งแล้วส่งฟรีแถมได้ของใน 2 วันไม่ต้องรอนาน… ถามว่าเราจะสั่งหรือไม่ แน่นอนว่าเรารู้กันดีอยู่แก่ใจ สั่งสิครับ รออะไรล่ะจังหวะนี้ โดยไม่ทันได้คิดว่าของชิ้นมันแท้จริงหรือเป็นเพียงการหลอกลวงซะด้วยซ้ำ 😈 

แน่นอนว่ารัฐบาลจากหลายๆประเทศทั่วทุกมุมโลกก็เริ่มศึกษาแนวทางการจัดการกับการเข้าถึงข้อมูลประเภทนี้ของผู้บริโภคเพื่อเตรียมรับมือกันแล้ว ว่าควรมีขอบเขตอะไรแค่ไหนอย่างไร เพื่อรักษาสิทธิ์ส่วนบุคคลเอาไว้ และเข้าควบคุมจัดการไม่ให้การใช้ประโยชน์รูปแบบนี้มันมากเกินไปจนริดรอนความเป็นส่วนตัวทางข้อมูลของผู้บริโภค อย่างที่เมื่อเร็วๆนี้ถึงกับต้องมีการไล่สอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงกันอยู่ถึงขนาดที่ว่า ผู้จัดการข้อมูลเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงหรือตัดสินผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือ ผลการลงประชามติของชาติมหาอำนาจตะวันตกได้เพียงแค่ใช้เทคโนโลยีทางข้อมูลขั้นสูงที่ว่ากันนี้เพื่อทำ “Marketing” ฟังดูล้ำ แต่มันก็น่ากลัวอยู่ไม่น้อย ถ้าวันใดวันนึง เราอาจตกเป็นเหยื่อของ Marketing ที่ว่านี้เสียเอง และเมื่อมองกลับมายังประเทศไทย เรื่องนี้ไม่ถูกนำมาพูดถึงเลยแม้แต่น้อย แต่ซ้ำร้ายถูกนำเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการปั่นหัวประชาชนสำหรับคนระดับบริหารกันไปเสียอีก โดยการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้มั่นใจได้ว่าเราจะได้เห็นสงครามข้อมูลข่าวสาร และการนำข้อมูลส่วนตัวมาเล่น ผ่านสังคมออนไลน์กันเพียบ ขึ้นอยู่กว่าคุณจะ “รู้” หรือ “ไม่รู้” ก็เท่านั้น

อ่านกันสักนิดก่อนคลิก “ยอมรับ” ข้อตกลงและเงื่อนไขในทุกๆบริการ…

อันที่จริง สิ่งที่เราจะทำได้ดีที่สุดในฐานะผู้บริโภคที่ต้องการปกป้องและสงวนสิทธิ์ของการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอาไว้ให้ได้บ้างก็พอมีหนทางเบื้องต้นที่เราเองก็ทราบกันดีอยู่แก่ใจว่า ในทุกๆบริการออนไลน์ การสมัครสมาชิก การดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของทุกๆระบบปฏิบัติการ มันมีสิ่งที่เราละเลยกันจนชินเหมือนเป็นแค่จุดคลิกให้มันผ่านๆไปก็คือ

เราควรจะอ่านข้อตกลงและเงื่อนไขของการให้บริการให้ดีเสียก่อนว่า เรากำลังจะกดยินยอมแก่ผู้ให้บริการทั้งหลายพวกนี้ เข้าถึงข้อมูลอะไรของเราบ้าง ขออนุญาตใช้ไมโครโฟนหรือกล้องถ่ายรูปเราหรือไม่ ขอเข้าถึงกล่องข้อความต่างๆรึเปล่า อ่านเถอะครับ อ่านสักนิด ก่อนที่จะกดยอมรับกันไปเพียงแค่เพราะว่ามันยาว…

อ้างอิง: Financial Times | The GuardianMILFORD ASSET MANAGEMENT