ในตอนนี้ที่ไทยมี Google Chromecast เข้ามาขายอย่างเป็นทางการแล้ว และเราก็ได้ทดลองให้ดูกันไปรอบหนึ่งแล้วว่า Chromecast นั้นมีความสามารถอะไรบ้าง เชื่อว่าหลายคนก็อาจจะยังสงสัยคาใจว่าตอนนี้ในตลาดมีเทคโนโลยีส่งภาพขึ้นจออื่นเต็มไปหมด ไมว่าจะเป็น AirPlay, Miracast, DLNA, Chromecast และอีกสารพัดชื่อที่ผู้ผลิตแต่ละเจ้าก็ใช้ชื่อไม่เหมือนกันอีก ผมก็เลยไปค้นข้อมูลมาว่าแต่ละตัวนั้นมันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
DLNA
เอาเป็นว่าเริ่มจากเทคโนโลยีตัวที่เก่าที่สุดก่อนเลยก็แล้วกัน นั่นก็คือ DLNA จริงๆ ต้องบอกกันไว้หน่อยว่า DLNA (ดีแอลเอ็นเอ) มีชื่อเต็มๆ คือ Digital Living Network Alliance เป็นชื่อของกลุ่มความร่วมมือ ไม่ใช่ชื่อเทคโนโลยีโดยตรง โดยกลุ่มนี้ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นมาตอนปี 2003 กลุ่มของ DLNA เป็นความร่วมมือของผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายเจ้า โดยมีหัวหอกคือ Sony (จึงไม่แปลกที่เราเห็นสินค้าโซนี่รองรับมาตรฐานแทบทั้งนั้น) ในตลาดก็ติดปากพูดกันว่าเป็นสินค้า DLNA certified ผมก็ขอเรียกมันว่าเทคโนโลยี DLNA นี่แหละ
ลักษณะการเชื่อมต่อของ DLNA
ตัว DLNA นั้นเป็นเทคโนโลยีที่เน้นการใช้งานในพื้นที่ส่วนตัว สมชื่อ Digital Living (แรกเริ่มมีชื่อว่า Digital Home Working Group ด้วยซ้ำ) ใช้หลักการของ Universal Plug and Play (uPnP) ที่ใช้อินเตอร์เน็ตวงเดียวกันเพื่อค้นหาอุปกรณ์และสั่งงาน การทำงานของ DLNA นั้นจะเป็นลักษณะของการชี้เป้าให้อุปกรณ์แสดงผลสามารถดึงข้อมูลจากอุปกรณ์อีกตัวผ่านวง LAN เดียวกัน เช่น ให้ทีวีดึงหนังจากฮาร์ดดิสก์ NAS มาเล่น หรือการเอาเพลงจากมือถือไปเล่นบนลำโพงที่รองรับ โดยอุปกรณ์ที่สั่งงานนั้นไม่จำเป็นต้องเปิดอยู่ตลอดเวลา สำหรับจุดด้อยของ DLNA คือไม่สามารถดึงข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตภายนอกโดยตรงไม่ได้ จะเป็นการเอาข้อมูลที่เข้าถึงได้ในวง LAN เท่านั้น
Apple TV (AirPlay)
Apple TV นั้นเป็นอุปกรณ์ของทางแอปเปิลที่ผลิตออกมาเพื่อเชื่อมต่อให้ทีวีมีความสามารถมากยิ่งขึ้น ทั้งด้วยระบบปฏิบัติการ tvOS ในตัวและเทคโนโลยี AirPlay แต่ผมจะจับในแง่ของ AirPlay ที่เป็นการเชื่อมต่อไร้สายมาพูดถึง
พูดถึง AirPlay ก็เล่าประวัติหน่อยแล้วกัน ตั้งแต่แรกก่อน AirPlay จะกำเนิดขึ้นมานั้นแอปเปิลเคยพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบที่ชื่อว่า AirTunes ขึ้นมาในช่วงปี 2004 แต่ความสามารถ ณ ตอนนั้นสามารถทำได้แค่การส่งไฟล์เสียงไปเล่นบนเครื่องเล่นเท่านั้น จนมาถึงปี 2010 ที่แอปเปิลได้เปิดตัว AppleTV และ AirPlay ที่สามารถส่งสัญญาณภาพและเสียงพร้อมกันได้
สำหรับ AirPlay บน Apple TV นั้นจะสามารถใช้งานได้ทั้งหมด 2 รูปแบบ นั่นก็คือ
1. รูปแบบการสตรีม หรือก็คือตัวที่เรียกว่า AirPlay เปล่าๆ นั่นแหละ สามารถสตรีมวิดีโอ,เพลง จากเครื่อง หรือผ่านแอปที่
รองรับไปเข้า Apple TV เพื่อแสดงบนทีวี ระหว่างนั้นอุปกรณ์ที่สั่งก็สามารถใช้งานอย่างอื่นได้ รวมถึงใช้เป็นรีโมทได้
2. รูปแบบ Mirroring หรือ AirPlay Mirroring แสดงภาพจอของอุปกรณ์บนหน้าจอทีวีที่ต่อกับ Apple TV โดยโหมดนี้จะเป็นการถ่ายทอดภาพ เราจิ้ม ขยับอะไรในอุปกรณ์ ก็จะแสดงผลบนจอทีวีเหมือนกัน เพียงแต่จะซ่อนเมนูบางอย่างออกให้ เช่น สถานะเครื่อง (แบต, สัญญาณ Wi-Fi)
แต่ข้อด้อยที่ต้องพูดถึงของ Apple TV ก็คือการที่รองรับการเชื่อมต่อแค่กับอุปกรณ์ Apple เท่านั้น หรือก็คือใช้ได้แค่กับระบบ iOS กับ Macbook อุปกรณ์อื่นๆ จากฝั่ง PC, Android มาใช้ร่วมไม่ได้
Miracast
เทคโนโลยี Miracast นั้นเรียกว่าเป็น AirPlay สำหรับอุปกรณ์ทั่วไปก็คงไม่ผิดนัก เพราะมีลักษณะการทำงานของเทคโนโลยีนี้ก็มีส่วนคล้ายกับ AirPlay ของทางแอปเปิล ชื่อ Miracast นั้นถูกประกาศขึ้นในปี 2012 โดยกลุ่ม Wi-Fi Aliance เทคโนโลยีเบื้องหลังของ Miracast ก็คือ Wi-Fi Direct นั่นเอง ทำให้ไม่จำเป็นต้องต่อเข้า Router เรียกได้ว่าเหมอนกับ Wireless HDMI ก็ว่าได้ แล้วก็มีการผลักดันกันในอุตสาหกรรมเกิดขึ้น โดยทาง Google เองก็ทำให้ Android 4.2 ขึ้นไปรองรับการใช้ Miracast ด้วย
การทำงานของเทคโนโลยี Miracast นั้นจะเป็นลักษณะของ Screen Mirrioring คล้ายกับโหมด AirPlay Mirroring ของบน Apple TV ต่างกันตรงที่อุปกรณ์ที่จับคู่กันไม่จำเป็นต้องต่อ Wi-Fi ในวงเดียวกัน และหน้าจอที่ Miracast ส่งไปขึ้นทีวีนั้นจะเป็นการแสดงผลแบบเหมือนกันเป๊ะๆ แถบแสดงสถานะของเครื่อง แถบควบคุมวิดีโอ/เสียง ก็แสดงขึ้นไปหมด เมื่อนำไปเทียบกับผลที่ได้บน Apple TV จุดนี้จึงกลายเป็นข้อด้อยของ Miracast ไปโดยปริยาย
แม้ว่าผู้ผลิตจำนวนมากจะนำเทคโนโลยี Miracast ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ตัวเองอย่างแพร่หลาย แต่ทว่า ด้วยเหตุที่ Miracast นั้นไม่มีการกำหนดมาตรฐานไว้ชัดเจนทั้งในเรื่องของ Latency (ช่วงเวลาหน่วง) ที่ไม่ได้กำหนดเพดานสูงสุดไว้, การใช้งานอุปกรณ์เสริมบางอย่างที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างผู้ผลิตมาเจอกันแล้วใช้งานไม่ได้ และการตั้งชื่อของผู้ผลิตแต่ละเจ้าก็เละเทะจนผู้ใช้ไม่รู้ว่ามันคือเทคโนโลยี Miracast ตัวเดียวกัน ตัวอย่างเช่น LG ใช้ชื้อว่า SmartShare, Samsung ใช้ชื่อว่า AllShare Cast, Panasonic ตั้งชื่อว่า Display Mirroring และ Sony ก็ตั้งว่า Screen Mirroring
อย่างไรก็ตาม ถึงเราจะเห็นว่า Miracast ดูมั่วซั่ว แต่อุปกรณ์ในปัจจุบันจำนวนมาก็ยังรองรับเทคโนโลยีนี้อยู่ ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะจุดเด่นของมันคือไม่จำเป็นต้องใช้ Router เป็นตัวกลางนั่นเอง
Chromecast (Google Cast)
มาถึงตัวสุดท้ายที่เราจะจับมาเปรียบเทียบนั่นก็คือ Chromecast ที่เพิ่งจะเข้ามาขายในไทยเมื่องาน Thailand Mobile Expo ต้นเดือนที่ผ่านมานี้เอง ทำให้มีหลายๆ คนสงสัยว่ามันแตกต่างกับเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างไรบ้าง ทางเราเคยจับเปรียบเทียบกับ Android Box ไปแล้ว คราวนี้จับมาเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีที่คล้ายๆ กันบ้าง
มาย้อนประวัติกันไปสักนิดหน่อยก็แล้วกันครับ ตัว Chromecast รุ่นแรกสุดนั้นถูกเปิดตัวในช่วงกลางปี 2013 หลังจากเทคโนโลยี Miracast เปิดตัวไปได้ไม่ถึงปีดี ก็ชวนให้คิดว่าสงสัย Google จะไม่ถูกใจกับ Miracast ล่ะมั้งถึงได้มาพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองแทน และผลลัพธ์ออกมาก็เรียกว่าเป็นตัวแทนของ Apple TV สำหรับอุปกรณ์ที่ไม่ของแอปเปิลเลยก็ว่าได้ เพราะลักษณะการทำงานก็สามารถทำงานได้ 2 แบบเหมือนกัน คือ
1. Cast Screen / Audio ที่เป็นการแสดงภาพหน้าจอแบบ Mirror หรือก็คือการทำ Screen Mirroring นั่นเอง
2. Cast หรือก็คือการ Stream ที่สั่งการผ่านแอปที่รองรับให้ Chromecast ดึงข้อมูลจากอุปกรณ์ไปแสดงภาพ/เสียงบนเครื่องที่ Chromecast ต่ออยู่ หรือให้ Chromecast ดึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต (Cloud) มาแสดงผลเองแบบไม่อิงกับเครื่องเราก็ได้เช่นกัน
Chromecast ตัวที่มีนำเข้ามาขายในไทยตอนนี้นั้นจะเป็น Chromecast รุ่นที่ 2 ที่เปิดตัวในปี 2015 ที่ผ่านมา มีการปรับหน้าตาและการออกแบบต่างจากตัวแรกไปพอสมควร และนอกจากรุ่นนี้แล้วก็ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันอีกคือ Chromecast Audio ที่ออกแบบมาเพื่อ Cast Audio อย่างเดียวสำหรับส่งให้เครื่องเสียงโดยมีจุดเด่นคือมันมี DAC แยกในตัวด้วย และล่าสุดก็มี Chromcast Ultra ที่ออกแบบมาสำหรับการส่งภาพระดับ 4K ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2016 ที่ผ่านมา
ร่ายมาซะยาว หลายคนอาจจะอ่านเพลินจนลืมไปแล้วว่าตัวเก่าที่เพิ่งอ่านมันเป็นอย่างไรบ้าง (ฮา) ผมก็เลยเตรียมตารางเปรียบเทียบมาให้อ่านง่ายๆ
ชื่อเทคโนโลยี | DLNA | AirPlay | Miracast | Google Cast |
อุปกรณ์ | อุปกรณ์ที่ได้ DLNA certified มีทั้ง มือถือ, ทีวี, เครื่องเสียง | AppleTV, ใช้ร่วมกับอุปกรณ์ iOS, Macbook | อุปกรณ์ที่รองรับ SmartShare, Allshare Cast, Screnn Mirroring, Display Mirroring หรืออื่นๆ เพราะแต่ละผู้ผลิตใช้ชื่อต่างกันไป | Chromecast, อุปกรณ์อื่นๆ ที่รองรับเทคโนโลยี Google Cast |
การเชื่อมต่อ | Wi-Fi หรือผ่านสาย LAN (เช่น ทีวีรุ่นเก่าหน่อยที่ต้องเสียบ LAN เพื่อออนไลน์) | Wi-Fi, LAN, ต่อ HDMI เข้าทีวี | ไม่ต้องเชื่อมต่อ Wi-Fi หรือ LAN แต่อุปกรณ์รับและส่งต้องรองรับ Miracast ลักษณะการส่งข้อมูลเป็น Wi-Fi Direct | Wi-Fi, ต่อ HDMI เข้าทีวี หรือ หน้าจอแสดงผล |
รูปแบบการทำงาน | เข้าถึงข้อมูลวิดีโอ, เพลง, ภาพ ที่อยู่ในวง LAN เดียวกัน เพื่อนำมาเล่นหรือแสดงผลในอีกเครื่องหนึ่ง | แสดงภาพหน้าจอจากอุปกรณ์บนจอที่ต่อกับ AppleTV หรือสตรีมวิดีโอ, ภาพ, เสียง จากแอปที่รองรับ | แสดงภาพหน้าจอของอุปกรณ์บนทีวีหรืออุปกรณ์อื่นที่รองรับ Miracast | แสดงภาพหน้าจอจากอุปกรณ์บนจอที่ต่อกับ Chromecast หรือสตรีมวิดีโอ, ภาพ, เสียง จากแอปที่รองรับ |
คุณภาพของภาพ | DLNA ไม่ได้กำหนดไว้ เข้าใจว่าขึ้นกับไฟล์และการรองรับของอุปกรณ์ที่แสดงผล, DLNA มีหน้าที่แค่ส่งข้อมูลให้ | ความละเอียดสูงสุด Full-HD (1080p) 60fps | ความละเอียดสูงสุด Full-HD (1080p) | ความละเอียดสูงสุด Full-HD (1080p) 30fps, HD (720p) สูงสุด 60fps |
คุณภาพของเสียง | DLNA ไม่ได้กำหนดไว้ เข้าใจว่าขึ้นกับไฟล์และการรองรับของอุปกรณ์ที่แสดงผล, DLNA มีหน้าที่แค่ส่งข้อมูลให้ | ความละเอียดสูงสุดเท่า ALAC (CD Quality, 16 bit, 48kHz) หากสตรีมคุณภาพสูงกว่า CD Quality จะถูก downsampling เหลือ 44.1kHz, ถ้าเป็น AirPlay ไปยังเครื่องเสียงบางรุ่นอาจะได้ความละเอียดสูงกว่า Apple TV | ประเภทไฟล์ LPCM 16 bit 48kHz 2 channel, AAC, AC3, ระบบเสียงสูงสุด 5.1 channel | ขึ้นกับไฟล์และการรองรับของอุปกรณ์ที่แสดงผลและข้อจำกัดของสาย HDMI เพราะ Chromecast เป็นตัวรับไฟล์มาป้อนเข้าผ่าน HDMI อีกทีหนึ่ง |
ถ้าดูจากตารางเราจะเห็นว่าจริงๆ แล้วตัว DLNA นั้นถ้าเป็นไปตามทฤษฎีจะดูค่อนข้างยืดหยุ่นในเรื่องของคุณภาพวิดีโอและเสียงมากกว่าตัวอื่นๆ แต่ประสิทธิภาพก็ขึ้นกับ Network ที่เชื่อมต่ออยู่ด้วยว่ามีกำลังส่งมากขนาดไหน ส่วนการใช้ AirPlay บน Apple TV นั้นก็มีความสามารถมากไม่แพ้กับการใช้ Google Cast ของ Chromecast เลย เพียงแต่ AirPlay นั้นถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับ ecosystem ของผลิตภัณฑ์แอปเปิลเท่านั้น ทำให้อุปกรณ์อื่นๆ อดใช้ไป จึงทำให้ Chromecast กลายเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ของแอปเปิลนั่นเอง
ส่วน Miracast นั้นดูจะเป็นเทคโนโลยีไร้สายที่แตกต่างจากพวกที่สุดแล้ว เพราะทั้ง 3 อย่างที่กล่าวไว้ย่อหน้าที่แล้วล้วนแต่ต้องพึ่งพา Router ในการเป็นตัวกลางส่งข้อมูลให้อุปกรณ์ต่างๆ แต่ตัว Mircast จะเป็นลักษณะการส่งด้วย Wi-Fi Direct ที่เป็นการเชื่อมต่อเป็นคู่ๆ ไป หรือเรียกว่า peer-to-peer นั่นเอง ในเชิงการใช้งานนั้นถือว่ามีความสะดวกกว่าเล็กน้อยเพราะไม่ต้องเชื่อมต่อกับ Network แต่ก็มีข้อด้อยที่ความสามารถของมันเอง ที่ทำได้แค่เพียงการส่งภาพหน้าจอไปแสดงเท่านั้น
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับบทความเปรียบเทียบเทคโนโลยีการส่งข้อมูลไร้สายนี้ หวังว่าเพื่อนจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมไป รวมถึงใครที่สนใจหามาใช้อยู่ก็น่าจะได้เปรียบเทียบไปเลยว่าข้อดีข้อด้อยของแต่ละเทคโนโลยีนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ามีคำถาม ข้อสงสัย หรือข้อมูลตรงไหนที่ผมผิดพลาดไปก็สามารถมาคอมเมนท์บอกกันได้เลยครับ 🙂
อ้างอิง
- https://www.howtogeek.com/177145/wireless-display-standards-explained-airplay-miracast-widi-chromecast-and-dlna/
- http://creation.com.es/news/wireless-display-standards/
- http://hometheaterreview.com/bluetooth-airplay-dlna-whats-the-best-streaming-format-today/
- https://support.apple.com/kb/SP724?locale=en_US
ลองใช้มันทั้งหมดเลย 55
Miracast ของซัมซุงผมว่ามัน ok นะ เลือกเล่นวีดีโอแล้วรันเบื้องหลังกลับมาเล่นแอปอื่นต่อได้ การแสดงผลในแกลเลอรี่ก็ทำมาแบบโหมดของมันไม่ใช่แค่โคลนหน้าจอไป ใช้นำเสนองาน power point ผ่าน office suit มันก็แยกหน้านำเสนอกับหน้าตัวเลือกออกจากกันนะอันนี้ไม่รู้เป็นเพราะโปรแกรมหรือเปล่า เลือกพักการแสดงผลได้
ลองมาหมดหล่ะ ตัว CHROMECAST ถูกใจสุดหล่ะ
Chromecast คือสะดวกสุด ณ ตอนนี้