นับตั้งแต่ Facebook ประกาศจัดตั้งสถาบันการเงินรูปแบบ Cryptocurrency อย่าง The Libra Association ไปในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนพวกเขาจะเอาจริงเอาจังมากเป็นพิเศษพร้อมออกมายืนยันจะจัดตั้งให้สำเร็จพร้อมใช้งานกันตามความตั้งใจในช่วงปี 2020 ให้จงได้ แต่ในทางกลับกันหลายรัฐบาลทั่วโลกกลับแสดงความเป็นห่วงไม่สนับสนุนเจ้า Libra นี้กันสักเท่าไหร่นักความกังวลทั้งในแง่ผลกระทบต่อโลกการเงิน การเมือง และความมั่นคงทางข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นเรามาดูกัน

Libra จะแข็งแกร่งกว่าทุกสกุลเงินดิจิทัลที่เคยมีมา แต่ปัญหาติดอยู่ที่ชื่อเสียงของ Facebook

พวกเราอาจทราบกันดีอยู่แล้วว่า Libra กำลังถูกปั้นให้เป็นอีกหนึ่งสกุลเงินดิจิทัลบนเทคโนโลยี Blockchain สำหรับการการจับจ่ายใช้สอยซึ่งอาจไม่ต่างจาก Cryptocurrency อื่น ๆ เช่น Bitcoin แต่สิ่งที่จะแตกต่างไปโดยสิ้นเชิงคือ Facebook ซึ่งนับเป็นบริษัทเทค ฯ ยักษ์ใหญ่เบอร์ต้น ๆ ของโลกก้าวเข้ามาเพื่อ Disrupt ระบบการเงินของโลกให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยนอกจากความทรงอิทธิพลระดับ Facebook แล้ว Concept ของ Libra คือจะต้องเป็นสกุลเงินสำหรับทุกคนบนโลก เข้าถึงได้จริง ปลอดภัย และที่สำคัญคือมีความแข็งแกร่งมั่นคงดั่งเช่นเงินสกุลชั้นนำของโลกเลยทีเดียว

Libra นั้นจะถูกจัดตั้งขึ้นในกรุงเจนีวา ประเทศสวิซเซอร์แลนด์ เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อว่า The Libra Association ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการสกุลเงินอย่างเป็นทางการ โดยในวันเปิดตัวช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2019 นั้น Facebook ได้ประกาศรายชื่อสมาชิกขององค์กรร่วมลงทุนกลุ่มแรกออกมารวม 28 รายชื่อด้วยกันจากทุกประเภทอุตสาหกกรมไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน สถาบันการลงทุน เทคโนโลยี โทรคมนาคม และองค์กรชั้นนำทั่วโลก

ความตั้งใจของ Facebook นั้น Libra จะต้องถูกเปิดตัวขึ้นใช้งานจริงได้ในช่วงปี 2020 แต่งานนี้อาจไม่ง่ายเลยจริง ๆ เพราะนับตั้งแต่เปิดตัวมา ด้วยชื่อชั้นระดับ Facebook นำมานั้น แน่นอนเลยว่าเจอดราม่าจากทั่วทุกสารทิศไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาลโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ และ เอกชนชั้นนำทั่วโลก ต่างแสดงความกังวลต่อระบบการเงินโลกและความมั่นคงของโลกไซเบอร์ แถมล่าสุดถึงแม้จะประกาศสัดส่วนตะกร้าเงินเพื่อการันตีความมั่นคงของ Libra ออกมาแล้ว แต่ก็ดันมีข่าวว่า 5 องค์กรจากสมาชิกกลุ่มแรก 28 รายชื่อนั้น กำลังพิจารณาขอถอนตัว ทั้ง ๆ ที่ Facebook หมายมั่นปั้นมือจะรวบรวมสมาชิกทั่วโลกให้ได้มากถึง 100 รายชื่อในวันเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการก็ตาม

The Libra Association คือการรวมทีม Tech Giants ตั้งเป้า Disrupt ระบบการเงินทั้งโลก

ถึงแม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลนั้น อาจถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรกันแล้ว เพราะเป็นที่รู้จักจนกลายเป็นกระแสยอดฮิตของนักลงทุนสายเทคโนโลยีกันอยู่พักใหญ่ ๆ ชนิดที่มูลค่าของสกุลเงินพวกนี้สร้างทั้งเศรษฐีและยาจกหน้าใหม่ทั่วโลกมาแล้วในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา 😂 แต่กับกรณีของ Libra นั้นจะแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้ลงทุนนั้นไม่ใช่แค่ Facebook เพราะ Facebook ประกาศชัดว่าจะทำหน้าที่แค่เป็นผู้บุกเบิกไอเดียและจัดการกระเป๋าเงินที่จะมีชื่อคล้ายคลึงกันอย่าง Calibra เท่านั้น ส่วนตัวสกุลเงินนั้นจะเต็มไปด้วยทวิภาคีจากหลาย ๆ ภาคส่วนที่จะร่วมกันสร้างศักยภาพของสกุลเงินนี้ให้แพร่หลาย มั่นคง และทั่วถึงชนิดที่ทั้งโลกต้องยอมสยบกันเลยทีเดียว 😎

หากมองเฉพาะแค่ 28 สมาชิกกลุ่มแรกของ The Libra Association จะเห็นได้ว่านอกจากบรรดาผู้ลงทุนจากสายสกุลเงินดิจิทัลด้วยกันแล้วนั้น Libra จะเป็นสกุลเงินที่ผู้ลงทุนมีความหลากหลายสูงและแข็งแกร่งระดับโลกจริง ๆ เพราะลำพังแค่มองดูรายชื่อก็น่าสะพรึงแล้ว ไม่ว่าจะ

  • Mastercard กับ Visa สองผู้ให้บริการการเงินยักษ์ใหญ่ของโลกที่ต่างตอบตกลงแทบจะทันทีที่ได้รับการทาบทาม
  • แพลตฟอร์มซื้อขายชื่อดังของโลกอย่าง ebay
  • ผู้บุกเบิกกระเป๋าเงินดิจิทัลที่น่าเชื่อถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง PayPal
  • บริการ Ride-hailing ที่เปลี่ยนโลกมาแล้วอย่าง Uber กับ Lyft
  • บริษัทโทรคมนาคมที่มีให้บริการอยู่ทั่วทุกมุมโลกอย่าง Vodafone
  • บริการสตรีมมิ่งเพลงอย่าง Spotify ที่ได้รับการยอมรับในด้าน UX/UI Design

ทั้งหมดล้วนแล้วแต่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพของ Libra ให้เป็นที่ 1 ของโลกได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลย

เว้นเสียแต่ว่า งานนี้พวกเขาไม่ได้ถูกมองเพียงว่าจะขึ้นเป็นที่ 1 ของสกุลเงินดิจิทัลของโลกเท่านั้น แต่ว่า Libra อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของโลกไป อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ชนิดที่หลาย ๆ รัฐบาล (โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจอย่าง สหรัฐ ฯ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป) ต่างก็ออกมาแสดงความกังวลใจว่า Libra อาจจะทรงอำนาจเกินหน้าเกินตาธนาคารกลางของชาติเหล่านี้จนถึงขั้นเป็นภัยคุกคามของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมไปเลยก็ได้

อันที่จริงหากเราไม่มองว่ามันเป็นเพียงความหวั่นกลัวทางการเมืองที่มากจนเกินไปแค่นั้นแล้วล่ะก็ บางที Libra โดยสมาชิกเช่นองค์กรเหล่านี้ มันก็ชัดเจนอยู่ในตัวเองแล้วว่า Libra อาจเป็นเสมือนธนาคารกลางในตัวเอง (หรือถึงขั้นเรียกว่าเป็นรัฐบาลเกิดใหม่ได้เลยล่ะ 💡) ที่ถือครองข้อมูลของผู้บริโภคทั่วโลก ลองนึกดูแค่ปริมาณข้อมูลของผู้ใช้งาน Facebook | Visa | Mastercard แค่นี้ก็ครอบคลุมประชากรร่วมครึ่งโลกเข้าไปแล้ว ถ้าสมาชิกเหล่านี้ร่วมกันออกแคมเปญให้เราหันไปใช้งาน Libra ได้ทุกที่ทั่วโลกแถมการจับจ่ายใช้สอยหรือลงโฆษณาบน Facebook จะได้รับส่วนลดเป็นกรณีพิเศษเพียงแค่นี้ The Libra Association ก็แทบจะระบุตัวตนและพฤติกรรม เพื่อชักจูงหรือสร้างแรงจูงใจไม่ว่าทางการค้าหรือการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ารัฐบาลไหน ๆ บนโลกใบนี้จะทำได้แล้วล่ะ 😈

Libra คือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย ที่อาจทำให้ Facebook เข้าถึงและควบคุมพฤติกรรมของเราโดยสมบูรณ์

Facebook นั้นออกมายืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่า Facebook Inc. และ The Libra Association นั้นแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งหน้าที่หลักของ The Libra Association คือการดำเนินการจัดการเซิร์ฟเวอร์ให้กับ Libra Network และรวมไปถึงการจัดการรักษาสเถียรภาพของมูลค่าสกุลเงิน Libra โดยการดูแลสัดส่วนตะกร้าเงิน โดย Facebook นั้นไม่ใช่ผู้จัดการใด ๆ ในกระบวนเหล่านี้ของ Libra เพียงแต่ Facebook เองก็จะมีการดำเนินธุรกิจเพิ่มเติมเป็นบริษัทลูกมีชื่อว่า Calibra โดยเป็นการให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับ PayPal เพียงแต่ว่าจะใช้สกุลเงิน Libra เท่านั้น สำหรับการใช้จ่ายหรือรับ – ส่งเงินทั่วโลก

Facebook จะรู้จักเราแบบละเอียดกว่าเดิมจากการยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวดก่อนเข้าใช้งาน Libra รวมถึงรู้ข้อมูลลักษณะการใช้จ่ายของเราทั้งหมด

งานนี้ประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กับเป้าหมายการพลิกโฉมระบบการเงินของโลกเลยนั่นก็คือ ความมั่นคงทางไซเบอร์ หรือเรียกให้ดูเบา ๆ ลงหน่อยก็คือ ความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเรานี่แหละ เพราะการจะเข้าถึงบริการใด ๆ ทางการเงินเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ภายใต้กฏหมายที่เป็นมาตรฐานสากลเรื่องการป้องกันการฟอกเงินซึ่งบังคับให้ผู้ใช้บริการจะต้องทำการยืนยันระบุตัวตนอย่างละเอียด ซึ่งละเอียดกว่าการสมัครใช้บริการ Social Media อย่างมาก 😎 😎 😎  ถึงตรงนี้อยากให้เพื่อน ๆ ลองนึกภาพตามว่า Facebook ที่มีข้อมูลพฤติกรรมของพวกเราค่อนข้างดีอยู่แล้ว โดยแบ่งออกไว้เป็นกลุ่ม ๆ (Demographic | Segmentation) จะได้ข้อมูลระบุตัวตนของบุคคลอย่างเรา ๆ รวมถึงพฤติกรรมทางการเงินโดยละเอียดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Facebook Ecosystem เพิ่มเติม 👿

ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้ว Facebook และสมาชิก The Libra Association อาจจะออกมาประกาศความชัดเจนในเรื่องนี้เพียงใดว่าข้อมูลของผู้ใช้บริการ Libra จะอยู่เพียงใน Ecosystem ของ Libra เองเท่านั้น แต่เราก็ไม่อาจลดความกังวลใจได้เลยว่า เหตุการณ์เช่น Cambridge Analytica และความหละหลวมของ Facebook ต่อข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะในโอกาสที่มูลค่าทางธุรกิจของผู้ใช้งานสกุลเงิน Libra ที่หากเอามารวมกับจำนวนผู้ใช้งาน Facebook แล้วล่ะก็จะสร้างเม็ดเงินโฆษณา อำนาจจูงใจ และอิทธิพลให้กับกลุ่มสมาชิก The Libra Association ต่อโลกใบนี้ได้มากเพียงใด นี่ยังไม่ได้รวมสมาชิกรายอื่น ๆ เลยด้วยซ้ำไปนะ 😕

ปี 2025 – Libra กลายมาเป็นสกุลเงินที่ใช้จ่ายได้จริงทั่วโลก ใช้จ่ายได้ผ่านสมาร์ทโฟนในทุก ๆ ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ Visa | Mastercard รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีน้อง DroidSans เป็นผู้ใช้บริการมาตลอด 3 -4 ปี นับตั้งแต่เปิดให้บริการ โดยน้องใช้จ่ายเงิน Libra ในทุกร้านค้าที่รับ Mastercard | Visa เพราะส่วนลดพิเศษ นอกจากนั้นแล้วค่าบริการโทรศัพท์รายเดือน ค่าบริการ GrabFood | GrabCar | Spotify แม้กระทั่งซื้อของออนไลน์ก็จ่ายผ่าน Calibra | PayPal ด้วยเงิน Libra

ย่อหน้าข้างต้น เป็นเพียงการคาดการณ์อนาคต แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะเกิดขึ้น (หากไม่มีการควบคุม-แทรกแซงจากหน่วยงานงานรัฐซะก่อน) และ Facebook จะเป็นบริษัทที่เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชากรทั่วโลกได้มากที่สุด และข้อมูลเหล่านี้มากพอที่จะควบคุมความนึกคิดของประชาชนในแต่ละประเทศเลยก็ว่าได้ << ไม่ได้เขียนให้ดูเว่อร์ ไม่ใช่หนังไซไฟ มีตัวอย่างจากเมื่อคราว Cambridge Analytica ออกมาทีนึงแล้ว ที่ปัจจุบันหลายประเทศห่วงเรื่อง data privacy กันมากก็เพราะกังวลเรื่องนี้เนี่ยแหละ ซึ่งจะนำเอามาเล่าให้ฟังแบบละเอียดในคราวต่อไปนะครับ

 

อ้างอิง: CNN Business (07/19) | CNN Business (08/19) | Financial Times | คุณปรมินทร์ อินโสม (CEO – Satang Corporation)