สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ กำลังเป็นประเด็นที่ทั้งโลกต้องหันมาให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงอุตสาหกรรมไอทีที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งปัจจุบันไต้หวันถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่า 60% หากที่สุดแล้วเรื่องราวบานปลายจนเกิดภาวะสงครามขึ้นมา สินค้าไอทีมีโอกาสสูงที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ชิป (อาจ) หายไปค่อนโลก

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมากต้องพึ่งพาชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ หรือเรียกง่าย ๆ คือ “ชิป” มีตั้งแต่ของเล็ก ๆ ที่เราเห็นกันทุกวันอย่างสมาร์ท ใหญ่ขึ้นไปหน่อยก็มีพีซี โทรทัศน์ ตู้เย็น หรือแม้กระทั่งรถยนต์ด้วยก็เช่นกัน

ทำไมไต้หวันถึงมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ตามรายงานของ TrendForce ที่เปิดเผยออกมาเมื่อปีที่แล้ว บริษัทในไต้หวันถือครองส่วนแบ่งตลาดเซมิคอนดักเตอร์รวม 63% และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 66% ในปีนี้ โดยมี TSMC เป็นหัวหอก ถือครองส่วนแบ่ง 54% ของทั้งโลก ส่วนอันดับรองลงมาคือ เกาหลีใต้ที่ 18% โดย 17% มาจาก Samsung

ความสำคัญของ TSMC ไม่ใช่แค่การเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุด หากแต่ยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิปที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าที่สุดร่วมกับ Samsung และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ TSMC กลายเป็น “ศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจของโลก” ไปโดยปริยาย แม้บริษัทจะไม่ได้อยากเป็นอย่างนั้นเลยสักนิดก็ตาม

ส่วนแบ่งการตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก

  • TSMC (ไต้หวัน) – 54%
  • Samsung (เกาหลีใต้) – 17%
  • UMC (ไต้หวัน) – 7%
  • GlobalFoundries (สหรัฐฯ) – 7%
  • SMIC (จีน) – 5%
  • HH Grace (จีน) – 1%
  • PSMC (ไต้หวัน) – 1%
  • VIS (ไต้หวัน) – 1%
  • DB HITek (จีน) – 1%
  • Tower Semiconductor (อิสราเอล) – 1%
  • บริษัทอื่น ๆ รวมกัน – 5%

ชิปหายกันครึ่งโลก ไม่ใช่เรื่องเกินจริง

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เดิมทีก็พบปัญหาชิปขาดแคลนที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2563 อยู่แล้ว จากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซ้ำด้วยการระบาดของ COVID-19 จนโรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลงจาการล็อกดาวน์ ไปจนถึงภัยธรรมชาติที่เกิดในบางประเทศส่งผลต่อกำลังการผลิต ซึ่งจนถึงตอนนี้แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ 100%

ดังนั้น ถ้า TSMC และบริษัทอื่นในไต้หวันไม่สามารถผลิตชิปได้ การที่ชิป (อาจ) หายไปค่อนโลก ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงเท่าไหร่นักที่จะจินตนาการถึง ที่น่าเป็นห่วงคือ Apple ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ TSMC ซึ่งมีสินค้าสำคัญ ๆ อย่าง iPhone และ iPad รวมถึงสินค้าตระกูล Mac

ลูกค้า TSMC ตามสัดส่วนรายได้ของบริษัท

  • Apple – 25.93%
  • MediaTek – 5.80%
  • AMD – 4.39%
  • Qualcomm – 3.90%
  • Broadcom – 3.77%
  • Nvidia – 2.83%
  • Sony – 2.54%
  • Marvell – 1.39%
  • STM – 1.38%
  • ADI – 1.06%
  • Intel – 0.84%

จีนบุกเอง ก็อาจเจ็บเอง เสียหายกันทุกฝ่าย

ทางสหรัฐฯ พยายามโน้มน้าวให้ TSMC ย้ายฐานการผลิตออกจากไต้หวันมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน โดย TSMC พึ่งตั้งโรงงานในสหรัฐฯ ด้วยมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านเหรียญไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา และกำลังจะตั้งอีกแห่งในญี่ปุ่น โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งแน่นอนว่าจีนคงไม่พอใจในเรื่องนี้

แต่หากจีนคิดจะหันหอกหาไต้หวัน ก็มีความเสี่ยงที่หอกนั้นจะย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเองเช่นกัน เพราะถึงแม้จีนพยายามจะส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศเป็นลำดับตามกลยุทธ์ระยะยาวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ข้อเท็จจริงคือจีนยังตามหลังคู่แข่งอยู่อีกหลายปี ทำให้ต้องอาศัยการพึ่งพาเครื่องจักรและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และยุโรปอยู่ หากไม่มีชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ป้อนเข้าสู่ประเทศ เศรษฐกิจอาจพังครืนไม่เป็นท่าเอาง่าย ๆ

หลักฐานอย่างหนึ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่าโรงงานผลิตชิปในไต้หวันมีความสำคัญต่อจีนมากแค่ไหน คือมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจล่าสุดของจีน ที่เริ่มแบนสินค้าหลายอย่างจากไต้หวัน เช่น สินค้าประเภทอาหาร ผลไม้ และสินค้าจากการประมง แต่กลับไม่แตะต้องธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์เลย

นอกจากนี้ มาร์ก หลิว ประธานบริษัท TSMC ยังบอกกับสื่อต่างประเทศว่า จีนไม่สามารถใช้กำลังมาบังคับหรือข่มขู่ TSMC ให้ทำตามคำสั่ง (ผลิตชิป) ตามอำเภอใจได้ เพราะกระบวนการผลิตมีความซับซ้อนสูง ต้องมีการติดต่อกับโลกภายนอกแบบเรียลไทม์ ทั้งปัจจัยด้านวัสดุ สารเคมี ชิ้นส่วนอะไหล่ ซอฟต์แวร์ และการตรวจสอบชิป โดยเจ้าตัวหวังว่าสุดท้ายเหตุการณ์จะไม่ลุกลามไปจนถึงขั้นนั้น ก็จะเป็นการดีที่สุด

เรียกได้ว่าการก่อสงครามคงเป็นเรื่องที่ไม่ส่งผลดีอะไรกับทุกฝ่าย ไม่ว่าฝั่งไหนก็จะได้รับผลกระทบในเชิงลบ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อ้างอิง