จากงาน Apple Event เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา นอกเหนือจาก iPhone ที่เปิดตัวใหม่แล้ว ตัวที่เรียกความสนใจได้ไม่แพ้กันก็คือ Apple Watch ที่ถูกหยิบเอามาพรีเซนต์ก่อนใคร นอกเหนือจากหน้าตาที่ดูดีขึ้นมากเพราะขอบบางลงเยอะแล้ว ฟีเจอร์ทั้งการแจ้งเตือนการหกล้ม และการวัดค่า ECG ก็ดูจะเป็นอะไรที่คนว้าวกับเจ้าสมาร์ทวอทช์เรือนนี้ไปไม่น้อย แต่ก็มีคนยังงงๆกับค่า ECG นี่อยู่ไม่น้อย รวมถึงสงสัยว่ามันใช้งานได้ขนาดไหน วันนี้เดี๋ยวเรามาดูเพิ่มเติมกันครับ

ECG / EKG คือค่าอะไร*

ถ้าใครได้อยู่ใกล้กับคนไข้ที่เป็นโรคหัวใจน่าจะเคยได้ยินค่านี้กันมาบ้าง เพราะโดยมากจะต้องโดนจับตรวจ ECG/EKG ด้วยกันทั้งนั้น โดยการตรวจหัวใจหาค่า ECG นี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยถึงโรคที่เป็นหรือความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งค่า ECG จะได้จากการตรวจจับคลื่นไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวใจ ดังที่เห็นว่าตอนตรวจจะมีอุปกรณ์ติดตามส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งอุปกรณ์นี้จะบันทึกค่าระหว่างขั้วบวก ขั้วลบเป็นคู่ๆ (lead) หลายๆตำแหน่ง หลายๆมุม เช่น หัวใจห้องนี้ไปขา หัวใจห้องนี้ไปแขน อะไรประมาณนี้ มาตรฐานคือ 12 มุม 12 คู่ขั้วบวกลบ โดยจะมีข้อมูลที่สำคัญสองส่วนคือ

  1. เวลาที่คลื่นไฟฟ้าผ่านหัวใจ ซึ่งช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติ การเต้นช้า-เร็วของหัวใจ
  2. เวลาที่คลื่นไฟฟ้าผ่านกล้ามเนื้อของหัวใจ ช่วยทำให้แพทย์เห็นการขยายตัวหรือการทำงานหนักผิดปกติของหัวใจ

เวลาตรวจจะต้องติดอุปกรณ์ไว้ตามส่วนต่างๆของร่างกายประมาณนี้นะ

ECG หรือ EKG ? บางคนอาจจะงงว่าสองตัวนี้ต่างกันอย่างไร แต่จริงๆคือสามารถเรียกได้ทั้งสองแบบ โดยสาเหตุที่เรียกได้สองแบบก็เกิดจากที่ตอนคุณ Laureate Willem Einthoven ผู้คิดค้น Electrocardiography เค้าแปลผลงานของเค้าเป็นภาษาเยอรมัน เค้าได้เขียนว่า elektrokardiogramm จนทำให้เกิดเป็นตัวย่อ EKG นั่นมานั่นเอง โดย EKG จะเป็นค่าที่ใช้กันเป็นปกติในประเทศอย่างอเมริกา ส่วนประเทศอื่นๆมักจะใช้ ECG ส่วนประเทศไทยเราได้รับอิทธิพลจากฝั่งอเมริกามาเยอะจึงใช้เป็น EKG นั่นเอง

เพิ่มเติม ส่วนอีกค่านึงที่คล้ายๆกันก็คือ EEG หรือ Electroencephalogram อันนั้นไม่ได้เกี่ยวกับหัวใจแต่เป็นสมองนะ

Apple Watch วัดค่านี้ได้อย่างไร และมีประโยชน์อะไรบ้าง

Apple Watch จะใช้กลไกแบบ single-lead handheld device โดยด้านล่างของตัวเรือนนาฬิกาจะเป็นจะเป็นตัวรับคลื่นขั้นบวก ส่วนตัวเม็ดมะยมของนาฬิกาที่ใช้นิ้วแตะจะเป็นขั้วลบและ ground และทำการประมวลผลจบได้ภายใน 30 วินาทีจากชิปเซตของตัวนาฬิกา พร้อมแจ้งเตือนกรณีพบความผิดปกติ และสามารถพลอตกราฟคลื่นไฟฟ้าออกมาให้ดูได้ผ่านแอป Health เลยทันที

ซึ่งค่าความผิดปกติตรงนี้ทาง Apple บอกว่าเป็นค่าที่เหมือนกับไปทำที่โรงพยาบาลยังไงอย่างงั้นเลย และบอกได้ว่าหัวใจเรามีสัญญาณบ่งชี้ถึงการมีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว (Atril Fibrillation) หรือที่เรามักจะได้ยินคนเรียกกันว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) ได้นั่นเอง การที่เราใส่ Apple Watch และมีการตรวจเช็คตลอดเวลาก็เป็นเหมือนการป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ลดความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เสียชีวิต หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตได้นั่นเอง

โดยตัว Apple Watch นี้ได้ผ่านการอนุมัติจากทาง FDA หรือองค์การอาหารและยาของอเมริกาเรียบร้อย รวมถึงมีการเชิญแพทย์โรคหัวใจมาขึ้นพูดบนเวทีเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่ามันใช้ได้จริงอีกต่างหากด้วย

ปล. อย. บ้านเค้าเข้มงวดและเชื่อถือได้มากกว่าบ้านเราแบบร้อยเท่าพันทวีครับ เมื่อไหร่ที่บอกว่าผ่านและขายได้คือต้องดีจริง

แพทย์ห่วงผู้ใช้ยึดมั่นใน Apple Watch เกินจนเกิดปัญหา

หลังการเปิดตัว Apple Watch ก็มีเสียงตอบรับที่ดีมากทั้งจากฝั่งผู้ใช้ ผู้ที่อยากซื้อให้คนอื่นใช้ รวมถึงแพทย์หลายๆคนก็ให้ความสนใจ แต่หลังจากที่มีการหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วก็มีความเป็นห่วงจากแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลอยู่ทั้งในด้านความแม่นยำของอุปกรณ์และการที่ผู้ใช้เชื่อมั่นในตัวสินค้ามากจนอาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างแพทย์และคนไข้ได้

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าการวัดค่า EKG จะทำกันโดยตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าทั้งหมด 12 คู่ (leads) โดยจะต้องทำการแปะอุปกรณ์วัดค่าไว้หลายๆจุดเป็นคู่ๆ หนึ่งคู่คือหนึ่ง Lead แต่บน Apple Watch จะใช้กลไกแบบ single-lead handheld device ทำให้ค่าจะออกมาเพียง lead เดียวซึ่งก็หมายถึงข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ จาก 12 leads เหลือแค่ 1 lead แค่นั้นยังไม่พอการจะวินิจฉัย Atrial Fibrallation (AF) นั้นไม่ได้จำกัดว่าต้องมาจาก 12-lead เท่านั้น แต่ต้องมีหลักฐานอื่นประกอบอีกมากมาย

ตัวอย่างข้อมูลที่ได้จากแอป ECG ซึ่งเราสามารถ Export เป็น PDF ส่งให้แพทย์ดูได้ง่ายๆ

หลายคนอาจจะบอกว่าก็ไม่เห็นเป็นไร อย่างน้อยเจอความผิดปกติ ไปพบหมอเพื่อให้คอนเฟิร์มก็ไม่มีอะไรเสียหาย ซึ่งก็ถูกครึ่งนึง แต่อีกครึ่งนึงคือมีความกังวลกันที่ตัว Apple โฆษณาสรรพคุณของ Watch ไปซะดูเทพมาก ใครที่เห็นการเปิดตัวแล้วก็คงเชื่อมั่นและยึดถือว่ามันคือสุดยอดอุปกรณ์ที่จะทำให้เราไม่เป็น Stoke หรือภาวะหัวใจล้มเหลวแน่นอน ทั่งที่ไม่ใช่ และปัญหาจะอยู่ที่ว่าหากวันนี้คุณไปพบแพทย์และแพทย์ดูหลักฐานอื่นประกอบก็ไม่เห็นว่ามันจะผิดปกติอะไร ไล่ให้กลับพร้อมทั้งไม่ให้ยาอะไรเลย เพราะยาที่ใช้รักษาก็มีความเสี่ยงทำให้เลือดออกต่าง ๆ นานา แต่อีกไม่นานหลังจากนั้นคุณดันป่วยจริง และไม่สามารถรักษาได้ทัน ก็อาจจะมาโทษโรงพยาบาล โทษแพทย์เอาง่ายๆว่าชุ่ย ไม่ตรวจรักษาให้ดี ไม่เชื่อนาฬิกานั่นเอง

อย่างไรก็ดีคุณหมอก็ไม่ได้ถึงกับแอนตี้ Apple Watch อะไรนะครับ แค่อยากให้เข้าใจตรงกันก่อนเท่านั้น ว่ามันก็ไม่ได้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ขนาดนั้น การพบแพทย์เรื่อยๆคอยติดตามอาการก็น่าจะเป็นการดีที่สุดครับ

สามารถไปอ่านที่แพทย์ท่านหนึ่งได้เขียนถึงเรื่องนี้กันต่อได้ครับ มีหมอๆมาคอมเม้นต่อกันให้เพียบเลยล่ะ

ECG App ยังไม่มีให้ใช้ตอนนี้ และจะยังไม่มีให้ใช้ในไทย

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้หลายคนอาจจะใจสลายได้เมื่อได้รู้ว่าฟีเจอร์ตรวจค่า ECG นี้จะยังไม่มีให้ใช้ทันทีหลังวางจำหน่าย ต้องรออีกสักพักนึงให้ซอฟท์แวร์​เรียบร้อยดีก่อน ช่วงปลายปีถึงจะปล่อยให้ได้ใช้กัน และเมื่อเปิดให้ใช้แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าทาง Apple จะเปิดฟีเจอร์นี้ให้ทุกคนทั่วโลกทันทีนะครับ

โดยทาง Apple ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่าฟีเจอร์ ECG ได้รับ De Novo classification จากทาง FDA หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงในการใช้งานต่ำไม่ทำอันตรายใดๆต่อผู้ใช้งาน แต่ก็เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องขออนุญาตหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อนำเข้าไปขายในประเทศนั้นๆก่อน ซึ่งหมายความว่าฟีเจอร์  ECG นี้ก่อนที่จะเปิดให้ประเทศอื่นๆใช้ได้ ทาง Apple ต้องส่งทีมเข้ามาขออนุญาตให้เรียบร้อยก่อนนั่นเอง ซึ่งทาง Apple ก็ไม่สามารถรับปากได้อย่างชัดเจนว่าสามารถผ่านด่าน อย. ในแต่ละประเทศได้เร็วช้าเพียงใด ทำให้หน้าเว็บ Apple Watch 4 ในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ยังไม่ขึ้นแม้แต่ข้อมูลของฟีเจอร์ ECG เลยด้วยซ้ำ

รายละเอียดฟีเจอร์นี้ปัจจุบันขึ้นแค่เพียงในเว็บ Apple อเมริกาเท่านั้น พร้อมห้อยคำชี้แจงไว้เล็กๆว่า ECG app coming later this year หรือมาภายในปีนี้แหละ โดยในประเทศอื่นฟีเจอร์นี้ถูกตัดออกไป

และน่าสนใจมากว่าในเอกสารของ FDA มีการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ Apple Watch ว่าฟีเจอร์ ECG นี้ควรใช้เพื่อดูข้อมูลเท่านั้น ผู้ใช้ไม่ควรจะแปลค่า หรือรับการรักษาในรูปแบบต่างๆจากผลของแอปนี้เท่านั้น ควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน มันช่วยในการวินิจฉัยโรคในระดับนึงแต่ไม่สามารถทดแทนการตรวจวัดโดยวิธีปกติได้ ควรใช้ในผู้ที่มีอายุเกิน 22 ปี  และไม่แนะนำสำหรับคนที่รู้ตัวว่าอยู่แล้วว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติอีกด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามที่คุณหมอได้เขียนเอาไว้ข้างต้นเลย แต่เพียง Apple บอกไม่หมด และอาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างคนไข้และแพทย์ได้นะ

 

สรุป –  Apple Watch Series 4 กับฟีเจอร์ ECG สามารถตรวจวัดคลื่น ECG ได้จริง แต่ว่าข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่สามารถยึดถือได้ 100% ควรต้องต้องปรึกษาแพทย์อีกครั้งแม้ว่าเครื่องจะแจ้งเตือนว่ามีความเสี่ยงก่อนรับการรักษาใดๆ และหลังวางจำหน่ายจะยังไม่มีแอป ECG ให้ใช้ จะซื้อเพราะฟีเจอร์นี้ ให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าประเทศที่เราซื้อมานั้นมีการเปิดฟีเจอร์นี้ให้ใช้หรือยังครับ

 

อ้างอิง